Skip to main content
sharethis

บ่ายวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เราไปที่วัดย่านยาว เพราะได้ข่าวว่าพบศพ แรงงานต่างด้าว คนหนึ่ง พร้อมกับโทรศัพท์มือถือ

ฉันไปที่นั่นเป็นครั้งแรก ผู้คนดูบางตา ผิดจากภาพที่เคยเห็นในทีวีที่เฝ้าติดตามข่าวมานานถึง 2 เดือน เหมือนเพิ่งมีการเคลื่อนย้ายทั้งคน และศพ และอะไร ๆ ยังไม่เข้าที่เข้าทาง

เราเข้าไปสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจท่านหนึ่ง บอกว่ามีเจ้าหน้าที่ที่นี่ติดต่อเราไป เรารู้จักกับเจ้าของโทรศัพท์มือถือที่เก็บได้จากศพ เราแค่อยากรู้ให้แน่นอนว่าเขาเสียชีวิตจริงหรือไม่ เพื่อจะได้แจ้งให้ญาติที่ประเทศพม่าทราบ

"ใครติดต่อคุณไป ชื่ออะไร..ทางตำรวจเพิ่งเข้ามารับงานต่อจากทีมคุณหมอพรทิพย์เดี๋ยวนี้เอง คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ถ้าจะสืบหาใคร"

นายตำรวจระดับสูงอีกท่านหนึ่งเดินเข้าชี้แจง บอกว่าเพียงแค่โทรศัพท์มือถือระบุอะไรไม่ได้ ผู้ตายอาจจะยืมโทรศัพท์ของคนอื่น หรือโทรศัพท์ของคนอื่นตกอยู่ใกล้ ๆ กับศพแล้วเจ้าหน้าที่เก็บเอามาไว้ด้วยกัน ถ้าจะยืนยันให้ได้ต้องมีหลักฐานอื่น เช่น ประวัติฟัน ลายพิมพ์นิ้วมือ หรือดีเอ็นเอ

"แต่ที่ประเทศพม่า ไม่น่าจะตรวจดีเอ็นเอได้ พาญาติเขามาตรวจดีเอ็นเอในเมืองไทยสิ" ท่านแนะนำเรา

ฉันคิดว่าท่านนายตำรวจใหญ่อาจจะลืมไปว่าคนที่เรากำลังพูดถึงนั้นคือ "แรงงานต่างด้าว"

ฐานเศรษฐกิจในจังหวัดพังงา

แรงงานต่างด้าวนับเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ด้วยค่าแรงที่ถูก ความบึกบึน อดทน และการไม่เลือก ไม่เกี่ยงงาน โดยเฉพาะงานที่แรงงานไทยไม่อยากทำ
แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนกับทางราชการให้อยู่ในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย ในจังหวัดพังงามีมากกว่า 30,000 คน บ้านน้ำเค็ม ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า เป็นแหล่งที่มีแรงงานสัญชาติพม่ามากที่สุด เครือข่ายองค์กรเอกชนที่ทำงานช่วยเหลือแรงงานอพยพ (Action Network for Migrants) รายงานว่าในพื้นที่นี้มีแรงงานต่างด้าวไม่ต่ำกว่า 7,000 คน มากกว่าพันคนเป็นลูกเรือประมง อีกนับพันคนทำงานในบังกะโล และไซท์งานก่อสร้างบนเกาะคอเขา และอีกจำนวนมากทำงานอยู่ในชุมชน โดยเฉพาะในแพปลามีที่ทั้งคนงานผู้ชายและผู้หญิง

"บ้านน้ำเค็มแทบจะเรียกได้ว่าเป็นหมู่บ้านของชาวพม่า" ชาวบ้านในท้องถิ่นบอกฉับแบบนี้ เขาบอกว่าแม้แต่ร้านคาราโอเกะในหมู่บ้าน ยังเปิดกันแต่เพลงภาษาพม่า

มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากไม่ได้ไปขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แม้ว่าขั้นตอนต่าง ๆ ในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวจะไม่ยุ่งยากมากนัก แต่นายจ้างจำนวนมากก็ยังมักง่าย ไม่ยอมพาแรงงานไปขึ้นทะเบียน

ในกิจการประมงซึ่งใช้แรงงานต่างด้าวมากที่สุด แต่มีแรงงานไปขึ้นทะเบียนไม่ถึงครึ่งหนึ่ง เพราะนายจ้างเห็นว่าทำงานเวลาส่วนใหญ่อยู่ในทะเล สามารถหลบเลี่ยงการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ง่าย หรือไม่ก็มี "วิธีการ" ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่มากวนใจ นายจ้างจึงมักหลุดรอดไปจากการเอาผิดของกฎหมาย

ผลเสียของการไม่ได้ขึ้นทะเบียนจึงมักตกอยู่กับแรงงานเท่านั้น

พวกเขาจะถูกคุกคามจากภัยมนุษย์ในสารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการถูกแก๊งมาเฟียขูดรีดเรียกค่าคุ้มครอง การถูกนายจ้างโกงค่าแรงหรือเอารัดเอาเปรียบ การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

รวมทั้งการตกอยู่ในฐานะ มนุษย์ที่ไร้ตัวตน หลังจากประสบภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์สึนามิ

หลังคืนเดือนมืดที่บ้านน้ำเค็ม

"คืนนั้นเป็นคืนเดือนมืด" คนขับรถในอำเภอตะกั่วป่าเริ่มต้นเล่า
ตามวิถีชีวิตของชาวประมง คืนเดือนมืดเป็นทัศนวิสัยที่ดีในการออกเรือหาปลา ย่ำรุ่งในวันถัดมา ชายฝั่งทะเลบ้านน้ำเค็มจึงคราคร่ำไปด้วยผู้คน ทั้งลูกเรือประมง คนงานแพปลา และพ่อค้าแม่ขายที่ทำมาหากินกับทะเล

และสายวันนั้นเองที่คลื่นมหึมาสาดซัดเข้ามาเยือนชายฝั่งอันดามัน ไล่หลังจากที่เรือประมงเทียบท่าบ้านน้ำเค็มได้ไม่นาน กุ้ง หอย ปู ปลาที่เพิ่งขึ้นฝั่งถูกกวาดลงทะเลอีกครั้ง พร้อมกับผู้คนนับพันที่ไม่ทันได้ตั้งตัว

เครือข่ายองค์กรเอกชนที่ช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว รายงานตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการว่ามีแรงงานต่างด้าวในอำเภอตะกั่วป่าที่เสียชีวิตจากธรณีพิบัตภัยครั้งนี้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันคน หรืออาจมากกว่าสองพันคน

"มากกว่านั้นแน่นอน ผมเชื่อว่ามากกว่านั้น" คนขับรถคนเดิมยืนยัน เขาประมาณจากจำนวนเรือที่เข้าฝั่งในเช้าวันนั้น

เรือประมงหนึ่งลำมีลูกเรือไม่ต่ำกว่า 30-40 คน มีคนไทยแค่ 4-5 คน นอกนั้นเป็นแรงงานสัญชาติพม่า ยังไม่รวมคนงานที่แพปลาที่มีผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ และลูกเด็กเล็กแดงของแรงงานเหล่านั้นอีก

"รุ่งเช้า หลังคืนเดือนมืด ใครก็รู้ว่าที่ฝั่งมีคนมากขนาดไหน"

องค์กรเอกชนรายงานตัวเลขประมาณการว่า บนเกาะคอเขามีแรงงานเหลืออยู่เพียง 100 คน จากแรงงานทั้งหมดประมาณ 1,000 คน ที่ไซท์งานก่อสร้างแห่งหนึ่ง คาดว่าเหลือผู้รอดชีวิตเพียง 7 คน จากจำนวนแรงงานที่มีก่อนหน้านี้ประมาณ 1,000 คน

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครยืนยันตัวเลขที่แน่นอนได้ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่จริงในพื้นที่ก่อนเกิดเหตุการณ์ ซึ่งรวมทั้งแรงงานที่ไม่ไปลงทะเบียนด้วย จึงทำให้ยากที่จะกะประมาณจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้สูญหาย หรือแม้แต่ผู้ที่รอดชีวิตที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงได้

คนที่ไม่มีสิทธิตาย
สองเดือนผ่านไปหลังจากเหตุการณ์คลี่คลาย องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งช่วยเหลือพาแรงงานต่างด้าวไปยื่นคำร้องเพื่อให้ทางการออกเอกสารประจำตัวแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ทดแทนใบที่สูญหายไปกับน้ำทะเล ระหว่างการเปิดแฟ้มค้นหา แรงงานหลายคนเห็นภาพถ่ายของคนรู้จักติดอยู่บนมุมซ้ายของต้นขั้วเอกสารขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว

"คนนี้ตายแล้ว คนนี้ตายแล้ว คนนี้ก็ตายแล้ว"

บางคนวิ่งหนีคลื่นยักษ์มาพร้อมกันแล้วก็ตายไปต่อหน้าต่อตา บางคนก็เห็นเมื่อเป็นศพไปแล้ว แรงงานบางคนนั่งร่ำไห้กับภาพถ่ายบางภาพ และวิงวอนเจ้าหน้าที่ขอเอากลับไปดูต่างหน้า เพราะเป็นสิ่งเดียวที่เหลืออยู่เกี่ยวกับบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขา

แม้จะทราบแน่ชัดว่าญาติมิตรของตนเองเสียชีวิต แต่พวกเขาก็ไม่รู้ว่าจะใช้หลักฐานอะไรมายืนยัน และไม่รู้ว่าจะไปแจ้งการตายกับใคร...เพื่ออะไร...

การอยู่หรือตายของคนเหล่านี้อาจไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับเจ้าหน้าที่คนไทย นอกเสียจากการคัดชื่อออกจากแฟ้มทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่เท่านั้นเอง และสำหรับแรงงานอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน การอยู่หรือการตายของพวกเขา อาจไม่มีโอกาสแม้แต่จะบันทึกอยู่บนเศษกระดาษแผ่นใดในโลกนี้

แต่นั่น ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ใช่มนุษย์ที่มี หรือเคยมีชีวิตอยู่ในโลก

ตามข้อสันนิษฐานขององค์กรพัฒนาเอกชน และชาวบ้านท้องถิ่น ในบรรดาศพที่ยังพิสูจน์ได้ว่าเป็นใคร รวมถึงศพที่ไม่สามารถเก็บกู้มาได้ เป็นร่างไร้วิญญาณของแรงงานต่างด้าวรวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจที่วัดย่านยาวชี้แจงว่า ไม่สามารถที่จะปล่อยศพออกไปได้ถ้าไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน

แต่ใครหรืออะไรที่จะเป็นสิ่งอ้างอิงความเป็นตัวตนของพวกเขา

เพื่อนแรงงานด้วยกันจะมีสิทธิไปยืนยันการตายของเขาได้ไหม ญาติพี่น้องในประเทศพม่าจะรู้ข่าวของพวกหรือไม่ พ่อแม่ลูกเมียจะพากันมาตรวจดีเอ็นเอในประเทศไทยได้อย่างไร

หรือร่างไร้วิญญาณของแรงงานต่างด้าว จะต้องกลายเป็นศพไร้ญาติไปในที่สุด

"ถ้าในบรรดาศพเหล่านี้ มีศพของแรงงานต่างด้าว ท่านมีแนวทางจัดการอย่างไรคะ" ฉันถามนายตำรวจยศสูงที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง

ท่านย้อนถามฉันว่า "แรงงานต่างด้าว ต่างกันตรงไหนกับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น หรือคนไทย"

ฉันนึกสงสัย นี่ท่านไม่ทราบจริง ๆ หรือแกล้งไม่ทราบ

"ต่างกันตรงที่พวกเขาไม่เคยมีสิทธิอะไร ไม่ว่าจะอยู่หรือตาย"

อัจฉรา รักยุติธรรม
(ตีพิมพ์ครั้งแรก ในโพสต์ทูเดย์ วันที่ 16 ก.พ.48)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net