Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-22 ธ.ค.47 "ที่ผ่านมา ปัญหาต่างๆ ล้วนเกิดจากปัญหาการกระจายที่ดินไม่เป็นธรรมอย่างกรณีที่มีการศึกษาวิจัยพบว่า มีที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งถูกกลุ่มนายทุนเข้าครอบครองกว่า 30 ล้านไร่ ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนเลยว่า เป็นผลมาจากนโยบายที่เน้นว่าทุกคนจะต้องมีเอกสารสิทธิ์เพื่อความมั่นคงในการถือครอง แต่มันไม่ได้เป็นหลักประกันว่า เมื่อได้เอกสารสิทธิ์แล้ว เขาจะใช้ที่ดินนั้นเพื่อทำการผลิตให้เกิดความมั่งคั่งเพื่อกระจายประโยชน์ให้สังคม แต่กลับนำไปใช้ในการเก็งกำไร ดัง
นั้นการให้เอกสารสิทธิ์ปัจเจกบุคคล มันเป็นคนละเรื่องกับการการกระจายที่ดิน" ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธ์ คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในรายการ "มองคนละมุม" ที่สถานีวิทยุ F.M.100 ภาควิชาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันนี้

ศ.ดร.อานันท์เห็นว่า นโยบายการปฏิรูปที่ดินของพรรคการเมืองที่ใช้หาเสียงมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าเรื่องการแปลงทรัพย์สินเป็นทุน หรือการออกโฉนดการออกเอกสารสิทธิ์ คือ เป็นการทำให้ที่ดินเป็นของปัจเจกบุคคล ซึ่งทำให้ทรัพย์สินหรือที่ดินนั้นกลายเป็นสมบัติส่วนตัวของบุคคล แต่ไม่ได้มีการกระจายที่ดินไปสู่คนส่วนใหญ่

ทั้งนี้หากจะปฏิรูปที่ดินจริง จะต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบการถือครองที่ดินกันใหม่ คือต้องไม่ให้ที่ดินนั้นไปกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือรัฐดำเนินการซื้อที่ดินจากผู้ที่ถือครองที่ดินมากๆ มากระจายให้ถึงมือประชาชนให้ทั่วถึง ซึ่งที่ผ่านมามีการทำแบบนี้น้อยมาก แต่ส่วนใหญ่กลับไปเอาพื้นที่ป่าตัดป่าออกมาในรูปแบบการออกเอกสารสิทธิ์ สปก.4-01 หรือ สทก. อันนี้ถือว่า เป็นการจัดสรร ไม่ได้เรียกว่า การกระจายที่ดิน ซึ่งทำให้พื้นที่ป่าหายไปมาก

รวมทั้ง ต้องมีการสร้างกลไกควบคุม เช่น มาตรการเก็บภาษีที่ดินแบบอัตราก้าวหน้า เพื่อลดการถือครองที่ดินเพื่อเก็งกำไร ขณะเดียวกันทำให้คนที่ยากจนก็อาจเข้าถึงที่ดินนั้นได้

"นอกจากนั้น ต้องมีการจัดการทรัพยากรเชิงซ้อน คือต้องให้กลุ่มชุมชน องค์กรชุมชนรัฐทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบและจัดการที่ดินโดยรวมไม่ให้เป็นปัจเจกบุคคล อีกทั้งจำเป็นต้องมีการออกกฎหมายออกเอกสารสิทธิ์เพิ่มเติม เช่น โฉนดชุมชนให้ชุมชนควบคุมดูแล เพื่อให้มีการถ่วงดุล ซื้อขายไม่ได้ เชื่อว่าจะสามารถผลักดันให้มีการจัดการทรัพยากรกระจายไปอย่างทั่วถึงได้"ศ.ดร.อานันท์ กล่าว

องอาจ เดชา
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net