Skip to main content
sharethis

----------------------------------------------------

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.2541 ก็จะทำให้คนไทยได้ยินชื่อ "คลื่นยักษ์ ซึนามิ" หรือ คลื่นซูนามิ จากการรายงานข่าวในช่วงขณะนั้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ชาวบ้านแถบชายทะเลในจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ทางด้านชายฝั่งตะวันตก ตั้งแต่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา และระนอง ต่างพากันตื่นตระหนกและสับสนกับข่าว คลื่นยักษ์จะถาโถมเข้ามาถล่ม จนบางพื้นที่ถึงกับอพยพย้ายหนีกันทั้งหมู่บ้าน

ข่าวดังกล่าวนั้น มาจากคำเตือนของนายสมิทธ ธรรมสโรช อดีตรองปลัดกระทรวงคมนาคม และเคยเป็นอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และเป็น 1 ในคณะกรรมการแผ่นดินไหวแห่งชาติ ในขณะนั้น ได้วิเคราะห์จากข้อมูลทางด้านธรณีวิทยา ว่า อาจจะเกิดคลื่นยักษ์ แต่ก็ถูกโจมตีจากหลายๆ ฝ่าย ที่ห่วงแต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจและการท่องเที่ยวจนเกินเหตุ

เวลาผ่านไปเพียง 6-7 ปี สิ่งที่นายสมิทธ ได้พูดเตือนเอาได้เป็นจริงขึ้นมา…ในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เมื่อเกิดโศกนาฏกรรมอันดามันวิปโยค คลื่นยักษ์ซูนามิ เข้าโถมเข้ามาพัดบ้านเมืองและกลืนชีวิตผู้คนมากมาย เพราะไม่มีใครเชื่อ และไม่มีใครเตรียมตั้งรับกับสถานการณ์อันเลวร้ายเช่นนี้

ในหนังสือ "คลื่นยักษ์ซึนามิ" โดย เจริญ ธนสถิตกุล นักธรณีวิทยา เป็นผู้เขียน เมื่อปี พ.ศ.2541 ได้ถูกนำปัดฝุ่นเพื่อรื้อฟื้นกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ ได้เปิดเผยเรื่องราวและการเกิดของคลื่นยักษ์ซึนามิ หรือ ซูนามิ รวมไปถึงแนวโน้มการเกิดของคลื่นยักษ์ซูนามิในประเทศไทย ตลอดจนวิธีสังเกตและการป้องกันภัยนี้

หนังสือ ระบุว่า กระแสข่าวดังกล่าวในช่วงปี 2541 นั้น ได้สร้างความแตกตื่นแก่ประชาชนแถบนั้นเป็นอย่างมาก ถึงกับต้องย้ายบ้านหนี อาทิ ที่หมู่บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ชาวบ้านแถวนั้นกลัวความตายสยองอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศปาปัวนิวกินี ทุกคนพากันอพยพออกจากหมู่บ้านนับพันคน ไปอาศัยตามศาลา ตามวัดและโรงเรียนกันเป็นการชั่วคราว ขณะที่โรงเรียนต้องหยุดการเรียนการสอน

บรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอยู่ตามชายหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนอีสาน เมื่อทราบข่าวคลื่นยักษ์ จะมาถล่ม ต่างพากันอพยพลูกเมียกลับบ้านเกิดที่อีสานกันหลายคน นอก
จากนั้น ได้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายโกลาหลขึ้นอีกหลายแห่งในจังหวัดภาคใต้ ริมชายฝั่งทะเลฝั่งตะวันตก

สภาพการณ์ดังกล่าว ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวถูกกระทบกระเทือนอย่างเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันประชาชนทั่วไป ที่ยังหวาดผวาอยู่ ต่างพากันรุมสวดกรมอุตุนิยมวิทยา

ต่อมา ในวันที่ 14 สิงหาคม 2541 ที่ห้องบรรยายสรุปสภาพลักษณะอากาศ ของกรมอุตุนิยม
วิทยา นายมนูญ เรืองกฤษ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา(ในขณะนั้น) ได้เปิดแถลงข่าวเรื่อง คลื่นยักษ์ซูนามิ โดยได้ชี้แจงไปว่า ข่าวที่ออกไป กรมอุตุฯ มิได้เป็นผู้ออกข่าว นายสมิทธ ธรรมสโรช เป็นผู้ออกข่าว

นายมนูญ เรืองกฤษ ได้ชี้แจงต่อว่า ขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า ข่าวที่ปรากฏไปนั้นคลาดเลื่อนจากความเป็นจริง กรมอุตุฯ ได้ตรวจสอบจากเครื่องวัดแล้ว ไม่ปรากฏข้อมูลใดๆ ที่จะทำให้เกิดปรากฎการณ์ของคลื่นยักษ์นั้น

"สำหรับปรากฏการณ์แผ่นดินไหว ที่ทำให้เกิดคลื่นยักษ์ในประเทศไทย และโอกาสที่จะเกิดคลื่นยักษ์นั้นมีน้อยมาก จากสถิติเก่าๆ ที่เรามี ยังไม่เคยปรากฏว่ามีคลื่นยักษ์เกิดในประเทศไทย และโอกาสที่จะเกิดก็แทบจะเป็นไม่ได้ โดยเฉพาะใต้ท้องทะเลของไทย และศูนย์กลางแผ่นดินไหวในทะเลอันดามันก็มีน้อยมาก นานๆ ถึงจะเกิดสักครั้ง ถึงเกิดก็เล็กน้อยไม่รุนแรง" นายมนูญ กล่าว

หลังจากนั้น นายสมิทธ ธรรมสโรช ต้องตกเป็นจำเลยสังคม กลายเป็นผู้ทำลายการท่องเที่ยวอย่างจัน

ผู้เขียนยังเสนออีกว่า ความจริงการสร้างความแตกตื่น หรือทำลายขวัญประชาชน ย่อมไม่ใช่เรื่องดี แต่การตั้งอยู่บนความประมาท ไม่พิจารณาข้อมูลให้รอบคอบ คิดว่าเป็นเรื่องห่างไกล มัวแต่เกรงว่าจะกระทบบรรยากาศการท่องเที่ยว ย่อมไม่ถูกต้อง ที่สำคัญ ชีวิตประชาชนเป็นเรื่องที่น่าห่วงกว่าเงินตราจากการท่องเที่ยวมิใช่หรือ

รัฐบาลต้องเด็ดขาด มีนโยบายที่ชัดเจน โดยแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาข้อมูลอย่างจริงจัง ว่าเป็นไปได้หรือไม่ได้ หรือออกมาตราการแผนป้องกันอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกับการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวแก่ประชาชน ไม่ให้แตกตื่นเกินกว่าเหตุ ที่ผ่านมา มีปัญหาหลายเรื่องในสังคมบ้านเรา ซึ่งจำเป็นต้องมีแผนงานรองรับ เตรียมป้องกันความเสียหายไว้ก่อน แต่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่ให้ความสำคัญ ละเลยจนเกิดความสูญเสียอย่างไม่น่าเป็น เข้าตำรา วัวหายที แล้วล้อมคอกที

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคใต้รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net