Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-7 เม.ย.48 ชนเผ่า-คนพื้นราบทำพิธีเรียกสู่ขวัญ บวชป่า ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ พร้อมหนุนให้สภาลงมติรับร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน โดยเสนอให้ทั้งรัฐ เอกชน นักวิชาการ ประชาชนในแต่ละพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการป่าอย่างยั่งยืน

ที่บริเวณผืนป่าดอยอินทนนท์ ระหว่าง บ.หาดส้มป่อย- บ.ใหม่แม่เตี๊ยะ ต.ดอยแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านชาวไทยภูเขาและพื้นราบ จำนวน 12 หมู่บ้าน กับอีก 40 หย่อมบ้าน พร้อมด้วยพระสงฆ์ กลุ่มอนุรักษ์บนพื้นที่สูง อ.จอมทอง คณะกรรมการลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะ-แม่แตะ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติออบขาน และหน่วยป้องกันไฟป่าดอยอินทนนท์ ได้ร่วมกันจัด" พิธีเรียกสู่ขวัญ บวชป่า ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้" โดยในงานนี้ ได้มีการหยิบยกประเด็นเรื่อง พ.ร.บ.ป่าชุมชน

นายคำ ทองบือ อดีตประธานกลุ่มอนุรักษ์บนพื้นที่สูง อ.จอมทอง กล่าวว่า ปกติบรรพบุรุษชาวปกาเกอะญอ นั้นได้รักษาป่ารักษาต้นน้ำกันมาก่อนอยู่แล้ว แต่ไม่ค่อยมีการสื่อให้สังคมข้างล่างได้รับรู้ หลังจากนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 เป็นต้นมา ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์บนพื้นที่สูงอำเภอจอมทองขึ้นมา เพื่อให้การทำงานการจัดการป่ามีรูปแบบที่ชัดเจนมากขึ้น

"อย่างเรื่อง การทำแนวกันไฟ บรรพบุรุษของเราได้ทำกันมานานแล้ว ซึ่งพื้นที่ที่ทำแนวกันไฟป่าผืนนี้มีระยะทางไกลประมาณ 103 กิโลเมตร ซึ่งถือว่านี่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ควรมีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนว่าเรารักษาป่าดูแลป่าได้จริง" นายคำ กล่าว

นายคำ กล่าวอีกว่า จำเป็นที่จะต้องมี พ.ร.บ.ป่าชุมชน และกรณีการจัดการเรื่องป่าชุมชนนั้น ควรจะมีทั้งชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ หลายๆ ฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการป่าอย่างยั่งยืน ไม่ควรจะแยกกัน เพราะจะปล่อยให้รัฐเข้ามาควบคุมจัดการเองทั้งหมดมันก็ไม่ดี และขณะเดียวกันชุมชนจะจัดการกันเองโดยที่ไม่ให้รัฐเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ก็ไม่ดีอย่างแน่นอน ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องทำงานแบบมีการประสานงานกันว่าจะจัดการกันอย่างไร

ทางด้าน นายไพจิตร ชัยอาภัย ผู้ใหญ่บ้านแม่เตี๊ยะ ม.6 ต.ดอยแก้ว อ.จอมทอง เชียงใหม่ ซึ่งเป็นตัวแทนคนพื้นราบ กล่าวว่า ก่อนนั้น มองเห็นว่าป่าผืนนี้ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นทุกวัน สาเหตุมาจากมีการลักลอบเผาป่า และยังมีคนนอกพื้นที่เข้ามาลักลอบตัดไม้ จึงได้ประสานงานกับพี่น้องบนพื้นที่สูงที่อยู่อาศัยอยู่รอบๆ เพื่อร่วมกันทำพิธีบวชป่า และจัดทำแนวกันไฟขึ้น ซึ่งชาวบ้านทั้งคนพื้นราบและคนบนพื้นที่สูงได้ร่วมมือกัน เพื่อปลุกจิตสำนึกไม่ให้คนเผาป่า หรือตัดไม้ทำลายป่า และหันมาร่วมกันดูแลป่ารักษาป่าผืนนี้แทน

นอกจากนี้ นายไพจิตร ยังกล่าวอีกว่า สมควรให้มี พ.ร.บ.ป่าชุมชน เพราะที่ผ่านมา ชาวบ้านในทุกชุมชนก็ช่วยกันดูแลรักษาป่ามาโดยได้รวมกลุ่มกันเป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะ และเห็นควรให้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาดูแลร่วมกันด้วย

ในขณะที่ นายวิรัตน์ วจีสุรีย์นนท์ ผู้ใหญ่บ้านหาดส้มป่อย ม.8 ต.ดอยแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว ชาวบ้านทุกคนล้วนต้องการ พ.ร.บ.ป่าชุมชน แต่ถึงแม้ไม่มี พ.ร.บ.ป่าชุมชน ชาวบ้านก็ยังคงรักษาป่ากันอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมา ชาวบ้านมีการจัดการกันอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ไม่ว่าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าต้นน้ำ ป่าใช้สอย หรือพื้นที่ทำกิน จึงอยากจะเชิญผู้มีอำนาจเบื้องบนได้รับรู้ ลงมาดูว่าชุมชนมีการจัดการป่ากันได้อย่างไร

ทั้งนี้ ทางนายยงยุทธ ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เตรียมหารือร่วมกับองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกพระราชบัญญัติป่าชุมชน เพื่อดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ในวันที่ 12 เมษายนนี้

องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net