Skip to main content
sharethis

"พื้นที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ" เป็นหนึ่งในแผนการปฏิรูปเพื่อสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปที่กำลังถูกผลักดันให้เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศสมาชิกเพื่อแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพ แต่ก็มีกระแสต่อต้านโดยอ้างเรื่องสิทธิส่วนบุคคล และถูกมองว่ามาตรการนี้กีดกันรถเก่าจากบางพื้นที่หรือการให้จ่ายค่าปรับนั้นจะกระทบต่อคนจน

แผนการปฏิรูปเพื่อสิ่งแวดล้อมของยุโรปหรือ "กรีนดีล" รวมถึงคำเรียกเก๋ๆ อื่นๆ ในที่ประชุมของอียู แต่แผนปฏิรูปนี้กำลังส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศสหภาพยุโรปอย่างไรบ้าง

การเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนสหภาพยุโรปที่จะมีขึ้นในเดือน มิ.ย. กำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ ในขณะที่สถาบันทางการเมืองต่างๆ รวมถึงนักการเมืองจะพยายามใช้การหาเสียงที่ดูโฉบเฉี่ยวเพื่อดึงดูดให้ผู้คนลงคะแนนเสียง แต่บางครั้งการแสดงให้เห็นตัวอย่างเพื่อเน้นให้เห็นว่านโยบายของพวกเขาจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในอียูอย่างไรบ้างน่าจะเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

เขตพื้นที่ปล่อยคาร์บอนต่ำคืออะไร?

ตัวอย่างหนึ่งของแนวทางริเริ่มของอียูที่ส่งผลกระทบต่อชาวยุโรปส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับระบบขนส่งมวลชนและการบริหารจัดการเมืองของพวกเขา เช่น เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการใช้สติกเกอร์วงกลมสีสดใสติดที่รถ สติกเกอร์ที่ว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงสถานะของรถคันนั้นๆ ว่ามีระดับการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหนและเพื่อเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเจ้าของรถนั้นๆ จะได้รับอนุญาตให้ขับขี่ใน "พื้นที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ" ได้หรือไม่

"พื้นที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ" มีเป้าหมายคือทำให้รถที่ปล่อยมลภาวะสูงมากไม่เข้ามาแล่นในเขตเมืองที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ปล่อยคาร์บอนต่ำเพื่อพัฒนาคุณภาพอากาศ โดยทั่วไปแล้ว ถ้าหากรถเหล่านี้ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถเก่า) ต้องการเข้าเมืองก็มักจะมีการใช้วิธีการชาร์จค่าธรรมเนียม หรือไม่เช่นนั้นก็ห้ามเข้าไปเลย ซึ่งพื้นที่ปล่อยคาร์บอนเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากอียูและเป็นผลพวงมาจากการออกกฎหมายของอียู

ทำไมพื้นที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำถึงกลายเป็นข้อถกเถียงในยุโรป?

พื้นที่ปล่อยคาร์บอนต่ำนั้นกลายเป็นสนามรบทางการเมืองของประเทศสมาชิกอียูบางส่วนที่อาศัยวาทกรรมเรื่อง "เสรีภาพส่วนบุคคล" มาปะทะกับวาทกรรมเรื่อง "ประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่"

คาร์เมน ดูเซ ผู้ประสานงานขององค์กร คลีน ซิตี แคมเปญ กล่าวว่า "มีการฉกฉวยวาทกรรมแบบนี้มาใช้"

ดูเซบอกว่า ถึงแม้ว่าจะมีเสียงคัดค้าน แต่วิทยาศาสตร์ก็มีความชัดเจนว่า คุณภาพชีวิตของผู้คนควรจะต้องได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นโดยพื้นที่ลดการปล่อยคาร์บอน

มลภาวะทางอากาศคร่าชีวิตผู้คนหลายพันคนทุกปี

ประชากรในอียูร้อยละ 97 ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตเมือง กำลังเผชิญกับปัญหามลภาวะทางอากาศในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้

โซรานา โจวาโนวิก แอนเดอร์เซน ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนเปิดเผยให้เห็นผลกระทบต่อสุขภาพในสถานการณ์เมื่อปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาว่า ในทุกปีมีการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเกิดขึ้นมากกว่า 300,000 กรณี อันมีสาเหตุมาจากมลภาวะทางอากาศ คุณภาพอากาศที่ย่ำแย่ยังส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจร้อยละ 20-25 และกรณีมะเร็งปอดร้อยละ 10

ยังไม่นับเรื่องที่มีการสำรวจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างมลภาวะทางอากาศกับอาการสมองอักเสบ และมีหลักฐานให้เห็นมากขึ้นด้วยว่าคุณภาพอากาศย่ำแย่ยังเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของผู้คนที่แย่ลงอีกด้วย

นอกจากนี้แล้ว กลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากมลภาวะทางอากาศคือกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ ดังนั้นแล้วกลุ่มประชากรสูงวัยถึงเป็นกลุ่มประชากรที่เปราะบางในเรื่องนี้

เนื่องจากผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ทำให้อียูยังคงออกกฎหมายออกมาใช้กับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษต่อไป

แต่การออกกฎหมายและการกำกับดูแลในระดับของอียูนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง

กฎหมายของอียูมีที่มาอย่างไร?

อียูได้เสนอแนวทางกำกับดูแลคุณภาพทางอากาศเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2523 เพื่อแก้ไขปัญหานี้ และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยังมีเสนอแนวทางกำกับดูแลเพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะตามออกมาเพิ่มเติม และมีการอัพเดทแนวทางเหล่านี้รวมถึงการเพิ่มมาตรฐานคุณภาพอากาศ และมีการตั้งเงื่อนไขข้อกำหนดในการติดตามผล รวมถึงวิสัยทัศน์ใหม่ที่ออกมาเมื่อไม่นานนี้ด้วย

แม้ว่าแนวทางกำกับดูแลจากอียูมีการวางเป้าหมายปลายทางเอาไว้ แต่กลุ่มประเทศสมาชิกก็มีความยืดหยุ่นว่าจะทำให้ถึงเป้าหมายได้อย่างไร และกฎหมายเหล่านี้เองที่ทำให้เกิดการจำกัดปริมาณของมลภาวะ โดยที่ประเทศสมาชิกอียูมีบทบาทในการเจรจาต่อรองกฎหมายฉบับที่ออกมาเมื่อไม่นานนี้หลังจากจากสหภาพยุโรปเสนอกฎหมายออกมา โดยที่สภายุโรปมีส่วนร่วมกับกระบวนการนี้ด้วย

หลังจากที่มีมติยอมรับในแนวทางนี้แล้ว ประเทศสมาชิกก็มีพันธกรณีที่จะต้องนำหลักการแนวทางกำกับดูแลเหล่านี้ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายในประเทศตัวเอง โดยต้องมีการประกาศบังคับใช้ และทำให้แน่ใจว่าผู้คนจะปฏิบัติตามรวมถึงต้องมีการรายงานกลับต่ออียูด้วยว่าพวกเขานำแนวทางเหล่านี้มาปรับใช้อย่างไร

ในกรณีของพื้นที่ปล่อยคาร์บอนต่ำนั้น มันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับปรุงคุณภาพอากาศที่มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งเป็นแผนการที่ประเทศสมาชิกอียูมีพันธกรณีในการทำให้เกิดขึ้นเนื่องจากอียูต้องการแก้ไขปัญหามลภาวะ

ทำไมเมืองในสเปนถึงยกเลิกเลนจักรยาน?

สเปนเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าข้างการใช้มาตรการพื้นที่ปลอดคาร์บอนเพื่อเป็นหนทางในการแก้ปัญหามลภาวะ และเพื่อทำให้ถึงเป้าหมายของอียู เมื่อปี 2564 พวกเขาผ่านร่างกฎหมายที่กำหนดให้ทุกๆ เมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 50,000 คน ต้องจัดให้มีพื้นที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ

สเปนได้รับเงินทุนจากอียู 1,500 ล้านยูโร เพื่อช่วยเหลือในการจัดให้มีพื้นที่ปล่อยคาร์บอนต่ำเหล่านี้ และเพื่อให้มีการเปลี่ยนผ่านระบบการคมนาคม

แต่หนทางไปสู่เป้าหมายก็ไม่ได้ง่าย เมืองส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ทำตามแนวทางเมืองปล่อยคาร์บอนต่ำของอียู ถึงแม้ว่าจะมีคำเตือนเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณก็ตาม และในบางเทศบาลก็มีการหยุดพัฒนาตามแผนการนี้ไปเลย มีเมืองหนึ่งที่ถึงขั้นรื้อทางจักรยานที่เพิ่งจะสร้างทิ้งเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับรถยนต์ เรื่องนี้ทำให้คณะกรรมาธิการยุโรปเปิดการสืบสวนในขั้นต้นถึงความเป็นไปได้ว่าจะมีการนำงบประมาณไปใช้ในทางที่ผิด

ดูเซกล่าวว่า "ฝ่ายขวาและขวาจัดกำลังใช้รถยนต์เป็นสัญลักษณ์ของความเข้าใจเรื่องอิสรภาพในแบบของพวกเขา"

การต่อต้านแผนการของอียูเช่นนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสเปนอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีการประท้วงการเสนอใช้เขตพื้นที่ปล่อยคาร์บอนต่ำในเบลเยียมและเยอรมนีด้วย ฝ่ายต่อต้านบอกว่าค่าปรับนั้นจะส่งผลมากที่สุดต่อกลุ่มคนที่จนที่สุดในสังคม และอ้างอีกว่าพื้นที่ปลอดคาร์บอนนี้เป็นการโจมตีเสรีภาพส่วนบุคคล

ในแง่นี้มันได้กลายเป็นแรงโต้ตอบเล็กๆ ต่อนโยบายปฏิรูปสิ่งแวดล้อมของยุโรปในช่วงเดียวที่กำลังจะมีการเลือกตั้งสภายุโรปที่เกิดขึ้น

ถึงแม้ว่าจะมีคนที่ยังคงถกเถียงกันในเรื่องพื้นที่ปล่อยคาร์บอนต่ำทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงต่อต้าน แต่การที่อียูนำแนวทางนี้มาปรับใช้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงอิทธิพลของอียูได้ส่งผลถึงในระดับชาติ, ระดับท้องถิ่น และระดับบุคคลอย่างไรบ้าง


 

เรียบเรียงจาก


‘Personal freedom’ vs ‘greater good’: Low emission zones show EU’s impact on our everyday lives, EuroNews.green ,04-05-2024

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net