Skip to main content
sharethis

"งอกงามมาจากพื้นดินและสายน้ำ โรงเรียนของปกาเก่อญอคือวันและคืน คือฤดูกาลของโลกบนภูเขา คือครอบครัว คือความรัก" นั่นเป็นคำสอนของ พ่อเฒ่าเดญา กวีแห่งขุนเขา ที่ถูกบันทึกเอาไว้ ในงานมหกรรมแหล่งเรียนรู้ วัฒนธรรมภูมิปัญญา ห้องเรียนชุมชนบ้านทุ่งหลวง ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19-20 มี.ค.ที่ผ่านมา

เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจ ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ และกระแสการปฏิรูปการศึกษา ที่กำลังปั่นป่วนสับสนกับการค้นหาแนวทางการจัดการระบบการศึกษา ว่าจะเลือกและลงมือทำอย่างไร จนทำให้นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ แม้กระทั่ง วิถีผู้คนในชุมชน ต่างสะดุดหยุดชะงัก ว่าที่ผ่านมา การปฏิรูปการศึกษาของรัฐ นั้นเดินมาถูกทางอย่างสร้างสรรค์หรือว่ากำลังล้มเหลว

กิจกรรมนี้จึงเหมือนเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน กลุ่มเยาวชน คณะครู ร.ร.บ้านทุ่งหลวง ที่รวมตัวกันขึ้นมา ร่วมกับ วิทยาลัยจาวบ้านลุ่มน้ำวาง เครือข่ายการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำวางตอนบน สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้โครงการความร่วมมือพัฒนาพื้นที่รูปธรรม "การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อชุมชนเข้มแข็งและเป็นสุขอย่างยั่งยืน" หรือ สรส.ภาคเหนือ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เป็นผู้สนับสนุนกิจกรรมนี้

ชุมชนบ้านทุ่งหลวง ตั้งอยู่บนสันเขาและเนินเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500-900 เมตร โดยมีดอยก่าเจาะ ดอยเล่อปอเฮอ ดอยม่อนยะ ดอยโลหลู่ ดอยพอเดอะอูโจ๊ะ ดอยธาตุ สลับทับซ้อนเป็นชั้นช่วงล้อมรอบหมู่บ้าน จนมองเห็นความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งป่าสน และป่าเบญจพรรณ ห้อมล้อมให้เห็นว่า ชาวบ้าน ชุมชนแห่งนี้ ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาผืนป่าธรรมชาติผืนนี้ให้อุดมสมบูรณ์ได้อย่างดี

แน่นอน, ผู้คนชุมชนแห่งนี้ เป็นผู้เสมือนผู้พิทักษ์ปกปักรักษาผืนป่าอันเป็นป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นขุนน้ำ ต้นน้ำมากถึง 10 ลำห้วยสาขาล้อมรอบหมู่บ้าน ก่อนจะรี่ไหลลงไปรวมกับแม่น้ำวาง และแม่น้ำปิงในตอนล่าง

เมื่อมองออกไปรอบๆ ชุมชนทุ่งหลวง จะมองเห็นทุ่งนากว้างใหญ่ ซึ่งมีการทำเกษตรกรรมกันมาช้านาน ทั้งปลูกข้าว ปลูกพืชผัก และเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่า วัว ควาย หมู ไก่ อยู่ใกล้ๆ ชุมชน และเมื่อมีโอกาสเดินออกไปไกลลึกเข้าในผืนป่า ยังคงมีการทำไร่หมุนเวียนอยู่เพื่อรักษาพันธุ์พืชไร่ดั้งเดิมเอาไว้ เช่น แตง ฟักแก้วฟักทอง รวมทั้งพันธุ์ข้าวไร่หลากหลายนานาพันธุ์ ซึ่งถือว่า เป็นพันธุ์ข้าวไร่ที่นับจะหายากกันยิ่งขึ้น

"ปูเดาะโกล๊ะ" คือชื่อเดิมของชุมชน
ชุมชนทุ่งหลวงแห่งนี้ มีชื่อว่า "โป่งเดือด" หรือที่ชาวบ้านเรียกตามภาษาปกเก่อญอว่า "ปูเดาะโกล๊ะ" ที่เรียกชื่อนี้ ก็เพราะว่า ในสมัยก่อนนั้น มีน้ำพุร้อนผุดพุ่งจากใต้ดินขึ้นมากลางลำห้วย ต่อมาทางการได้ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า "บ้านทุ่งหลวง" เนื่องจากมีทุ่งนากว้างใหญ่กว่าหมู่บ้านอื่นๆ

ว่ากันว่า ชุมชนทุ่งหลวง ก่อตั้งมาประมาณปี พ.ศ.2219 หรือกว่า 300 ปีมาแล้ว โดยการนำของนายโหย่เจ๊ะ นายเกะหน่า นายเจ๊ะมะ และนายเจ๊ะพอ ได้พาครอบครัวอพยพมาจากบ้านหนองบอน ต.ทุ่งปี๊ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ และได้ร่วมบุกเบิกตั้งถิ่นฐานสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีพะตีมีโพ ศรีเอื้องดอย เป็นฮีโข่ หรือผู้นำทางพิธีกรรม และมีนายดวงจันทร์ อูรุศิริ เป็นผู้ใหญ่บ้าน

บ้านทุ่งหลวง เป็นชุมชนชนเผ่ากะเหรี่ยง หรือที่เรียกตัวเองว่า "ปกาเก่อญอ" ซึ่งในปัจจุบัน มีทั้งหมด 70 ครัวเรือน มีจำนวนประชากรทั้งหมด 349 คน

ทำไมต้องมีห้องเรียนภูมิปัญญา?
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม(วจส.) บอกไว้ว่า ชุมชนปกาเก่อญอ เป็นชุมชนดั้งเดิมเก่าแก่ตั้งรกรากอยู่บนพื้นที่สูง ทำมาหากินบุกเบิกทำไร่หมุนเวียน ขุดเหมือง ตีฝายเล็กฝายน้อย ทำนาขั้นบันได ส่วนชุมชนตอนล่าง ได้สร้างฝาย ขุดเหมืองตลอดสายแม่น้ำวาง รวม 11 ลูก หล่อเลี้ยงผืนนาอันกว้างใหญ่ ปลูกข้าว หอมหัวใหญ่ ถั่วเหลือง ไม้ผล พึ่งตนเอง และมีการแลกเปลี่ยนผลผลิต บนความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องมานับร้อยปี

ชุมชนในลุ่มน้ำแม่วาง ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน จากการสัมปทานป่าไม้ของ บ.บอมเบย์เบอร์ม่า การปลูกฝิ่น ปลูกข้าวขาย ปลูกหอมหัวใหญ่ ส่งไปขายญี่ปุ่น จนทำให้เกิดความเจริญเติบโตทันสมัยอย่างไม่หยุดยั้ง

"ปุ๋ย ยาเคมี เต็มท้องทุ่งนา ผืนป่าหดหาย สายน้ำขาดแคลนไม่เพียงพอต่อการใช้ในการเกษตรทั้งปี ที่ดินถูกเปลี่ยนมือไปจากชาวนา ไปอยู่กับผู้มีเงินทุนจากภายนอก ราคาผลผลิตตกต่ำครั้งแล้วครั้งเล่า เด็กๆ เยาวชนออกจากหมู่บ้าน ร่ำเรียนในเมืองแล้วละถิ่นฐานไม่อยากกลับบ้าน" นายชัชวาลย์ กล่าวย้ำให้เห็นภาพผ่านในอดีตของชุมชนลุ่มน้ำวาง

นายชัชวาลย์ ยังบอกอีกว่า ภายใต้กระแสดุจดั่งคลื่นยักษ์สึนามิ พัดกระหน่ำให้วิถีชีวิตหลุดลอยจากรากเหง้า แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วตามยุคสมัย แม้กระแสน้ำจะเชี่ยวกรากสักเพียงใด ฝูงปลายังพากันว่ายทวนกระแสน้ำ ขึ้นไปวางไข่ยังต้นน้ำได้ฉันท์ใด ก็ยังมีชุมชนในลุ่มน้ำแม่วาง ที่ยังหยัดยืนต้านทางกับกระแสโลกาภิวัตน์

กลุ่มปกาเก่อญอ จึงเริ่มรวมตัวกันขึ้น เพื่อดูแลรักษาป่าต้นน้ำ โดยภูมิปัญญาของชนเผ่าเอง บอกเล่าถึงภูมิปัญญาการทำไร่หมุนเวียน การทำเกษตรยั่งยืนบนพื้นที่สูง เรื่องราวของป่าเจ็ดชั้น ซึ่งเป็นปัญญาของปราชญ์แห่งขุนเขาให้กับลูกหลานเยาวชนในหมู่บ้าน และบอกกล่าวกับผู้คนในสังคมให้เข้าใจว่า "เฮามีความรู้ภูมิปัญญาของตัวเอง ที่จะดูแลตัวเองได้"

เหมือนกับที่ "แคววา" ผู้นำชุมชนปกาเก่อญอบ้านห้วยอีค่าง ได้ขับขานบททา คำสอนของบรรพบุรุษปกาเก่อญอ เอาไว้ว่ "ทางหนึ่งขึ้นสวรรค์ ทางหนึ่งลงนรก"

"เปรียบให้เห็นถึงเส้นทางชีวิตคนเรา ทางหนึ่งนำไปสู่สุข อยู่พอดีกินพอดี กับทางหนึ่งนำไปสู่ทุกข์ แก่งแย่งแข่งขันทำมาหาเงิน ยิ่งทำยิ่งไม่พอกิน"

องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net