Skip to main content
sharethis

เครือข่ายสหภาพแรงงานทั่วโลก ส่งหนังสือถึงนายกฯไทย จี้สั่งการถอนทุกข้อหา รวมทั้ง “ก่อการร้าย” ที่ตำรวจไทยตั้งให้กับ 35 แกนนำพันธมิตรฯ กรณีชุมนุมในสนามบินสุวรรณภูมิ และ ดอนเมือง ระบุ เป็นการกล่าวหาเท็จ สวนทางกับข้อเท็จจริง ที่เป็นการชุมนุมโดยสันติ ไม่สร้างความเสียหาย ตรงกันข้ามมีแต่ฝ่ายพันธมิตรฯ ที่โดนระเบิดจากฝ่ายผู้สนับสนุน “ทักษิณ” จนเสียชีวิตและบาดเจ็บ

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าคณะกรรมการประสานงานสหพันธ์แรงงานการขนส่งระหว่างประเทศแห่งประเทศไทย แจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 15-20 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา องค์กรแรงงานจากประเทศต่างๆ ในเครือข่ายสหพันธ์แรงงานการขนส่งระหว่างประเทศ (International Transport Workers Federation-ITF) และ ศูนย์สมานฉันท์แรงงานสากล (International Center for Labor Solidarity - ICLS) ได้ส่งหนังสือนำส่งถึงสถานทูตไทยในแต่ละประเทศ และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการออกหมายเรียกผู้นำแรงงานในไทยและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในข้อหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะข้อหาการก่อการร้ายสากล
ทั้งนี้ นายเดวิด ค็อกรอฟต์ เลขาธิการสหพันธ์แรงงานการขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) ระบุในจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีของไทย ว่า มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อการตั้งข้อหากับผู้นำแรงงานและพันธมิตรฯ ที่เข้าไปชุมนุมในสนามบินโดยปราศจากความรุนแรงใดๆ และเชื่อว่า การตั้งข้อหา เช่น บุกรุก ทำลายทรัพย์สิน ก่อความวุ่นวาย และข้อหาก่อการร้ายที่มีโทษถึงประหารชีวิตนั้น ล้วนเป็นข้อหาที่เกินความจริง เพราะตามรายงานที่เชื่อถือได้นั้นไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นกับสนามบินระหว่างการชุมนุมเลย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นมีแต่การขว้างระเบิดเข้าใส่ผู้ชุมนุม โดยผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่โดยพันธมิตรฯ
นายเดวิด ระบุว่า ตำรวจได้ออกหมายเรียกแกนนำพันธมิตรฯ 30 กว่าคน ในจำนวนนั้นเป็นผู้นำแรงงานในเครือข่ายของ ITF จำนวน 4 คน ได้แก่ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่ปรึกษาและอดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย นางแจ่มศรี สุขโชติรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานการบินไทย และ นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่ง ITF ยืนยันที่จะสนับสนุนการต่อสู้ที่ชอบธรรมและเป็นไปอย่างสันติของพวกเขาเหล่านี้อย่างเต็มที่ และขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีไทยเข้ามาแทรกแซงเพื่อยับยั้งการกล่าวหาที่เลื่อนลอยอย่างน่าตกใจดังกล่าว และเพิกถอนข้อหาทั้งหมดเสีย
นอกจากนี้ นายเดวิด ยังได้โพสต์จดหมายเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยดังกล่าวไว้ในเว็บไซต์ของ ITF ด้วย (http://www.itfglobal.org/solidarity/thaiprotest.cfm)
ด้าน นายมาซาฮารุ ทาเคอิ ประธานสมาพันธ์แรงงานรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น (JRU) ได้แสดงความประหลาดใจกับการตั้งข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป รวมทั้งข้อหาก่อการร้ายกับผู้ชุมนุมที่สนามบิน เมื่อปี 2551 จำนวน 35 คน ซึ่งมีผู้นำสหภาพแรงงาน 4 คน รวมอยู่ด้วย ทั้งที่การชุมนุมและการเดินขบวนด้วยความสงบปราศจากความรุนแรงของประชาชนนั้น ถือเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งรัฐบาลทุกแห่งควรเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างการชุมนุมของพันธมิตรฯที่สนามบินนั้น ได้มีผู้ปาระเบิดเข้าไปในที่ชุมนุม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บอีกหลายราย การก่ออาชญากรรมเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการควบคุม ติดตามอย่างเข้มงวด
นายมาซาฮารุ ได้เรียกร้องในนามของสมาชิกสมาพันธ์แรงงานรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น จำนวน 70,000 คน ให้นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยดำเนินการ 1.ถอนข้อกล่าวหาทั้งหมดที่มีต่อผู้ที่ถูกออกหมายเรียกทุกคน รวมถึงผู้นำสหภาพแรงงานทั้ง 4 ด้วย 2.โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอให้ถอนข้อกล่าวหา “ก่อการร้าย” ซึ่งเป็นข้อหาที่ต่างไปจากความเป็นจริงเป็นอย่างมาก
สำหรับหนังสือขององค์กรแรงงานอื่นๆ ก็มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน คือ คัดค้านการตั้งข้อหากับพันธมิตรฯ อย่างไม่เป็นธรรม และเกินเลยจากความเป็นจริง พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการถอนข้อกล่าวหาทั้งหมดเสีย
โดยมี องค์กรแรงงานที่คัดค้านมาแล้วประกอบด้วย 1.สมาพันธ์แรงงานรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น - JRU (ICLS) 2.ศูนย์สมานฉันท์แรงงานสากล- ICLS (ICLS) 3.สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ - ITF LONDON ส่งมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2552
       
4.สหภาพแรงงานรถไฟตะวันออกแห่งประเทศญี่ปุ่น - JREU (ICLS/ITF) 5.สหภาพแรงงานรถไฟและการขนส่งทางทะเลประเทศนิวซีแลนด์ - RMTU (ICLS/ITF) 6.สหภาพแรงงานรถไฟ รถราง และรถประจำทางประเทศออสเตรเลีย - RTBU (ICLS/ITF) 7.เครือข่ายเตรียมการรักษานานาชาติในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง ประเทศรัสเซีย (ITF) 8.สหภาพแรงงานฯ ประเทศลัตเวีย (ITF) 9.สหภาพแรงงานสายการบินศรีลังกาแอร์ไลน์ (ITF) 10.สหภาพแรงงานช่างบำรุงเครื่องบินประเทศปากีสถาน (ITF) 11.สหภาพแรงงานท่าเรือและแรงงานทั่วไปเมืองตูติโคริน ประเทศอินเดีย (ITF) 12.นายรากูบิร์ ซิงห์ สมาชิก ITF ประเทศอินเดีย ส่งมาเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2552
       
13.สหภาพแรงงานการขนส่งประเทศภูฏาน - BTWU (ITF) 14.สหภาพแรงงานรถไฟแห่งประเทศฟิลิปปินส์ (BKM-PNR) 15.สหภาพแรงงานเจ้าหน้าที่และลูกเรือเดินทะเลฟิลิปปินส์ - AMOSUP (ITF) 16.สหภาพแรงงานลูกเรือเดินทะเลประเทศอินโดนีเซีย - KPI (ITF) 17.สหภาพแรงงานลูกเรือเดินทะเลประเทศญี่ปุ่น - JSU (ITF) 18.สหภาพแรงงานรถไฟประเทศเกาหลีใต้ - KRWU (ITF) 19.สหภาพแรงงานการขนส่งประเทศเกาหลีใต้ - KTWU (ITF) 20.คณะกรรมการสมานฉันท์สหภาพแรงงานรถไฟและรถไฟใต้ดินเกาหลีใต้ -KSCRU (ITF) 21.สหพันธ์แรงงานลูกเรือเดินทะเลเกาหลี - FKSU (ITF) 22.สหภาพแรงงานลูกเรือเดินทะเลประเทศออสเตรเลีย - MUA (ITF) 23.สหพันธ์แรงงานขนส่งทางทะเลประเทศกรีซ - PNO (ITF) 24.สหภาพแรงงานลูกเรือเดินทะเลประเทศพม่า- SUB (ITF/ICLS) ส่งมาเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2552
       
25.สหภาพแรงงานขนส่งทางบกและลอจิสติกส์ประเทศเบลเยียม - BTB (ITF) 26.สหภาพแรงงานแรงงานการขนส่ง ประเทศเนเธอร์แลนด์ - FNV (ITF) 27.เครือข่ายพี่น้องแรงงานระหว่างประเทศทีมสเตอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา/แคนาดา - TEAMSTER (ITF) ส่งมาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2552
ที่มาข่าว: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net