Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ความทรงจำในอดีตมีผลอย่างสำคัญต่อการกำหนดปัจจุบันและอนาคต ของเราทุกคน แต่จะให้ชี้เฉพาะเจาะจงลงไปว่าเราเป็นเราทุกวันนี้เป็นเพราะเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใด หรือวันหนึ่งวันใดในอดีตก็อาจจะยาก

คำว่า “คนเสื้อแดง" มักถูกกล่าวถึงอย่างเหมารวม ไม่ได้จำแนกแยกแยะให้เห็นบทบาทที่ต่างกันของกลุ่มคนที่มี เพศสภาพ วัย อาชีพ หรือภูมิลำเนาที่ต่างกัน ทั้งที่ "คนเสื้อแดง" มีกลุ่มย่อยแตกแขนงมากมาย จับกลุ่มกันตามภูมิลำเนาหรือที่พักอาศัย ตามสายสัมพันธ์ทั้งแนวระนาบและแนวดิ่ง และตามลักษณะร่วมแบบอื่น ๆ อีกมากมาย หลังสลายการชุมนุม "ม็อบเสื้อแดง" ในปี 2553 หลายกลุ่มย่อยยังติดต่อกันผ่านโซเชียลมีเดีย มีการนัดหมายทำกิจกรรม ทั้งที่เกี่ยวข้อง และไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เช่น การนัดกินข้าว เล่นฟุตบอล กินเลี้ยงปีใหม่ จัดคอนเสิร์ต ร่วมระดมทุนช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่เดือดร้อนขัดสน ฯลฯ

ในบรรดา "คนเสื้อแดง" มีความขัดแย้งกันมาโดยตลอดทั้งระหว่างบุคคลและระหว่างกลุ่ม ปรากฏให้เห็นชัดเจนในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ที่มีการเสียดสี เหน็บแนม และด่าทอกันเสมอ บางคนถูกกล่าวหาว่าเป็น "สายลับ" ของทางการ บางคนถูกด่าทอว่าทำกิจกรรมการเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือเพื่อ “เอาหน้า” การอ้างผลงานจากสิ่งที่ผู้อื่นทำ วิพากษ์วิจารณ์จุดยืน แนวคิดและวิธีการเคลื่อนไหว เป็นต้น ความสัมพันธ์ทั้งด้านบวกและด้านลบเกิดขึ้นกับทุกเพศวัยตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็มี "คนเสื้อแดง" จำนวนมากถูกทำให้มองไม่เห็นและแทบไม่มีใครได้ยินเสียงของพวกเขา

ความทรงจำร่วม 
ความทรงจำของแต่ละบุคคลมีลักษณะเป็นอัตวิสัย แต่กระบวนการจดจำเรื่องราวล้วนเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล สังคม และวัฒนธรรม อธิบายอย่างง่าย ๆ เช่นเราจดจำเรื่องราวของตัวเองในวัยเด็กในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เครือญาติ หรือชุมชนหนึ่ง ๆ ดังนั้น สภาพแวดล้อมทางสังคมจึงมีส่วนสำคัญในการก่อรูปความทรงจำเรา 
  
ในทางกลับกัน "ความทรงจำร่วม" ของกลุ่มคนก็ก่อร่างมาจากความทรงจำของปัจเจกบุคคลด้วยเช่นกัน  เพราะหากไม่มีบุคคล ก็ไม่สามารถส่งต่อเรื่องเล่าของเหตุการณ์ในอดีตไปยังผู้อื่นได้ ดังนั้น ความทรงจำระดับปัจเจก กับความทรงจำร่วมจึงเกี่ยวโยงและส่งผลต่อและกันอย่างแยกไม่ออก

ที่สำคัญความทรงจำไม่ใช่การผลิตซ้ำ (reproduction) เรื่องเหตุการณ์ในอดีต แต่เป็นการประกอบสร้างใหม่ (reconstruct) ท่ามกลางกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ละบุคคลและคนแต่ละกลุ่ม "เลือกสรร" และ "ตีความ" เหตุการณ์ในอดีตเพื่อประกอบสร้างอัตลักษณ์ของตนหรือกลุ่มของตนในปัจจุบัน มีปฏิบัติการของกลวิธีในการสร้างความทรงจำไม่เหมือนกัน

มีตัวอย่างชัด ๆ ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ขับเคลื่อนผ่านการประกอบสร้างความทรงจำร่วม เช่น ความทรงจำเกี่ยวกับ "เดือนตุลา"  ที่ถูกตีความไปหลากหลาย แตกต่าง และขัดแย้งกันด้วยซ้ำ ในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองล้วนมี “คนเดือนตุลา” เข้าร่วมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะในขบวนการคนเสื้อเหลือง หรือขบวนการคนเสื้อแดง ทั้งที่สองขบวนการนี้มีอุดมการณ์และเป้าหมายอยู่คนละขั้ว “สลิ่ม" ที่อ้างว่าวางตัวเป็นกลางก็มีผู้อธิบายว่าตนเป็น “คนเดือนตุลา" ด้วยเช่นกัน

สำหรับ "คนเสื้อแดง" มีทั้งผู้ที่นิยามตนเองว่าเป็นและไม่เป็น “คนเดือนตุลา” กระนั้นก็ตาม ในกิจกรรม รำลึกเหตุการณ์ “14 ตุลา 16” และ “6 ตุลา 19" ที่จัดประจำ ณ มธ. และอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณสี่แยกคอกวัว ก็มักพบ "คนเสื้อแดง" เข้าร่วมทุกครั้ง 
 
ความทรงจำร่วมของ "คนเสื้อแดง"

ก่อนจะมาเป็น "คนเสื้อแดง" ที่ใคร ๆ เขาเรียกกัน ทุกคนผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่ากึ่งศตวรรษ ยากจะระบุให้ชัดเจนลงไปว่า ณ จุดเวลาใด หรือเหตุการณ์ไหนของประสบการณ์ชีวิตที่ทำให้ตัดสินใจมาเป็น "คนเสื้อแดง" และอะไรที่ทำให้หลายคนยืนหยัดเป็น "คนเสื้อแดง" ตราบจนทุกวันนี้ 
บางคำอธิบายคนบอกว่าฐานะทางเศรษฐกิจ ความมั่งมี-ยากจน เป็นเงื่อนไขสำคัญของการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่หากพิจารณาในขบวนการเคลื่อนไหวทุกแห่งแม้เพียงผิวเผินก็จะเห็นได้ไม่ยากว่าทุกขบวนการรวมเอากลุ่มคนหลายฐานะทางเศรษฐกิจ และสถานะทางสังคมเข้าไว้ด้วยกัน ตั้งแต่คนรับจ้างแบบหาเช้ากินค่ำ เกษตรกร แม่ค้า อดีตข้าราชการ พนักงานบริษัท นักธุรกิจ ไปจนถึงนักการเมือง

ในขบวนการ "คนเสื้อแดง" บางคนมีชื่อเสียง มีตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมอย่างภรรยานายทหาร-ตำรวจยศสูง เป็นดารานักแสดงมีชื่อเสียง แต่บางคนก็ธรรมดาสามัญเสียจนแทบจะไร้ตัวตนในสายตาคนทั่วไป บางคนเป็นนักเคลื่อนไหวทางกางเมืองมาก่อน ถูกจดจำว่าเคยเป็นนักโทษจากเรือนจำ และแน่นอนว่าจำนวนมากเป็นนักการเมืองที่เคยมีตำแหน่งในการบริหารบ้านเมือง

การระบุถึง "ปัจจัย" อย่างใดอย่างหนึ่งที่บอกว่าเป็น “จุดเปลี่ยน" ได้ยากเต็มทีและเป็นไปไม่ได้เลยที่จะกล่าวถึง "คนเสื้อแดง" อย่างเหมารวม มีงานศึกษามากพอควรที่อธิบายว่า “คนเสื้อแดง" เป็นใครมาจากไหน ทำไมจึงออกมาเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในช่วงที่ขบวนการคนเสื้อแดงพีคมาก ๆ ราวต้นทศวรรษ 2550 แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ว่าเมื่อเวลาผ่านมาหลายปีแล้ว “คนเสื้อแดง" จำนวนมากยังยืนหยัดต่อสู้ และหลายคนก็สู้กันมาจนถึงทุกวันนี้

แม้ว่า “คนเสื้อแดง" จะภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนเอง แต่การยืนหยัดประกาศตัวว่าเป็น "คนเสื้อแดง" ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย บางห้วงเวลาในอดีต "คนเสื้อแดง" ถูกสังคมเหยียดหยันถากถางราวกับไม่ใช่คน หลังการชุมนุมใหญ่ช่วงต้นทศวรรษ 2550 ขบวนการคนเสื้อแดงถูกรัฐใช้กองกำลังสลายการชุมนุมในปี 2553 จนมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก แทนที่จะได้รับความเห็นอกเห็นใจกลับมีประชาชนคนไทยจำนวนมากที่เพิกเฉยต่อความสูญเสีย และอีกจำนวนไม่น้อยที่ซ้ำเติมสมน้ำหน้าว่าสมควรแล้วที่ “คนเสื้อแดง" ถูกปราบปราม

ในห้วงเวลานั้น ประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่มีพื้นที่สำหรับคนเสื้อแดง เพราะถูกเบียดขับจากวาทกรรมเชิงลบมากมาย อย่างเช่น ควายแดง ขี้ข้าทักษิณ ล้มเจ้า เผาบ้านเผาเมือง ฯลฯ วาทกรรมเหล่านี้มีความหมายว่ากลุ่มคนเสื้อแดงไม่ได้เข้าใจการเมืองและระบอบประชาธิปไตย เป็นแค่กลุ่มคนชนบท ยากจน ด้อยการศึกษา เป็นคนชั้นล่าง เป็นเหยื่อของนโยบายประชานิยมและถูกนักการเมืองหลอกใช้ คนเสื้อแดงจึงนับเป็นคนชายขอบของระบอบ "ประชาธิปไตย" ในความหมายของผู้ส่งต่อวาทกรรม
 

หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลที่มี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี "คนเสื้อแดง" กลับมามีพื้นที่ทางการเมืองอีกครั้ง กิจกรรมการเมืองเกิดขึ้นอย่างคึกคักในรูปแบบหลากหลาย แม้ว่าจะมี “คนเสื้อแดง" จำนวนมากถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอันเนื่องมาจากการชุมนุมก่อนหน้านี้ แต่รัฐบาลก็ดูแลผู้ต้องขังอย่างดี ทว่า ภาพลักษณ์ของ “คนเสื้อแดง" ก็ยังไม่ได้ดูดีในสายตาคนไทยส่วนใหญ่ (ทั้งนี้ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่าว่า "ส่วนใหญ่" หมายถึงอะไร)

กระทั่งเกิดการรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557  คสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ผู้ยึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้งได้ใช้วิธีการรุนแรงไล่ล่าและคุกคาม "คนเสื้อแดง" อย่างหนักหน่วง ประชาชนจำนวนมากถูกนำตัวไป “ปรับทัศนคติ" ในค่ายทหาร บางส่วนลี้ภัยไปต่างประเทศ และหลายคนถูกอุ้มหาย หรือพบเป็นศพโดยที่รัฐเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่แสดงทีท่าว่าจะปกป้องคุ้มครองสิทธิพลเมืองของพวกเขา
 
การปราบปรามอย่างรุนแรงทำให้ "แนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ" (นปช.) ที่เคยเป็นแกนนำการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงยุติบทบาทลง แต่ "คนเสื้อแดง" ยังเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มเคลื่อนไหวของเยาวชนคนหนุ่มสาวเพื่อเรียกร้องให้รัฐเผด็จการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ในช่วงปี 2561-2563

ในช่วงเวลาถัดจากนั้น การเคลื่อนไหวของขบวนการ “คนรุ่นใหม่" ก็ดุเดือดมากขึ้น ในปี 2563 มีข้อเรียกร้องสำคัญคือให้ "ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์" ในขบวนการคนรุ่นใหม่มี "คนเสื้อแดง" เข้าร่วมจำนวนมากแม้ว่าสุขภาพร่างกายจะร่วงโรยกันไปตามวัยแต่พลังใจในการต่อสู้ยังไม่โรยรา อย่างไรก็ตาม ลุง ๆ ป้า ๆ "คนเสื้อแดง"  เข้าร่วมกิจกรรมและการชุมนุมต่าง ๆ โดยไม่ประกาศตัวว่าเป็น "คนเสื้อแดง" เพราะเกรงว่าจะส่งผลด้านลบต่อภาพลักษณ์ของ "ขบวนการคนรุ่นใหม่"

ผ่านเหตุการณ์มามากมายในหลายสมัยรัฐบาล ความทรงจำเกี่ยวกับคนเสื้อแดงยังคงไม่ได้รับการยอมรับให้เป็น "ความทรงจำทางสังคม" เช่นเดียวกันกับเรื่องราวการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ “คนเสืิ้องแดง" ถูกเบียดขับให้เป็นเพียงประวัติศาสตร์ชายขอบ ไม่มีพื้นที่อย่างเป็นทางการสำหรับความทรงจำชุดนี้ จนกระทั่งในปี 2563 นั่นเองที่มีการกอบกู้ภาพลักษณ์ “คนเสื้อแดง" เมื่อเยาวชนคนหนุ่มสาวและนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ขึ้นเวทีอภิปรายแล้วกล่าวขอโทษ "คนเสื้อแดง" แสดงความเสียใจที่กลุ่มองค์กรซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาของตนเคยร่วมด่าทอและซ้ำเดิมคนเสื้อแดง ออกแรงเชียร์ให้รัฐบาลใช้กองกำลังปราบปรามกลุ่ม "คนเสื้อแดง" ในปี 2553

ในช่วงเตรียมการเลือกตั้ง ปี 2566 แพรทองธาร ชินวัตร ทายาททางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศตัวว่าเข้ามามีบทบาทสำคัญในพรรคเพื่อไทย ขณะที่ทักษิณ ชินวัตร เองก็มีความเคลื่อนไหวสร้างกระแสข่าวข้ามโลกผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในช่วงนี้เองที่บรรดา "คนเสื้อแดง" เริ่มโต้แย้งกันอีกครั้งผ่านสื่อสังคมออนไลน์และปรากฏเป็นข่าวทางสื่อสาธารณะว่ามีการช่วงชิงนิยามความหมายของการเป็น “คนเสื้อแดง" สร้างอัตลักษณ์การเป็น "แดงแท้" "แดงเทียม" "แดงสลิ่ม" "แดงมือใหม่" ฯลฯ นัยยะของอัตลักษณ์เหล่านี้คือการเบียดขับคนบางกลุ่มว่าไม่ใช่พวกพ้องเดียวกัน หรือแม้แต่ไม่เคยเป็นพวกเดียวกันมาก่อนเลยด้วยซ้ำ


(โปรดติดตามตอนต่อไป)
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net