Skip to main content
sharethis

ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ *
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หากการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคไทยรักไทยยึดพื้นที่ในสภาผู้แทนราษฎรได้มากกว่าเดิม อหังการ์แห่งอำนาจของนายกรัฐมนตรีก็คงมีมากกว่าเดิม สิ่งซึ่งจะสืบทอดต่อไปก็คือการเติบโตของระบอบทักษิณาธิปไตย

ระบอบทักษิณาธิปไตย เป็นระบอบการปกครองของทักษิณ โดยทักษิณ และเพื่อทักษิณ การปฏิรูปการเมืองโดยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แทนที่จะนำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงให้กับสังคมการเมืองไทย ไม่ใช่ มันนำมาซึ่งระบอบทักษิณาธิปไตย

โดยข้อสมมติที่ว่ารัฐบาลทักษิณยังคงสามารถกุมอำนาจบริหารราชการแผ่นดินหลังการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ทิศทางของเมืองไทยเป็นอย่างไร ผมอยากจะเสนอการวิเคราะห์ในเรื่องนี้ เพื่อเป็นพื้นฐานให้ท่านตัดสินใจว่าท่านจะใช้สิทธิในการเลือกตั้งหรือไม่ หรือท่านจะใช้สิทธิในการเลือกพรรคการเมืองใด หรือท่านจะไม่เลือกพรรคเลือกตัวบุคคล อันนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละบุคคล

อนาคตของการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ผมเห็นแนวทางที่ค่อนข้างชัดเจนอยู่ 2 แนวทาง ทางหนึ่งคือสังคมไทยจะเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ผมแปลว่า สังคมขี้ฉ้อ อันนี้เป็นแนวทางที่มีความชัดเจนมากขึ้นๆ ทางที่สองคือ สังคมไทยกำลังเดินไปสู่การเป็น risk society ผมอยากจะย้ำประเด็นหลังมากกว่าประเด็นแรก เพราะประเด็นแรกเป็นประเด็นที่ผมพูดเป็นเวลาช้านานนับสิบปี

สังคมขี้ฉ้อ เราเห็นกระบวนการฉ้อฉล การใช้อำนาจดูดซับส่วนเกินทางเศรษฐกิจ จากกระบวนการกำหนดและบริหารนโยบายเศรษฐกิจมาเป็นเวลาช้านาน แต่ว่าการดูดซับส่วนเกินทางเศรษฐกิจ โดยการกำหนดนโยบาย ที่มีคนตั้งชื่อว่า การฉ้อฉลเชิงนโยบาย กระทำกันอย่างรุนแรงมากในช่วงเวลา 4 ปีเศษที่ผ่านมา ทั้งที่พรรคไทยรักไทยเวลาที่นำเสนอ policy manu ได้พูดถึงเรื่องการปราบปรามการคอร์รัปชั่น แต่ว่าเมื่อมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ก็ไม่ได้มีความจริงใจในการปราบปรามการคอร์รัปชั่นแต่ประการใด

ถ้าหากรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวว่า ไปรีดเงินจากพ่อค้านักธุรกิจ สามารถเปลี่ยนสถานะจากรัฐมนตรีไปเป็นรองนายกรัฐมนตรีได้ กติกาการเล่นเกมนี้ยิ่งเป็นการส่งเสริมการฉ้อราษฎร์บังหลวง และเป็นการส่งเสริมการรีดไถพ่อค้านายทุน

การเดินทางสู่สังคมขี้ฉ้อนี้ชัดเจนมาก โดยเฉพาะการใช้อำนาจกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อเอื้อผลประโยชน์ตัวเอง หรือพรรคพวกของตัวเอง กระบวนการที่พยายามเอาหุ้นรัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยที่เครือญาติของตัวเองและคนใกล้ชิดของตัวเอง เป็นผู้ไปกวาดเอาหุ้นเหล่านั้น ก็เป็นเรื่องที่ชัดเจน

การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจก็เป็นไปในแนวทางนี้ ผมพูดต่างกรรมกต่างวาระหลายครั้งว่า นโยบายของรัฐบาลนี้มีเป้าหมายอยู่ 2 อัน อันหนึ่งคือ vote gains maximization ทำอย่างไรจะได้คะแนนนิยมทางการเมืองมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อีกเป้าหมายหนึ่งคือ private interest maximization คือการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

เพราะฉะนั้น เราจะเห็นการดำเนินนโยบายที่ไม่มีตรรกะที่สอดคล้องกัน ในด้านหนึ่งพยายามจะดันรัฐวิสาหกิจที่เป็นสาธารณูปโภคเข้าตลาดหลักทรัพย์ เช่น เอาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ในอีกด้านหนึ่งพยายามจะไปซื้อคืนรถไฟฟ้าใต้ดิน และพยายามจะบีบซื้อรถไฟฟ้าบนดิน เพราะฉะนั้น ตรรกะของเรื่องนี้มันอยู่ที่ไหน บทบาทของรัฐในกิจกรรมทางเศรษฐกิจควรจะขีดเส้นอย่างไร

ด้านหนึ่งพยายาม privatization เอาหุ้นเข้าตลาด เพราะพรรคพวกของตัวเองเล่นหุ้น ในอีกด้านพยายามจะฮุบรถไฟฟ้าใต้ดินและบนดิน ซึ่งเป็น publicization ตรงกันข้ามกับ privatization ฉะนั้น หนทางที่สังคมกำลังเปลี่ยนเป็นสังคมขี้ฉ้อมันชัดเจนยิ่งขึ้น

ที่สำคัญก็คือว่า ความขี้ฉ้อ เป็นคุณสมบัติที่คนไทยเริ่มไม่รังเกียจ อันนี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ถ้าหากคนไทยไม่รังเกียจความขี้ฉ้อ สังคมนี้มันคงจะเสื่อมทรามจนถึงที่สุด

ประเด็นที่ผมอยากจะพูดถึงมากกว่า ก็คือ การเดินไปสู่ risk society สังคมแห่งความเสี่ยง

ภาวะความเสี่ยงในสังคมไทย ไม่ได้เพิ่งเกิดในรัฐบาลไทยรักไทย แต่เกิดขึ้นมาก่อนนานแล้ว ปัญหามีอยู่ว่า ภาวะความเสี่ยงที่มันอยู่ในสังคม มันอยู่ในระดับที่จัดการได้หรือไม่ได้ ถ้ามันเกินขอบเขตที่จะจัดการได้ ภาวะความเสี่ยงนั้นก็จะสั่นคลอนสังคม ความไร้เสถียรภาพของสังคมก็จะต้องเกิด ความไม่มั่นคงทางสังคมก็จะต้องมี

ในสังคมไทยที่ผ่านมา รัฐไม่ได้สร้าง safety net ในการกรองความเสี่ยง แล้วก็ไม่มีความพยายามที่จะสร้างตาข่ายที่จะกรองความเสี่ยง ไม่ให้สังคมต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากจนเกินไป ในอีกด้านหนึ่งรัฐก็ไม่สนใจที่จะเพิ่มพูนศักยภาพในการจัดการความเสี่ยงในสังคม สภาพการณ์ที่เป็นอยู่อย่างนี้ มันก็จะมีผลในการสร้างปัญหาความไร้เสถียรภาพและไม่มั่นคงในสังคม

แต่ผมอยากจะพูดว่าในช่วงเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ ผู้นำไทยได้นำสังคมไทยไปเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้น และดูเหมือนว่าภาวะความเสี่ยงของสังคมไทยมันเพิ่มพูดตามกาลเวลา จนในเวลานี้ผมเชื่อว่าสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความเสี่ยง( risk society)

ภาวะความเสี่ยงในสังคมไทยมีทั้ง ภาวะความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ผมอยากจะพูดถึงภาวะความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ และเน้นเฉพาะที่เกิดขึ้นในช่วงพรรคไทยรักไทย

เริ่มต้นผมอยากจะให้ดูนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ท่านร่ำรวยมาจากความเสี่ยง แล้วท่านก็พูดเสมอว่าถ้าไม่เสี่ยงก็ไม่มีทางรวย คุณทักษิณมักจะบอกว่าตัวเองเป็น CEO แต่ผมสืบประวัติท่านมาเป็นเวลานาน ผมไม่เคยพบว่าท่านไปเป็น CEO ที่ไหน ผมพบว่าท่านเป็น "เถ้าแก่" เพราะว่าธุรกิจที่ท่านจัดการ ท่านเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ท่านและครอบครัวท่านเป็นผู้ถือหุ้น

ท่านไม่เคยเป็น CEO เพราะท่านไม่เคยเป็นผู้บริหารจัดการของบริษัทซึ่งแบ่งแยกระหว่างความเป็นเจ้าของกับการควบคุมจัดการ แต่ว่าท่านก็นำเอาวิธีการบริหารแบบเถ้าแก่มาบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดนโยบายเศรษฐกิจอย่างสุ่มเสี่ยง

ถ้าไปอ่านหนังสือที่สำนักพิมพ์มติชนร่ำรวยมา คือ "ตาดูดาว เท้าติดดิน" ท่านจะบอกว่าท่านดูแต่เรื่อง macro ภรรยาท่านดูเรื่อง micro จัดการระบบจุลภาค เก็บรายละเอียด อุดช่องว่างต่างๆ ในกระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย คุณทักษิณชี้นำนโยบาย แต่ไม่มีคนมาเก็บมารายละเอียด ไม่มีคนที่จะมาทำหน้าที่เหมือนกับที่คุณพจมานทำกับบริษัทในเครือชินวัตร

ผมยกตัวอย่างว่า กรณีการให้ทุนนักเรียนอัจฉริยะที่ส่งไปตายที่เยอรมัน เจตนาในการให้ทุนกับนักเรียนต่างจังหวัดไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเป็นเจตนาดี ท่านก็ชี้นำในระดับ macro กระทรวงศึกษาฯ และกพ.ก็ไม่ได้สนใจดูแลในเรื่องระดับจุลภาค ไม่มีใครตามมาจัดการระดับจุลภาค

ในการดำเนินการนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยรักไทย เป็นจำนวนมากไม่สนใจกับการจัดการเรื่องสถาบัน ส่งนักเรียนไปเรียนเยอรมัน แค่นักเรียนต่างจังหวัดมาเรียนกรุงเทพฯ ก็ต้องเจอปัญหา cultural shock แล้ว ไปเรียนในประเทศแองโกลแซกซอนที่ใช้ภาษาอังกฤษก็เจอปัญหา cultural shock แล้ว ไปเรียนในเยอรมันดีได้ยังไง ไม่รู้ภาษาเยอรมัน พูดเพื่อจะซื้อข้าวกินก็ยังไม่ได้ แล้วมันก็เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น

คุณทักษิณใช้วิธีการนี้เหมือนที่อาจารย์แก้วสรรพูดเมื่อกี้นี้ เรื่องเอฟทีเอ คุณทักษิณเป็นคนโบกมือชี้ เวลานี้มีแผนจะทำเอฟทีเอเยอะแยะไปหมด อาจจะถึง 50 ประเทศ กำลังจะทำเอฟทีเอกับกลุ่มตลาดร่วมของภูมิภาคส่วนใต้ คือพวกบราซิล อาร์เจนตินา อุรุกวัย ปรากวัย กำลังจะทำกับชิลี่ เต็มไปหมด

ชี้นำโดยที่ไม่ได้ดูรายละเอียดว่าศักยภาพในการเจรจามีหรือเปล่า ความรู้ในการเจรจามีหรือเปล่า นักเจรจาการค้าเรามีอยู่จำกัดมาก เมื่อคุณโบกมือทีเดียวเจรจากันนับสิบประเทศ นักเจรจาการค้าไม่มีเวลาไปหาความรู้ ไม่รู้ว่าจะเจรจาอย่างไร จุดยืนอย่างไร ก็ไม่มี ผมคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องซึ่งเห็นได้ชัดเจน

คุณทักษิณกำลังใช้วิธีการบริหารจัดการธุรกิจในเครือชินวัตรมาบริหารประเทศ โดยการชี้นำนโยบายต่างๆ ในกรณีบริหารธุรกิจในเครือชินวัตร คุณพจมานเป็นคนเก็บรายละเอียด แต่ในกรณีของการบริหารเศรษฐกิจ ไม่มีใครมาตามเก็บรายละเอียด ไม่มีรัฐมนตรีคนไหนกล้าขัดคุณทักษิณ ในเวลาประชุมกำหนดนโยบาย ขัดคอบ่อยๆ นี่ถูกถอดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี กลายเป็นคนว่างงานทางการเมือง ไม่สามารถกลับไปเป็นส.ส.ได้ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

เมือก่อนนี้เทคโนแครตยังสามารถทำหน้าที่ในการคานอำนาจผู้มีอำนาจทางการเมืองได้ แต่คุณทักษิณมีความสามารถในการฟันคอเทคโนแครตหมดเลย มองไปกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ฯ สำนักงบประมาณ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่มีเทคโนแครตที่กล้าขึ้นมาคานความเห็นคุณทักษิณได้

ดังนั้น กระบวนการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่อยู่ เป็นกระบวนการที่เอื้ออาทรต่อการก่อเกิดของภาวะความเสี่ยงในสังคม

รัฐบาลในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ในเรื่องของการดำเนินนโยบายการคลัง วินัยทางการคลังไม่ได้อยู่ในพจนานุกรมฉบับชินวัตร รัฐบาลไม่ต้องการการคานอำนาจทางการคลังจากฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น รัฐบาลก็ล้วงเอาเงินนอกงบประมาณมาใช้ ล้วงเอาเงินจากกองทุนหมุนเวียนต่างๆ มาใช้ ล้วงเอาเงินจากสำนักงานสลากดินแบ่งมาใช้ แล้วก็ไปกดปุ่มให้ธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจจัดสรรเงินมาดำเนินนโยบายต่างๆ

การดำเนินนโยบายทางการคลังลักษณะนี้ อาจารย์อัมมารท่านเคยเตือนว่าจะมีผลต่อฐานะความง่อนแง่นของสถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจในอนมาคต

สืบเนื่องจากคุณทักษิณ ล้วงเงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งมาก ผมไม่แน่ใจว่าทำถูกกฎหมายหรือเปล่า ผมอ่านกฎหมายแล้วไม่พบว่ามีมาตราไหนที่จะล้วงเงินออกมาใช้ก่อนได้ ก่อนที่จะนำกำไรของกองสลากนำส่งเข้าบัญชีคงคลัง และด้วยเหตุที่มีการดูดล้วงจากกองสลากมาก ก็ต้องเร่งให้มีการหารายได้จากการเล่นหวย

ความไม่มั่นคงทางการคลังเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ในอนาคต และเป็นปัจจัยที่นำมาสู่ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของสังคมไทย

มีประเด็นอื่นอีก ประเด็นเรื่องเอฟทีเอ การทำข้อตกลงทางการค้าเสรี ไม่ใช่มีแต่ได้ไม่มีเสีย ต้องมีการแลก sector หนึ่งกับอีก sector หนึ่ง ดังนั้นต้องมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทได้ประโยชน์ บางประเภทเสียประโยชน์ นำมาซึ่งความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ

พูดถึงเกษตรกรรมภาคเหนือหลังจากตกลงทำการค้าเสรีไทย-จีน คนไทยก็อยู่ในภาวะความเสี่ยง ในขณะที่รัฐบาลมีเข็มมุ่งในการทำการค้าเสรีนับสิบๆ ข้อตกลง ไม่รู้ว่าตัวเองจะเจอแจ็กพ็อตเมื่อไร สมมติว่าผมประกอบธุรกิจเอ เปิดเสรีขึ้นมาแล้วธุรกิจผมไม่สามารถสู้กับสินค้านำเข้าได้ ผมก็ต้องเจ๊ง การทำข้อตกลงการค้าเสรี นำมาซึ่งภาวะความเสี่ยง

อาจารย์แก้วสรรพูดถึงความแปรปรวนของภาวะตลาด รัฐบาลเดินแนวทาง marketization ในทุกๆ เรื่องรวมทั้งในภาคการศึกษา ความแปรปรวนของตลาดนำมาซึ่งความเสี่ยง เราเห็นเกษตรกรในชนบทต้องเผชิญภาวะตกต่ำของสินค้าเกษตร ตลาดมันแปรปรวน และตลาดไม่ค่อยปราณีกับคนซึ่งไม่สามารถอยู่รอดได้ในตลาด

ทั้งหมดนี้เป็นความเสี่ยงในเชิงเศรษฐกิจ

มันยังมีความเสี่ยงในทางการเมือง อาจารย์ธีรยุทธมองรัฐธรรมนูญ 2540 ในทางที่ค่อนข้างดี รัฐธรรมต้องการให้มี good governace ต้องการให้มีธรรมาภิบาล ภายใต้ระบอบทักษิณาธิปไตย ธรรมาภิบาลไม่ได้อยู่ในพจนานุกรมฉบับชินวัตร เพราะว่าในการบริหารราชการแผ่นดินระบอบเถ้าแก่ เถ้าแก่เป็นเจ้าของกิจการ เถ้าแก่เป็นผู้บริหาร เถ้าแก่ไม่ต้องการธรรมาภิบาล เถ้าแก่ไม่ต้องการ participation เถ้าแก่ไม่ต้องการความโปร่งใส เถ้าแก่ไม่ต้องรับผิด เพราะเถ้าแก่รับผิดต่อตัวเอง ถ้าเจ๊งก็เป็นเงินเถ้าแก่

ถ้าเอาระบบความคิดนี้มาใช้บริหารราชการแผ่นดิน เราจะพบว่ารัฐธรรมนูญมีหลายเรื่องที่ต้องอาศัยกฎหมายลูก ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวเพื่อจะออกกฎหมายลูก เพื่ออนุวัตรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มันเชื่องช้ามาก ที่จริงต้องโทษรัฐบาลก่อนหน้า พรรคประชาธิปัตย์ด้วยที่เชื่องช้าในเรื่องนี้ จนเวลานี้ 7 ปีแล้ว กฎหมายที่จะต้องออก ต้องแก้ ยังไม่สมบูรณ์เลย

ฉะนั้น การที่ระบอบการเมืองการปกครองที่ยังไม่มีธรรมาภิบาล อันนี้เปิดช่องให้สังคมการเมืองไทย แปรเปลี่ยนเป็นสังคมแห่งความเสี่ยง ไม่ต้องพูดถึงการริดรอนสิทธิมนุษยชน ไม่ต้องพูดถึงการไปพยายามจำกัดบทบาทของการเมืองภาคประชาชน

ความเสี่ยงทางการเมืองที่ชัดเจนก็ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดภาคใต้ ความเสี่ยงที่เกิดจากความขัดแย้งของการดำเนินนโยบายโดยไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วม ยกตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรท้องถิ่น กำลังเป็นความขัดแย้งที่นำมาซึ่งความเสี่ยงทางการเมืองที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

นอกจากนี้ยังมี ความเสี่ยงทางสังคม ผมอยากจะยก 2 ประเด็นหลัก มีคนเข้าใจผิดอยู่เสมอว่าสิ่งที่เรียกว่า ทักษิโณมิกส์ เป็นไปตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผมอยากจะบอกว่ามันไม่ใช่ มันคนละเรื่องคนละปรัชญาเลย แม้ทักษิโณมิกส์ ต้องการมีโอท็อป 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์

นโยบาย 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ เป็นนโยบายที่ต้องการให้ตำบลแสวงหาความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงปฏิเสธเรื่องความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ถ้าเรารับหลักการเรื่องการได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ เราต้องใช้การชำนาญพิเศษในการผลิต ภาคการเกษตรก็จะกลายเป็น mono crop ผลิตพืชเชิงเดี่ยว ผลิตเพื่อขาย แต่ว่าประชาชนในภาคเกษตรกรรมในทุกภูมิภาคได้เรียนรู้จากประสบการณ์ว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวสร้างความไม่แน่นอนและสภาวะความเสี่ยงให้กับตัวเอง

ประชาชนที่เดินบนเส้นทางท้องถิ่นพัฒนาจะกระจายการผลิต ไม่ได้คำนึงถึงความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ผลิตเพื่อกินเพื่อใช้ เหลือจึงจะขาย แต่ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ กำลังจะ force ให้สังคมชนบทใช้ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นเรื่องตรงกันข้าม

สังคมไทยภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต้องเป็นสังคมแห่งความสมถะ ต่อต้านอบายมุข แต่ทักษิโณมิกส์ส่งเสริมอบายมุข หากว่าสังคมไทยติดอยู่ในกำดักแห่งอบายมุข ก็นำมาซึ่งความเสี่ยงในสังคม ท้ายที่สุด แม้แต่โครงการเอื้ออาทรต่างๆ ก็สร้างปัญหา ประชาชนซึ่งเคยช่วยตัวเองได้ ต่อไปก็จะมีภยันตรายที่เกิดจากความวางใจว่า ถ้ามีปัญหารัฐจะเข้ามาเอื้ออาทร เป็นการบั่นทอนการพึ่งตนเองของประชาชน แล้วหันไปสู่การพึ่งคนอื่น หรือพึ่งรัฐ นำมาซึ่งความเสี่ยง

เมืองไทยหลังการเลือกตั้ง ถ้าพรรคไทยรักไทยยังยึดกุมอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินได้ ทิศทางของเมืองไทยมีอยู่ 2 ทาง ทางหนึ่งเป็นสังคมขี้ฉ้อ อีกทางหนึ่งคือสังคมแห่งความเสี่ยง

-------------------------------------------------------------------------------
*จากงานเสวนา "เลือกตั้ง" 48 อนาคตประเทศไทย" วันที่ 19 พฤศจิกายน 2547 จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และองค์กรร่วมจัด

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net