Skip to main content
sharethis

-------------------------------------------------------------

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-27 ธ.ค.47 "หากทุกฝ่ายนำข้อมูลจากมาพิจารณาให้รอบคอบตั้งแต่ 7 ปีก่อน มีการศึกษากันอย่างจริงจังว่าเป็นไปได้หรือไม่ได้ และออกมาตการแผนป้องกันอย่างเป็นรูปธรรม สร้างแนวกันคลื่น โดยใช้เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร ซึ่งหลายๆ ประเทศมีการสร้างป้องกันไว้แล้ว รวมไปถึงสัญญาณเตือนภัย พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนให้รู้จักตั้งรับเตรียมพร้อม โดยไม่ให้แตกตื่นเกินกว่าเหตุ ตนเชื่อว่าปัญหานี้คงไม่เกิดอย่างรุนแรงเช่นนี้" นายอดิศร ฟุ้งขจร หัวหน้าสถานีตรวจแผ่นดินไหวเชียงใหม่ กล่าวกับผู้สื่อข่าว"ประชาไท"

นายอดิศรระบุว่า เมื่อปี พ.ศ.2541 มีการพูดถึงคลื่นซึนามิในทะเลอันดามันกันอย่างกว้างขวาง หลังจากที่นายสมิทธ ธรรมสโรช รองปลัดกระทรวงคมนาคม อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกมาเตือนว่า อาจจะเกิดคลื่นยักษ์ซึนามิ หรือซูนามิ บริเวณแถบทะเลอันดามันของไทย แต่ไม่มีใครเชื่อ และนักวิชาการส่วนใหญ่ค้านว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก จนทำให้หลายๆ คนออกมาพูดโจมตีอย่างรุนแรง เพราะมัวหวั่นกลัวผลประโยชน์ทางธุรกิจและการท่อง เที่ยวจะสูญเสีย

นายอดิศร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เช้าวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เวลา 07.58 น. ตามเวลาประเทศไทย ได้เกิดแผ่นดินไหวบริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย มีขนาดถึง 9.0 ริคเตอร์ ตามด้วยคลื่นซึนามิ (Tsunami) และเข้าถาโถมทำลายชีวิตและทรัพย์สินผู้คนในประเทศไทยไปนับร้อยนับพันราย ยังไม่นับผู้เคราะห์ร้ายจากประเทศอื่นๆ อีกกว่าหมื่นราย แสดงว่าแผ่นดินไหวในทะเลอันดามันก่อให้เกิดคลื่นซึนามิ และได้สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง

หัวหน้าสถานีตรวจแผ่นดินไหวเชียงใหม่ ยังกล่าวอีกว่า คลื่นซูนามิ คลื่นในทะเลที่มีช่วงคลื่นยาวประมาณ 80 ถึง 200 กม.เกิดจากความสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวหรือแผ่นดินถล่ม หรือภูเขาไฟระเบิดที่พื้นท้องมหาสมุทรซึ่งห่างจากตำบลที่เกิดเป็นพัน ๆ กิโลเมตร โดยไม่มีลักษณะผิดสังเกต เพราะมีความสูงเพียง 30 ซม. เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 600 ถึง1,000 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง

เรือที่แล่นผ่านคลื่นนี้จะได้รับความสั่นสะเทือน ทำให้เรือโคลงอย่างแรง มีเสียงดังเหมือนเสียงปืนใหญ่หรือเสียงฟ้าผ่าติดตามมา ทำให้คนประจำเรือเข้าใจว่าเรือเกยหินใต้ทะเล ถ้าคลื่นเคลื่อนตัวผ่านที่ตื้นจะเพิ่มความสูงขึ้นอย่างรวดเร็วประมาณ 15 เมตร ก่อให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์และสิ่งก่อสร้างในบริเวณชายหาดนั้น ๆ

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคใต้รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net