Skip to main content
sharethis

กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนเตรียมจัดเวที "รวมพลังคนไม่เอาถ่านหิน" ตีแผ่สถานการณ์ถ่านหินของประเทศก่อน การประชุมถ่านหินโลกที่ไทยเป็นเจ้าภาพที่เหมืองแม่เมาะจังหวัดลำปางจะเริ่มต้นขึ้น และยื่นหนังสือต้าน

รายงานข่าวจากจังหวัดลำปางแจ้งว่าแต่ละปีฝ่ายอุตสาหกรรมถ่านหินและเหมืองแร่ทั่วโลกมีการจัดประชุมระดับนานาชาติเพื่อพบปะกันโดยองค์กรพัฒนาเอกชนมองว่าเป็นการแสวงช่องทางการลงทุน ขยายธุรกิจและเปิดตลาดใหม่ๆ ของตนเอง การประชุมดังกล่าวเรียกว่า "COALTRANS" ซึ่งเป็นชื่อขององค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่จัดการประชุมระดับนานาชาติโดยเฉพาะ ในวันที่ 23-25 มกราคม 2548 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวขึ้น ณ โรงแรมเวียงละคอนและเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยใช้ชื่อว่า "50 ปีของความสำเร็จของการพัฒนาถ่านหินและลิกไนต์เพื่อการผลิตพลังงาน"

โดยเน้นประเด็นการปรับปรุง "การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน" และประสิทธิภาพของถ่านหินและลิกไนต์ในการผลิตพลังงาน, การลดการปล่อยก๊าซออกสู่บรรยากาศจากถ่านหินและลิกไนต์โดยใช้เทคโนโลยีล่าสุด การพัฒนาผู้ผลิตพลังงานอิสระและการเลือกเชื้อเพลิง นโยบายใหม่ของรัฐบาลไทยเรื่องถ่านหินและแหล่งเชื้อเพลิงอื่น ๆ ในการผลิตไฟฟ้า

กิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากการประชุม คือ การพาผู้เข้าร่วมประชุมไปเที่ยวและการจัดงานรื่นเริงต่างๆ เช่นการดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินและเหมือง และการพาสามีหรือภรรยาของผู้เข้าร่วมประชุมร่วมการแข่งขันกอล์ฟ (Coaltrans Thailand Golf Classic) ณ สนามกอล์ฟบนเนินเขาในเหมืองแม่

เครือข่ายชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรอิสระซึ่งทำงานรณรงค์ประเด็นพลังงานได้จัดให้มีการประชุมปรึกษาหารือเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวมีความเห็นร่วมกันว่า การประชุมถ่านหินโลกครั้งนี้ถือเป็นการรุกครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมถ่านหินโดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นหัวหอกสำคัญเพื่อที่จะนำเอาถ่านหินกลับเข้ามาในสังคมไทยโดยเฉพาะภาคพลังงาน ในขณะที่ยังมีทางเลือกต่างๆ อีกมากมายในการพัฒนาพลังงานสะอาดและหมุนเวียนซึ่งนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคมไทย

การประชุมถ่านหินโลกที่จะเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2548 อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนโยบายพลังงานของประเทศไทย ไม่เพียงแต่ข้ออ้างที่ว่าถ่านหินมีราคาถูกและเข้ามาเสริมความมั่นคงด้านพลังงานเพราะภาคพลังงานของไทยผูกติดอยู่ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าเป็นหลัก ยังรวมถึงการเปิดประตูให้กับ "ราชาถ่านหินของโลก" ซึ่งมีออสเตรเลียเป็นแกนนำในการเปิดตลาดการค้าถ่านหิน

"ขณะนี้ประเทศไทยเป็นของการเจรจาหว่านล้อมเมื่อพิจารณาจากโครงการของผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระซึ่งจะเพิ่มส่วนแบ่งการผลิตไฟฟ้าของประเทศเป็น 2 ใน 3 โดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักดังเช่น กรณีโรงไฟฟ้า Glow โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัท BLCP ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัททีพีไอที่จังหวัดระยอง

นอกจากนี้ เราจะยังได้เห็นโฉมหน้าของนักอุตสาหกรรมถ่านหินจากทั่วโลกในการประชุมถ่านหินโลกที่ลำปาง ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Rio Tinto จากออสเตรเลีย, PT Adaro จากอินโดนีเซียซึ่งเป็นของบริษัทนิวโฮปจากออสเตรเลีย, European Coal Combustion, กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานฟอสซิลที่สะอาดของ APEC, ALSTOM บริษัทระดับโลกที่ขายอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงไฟฟ้าถ่านหิน, CLP Power บริษัทข้ามชาติตั้งอยู่ในฮ่องกงและเป็นหุ้นส่วนใหญ่ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP ที่มาบตาพุด, RWE บริษัทด้านพลังงานรายใหญ่จากเยอรมนี เป็นต้น

บริษัทเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญในการหลอกขายถ่านหินให้กับประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในเอเชีย ในขณะที่มีการหลอกขายถ่านหินครั้งใหญ่ให้กับประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเองก็ได้มองดูแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สกปรกที่สุดนี้ภายในประเทศด้วย โดยใช้เวทีการประชุมถ่านหินโลกเปิดประเด็นเรื่องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในการเผาไหม้ถ่านหินลิกไนต์และการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมเหมืองถ่านหิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะประกาศโครงการ overburden มูลค่า 300 ล้านเหรียญที่เหมืองแม่เมาะและลู่ทางในการขยายโรงไฟฟ้าลิกไนต์ที่แม่เมาะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัญหาทางสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เป็นอยู่ของชุมชนโดยรอบยังคงถูกละเลย"

รายงานข่าวยังระบุอีกว่าพื้นที่เป้าหมายอีก 2 แห่งที่จะมีการทำเหมืองลิกไนต์คือ อำเภอเวียงแหง เชียงใหม่และอำเภอสะบ้าย้อย สงขลา ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การระดมความคิดของเครือข่ายชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรอิสระนำไปสู่ข้อสรุปของการจัดเวทีภาคประชาชนขึ้นโดยใช้ชื่อว่า "เวทีคนไม่เอาถ่าน" เพื่อเป็นเวทีของการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์แห่งความหวังและความทุกข์ร่วมกันในการสกัดกั้น "ถ่านหิน" ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาที่ทำลายและมองไปข้างหน้าเพื่อขับเคลื่อนและผลักดันพลังงานทางเลือกที่สอดคล้องและเหมาะสมกับสังคมไทย

โดยกำหนดจัดในวันเสาร์ที่ 22 มกราคม 2548 ณ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อำเภอเมืองลำปาง เป็นเวทีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การนำเสนอผลกระทบด้านต่างๆ ของถ่านหิน เช่น โศกนาฏกรรมที่แม่เมาะ/ความตายจากถ่านหิน-การนำเสนอภาพถ่ายและวีดี ทัศน์ (เป็นภาพถ่ายของอีวาน โคเฮน -อดีตช่างภาพมืออาชีพของเอเชียวีค ปัจจุบันเป็นช่างภาพอิสระ ส่วนวีดีทัศน์จัดทำโดยทีมผลิตสื่อของกรีนพีซ) ,การนำเสนอสื่อผสมโดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์กรณีโครงการเหมืองลิกไนต์ที่เวียงแหง โดยโครงการสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการพัฒนาภาคประชาชน ,บทเรียนการต่อสู้กรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ้านกรูดและบ่อนอก

กรณีไตรภาคีโรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP โดยผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ,รายงานสถานการณ์จากสะบ้าย้อย ,การนำเสนอประเด็นพลังงานทางเลือก โดย กลุ่มชาวบ้านจากภาคอีสาน โครงการของ WWF ที่จังหวัดกระบี่ , รายงานการดูงานเรื่องพลังงานทางเลือกในภาคเหนือโดยทีมจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข 8) ประจักษ์พยานของภาวะโลกร้อนโดยผู้แทนชุมชนจากเกาะตูวาลูและคิริบาติ ในมหาสมุทรแปซิฟิคตอนใต้ การแสดงภาพถ่าย นิทรรศการและสื่อผสมโดยเครือข่ายที่ร่วมจัดงาน

โดยภาคค่ำ งานวัฒนธรรม เช่น ดนตรีพื้นเมือง / รำดาบ / การแสดงของเยาวชนโดยเครือข่ายชุมชนเวียงแหง นอกจากนั้นในวันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม 2548 ณ ห้องประชุม โรงแรมลำปางเวียงทอง อำเภอเมืองลำปาง
ยังมีการเสวนา "ทำไมไม่เอาถ่านหิน" โดย ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ,เวทีอภิปราย วิพากษ์นโยบายพลังงาน โดย อ.เดชรัต สุขกำเนิด อ.ประสาท มีแต้ม คุณจินตนา แก้วขาว จากประจวบฯ ดำเนินรายการ โดย อ.อรรถจักร สัตยานุรักษ์

เวทีอภิปราย ข้อเสนอภาคประชาชนเรื่องถ่านหินและพลังงานทางเลือก โดย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อ. วรวิทย์ เจริญเลิศ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ดำเนินรายการโดยคุณสวิง ตันอุด และวันจันทร์ที่ 24 มกราคม 2548 ช่วงเช้า ยื่นหนังสือต่อกระทรวงพลังงานและการประชุมถ่านหินโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net