Skip to main content
sharethis
  • ก้าวไกลจัด Policy Fest ครั้งที่ 1 “ก้าวไกลบิ๊กแบง” ผสานนโยบายกับเทศกาล  ทำการเมืองให้เป็นเรื่องสนุก-ประชาชนมีส่วนร่วม “พิธา” ยก 6 วาระก้าวไกล แก้ปัญหาเฉพาะกาล-เฉพาะหน้า เปลี่ยนระเบิดเวลาให้กลายเป็นศักยภาพของประเทศ
  • “ชัยธวัช” กล่าวปิดงานก้าวไกลบิ๊กแบง ชี้บทใหม่การเมืองไทยเริ่มต้นหลังเลือกตั้ง 66 เปลี่ยนผ่านจากการเมืองสีเสื้อ สู่การต่อสู้ระหว่าง “การเมืองของชนชั้นนำ” กับ “การเมืองของประชาชน” ย้ำก้าวไกลพร้อมเป็นสะพานเชื่อมยุคเก่า-ใหม่ ตอบรับกระแสความต้องการเปลี่ยนแปลงของประชาชน

 

19 พ.ค. 2567 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ (19 พ.ค.) ที่ภิรัชฮอลล์ ไบเทคบางนา พรรคก้าวไกลจัดมหกรรมนโยบาย Policy Fest ครั้งที่ 1 “ก้าวไกล Big Bang”  

“ชัยธวัช” กล่าวปิดงานก้าวไกลบิ๊กแบง ชี้บทใหม่การเมืองไทยเริ่มต้นหลังเลือกตั้ง 66 เปลี่ยนผ่านจากการเมืองสีเสื้อ สู่การต่อสู้ระหว่าง “การเมืองของชนชั้นนำ” กับ “การเมืองของประชาชน” 

ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “อนาคตการเมืองไทย” เป็นการปิดท้ายเวทีมหกรรมนโยบาย Policy Fest ครั้งที่ 1 ว่า การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 2566 นับเป็นหมุดหมายใหม่ของการเมืองไทย ในฐานะวันสิ้นสุดของการเมืองแบบสีเสื้ออย่างเป็นทางการ ชนชั้นนำทุกกลุ่มดูเหมือนจะจับมือเป็นพันธมิตรกันได้แม้จะเป็นเรื่องชั่วคราว แต่พลังของกลุ่มสีเสื้อเหล่านั้นไม่ได้หายไปไหน คนเสื้อแดงจำนวนมากเห็นแล้วว่าการสร้างประชาธิปไตยไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยมีแค่การเลือกตั้ง แต่ต้องมีการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ด้วย ส่วนคนเสื้อเหลืองจำนวนมากก็มีบทเรียนแล้วว่าการปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้งไม่มีจริง และการเมืองในระบบเลือกตั้งสามารถพัฒนายกระดับได้

“ประชาชนที่เคยสังกัดสีเสื้อคนละสีเริ่มเห็นแล้วว่า ปัญหาสังคมการเมืองไทยที่แต่ละฝ่ายต่างให้ความสำคัญกันคนละมุมนั้น แท้จริงแล้วอาจมีรากฐานมาจากโครงสร้างสังคมแบบเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างสีต่างรู้จักช้างกันคนละแบบ ฝ่ายหนึ่งรู้จักช้างจากการจับขา จับหาง ฝ่ายหนึ่งรู้จักช้างจากการจับงวง แต่สุดท้ายปัญหาใหญ่ของสังคมไทยก็คือช้างในห้องตัวเดียวกัน” ชัยธวัชกล่าว

ชัยธวัชยังกล่าวต่อไปว่า การเมืองไทยในปัจจุบันจึงอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ระหว่าง “การเมืองของชนชั้นนำ เพื่อชนชั้นนำ” กับ “การเมืองของประชาชน เพื่อประชาชน” เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลสะท้อนการเมืองของชนชั้นนำ สิทธิของแต่ละคนจึงย่อมลดหลั่นกันไปตามสถานภาพทางสังคม

การพิจารณาว่าผู้ต้องขังในเรือนจำคนใดป่วยหรือไม่ป่วย ป่วยมากหรือป่วยน้อย ใครจะถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลใด อย่างไร จึงไม่ใช่เรื่องการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และสิทธิตามกฎหมายที่พึงบังคับใช้เสมอหน้ากัน แต่เป็นเรื่องของสถานภาพทางสังคม ขณะเดียวกัน เมื่อประชาชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะถูกตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิด ผิดน้อยหรือผิดมาก ควรได้รับสิทธิในการประกันตัวหรือไม่ หรือจะได้รับโอกาสพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมหรือไม่ จึงไม่ใช่เรื่องของหลักนิติรัฐ ความเสมอภาคเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย และไม่ใช่เรื่องสิทธิที่ประชาชนทุกคนพึงมี แต่เป็นเรื่องสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละคนในกระบวนการยุติธรรม

ชัยธวัชยังกล่าวต่อไปว่า ในการเมืองของชนชั้นนำ เป้าหมายของระบบกฎหมายหรือนิติรัฐแบบไทยๆ ไม่ใช่การคุ้มครองชีวิต ร่างกาย หรือสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน แต่คือการปกป้องคุ้มครองความมั่นคงของรัฐและลำดับชั้นของอภิสิทธิ์ชน เมื่อเป็นการเมืองของชนชั้นนำ โอกาสที่ผู้ต้องหาหรือนักโทษคดีการเมืองจะได้รับการนิรโทษกรรมอย่างถ้วนหน้าหรือไม่นั้น จึงไม่ได้พิจารณาจากเป้าหมายในการยุติความขัดแย้ง หรือการคืนความยุติธรรมให้แก่ทุกคน แต่พิจารณาจากความพึงพอใจหรือความเมตตากรุณาของผู้มีอำนาจเบื้องบนต่อประชาชนเบื้องล่าง 

ชนชั้นนำพยายามทำให้ทุกคนเชื่อว่าเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นในประเทศไทยจะไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย และต่อให้ใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ก็จะพยายามออกแบบประชาธิปไตยที่ยอมให้มีการเลือกตั้ง แต่ไม่ยอมให้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งอยู่เหนืออำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ยอมให้ปลดล็อกประเทศไทยออกจากโครงสร้างรัฐซ้อนรัฐ กองทัพอยู่เหนือพลเรือน รวมทั้งระบบบริหารแบบรัฐราชการรวมศูนย์

ชัยธวัชยังกล่าวว่า การเมืองของชนชั้นนำชอบสงเคราะห์ประชาชน กดให้จนแล้วขนมาแจก ระบบเศรษฐกิจของชนชั้นนำจึงแข่งกันด้วย “Know Who” ไม่ใช่ “Know How” ด้วยเส้นสายและความสัมพันธ์ ไม่ใช่ความสามารถหรือนวัตกรรม โอกาสและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะเข้าถึงได้และแบ่งปันกันอย่างเท่าเทียม

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าชนชั้นนำแต่ละกลุ่มจะสามัคคีกันตลอดเวลา มีการต่อสู้กันว่ากลุ่มใดจะเป็นผู้ครองอำนาจนำเหนือกลุ่มอื่น แต่ถึงแม้จะต่อสู้ขัดแย้งกัน ก็ยังมีเอกภาพร่วมกันคือการรักษาโครงสร้างและความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเดิม ที่สิทธิและโอกาสของแต่ละคนมีลำดับชั้นสูงต่ำลดหลั่นกันไป มองยุคสมัยที่เปลี่ยนไปว่ากำลังจะทำลายความดีงามในอดีต มองความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเป็นภัยคุกคาม ไม่ได้มองประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ แต่มองเป็นบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจ จึงพยายามกดทับการเมืองของประชาชนเอาไว้ไม่ให้เติบโต 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ชนชั้นนำประเมินความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยต่ำเกินไป ไม่เข้าใจว่าสภาพแวดล้อมของสังคมไทยเปลี่ยนไปมากจนไม่อาจย้อนกลับได้อีกแล้ว การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่บ่งชี้ข้อเท็จจริงนี้ สังคมไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไรจึงขึ้นอยู่กับดุลยภาพหรือฉันทามติใหม่ ระหว่างการเมืองของชนชั้นนำ กับการเมืองของประชาชน

ชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำกลุ่มใดก็ล้วนมองการเมืองแบบก้าวไกลเป็นภัยคุกคาม แต่พรรคก้าวไกลยืนยันว่าเราจะเป็น “สะพานเชื่อม” แห่งยุคสมัย เชื่อมสังคมไทยแบบเก่ากับแบบใหม่ และเชื่อมความฝัน ความหวัง กับความเป็นจริงเข้าด้วยกัน ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 มีความหมายต่อพรรคก้าวไกลมาก แม้จะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เสียงของประชาชนบอกอย่างชัดเจนว่าเพดานทางการเมืองแบบเดิมของไทยได้พังทลายลงแล้ว และการเปลี่ยนแปลงใหญ่ผ่านประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งนั้นเป็นไปได้

“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกเราจะมุ่งมั่นทำงานอย่างหนัก เพื่อสร้างการระเบิดครั้งใหญ่ในการปลดปล่อยศักยภาพของสังคมไทยออกมาให้ได้ ปลดปล่อยความรู้สึกนึกคิดและความปรารถนาแบบใหม่ๆ ของประชาชน ปลดปล่อยการเมืองออกจากการเมืองของชนชั้นนำและสถาปนาการเมืองของประชาชน แสวงหาฉันทามติใหม่ เพื่อเชื่อมต่อสังคมไทยแบบเก่าให้ก้าวสู่สังคมไทยแบบใหม่ในที่สุด” ชัยธวัชกล่าว

“พิธา” ยก 6 วาระก้าวไกล แก้ปัญหาเฉพาะกาล-เฉพาะหน้า เปลี่ยนระเบิดเวลาให้กลายเป็นศักยภาพของประเทศ  

ขณะที่ ช่วงเช้า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ปาฐกถาเป็นคนแรกหัวข้อ Why 6 Big Bang กล่าวว่าพรรคก้าวไกลจัดงาน Policy Fest เพราะเราอยากเห็นการเมืองเป็นเรื่องสนุก การมีนโยบายและ festival อยู่ในคำเดียวกัน คือการทำให้การเมืองเป็นเรื่องสนุกและเป็นเรื่องของทุกคน ส่วนที่มี 6 บิ๊กแบงซึ่งเป็นธีมของงาน เพราะเราต้องการเป็นฝ่ายค้านเชิงรุกที่มีวาระเป็นของตัวเอง ในขณะที่จนถึงวันนี้ตนยังฟังไม่ออกว่ารัฐบาลมีวาระอะไรในการเข้ามาเป็นรัฐบาลของประชาชน

“วันนี้เป็นการพิสูจน์ว่าพรรคก้าวไกลไม่เหมือนพรรคการเมืองอื่น เรามีวาระทางการเมือง 6 อย่างด้วยกันที่หากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นระเบิดเวลาของประเทศ แต่ถ้าเราทำการเมืองให้เป็นเรื่องสนุกและเป็นเรื่องที่ทุกคนมีส่วนร่วม เราจะเปลี่ยนระเบิดเวลา 6 ลูกนี้ให้กลายเป็นศักยภาพของประเทศไทยได้” พิธากล่าว

พิธากล่าวว่า เดือนพฤษภาคมของประเทศไทย เป็นเดือนที่มีความรู้สึกปนเปหลายอย่าง บางช่วงเป็นพฤษภาแห่งความกลัว ไม่ว่าจะเป็นพฤษภา 35, พฤษภา 53 หรือพฤษภาอัปยศในการรัฐประหารของ คสช. เมื่อปี 57 ไม่ว่าท่านจะเลือกหรือไม่เลือกพรรคก้าวไกล ทุกคนต้องยอมรับว่าช่วงเวลาเหล่านั้นคือทศวรรษที่สูญหาย แต่ขณะเดียวกันก็มีพฤษภาแห่งความหวัง เมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงเข้าคูหา อยากเห็นการเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต เป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่ประชาชนออกมามีส่วนร่วมมากที่สุด และประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง

แต่จากพฤษภาแห่งความกลัว กลายเป็นพฤษภาแห่งความหวัง กลับมาเป็นพฤษภาแห่งความกลัวและความเศร้าโศกอีกครั้งในวันนี้ได้อย่างไร 14 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา คุณเนติพร เสน่ห์สังคม หรือ “บุ้ง” เสียชีวิตหลังจากก่อนหน้านี้อดอาหารประท้วงเพื่อสิทธิในการได้รับประกันตัว เพื่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งตนและพรรคก้าวไกลยืนยันว่าในประเทศไทยไม่ควรมีใครต้องติดคุกเพราะมีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกับที่รัฐอยากเห็น

ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า กาก้าวไกลประเทศไทยไม่เหมือนเดิม การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต นี่คือสโลแกนที่ทำให้พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง แต่ตนต้องถามประชาชนว่า 1 ปีที่ผ่านมา เรามีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ประเทศไทยเปลี่ยนไปจริงหรือไม่ “การเมืองดี” ขึ้นบ้างหรือไม่ หากตอบว่าไม่ดีขึ้น ท่านไม่ได้คิดไปเอง จากข้อมูลตัวเลขใน 1 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นดัชนีวัดความสามารถและผลสำเร็จของรัฐบาล ดัชนีคอร์รัปชัน หรือดัชนีความเป็นประชาธิปไตย อันดับของไทยล้วนตกลงทั้งสิ้น

ส่วน “ปากท้องดี” ก็ขอถามเช่นกันว่า 1 ปีที่ผ่านมา ปัญหาปากท้องของประชาชนดีขึ้นหรือไม่ จากตัวเลขบอกเราว่าต่างชาติขายหุ้นไทยเกือบ 7 หมื่นล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2567  ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมตกลง 5% ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคตกลงเกือบ 3% นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยระดับกลางและระดับบน ไม่ต้องพูดถึงคนทำงานหาเช้ากินค่ำ พวกเขาลำบากมาโดยตลอด

และ 1 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทย “มีอนาคต” ขึ้นหรือไม่ เราต้องดูที่การศึกษา อันดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษของคนไทยยังคงตกลง รั้งท้ายอาเซียน หรือที่รัฐบาลจะให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของ Digital Nomad ชวนคนมาลงทุนและท่องเที่ยว แต่เมื่อดูปัญหาฝุ่นของไทยยังรุนแรง เมื่อเทียบเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ของปีนี้กับปีที่แล้ว จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพจากมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น แบบนี้จะดึงดูดคนมาได้อย่างไร แค่สิทธิในการมีลมหายใจ รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทั้งที่เป็นเรื่องพื้นฐานของประเทศที่ต้องการมีอนาคต

ทั้งหมดคือสาเหตุที่พรรคก้าวไกลต้องจัด Policy Fest 6 บิ๊กแบงเพื่อให้พฤษภาคมปีนี้เป็นเดือนที่กลับมามีความหวัง โดยสมการของความหวัง ตนได้รับแรงบันดาลใจ และหยิบยืมหลักคิดบางส่วนมาจาก “ลีเซียนลุง” อดีตนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ต้องประกอบด้วย 3 อย่าง คือ 1.ต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง มีวิสัยทัศน์ (Strong Leadership) 2.ประชาชนที่พร้อมแข่งขัน (Capable Citizen) ซึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลลงทุนในการศึกษา สวัสดิการ จนประชาชนมีความพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของประเทศได้ และสำคัญที่สุด 3.ความเชื่อใจในกันและกันระหว่างรัฐบาลกับประชาชน (Trust between Leaders & Citizens) ถ้าประเทศใดมี 3 องค์ประกอบนี้ ประเทศนั้นจะมีความหวังเสมอไม่ว่าเจออุปสรรคท้าทายแค่ไหน

อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวว่า ตนยอมรับว่าพรรคก้าวไกลยังไม่ใช่พรรคที่สมบูรณ์แบบ ยังมีเรื่องต้องพัฒนาอีกมาก แต่อย่างน้อยเราพยายามอย่างเต็มที่ ซื่อสัตย์กับประชาชน ตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์กับตัวเอง และทำงานอย่างเต็มที่ สะสมประสบการณ์ในสภาฯ และสะสมประสบการณ์การทำงานร่วมกับฝ่ายต่างๆ ซึ่งเราเชื่อว่าในระบบประชาธิปไตย ฝ่ายค้านเชิงรุกที่ทำงานอย่างเข้มแข็งก็สามารถสร้างความหวังให้พี่น้องประชาชนได้ เรามีวาระเป็นของตัวเอง ที่ประชาชนเข้ามาแสดงความเห็นได้ว่าท่านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เข้ามามีส่วนร่วมกับเราได้ สามารถขอความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน ซึ่งเรามั่นใจว่าเราจะได้ความไว้วางใจมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า

โดยวาระของพรรคก้าวไกลที่ต้องการขับเคลื่อน มี 6 หัวข้อต่อไปนี้ แบ่งเป็น “วาระเฉพาะหน้า” และ “วาระเฉพาะกาล” สำหรับ “วาระเฉพาะหน้า”ประกอบด้วย เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพ เรียนรู้ทันโลก ยกระดับคุณภาพชีวิต นี่คือเรื่องที่ทุกพรรคการเมืองพูด แต่ “วาระเฉพาะกาล” คือเรื่องที่ต้องการความกล้าหาญทางการเมืองในการแก้ไข ประกอบด้วย ปลดล็อกชนบทไทย ปฏิรูปรัฐครั้งใหญ่ และ ประชาธิปไตยเต็มใบ หากเราไม่จัดการวาระเฉพาะกาล เราจะแก้วาระเฉพาะหน้าไม่ได้

“นี่คือการเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เอาปัญหาของประเทศเป็นที่ตั้ง แล้วเรียงลำดับความสำคัญ ต้องทำแบบบิ๊กแบง ทำพร้อมๆ กันเท่านั้น ประเทศไทยจึงจะเปลี่ยน ประเทศไทยจึงจะมีอนาคต” พิธาทิ้งท้าย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net