Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2547 เครือข่ายคนไม่เอาถ่านหิน จำนวน 29 องค์กรจากทั่วประเทศ ได้พากันไปชุมนุมประท้วงที่หน้าโรงแรมเวียงละกอน อ.เมือง จ.ลำปาง ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน การประชุมถ่านหินโลก เพื่อธุรกิจด้านเชื้อเพลิงถ่านหินระหว่างประเทศ โดยทางเครือข่ายคนไม่เอาถ่านหิน ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 7 ข้อด้วยกัน

ในหนังสือเรียกร้องระบุว่า จากการที่รัฐบาล โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เป็นเจ้าภาพการประชุม CoalTrans Conference ที่จ.ลำปาง ในระหว่างวันที่ 24-25 ม.ค.2548 ที่โรงแรมเวียงลคอร จ.ลำปาง ซึ่งเป็นการประชุมทางธุรกิจด้านเชื้อเพลิงถ่านหินระหว่างประเทศ ที่จะนำไปสู่การนำถ่านหินมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า และในกิจกรรมทางอุตสาหกรรมมากขึ้น

องค์กรภาคประชาชน มีข้อคำถามในเรื่องการที่ กฟผ.เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมในนามของรัฐบาลไทย ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของภาคธุรกิจเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ถ่านหินมากขึ้นในสังคมไทย ทั้งๆ ที่ประเด็นปัญหาเรื่องผลกระทบจากถ่านหิน ทั้งการทำเหมืองถ่านหิน และการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยังเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและยั่งยืน

องค์กรภาคประชาชน ภายใต้เครือข่ายคนไม่เอาถ่านหิน จึงได้ร่วมกันจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ท้องถิ่น ในเรื่องปัญหาผลกระทบจากถ่านหินทั้งในระดับประเทศ ในเรื่องของมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม สุขภาพ วิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น และผลกระทบในระดับโลก ในประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือโลกร้อน รวมทั้งการดำเนินการด้านพลังงานของไทยในระดับท้องถิ่นที่เกิดขึ้นแล้ว และในวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ยังได้จัดเวทีวิชาการด้านทิศทางพลังงานของไทยในอนาคต ซึ่งเป็นการนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้านพลังงานทีสามารถนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้

และจากทั้งสองเวที เครือข่ายคนไม่เอาถ่านหิน จึงได้ใช้สิทธิของตนเอง ร่วมกันเสนอข้อเรียกร้องในการกำหนดทิศทางการพัฒนาพลังงานที่ไม่จำกัดเพียงแค่ถ่านหิน รวมทั้งเสนอแนะถึงทางเลือกอื่น ที่จะนำไปสู่พลังงานยั่งยืน และการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ เลือกใช้ และพัฒนาพลังงานทางเลือกที่มีศักยภาพโดยชุมชนเอง ซึ่งเป็นไปตามหลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรักษาไว้ซึ่งวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยขอเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. เรียกร้องให้หยุดการใช้ถ่านหินในประเทศ หยุดทั้งการพัฒนาเหมืองถ่านหินและการนำเข้าถ่านหิน และให้ยกเลิกโครงการถ่านหินที่ยังไม่ได้มีการดำเนินการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินเวียงแหง โครงการเหมืองและโรงไฟฟ้าสะบ้าย้อย หรือแนวคิดในการขยายโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ทั้งนี้รวมถึงโครงการเหมือง โครงการโรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรมที่จะใช้ถ่านหิน

2. โครงการถ่านหินที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ภาคประชาชนเรียกร้องให้มีการดำเนินการดูแลและจัดการตามข้อเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ และจะต้องรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนเป็นสำคัญ รวมทั้งฟื้นฟุมชนอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง จะต้องย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่ และดูแลรักษาสุขภาพของชาวบ้านทั้งหมด ทั้งที่มาบตาพุด จ.ระยอง จะต้องทบทวนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของ บ.บีแอลซีพี และดูแลชาวบ้านอย่างจริงจัง รวมถึงการยุติการดำเนินการโครงการ และที่แก่งคอย จ.สระบุรี ให้มีการดูแลและควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้ถ่านหินให้มีการจัดการสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

3. เรียกร้องให้ยุติการคุกคามสิทธิของบุคคลและชุมชนทุกรูปแบบ ที่ร่วมปกป้องทรัพยากรของท้องถิ่นและวิถีชีวิตของชุมชน

4. เรียกร้องให้รัฐส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยเปิดตลาดให้มีการลงทุนและสนับสนุนการดำเนินกิจการพลังงานหมุนเวียนอย่างเป็นธรรม และขจัดอุปสรรคในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งให้ประชาชนดำเนินการพัฒนาด้วยตนเอง และมีส่วนร่วมในโครงการพลังงานทางเลือกเหล่านี้ตั้งแต่เริ่มต้น โดยส่งเสริมให้มีการสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าสะอาดขนาดย่อยในชุมชนต่างๆ ซึ่งชุมชนเป็นเจ้าของ

5. เรียกร้องให้มีการวางแผนด้านพลังงานที่คำนึงถึงต้นทุนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์หรือการเงินเท่านั้น และควรจะต้องมีการเปรียบเทียบทางเลือกการใช้พลังงานที่ต้องสะท้อนความเสี่ยงด้านราคาเชื้อเพลิงด้วย

6. เรียกร้องให้ยกเลิกการให้ผู้ใช้ไฟฟ้า เป็นผู้รับความเสี่ยงด้านราคาค่าเชื้อเพลิงผ่านทางค่าเอฟที เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

7. เรียกร้องให้มีการทบทวนการวางแผนพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าใหม่ ที่คำนึงถึงการนำเชื้อเพลิงจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมาใช้มากขึ้น และพิจารณาถึงศักยภาพการประหยัดพลังงาน และการจัดการด้านความต้องการ อีกทั้งให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการใช้พลังงานของตนเอง โดยผ่านกระบวนการพัฒนาแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าทางเลือก อันจะนำไปสู่การลดต้นทุนด้านการเงิน ลดค่าเชื้อเพลิง ลดภาระการนำเข้าเชื้อเพลิง ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะทำให้ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมลดลง อีกทั้งยังลดความจำเป็นในการสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และสามารถทำให้ประเทศบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านพลังงานที่รัฐบาลกำหนดไว้ด้วย

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net