Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 23 ต.ค.2549  กิจกรรมวันสุดท้ายในงานสมัชชาสังคมไทยเป็นการเดินขบวนจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อประกาศเจตนารมณ์และข้อเสนอในการปฏิรูปการเมือง ตลอดจนการประกาศยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยภาคประชาชน


 


ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการระดมความคิดกันในงานสมัชชาฯ 2 วันที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการรวมตัวขององค์กรภาคประชาชนราว 70 องค์กร ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทยก็ว่าได้


 


ขบวนที่เดินนี้ มีผู้คนร่วมราว 200 ชีวิต ทั้งเครือข่ายผู้พิการ เครือข่ายแรงงาน ฯ ซึ่งดูน้อยลงไปมากจากความคาดหมายของหลายคน ทั้งนี้ เพราะหลายเครือข่ายได้ถอนตัวไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากไม่เห็นด้วยในการเดินขบวนท่ามกลางสถานการณ์กฎอัยการศึก


 


ยิ่งไปกว่านั้นหลายองค์กรที่มาจากต่างจังหวัดยังได้รับแรงกดดันอย่างหนักในพื้นที่ บ้างถูกสกัดไม่ให้เข้ากรุงเทพฯ มาร่วมงานสมัชชาฯ ด้วยซ้ำ มีการข่มขู่ว่าจะไม่สามารถทำงานอยู่ในพื้นที่ได้ ขณะที่ชาวบ้านผู้นำเครือข่ายบางกลุ่มก็ทำงานเป็นสมาชิกอบต.ไปด้วยในเวลาเดียวกัน ฯลฯ


 


เงื่อนไขที่แตกต่างของแต่ละเครือข่ายนี้เป็นเหตุให้ความเห็นในเรื่อง "ขบวน" ต่างกันออกไป คณะทำงานบางส่วนเสนอให้ยกเลิกกิจกรรมนี้เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย แต่บางส่วนคิดว่าต้องยืนยันสิทธิเสรีภาพของภาคประชาชนไว้ให้มั่น ท้ายที่สุด มติรวมยังคงยืนยันการเดินขบวนไว้ แต่เปลี่ยนจุดเริ่มต้นจากสนามหลวงมาเป็นอนุสรณ์สถานฯ  


 


ก่อนจะได้มติเช่นนี้ มีการถกเถียงกันอย่างหนักในเย็นวันก่อนหน้าวันเดินขบวน และมันได้กลายเป็นท็อปปิกสำคัญของนักข่าวที่ไปทำข่าวงานสมัชชาฯ ถึง "การแตกคอกันเอง" ของภาคประชาชน หรือกระทั่งถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนวงในหรือวงใกล้เคียงว่า นี่สะท้อนถึงความไม่เป็นเอกภาพและความอ่อนแอของภาคประชาชนไทยอย่างชัดเจน


 


"มันเป็นความขัดแย้งในการจัดการ และเป็นการจัดการที่อยู่ในบรรยากาศของกฎอัยการศึก ถ้ายกเลิกกฎอัยการศึก เรื่องนี้ก็จะไม่ใช่ปัญหา" จอน อึ๊งภากรณ์ หัวขบวนจัดงานที่ทำหน้าที่หนักในการประสานหลากแนวคิดหลายแนวทางของเครือข่ายประชาชน แสดงความเห็น


 


เขาระบุด้วยว่า "นี่เป็นเวทีที่รวบรวมภาคประชาชนแบบกว้างขวางที่สุดก็ว่าได้ ผมว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ในภาคประชาชนเองก็มีตั้งแต่เสื้อเหลืองไปจนถึงเสื้อดำ แต่น่าทึ่งมากที่เนื้อหาของข้อเรียกร้อง ข้อเสนอนั้นทุกฝ่ายเห็นร่วมกันทั้งหมด ไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น"


 


ในส่วนที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมใน "รัฐธรรมนูญ" ฉบับใหม่นั้น จะว่าไปมันก็ได้เคลื่อนไปพอสมควรจากการแถลงข่าวครั้งแรกๆ ที่คณะทำงานจัดงานสมัชชาฯ ประกาศว่าภาคประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม เป็นชนชั้นล่างจะส่งตัวแทนเข้าร่วมในสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 500 คน


 


ต่อมามีการหารือกันอีกครั้ง โดยมีผู้เสนอว่าควรเสนอรายชื่อตัวแทน 1,000 คนและยื่นเงื่อนไขแบบที่ต้องรับทั้งหมดหรือไม่ก็ไม่ต้องมีเลยสักคนที่เข้าไป เพราะต้องการผลักดันวาระประชาชนอย่างจริงจัง ไม่ต้องการให้เป็นไม้ประดับหรือกลายเป็นตัวโจ๊กเท่านั้น ที่สำคัญ นี่ไม่ใช่การร้องขอต่อคณะรัฐประหารหรือรัฐบาลในการการเข้าไปนั่งในสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการบอกว่าเจ้าของประเทศต้องการมีส่วนร่วมโดยตรง


 


แม้จะฟังดูดี หรืออาจถึงขั้นน่าสนใจสำหรับบางคน แต่เมื่อทุกเครือข่ายประเมินดูแล้วก็เห็นไปในแนวเดียวกันว่า ความเป็นไปได้นั้นต่ำมากถึงมากที่สุด ทั้งยังมีบางส่วนที่ไม่ต้องการให้เข้าไปมีส่วนใดๆ ภายใต้รัฐบาลคณะรัฐประหาร เพราะไม่ต้องการมีส่วนสร้างความชอบธรรมให้การรัฐประหารอีกด้วย


 


สุดท้าย จึงเห็นควรให้ภาคประชาชนร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนเองอย่างอิสระ เบื้องต้นจะรวบรวมข้อเสนอ ข้อเรียกร้องจากเครือข่ายต่างๆ โดยมี 12 ข้อหลักดังที่แถลงข่าวเป็นโครงร่างสำคัญในการยกร่างเพื่อเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยให้มีระบบรัฐสวัสดิการ เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เกิดขึ้นจริง สามารถตรวจสอบรัฐบาลได้  


 


ส่วนที่ไม่มีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 2540 คืนมานั้น จอนระบุว่าชัดเจนว่าการยกร่างนี้จะก้าวหน้าไปกว่าร่างฉบับปี 40 ซึ่งยังมีข้อบกพร่องอยู่ในหลายประการ เช่น การระบุว่าส.ส.ต้องจบปริญญาตรี


 


"อันที่จริงผมก็เหมือนกับหลายคนที่ไม่ต้องการให้ฉีกรัฐธรรมนูญปี 40 พวกเราเคยเรียกร้องให้เขาเอากลับมาอย่างน้อยก็เป็นโครงร่างสำหรับการยกร่างฉบับใหม่ หรือนำกลับมาบางหมวด แต่เขาก็ไม่สนใจ และตอนนี้ผมคิดว่ามันเลยจากประเด็นการทวงคืนรัฐธรรมนูญไปแล้ว"จอนระบุ


 


เรื่องของเรื่องจึงเป็นว่า งานสมัชชาสังคมไทยจบ แต่ภาคประชาชนไทยยังไม่ยอมจบ คณะทำงานจัดงานสมัชชายังอยู่ สำนักงานจัดงานฯ ยังไม่ยุบ เครือข่ายต่างๆ จะยังร่วมประชุมกันอีกเพื่อผลักดันวาระของภาคประชาชนผ่านการร่างรัฐธรรมนูญฉบับคิดเอง ทำเอง


 


หมายเหตุตอนท้ายไว้ด้วยนิดหน่อย สำหรับกรณีกลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหารที่จัดกิจกรรมต่อต้านชนิดท้าทายอำนาจรัฐอย่างไม่ไว้หน้า ซึ่งในวันนี้ได้ร่วมเดินขบวนและแจกแถลงการณ์กร้าวประกาศชวนประชาชนร่วมชุมนุมคัดค้านการประชุมรัฐสภาวันแรกในวันพรุ่งนี้ (24 ต.ค.) จนทหารต้องรีบควานหาตัวแกนนำกันเป็นเรื่องเป็นราว ชวนให้ขบวนโดยรวมหวาดเสียวเล็กน้อย และหลายคนแอบหวั่นใจว่าความขัดแย้งนี้อาจเพิ่มระดับความรุนแรงจนถึงขั้นเชือดไก่ให้ลิงดู


 


สมมติว่ากลุ่ม 19 กันยาฯ ถูกจับ...หัวหน้าการจัดงานสมัชชาตอบแบบไม่รีรอว่า "องค์กรภาคประชาชนต้องร่วมประท้วงและเรียกร้องให้ปล่อยตัวแน่นอน เพราะมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง".....แม้ว่ามติตลอดจนข้อเรียกร้องของเครือข่ายสมัชชาฯ เองจะไม่ได้ออกมาชัดเจนว่าต่อต้านรัฐประหารก็ตาม


 


 


 


 


 


 


*วาระประชาชน 12 ข้อ ประกอบด้วย


 


1.การมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรง ในการกำหนดนโยบายสาธารณะทุกขั้นตอน ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น


2.การตรวจสอบอำนาจรัฐ กรณีการทุจริตคอร์รัปชันที่ต้องไม่มีอายุความ


3.การระบุไว้ในรัฐธรรมนูญว่าประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการ


4.การปฏิรูปสื่อวิทยุโทรทัศน์


5.การส่งเสริมการรวมตัวขององค์กรประชาชนให้มีความเข้มแข็ง


6.การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในองค์กรอิสระ


7.การมีอำนาจในการจัดทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพโดยชุมชน


8.การปฏิรูปที่ดินของประเทศ


9.การสนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืน


10.การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค


11.การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี โดยจัดทำกฎหมายเฉพาะในการตัดสินใจ


12.การสร้างสันติภาพภาคใต้ โดยเคารพและให้สิทธิแก่คนในพื้นที่


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net