Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ- 26 ม.ค.48 วันอังคารที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานการกำหนดพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดหลุมยุบใน 49 จังหวัด ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ว่าจากการเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ (Tsunami) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ทำให้เกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติหลุมยุบบริเวณภาคใต้มากกว่า 21 หลุม และขยายวงกว้างสู่พื้นที่ในภาคอื่นนับตั้งแต่ วันที่ 26 ธันวาคม 2547 ถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 22 หลุม ดังนี้

1. จังหวัดกระบี่ ที่อำเภออ่าวลึก เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 และวันที่ 3 มกราคม 2548 เกิดหลุมยุบจำนวน 2 หลุม อยู่ในเขตของโรงงานกระบี่น้ำมันพืช ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ แต่ตัวโรงงานมีความเสี่ยงในการพังทลาย

2. จังหวัดตรัง ที่อำเภอเมือง และอำเภอห้วยยอด เมื่อวันที่ 26-30 ธันวาคม 2547 เกิดหลุมยุบจำนวน 4 หลุม ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ แต่บ่อเลี้ยงปลาที่อยู่ใกล้เคียงได้รับความเสีย

3. จังหวัดสตูล ที่อำเภอละงู กิ่งอำเภอมะนัง อำเภอควนโคนและอำเภอเมือง เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2547 ถึงวันที่ 11 มกราคม 2548 เกิดหลุมยุบ 8 หลุม ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บแต่อาคารเรียนโรงเรียนกาแนะ อำเภอเมือง เกิดรอยร้าวหลายแห่ง

4. จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่อำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอชะอวดและอำเภอลานสะกา เมื่อวันที่ 3 -11 มกราคม 2548 เกิดหลุมยุบ 4 หลุม ในสวนยาง ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ

5. จังหวัดพังงา ที่อำเภอทับปุด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เกิดหลุมยุบ 1 หลุม ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือ บาดเจ็บ

6. จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่อำเภอกาญจนดิษฐ์ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 หลุมยุบ 1 หลุม บริเวณสวนยาง ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ

7. จังหวัดพัทลุง ที่กิ่งอำเภอศรีนครินทร์ ได้รับรายงานเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2548 เกิดหลุมยุบ 1 หลุม ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ

8. จังหวัดเลย ที่อำเภอเมือง เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2548 เกิดหลุมยุบ 1 หลุม ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ หลุมยุบทั้งหมดเกิดในบริเวณที่เป็นหินปูนที่มีโพรงหรือถ้ำ

สาเหตุสำคัญของการเกิดเหตุการณ์นี้ สืบเนื่องมาจากแรงดันน้ำและอากาศภายในโพรงหรือถ้ำใต้ดินเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการสั่นไหวของเปลือกโลกและอิทธิพลของคลื่นยักษ์ ทำให้โพรงหรือถ้ำใต้ดินในพื้นที่ที่เพดานถ้ำไม่แข็งแรงและมีชั้นดินปิดทับไม่หนานัก เสียสมดุลและเกิดการยุบตัว

สำหรับการดำเนินการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณี ได้ตั้งคณะทำงานด้านธรณีพิบัติภัยหลุมยุบ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2547 เพื่อทำหน้าที่ดำเนินการสำรวจตรวจสอบศึกษา วิเคราะห์สภาพธรณีวิทยา ธรณีพิบัติที่เกี่ยวข้องกับหลุมยุบทั่วประเทศ

นอกจากนี้ได้ออกประกาศกรมทรัพยากรธรณีเตือนภัยล่วงหน้า เขตพื้นที่เสี่ยงภัยหลุมยุบในพื้นที่ภาคใต้ชายฝั่งทะเลอันดามัน พร้อมแผนที่และรายชื่อพื้นที่เสี่ยงภัย จำนวน 4 ฉบับ และประกาศขอความร่วมมือประชาชนแจ้งข้อมูลที่พบเห็นเกี่ยวกับรอยแตก รอยแตกที่เกิดขึ้นในชั้นหิน วันที่ 1 มกราคม 2548 โดยได้แจ้งเตือนผ่านทางอินเทอร์เน็ต สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 และสถานีวิทยุในเครือของกรมประชาสัมพันธ์ สถานีวิทยุในส่วนภูมิภาค จังหวัดสุราษฎร์ธานี สงขลา ตรัง กระบี่ พังงา และสตูล

ตลอดจนออกประกาศกรมทรัพยากรธรณีเตือนภัยล่วงหน้าเขตพื้นที่เสี่ยงภัยหลุมยุบเพิ่มเติม พื้นที่ 49 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมแผนที่และรายชื่อพื้นที่เสี่ยงภัย ในวันที่ 12 มกราคม 2548 พร้อมทั้งจัดทำหนังสือ คู่มือแนวทางปฏิบัติในพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดหลุมยุบและบัญชีรายชื่อจังหวัดที่มีโอกาสเกิดหลุมยุบ จำนวน 500 เล่ม ให้กับจังหวัดและอำเภอที่มีโอกาสเกิดหลุมยุบ จัดส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหลุมยุบทุกครั้งที่ได้รับการแจ้งพร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และประชาชน ในเบื้องต้น จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน หมายเลขโทรศัพท์ 0 2202 3926 และ 0 2202 3745 เพื่อติดตามสถานการณ์และสนับสนุนให้ความช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรธรณีได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดหลุมยุบสูง พร้อมสำเนาถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบถึงวิธีการดำเนินการที่ถูกต้องในการกลบหลุมยุบ พร้อมทั้งแนะนำข้อปฏิบัติในกรณีที่เกิดเหตุการณ์หลุมยุบเพิ่มเติมและได้ขอความร่วมมือจากจังหวัดพิจารณาระงับการขุดเจาะน้ำบาดาลเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการยุบตัวของหลุมยุบเพิ่มเติม

สำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลุมยุบเพิ่มเติมหรืออยู่ใกล้เขตชุมชนทุกแห่ง กรมทรัพยากรธรณีได้ทำการสำรวจโพรงใต้ดิน โดยใช้การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ ซึ่งถ้าผลการตรวจสอบพบว่ามีโพรงขนาดใหญ่มาก ที่อาจเกิดการถล่มเป็นวงกว้างได้ เช่น บริเวณโรงเรียนบ้านกาแนะ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ซึ่งพบโพรงถ้ำขนาดใหญ่ที่ใกล้ทรุดตัวอยู่ใต้พื้นที่อาคารเรียน กรมทรัพยากรธรณีได้เสนอให้ทางจังหวัดพิจารณาระงับการใช้อาคารเรียนอย่างถาวร เพื่อป้องกันอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net