Skip to main content
sharethis

กลุ่มนักกิจกรรมคนเสื้อแดง จัดงานรำลึก 14 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุม 19 พฤษภา ปี 53 ที่ประตูท่าแพเชียงใหม่ พร้อมย้ำว่าต้องทวงความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิตและต้องเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้

 

20 พ.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานนว่า วานนี้ (19 พ.ค.67) เวลา 17.00 น. ที่ลานท่าแพเชียงใหม่ กลุ่มนักกิจกรรมคนเสื้อแดงจัดงาน ‘14 ปี พฤษภามหาโหด 5,153 วัน กูยังไม่ลืม’ เพื่อรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่แยกราชประสงค์เมื่อปี53 ภายในงานมีการนำรูปภาพของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ พร้อมกับแผ่นป้ายข้อความถึงผู้กระทำผิดมาวางเรียงต่อกัน ช่วงนึงของการจัดงานมีการโชว์ Performance Art แบกโรงศพจำลองสีแดงเดินรอบบริเวณลานท่าแพ เพื่อเป็นการประนามการกระทำอันโหดเหี้ยมและเรียกร้องให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ

“ วันนี้คือวันครบรอบ 14 ปี หรือ 5,123 วัน ที่คนเสื้อแดงถูกฆ่ากลางเมืองหลวง ในวันที่ 19 พฤษภา 53 เราต้องคอยย้ำเหตุการณ์นี้ซ้ำๆ ทุกปีเพื่อไม่ให้ลืมภาพเหตุกาณ์ในวันนั้น เราเห็นภาพทหารที่ฆ่าประชาชน ภาพของคนสั่งฆ่า และภาพของผู้เสียชีวิตในวันนั้น ทั้ง ๆ ที่เราเห็นทั้งหมด แต่ทุกวันนี้พี่น้องชาวเสื้อแดงของพวกเราก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม พวกเราได้แต่เจ็บช้ำน้ำใจที่กระบวนการยุติธรรมกลายเป็นกระบวนการอยุติธรรม

ข้อเรียกร้องของเราคือ ต้องการให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษเพราะนี่คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาชนคนไทย เมื่อใครบางคนฆ่าคนตายยังถูกจับเข้าคุก แต่กลับกันเหตุการณ์นี้มีทั้งหลักฐานว่าใครกระทำผิด ใครเป็นคนสั่งฆ่า แต่เรากลับถูกเพิกเฉยและไม่เคยได้รับความเป็นธรรมจากฝ่ายผู้กระทำเลยแม้แต่น้อย เราคาดหวังว่าในอนาคตเมื่อเราออกมาเรียกร้องเรื่อย ๆ จะทำให้คนตื่นรู้กันมากขึ้น และเราก็เชื่อว่าสักวันหนึ่งพี่น้องชาวเสื้อแดงจะต้องได้รับความยุติธรรม”

คำกล่าวของ บุตรีรัตน์ สุริยะเสถียร หนึ่งในผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ยังคงย้ำเตือนถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมในครั้งนั้นว่าไม่เคยได้รับความเป็นธรรมจากฝ่ายผู้กระทำผิดเลย ความเจ็บปวดนี้จำไม่เคยลืม อีกทั้งตนยังบอกอีกว่าจะร่วมยืนหยัดแบบนี้ต่อไปทุกปี เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้วีรชนคนเสื้อแดง

ขณะที่ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ นักวิชาการภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดงานรำลึกเป็นเหมือนความทรงจำของการต่อสู้ การเสียสละ และการสูญเสียของผู้เข้าร่วมการชุมนุมในวันนั้น ดังนั้นเราจึงมีหน้าที่จดจำผู้ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเพื่อไม่ให้เขาถูกลืม เพราะมันคือการส่งต่อความรู้สึก ความเจ็บปวด เรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ ถ้าเราลืมเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปนั่นหมายความว่าเราจะไม่สามารถส่งต่อเรื่องราวความรู้สึกเหล่านั้นได้ ถึงแม้ว่าการรำลึกในวันนี้จะไม่สามารถกลับไปแก้ไขอดีตได้ก็ตาม แต่การส่งต่อเรื่องเล่ามันจะยังทำให้ประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

 เก่งกิจ กิติเรียงลาภ 

สำหรับ น้ำพระทัย รอดสุวรรณ์ ผู้เขียนและถ่ายภาพข่าวนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการข่าวประชาไท ซึ่งมาจาก สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net