Skip to main content
sharethis

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในหลายวาระ กระทั่งครั้งเดินทางมาที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระยะที่ปิดปากไม่คุยกับสื่อมวลชน ก็ยังให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาลำไยจะต้องแก้ให้เสร็จในปี 2548 นี้ !!

ทำไมต้องแก้ให้เสร็จ ?และจะแก้อะไรที่ตรงไหน ?

ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2544 ตอนที่เริ่มเป็นรัฐบาลไทยรักไทยสมัยแรก ลำไยปี 2544 ราคาตกมาก แต่นั่นต้องยกให้ว่า รัฐบาลเพิ่งจะเข้ามารับหน้าที่ จึงไม่ได้วางระบบเอาไว้

ปี 2545 เป็นปีที่มีมาตรการแทรกแซงตลาดลำไย โดยการรับจำนำลำไยอบแห้ง แต่ที่สุดเมื่อถึงปี 2548 ปัญหาของสต๊อกลำไยของปี 2545 ก็ยังค้างคาอยู่

เช่นเดียวกับปี 2546 ที่มีมาตรการลักษณะเดียวกันออกมา และสต๊อกดังกล่าวก็ยังคงค้างอยู่ในโกดังร่วม 200 แห่งทั่วภาคเหนือ

ปี 2547 ที่ผ่านมา ลำไยได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่หนักหนาทับเท่าทวี เพราะว่า ของเก่าก็ยังแก้ไม่เสร็จ ของใหม่ยิ่งชุลมุน

กล่าวได้ว่า มาตรการแก้ปัญหาลำไยของปี 2547 ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และมีการทุจริตของจากทั้งมือคนรัฐและภาคเอกชนผสมโรง

เฉพาะปี 2547 ปีเดียวเสียหายร่วม 2,000 ล้านบาท เป็นอย่างน้อย นั่นเพราะว่า มาเฟียลำไยที่ประกอบจากคนของรัฐและพ่อค้าร่วมกันทุจริตแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา

มีการทำลำไยลม สวมของเก่ามาไว้กับของใหม่ ลักลอบเอาลำไยใหม่ปี 2547 ไปขายเมืองจีน ไล่มาถึง
การกระทืบซ้ำชาวสวนโดยการปฏิเสธไม่รับซื้อตามราคากลาง กดราคาหน้าโกดังเพื่อสวมสิทธิ์ขายเองในราคาแพง

วิบากกรรมลำไยที่เกิดขึ้นในปี 2547 ประทับอยู่ในความทรงจำของชาวสวนลำไย เชียงใหม่-ลำพูน ติดหูติดตาไม่มีวันลืม

........

ในช่วงปลายปี 2547 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.เกษตรและสหกรณ์ในเวลานั้น ออกโรงตรวจจับการทุจริตลำไยอย่างเอิกเกริก มีการนำสื่อมวลชนส่วนกลางมาลงพื้นที่ และมีการยกเลิกสัญญาจ้างบริษัทปอเฮงอินเตอร์เทรด ซึ่งได้รับสัญญาการเป็นตัวแทนจัดซื้อลำไย 3.2 แสนตันเพื่อมาอบแห้งเพียงเจ้าเดียว จากกระทรวงเกษตรฯ ต่อจากนั้นมีข่าวว่า ทางกระทรวงกำลังตรวจสอบบริษัทเอกชน 12 รายว่ามีส่วนในการทุจริตหรือไม่

แต่ที่สุดเรื่องก็เงียบหายไปจนกระทั่งถึงเดือน กุมภาพันธ์ 2548 ที่ผ่านมา เรื่องจึงมาโด่งดังอีกรอบ ก็เพราะมีการเคลื่อนไหวของเครือข่ายหากินกับลำไยอีกรอบ

นั่นเพราะว่า มติครม. เมื่อ 14 ธ.ค. 2547 ให้มีการแลกลำไยในลักษณะบาร์เตอร์เทรดกับสินค้า
ลำไยที่จะแลกก็คือลำไยเก่าของปี 2545-2546-2547 รวม 3 ปี

แรกสุดนั้น ทางพ.ต.ท. ทักษิณ ได้เจรจากับ นายกรัฐมนตรีจีนเพื่อจะขอแลกลำไยกับอาวุธ ในช่วงกลางปี 2547 และมีการสานต่อในรายละเอียดโดยทีมงานกระทรวงกลาโหม จึงได้มีมติครม. 14 ธ.ค. 2547 ตามมา

แต่ปรากฏว่า เมื่อถึง ต้นปี 2548 ได้มีการชงเรื่อง ผ่านกระทรวงพาณิชย์ เข้ามายังคณะกรรมการ
นโยบายแก้ปัญหาเกษตรกร หรือ คชก. ว่า จะมีการเจรจาแลกลำไยอบแห้งกับ หัวรถจักร 7 หัวกับตัวแทนประเทศจีน

เรื่องนี้จึงทำให้เกิดคำถามจากคนในวงรัฐบาลด้วยกันเอง

เพราะในช่วงนั้น ตัวแทนอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลปักกิ่งก็คือ ทูตทหาร ที่ประจำในสถานทูตจีน อยู่ระหว่างการเจรจาแลกลำไยกับอาวุธ

จู่ ๆ ก็มีข่าวผ่านหนังสือพิมพ์ว่า ทางการไทยกำลังจะเจรจากับ บริษัทเอกชนรายหนึ่ง ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอเข้ามา บอกว่า บริษัทนี้เป็นตัวแทนประเทศจีน

อยู่ดี ๆ มีตัวแทนประเทศจีนซ้อนกันสองราย จึงมีการตรวจสอบจึงพบเหตุผิดปกติขึ้น และที่สุด มติครม. เมื่อ1มี.ค.2548

ที่ผ่านมา ได้มีมติให้ล้มการเจรจากับ บริษัทเอกชนรายดังกล่าวไปแล้ว ชนิดที่มีการถามเรื่องนี้กับ นายวัฒนา เมืองสุข รมว.พาณิชย์ตรง ๆ ว่า กิจการนี้มันมีที่มาที่ไปอย่างไร แต่นายวัฒนา ตอบเพียงว่า ติดต่อเข้ามาผ่าน การรถไฟแห่งประเทศไทย

ซึ่งเป็นคำตอบที่คนในวงการรู้ว่า อะไรจริงอะไรไม่จริง

นั่นเพราะว่า นับตั้งแต่มีเรื่องการทุจริตในการแก้ปัญหาลำไยปลายปี 2547 ได้มีการตรวจสอบราย
ละเอียดที่มาที่ไป เฉพาะในส่วนของรัฐบาลเอง อย่างน้อย 3 คณะ 1. โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนการทุจริต มีรองปลัดกระทรวงฯเป็นประธาน ต่อมา ได้ส่งเรื่องทั้งหมดให้นาย บรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548

แต่ก็ไม่เปิดเผยเสนอต่อให้ฝ่ายการเมือง เพิ่งจะมามีประชุมหลังจากที่มีข่าวลำไยเป็นกระแสขึ้นมาอีกรอบ จนที่สุดจึงมีการประชุม บอร์ด อ.ต.ก. ในวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อลงโทษข้าราชการ อ.ต.ก.

2. โดยคณะทำงานของ นายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับ คชก. ซึ่งมีทีมงานสำคัญคือ นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม

3. ทีมตำรวจสอบสวนกลาง นำโดย พล.ต.ท. เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวช ซึ่งรายงานตรงถึงนายกรัฐมนตรีผ่านสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งผลการสอบของทีมดังกล่าวอยู่ในมือนายกรัฐมนตรีไปล่วงหน้าแล้วแต่ไม่ได้เปิดเผยออกมาสู่สาธารณะ

แต่ทั้งหมด ก็ได้สรุปเรื่องคล้ายคลึงกันว่า สาเหตุของความล้มเหลวในการแก้ปัญหาลำไยนับจากปี 2545 เป็นต้นมา เริ่มจาก มาตรการของฝ่ายนโยบาย และการทุจริตของเจ้าหน้าที่เอื้อต่อพ่อค้าที่เรียกกันว่า มาเฟียลำไยภาคเหนือ

ส่วนจะเอาผิดกับแค่ ข้าราชการไม่กี่คน หรือจะลงโทษไล่ไปถึง นักการเมือง และ ฟ้องร้องพ่อค้ากี่ราย เรื่องนี้ยังต้องรอดูกันอีกระยะหนึ่ง

2548 แก้ให้เสร็จ ?

คำว่า ปี 2548 จำต้องแก้ปัญหาลำไยให้เสร็จ คืออะไร ?

ส่วนแรก- การสางปัญหาเก่าลำไยอบแห้งค้างสต๊อก ปี 2545-2546 ที่ปัจจุบันเสื่อมค่าลงไปมาก โดยเฉพาะของปี 2545 นั้นมีคุณภาพใช้การได้ประมาณ 30% เท่านั้น ซึ่งจะต้องมีการระบายออกไปให้หมดก่อนฤดูลำไยใหม่ มิฉะนั้น จะเป็นตัวมากดราคาลำไยฤดูใหม่ไปในตัว ไม่เพียงเท่านั้นประสบการณ์ที่ผ่านมา พ่อค้าและข้าราชการยังร่วมกัน นำลำไยเก่าในสต๊อกมาสวมลำไยใหม่อีกทางหนึ่งด้วย

ยังมีลำไยฤดูล่าสุด ปี 2547 ที่มีการโกงอย่างมโหฬาร ตอนนี้มีในสต๊อกในรูปลำไยอบแห้งประมาณ 56,000 ตัน จะต้องระบายออกโดยเร็ว ซึ่งคาดว่า จะอยู่ในรูปการเจรจาแลกเปลี่ยนกับ รถหุ้มเกราะประเทศจีน ประมาณ 97 คัน มูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท และอาจจะมีอาวุธยุทโธปกรณ์อื่น ๆ อีกส่วนหนึ่ง

การระบายของเก่า ทั้งหมดโดยเร็ว เป็นภารกิจแรกของการสางปัญหาลำไยคาราคาซัง

ส่วนที่สอง - การสางปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น เรื่องนี้ มีการพูดกันในวงการลำไยมาก่อนว่า เผลอ ๆ อาจจะมีแค่แพะข้าราชการไม่กี่คน ทั้ง ๆ ที่ปัญหาลำไยปี 2547 ส่วนหนึ่งมาจาก ระดับนโยบาย

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีพ่อค้าเอกชนหรือที่เรียกกันว่า มาเฟียลำไย เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน

เรื่องนี้ รัฐบาลจะเอาจริงเอาจังแค่ไหน จะขึ้นบัญชีดำหรือจะฟ้องร้องเอาผิดและเรียกเงินค่าเสีย
หาย ?

ปัญหาในส่วนนี้ยังไม่ชัดเจนนัก

ส่วนที่สาม - การวางระบบใหม่ ที่ไม่เปิดช่องให้พ่อค้าข้าราชการเอาเปรียบชาวสวน เอื้อให้เกิดการโกงอย่างที่ผ่านมา ระบบใหม่ จะต้องไม่เหมือนกับปี 2545-2547 ซึ่งมีข่าวออกมาแล้วว่า ปีนี้จะเน้นไปที่การจัดการลำไยผลสดโดยใช้ประสิทธิภาพของระบบการขนส่ง หรือ ลอจิสติกให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
อาจจะมีการระบายผลสดไปยังตลาดต่างประเทศใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ได้มีเสียงเรียกร้องของเกษตรกรว่า จะขอเข้าไปมีส่วนในการกำหนดนโยบายและวิธีการแก้ปัญหาของปี 2548

เพราะในปีใหม่นี้ มีแนวโน้มว่า ลำไยจะออกผลมากเป็นประวัติการณ์ จากสภาพอากาศหนาวยาวนานในช่วงที่ผ่านมา

เรื่องนี้ จะต้องรอรัฐมนตรีชุดใหม่มารับผิดชอบ

ส่วนที่สี่ - เป็นเรื่องที่ไม่มีใครพูดกันมากนัก ก็คือ ปัญหาดั้งเดิมของระบบลำไยไทย ที่ยังไม่ได้อยู่บนฐานของข้อมูลที่แท้จริง เช่น การขึ้นทะเบียนเกษตรกร การประมาณการผลผลิตที่อิงจากจำนวนต้นและดอก รายชื่อเกษตรกร เพราะว่า จะมีผลต่อไปในระยะยาวจากการขายลำไยในตลาดจีน เนื่องจากว่าจีนเข้มงวดในการตรวจสารตกค้าง เวลานี้ได้เริ่มมีการเข้าสู่ระบบรับประกันคุณภาพเกษตรกรที่ดีและเหมาะสม หรือ GAP แต่ทำได้ไม่มากรายนัก เกษตรกรทั้งหมดจะต้องเข้าสู่มาตรฐานนี้ แต่กรมวิชาการเกษตรเองยังไม่มีเจ้าหน้าที่มากเพียงพอ

ส่วนที่ห้า - การทำผิดกฎหมาย และเครือข่ายมาเฟีย เช่น ขบวนการลักลอบนำเข้าสารเคมีต้องห้ามตามชายแดนผ่านแม่น้ำโขง โดยเฉพาะ เมธามิโดฟอส ที่อาจจะทำให้ระบบลำไยไทยทั้งระบบเสียหาย

หากจีนสั่งห้ามนำเข้าอีกรอบ ไม่เพียงเท่านั้น ปัญหาดั้งเดิมคือ โปตัสเซียมคลอเรท หรือ สารเร่งดอก ที่เคยมีอุบัติเหตุระเบิดที่สันป่าตอง ก็ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบจริง เพราะอำนาจการบริหารทั้งหมดอยู่ในมือกระทรวงกลาโหม หากใครครอบครอง หรือ จำหน่ายจะผิดกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ ยังมีการจำหน่ายและลักลอบนำเข้านอกระบบเป็นจำนวนมาก

หากว่า การสางปัญหาลำไยให้เสร็จภายในปี 2548 ยังจำกัดอยู่เพียงข้อแรก คือ การเร่งระบายของเดิมในสต๊อกออกให้หมด โดยไม่ได้ทำข้ออื่น ๆ แล้ว เชื่อแน่ว่า ลำไยภาคเหนือ จะยังมีปัญหาตามมาอีกอย่างแน่นอน .

โครงการความร่วมมือข่าวภูมิภาคพลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net