Skip to main content
sharethis

เส้นทาง SMEs

จากเจ้าของร้านขายเสื้อผ้าและของที่ระลึกในห้องเช่าเล็ก ๆ ที่ไนท์บาร์ซ่า แหล่งช็อปยามราตรีของนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตาที่มาเยือนเชียงใหม่ เป็นจุดประกายฝันให้ "กำพล กีรติภูมิธรรม" ได้ลัดเลาะเดินเข้าสู่เส้นทางการส่งออก และไต่บันไดสร้าง "นีโอเทอริคไลฟ์" ธุรกิจการ์เม้นท์ที่ส่งออกไปขายทั่วโลก แต่กว่าจะมาสู่จุดนี้ได้ นักธุรกิจหนุ่มวัย 34 ปีคนนี้ ต้องพบกับขวากหนามและอุปสรรคมามิใช่น้อย

หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านสถาปัตย์จากประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 11 ปีที่แล้ว เขาเลือกที่จะทำอาชีพที่ได้ใช้ประโยชน์จากวิชาความรู้ที่เรียนมานั่นก็คือ การเป็นสถาปนิก รับออกแบบตกแต่งภายในให้กับลูกค้าทั่วไป แม้จะเป็นงานที่ชอบ แต่สิ่งที่ทำอยู่ก็ยังไม่ใช่ที่อยากจะเป็น ปี 2539 เขาจึงเริ่มชิมลางการเป็นเจ้าของกิจการด้วยการลงทุนเปิดร้านขายเสื้อผ้าบูติคเล็ก ๆ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยมีภรรยาคู่ชีวิต "ภัทราภรณ์ กีรติภูมิธรรม" ที่เรียนจบมาทางด้านแฟชั่นดีไซน์ ร่วมเดินตามฝันไปด้วยกัน

ขณะที่กิจการเริ่มไปได้ดี ก็ต้องเจอกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่ เงินบาทลอยตัวในปี 2540 เขายอมรับว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก เพราะเสื้อผ้าที่นำมาขายเป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เมื่อปัญหาทุกอย่างประดังเข้ามาพร้อม ๆ กัน จึงจำใจและจำเป็นต้องปิดร้าน "PATINO" ทั้งสองร้านลงแบบไม่มีทางเลือก เรียกได้ว่าเป็นวิกฤติที่ทำให้เขาหมดเนื้อหมดตัวเลยทีเดียวในครั้งนั้น

ชาวเขา" แรงบันดาลใจ
ไนท์บาร์ซ่าจุดประกายฝัน

"กำพล" คิดไม่ตกว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับชีวิต วัน ๆ ได้แต่อ่านหนังสือเกี่ยวกับการสร้างอาชีพ วันหนึ่งเขาเดินเรื่อยเปื่อยไปไนท์บาร์ซ่า และก็เกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาโดยพลัน เมื่อเห็นแม่ค้าชาวเขาที่นั่งขายสินค้าแบกับดิน ขายสินค้าให้ฝรั่งได้ล็อตใหญ่ ซึ่งชาวเขาคนนั้นพูดภาษาอังกฤษแบบงู ๆ ปลาๆ และเมื่อดูศักยภาพของตัวเองที่พูดได้ทั้งภาษาอังกฤษและญี่ปุ่น เขาจึงหาลู่ทางที่จะปักหลักขายของที่ไนท์บาร์ซ่า หยิบยืมเงินจากพ่อแม่พี่น้องได้ 12,000 บาท นำมาเปิดร้านขายเสื้อผ้าและของที่ระลึกที่ห้องเช่าเล็ก ๆ ค่าเช่าเดือนละประมาณ 2,700 บาท

เปิดร้านวันแรกขายของได้เงิน 30,000 บาท จากลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่เหมาสินค้าไปจนเกลี้ยงร้าน จากนั้นเป็นต้นมาสินค้าที่เขาและภรรยาช่วยกันขายก็เริ่มมีลูกค้าชาวต่างชาติสั่งซื้อกันมากขึ้น ลูกค้าหลายรายเริ่มนำแบบสินค้ามาให้ผลิต ด้วยฝีมือการออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าที่มีดีไซน์ของภรรยา โดยเน้นการนำผ้าฝ้ายและผ้าไหมที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือมาตัดเย็บ เป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ไนท์บาร์ซ่าร์ได้เพียง 6 เดือน ออร์เดอร์สินค้าก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เขานำเงินที่พอรวบรวมได้นำมาซื้อจักรเก่า ๆ 2 หลัง เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ใช้โรงจอดรถที่บ้านทำเป็นสถานที่ผลิต โดยภรรยาของเขาลงมือลงแรงออกแบบตัดเย็บด้วยตัวเองทั้งหมด

งานแสดงสินค้าเส้นทางส่งออก
ถึงเวลาแจ้งเกิด "นีโอเทอริคไลฟ์"

เมื่อเริ่มมองเห็นก้าวเดินที่ชัดเจนขึ้น เขาจึงคิดที่จะนำเสื้อผ้าที่ผลิตได้ตามดีไซน์ของตัวเอง ออกงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมการส่งออก ตามคำแนะนำของเพื่อน ซึ่งการออกงานแสดงสินค้าครั้งแรกดูเป็นสิ่งที่ท้าทายมิใช่น้อย แต่ก็ไม่พ้นสายตาของลูกค้าชาวญี่ปุ่นรายหนึ่ง ที่แวะเข้ามาชมสินค้าในบู้ธของเขา และจากการส่งสำเนียงญี่ปุ่นกันไปมาระหว่างคนซื้อกับคนขาย จึงจบลงด้วยออร์เดอร์ 300,000 บาท ของลูกค้าญี่ปุ่นรายนั้น ซึ่งปัจจุบันก็ยังเชื่อมั่นเป็นลูกค้าที่ผูกขาดสั่งสินค้าของเขาตกเดือนละประมาณ 1,500,000 บาท

"ผมคิดว่าที่ลูกค้าต่างชาติเริ่มสนใจเสื้อผ้าของเราก็เพราะดีไซน์ ซึ่งขณะนั้นผมน่าจะเป็นเจ้าแรกของตลาดที่นำผ้าไหมและผ้าฝ้ายมาออกแบบให้เป็นสินค้าที่มีดีไซน์ในตัวเอง ผมและภรรยามองว่าทำอย่างไรที่จะทำให้คนหันมานิยมมากขึ้น ก็คิดกันว่าต้องใส่ดีไซน์และทำให้เป็นบูติคมากขึ้น ตอนนั้นเรายังไม่ได้เน้นส่งออก เพียงแต่มีลูกค้าออร์เดอร์เข้ามาเราก็ผลิตให้ เฉลี่ยออร์เดอร์ที่ได้มาจะประมาณเดือนละ 500,000 - 600,000 บาท เมื่อผมเริ่มออกงานแสดงสินค้าหลาย ๆ ครั้ง ก็เลยจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด นีโอเทอริคไลฟ์ ขึ้นมา เพื่อลูกค้าจะได้เชื่อมั่นมากขึ้น"

เขายอมรับว่าที่กิจการขยายและเติบโตอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 3 ปี น่าจะเป็นเพราะการที่ตลาดยอมรับในสินค้า เขาไม่หยุดที่จะคิดต่อไป โดยได้ขอกู้เงินจำนวน 700,000 บาท จาก บอย. เพื่อนำมาเป็นทุนซื้อวัตถุดิบ ซึ่งช่วงเวลาเพียง 3 เดือน หลังจากเพิ่มกำลังการผลิต เขาเก็บสะสมกำไรได้จำนวน 2,000,000 บาท และตัดสินใจนำเงินจำนวนนั้นมาซื้อที่ดินขนาด 2 งาน ริมถนนเชียงใหม่-ฮอด ตำบลป่าแดด เพื่อสร้างอาคารโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อเข้าสู่เส้นทางการเป็นผู้ส่งออกอย่างเต็มตัว ปัจจุบันมีออร์เดอร์สินค้าประมาณ 5,000,000 บาทต่อเดือน มีกำลังการผลิตต่อเดือนประมาณ 3,000 - 4,000 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า และส่งออกเกือบ 100 % มีตลาดหลักอยู่ที่ญี่ปุ่นประมาณ 90 % ของตลาดที่ส่งออกทั้งหมด นอกจากนั้นก็มีตลาดแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน

มุ่งพัฒนาแบรนด์
เพิ่มไลน์สินค้า

เขาบอกว่า ในช่วงระยะการเติบโตของธุรกิจการ์เม้นท์ เขาและภรรยาก็มองช่องทางตลาดใหม่ ๆ โดยสร้างแบรนด์สินค้าขยายตลาดใน 2 กลุ่มหลักคือ แบรนด์ "Yodaya" ที่ใช้ผ้า Cotton และ Silk มาดีไซน์เป็นชุดเสื้อผ้าสตรีสวมใส่ทำงานและสำหรับใส่ออกงานในรูปแบบต่าง ๆ ในรูปแบบที่ดูทันสมัย เปิดเป็นโชว์รูมอยู่ใกล้ ๆ โรงแรมเชียงใหม่พลาซ่า และแบรนด์ "TEORI" ที่จะเน้นเป็นผ้าฝ้ายและ Cotton Crush ที่มีดีไซน์ที่ตรงกับตลาดกลุ่มวัยรุ่น ที่มีสีสันฉูดฉาด มีโชว์รูมอยู่ย่านถนนลอยเคราะห์และที่ไนท์บาร์ซ่า ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองแบรนด์ก็มีออร์เดอร์จากต่างประเทศบ้าง อย่างเช่นแบรนด์ TEORI ในตลาดญี่ปุ่นจะขายดีมาก แต่ที่ผ่านมาเขาทุ่มเทให้กับการผลิตเสื้อผ้าเพื่อส่งออกเป็นหลัก จึงไม่มีเวลาที่จะมาดูแลแบรนด์สินค้าทั้งสองแบรนด์มากนัก

"ทั้งสองแบรนด์นั้น เราวางกลุ่มลูกค้าระดับบน เพราะราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากสินค้าทุกชิ้นที่ทำออกมาเป็นงานฝีมือและมีดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำแบบใคร ขณะนี้เราเตรียมที่จะพัฒนาแบรนด์สินค้าของเราให้เป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้น อาจต้องใช้เวลานาน เพราะการทำให้คนยอมรับในแบรนด์สินค้าเป็นเรื่องยากมาก หวังไว้ว่าภายใน 5 ปี แบรนด์สินค้าของเราที่เป็นแฟชั่นดีไซน์จะได้รับการยอมรับมากขึ้น ผมมองไปถึงว่าจะไปเปิด Shop ที่ฝรั่งเศส เราอยากให้คนต่างชาติสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำมาจากผ้าไหม ผ้าฝ้าย แต่ทั้งหมดต้องอยู่ที่ดีไซน์เพียงอย่างเดียว ซึ่งเรามั่นใจว่าเราน่าจะทำได้"

ขณะเดียวกันก็เริ่มขยายไลน์สินค้าไปในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่งภายในบ้าน อาทิ เก้าอี้ โต๊ะวางของที่เขาออกแบบเอง โคมไฟ หมอนอิง ที่สินค้าบางอย่างจะมีผ้าฝ้ายเป็นส่วนประกอบด้วย ปัจจุบันส่งออกไปประมาณ 1 - 2 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเดือน

ล่าสุดเขาเตรียมลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อขยายโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าแห่งที่ 2 บนพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ขนาด 2,000 ตารางเมตร ในเขตอำเภอสารภี ขณะเดียวกันเขาก็มีแผนที่จะสร้างโรงทอเป็นของตัวเอง เพื่อผลิตผ้าผืนส่งออกใน 2 รูปแบบคือ การทอด้วยเครื่องจักรอุตสาหกรรมภายใต้แบรนด์ "TEXTILITY COMPANION" และการทอด้วยมือภายใต้แบรนด์ "NEO FILS" โดยเขาเริ่ม Sub-Contract ให้คนอื่นผลิตให้ก่อนที่โรงทอในฝันของเขาจะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกอย่างพร้อมและลงตัว และอนาคตเมื่อธุรกิจการ์เม้นท์ที่เขาและภรรยาช่วยกันสร้างขึ้นมาอยู่ในจุดที่น่าพอใจแล้ว เขาอาจจะขยายฐานการลงทุนไปเปิดโรงงานการ์เม้นท์ที่เวียดนามหรือจีน ที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า

"กำพล" มองว่า 6 ปีที่ "นีโอเทอริคไลฟ์" เติบโตขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว เป็นการเดินทางมาแค่ครึ่งทางของจุดแห่งความสำเร็จเท่านั้น ซึ่งเขากำลังยืนอยู่ในจุดที่เป็นทางแยก ที่พร้อมจะเดินไปแยกซ้ายหรือขวาก็ได้ เพราะทุกแยกยังมีอะไรมากมายที่เขาอยากจะทำ และเขาก็ยังสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ เป็นบทสรุปสั้น ๆ ของนักธุรกิจหนุ่มวัย 34 ปี ที่ไม่เลือกเดินเส้นทางเดียว.

*********************

สุธิดา สุวรรณกันธา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net