Skip to main content
sharethis

วันนี้นับเป็นวันที่ 3 แล้วที่ "สมัชชาคนจน" ปักหลักอยู่ใต้ร่มผ้าใบหน้ารัฐสภา….โชคดีที่ฝนตกหนักเพียงคืนแรกคืนเดียว

ข้าพเจ้าเดินลอดเชือกที่ระโยงระยางมัดผืนผ้าใบไปนั่งใกล้บรรดาป้าๆ ยายๆ ที่ร่วมชุมนุม เพื่อรอฟังการแถลงข่าวที่จะมีขึ้นในอีก 1 ชั่วโมงข้างหน้า ระหว่างนั้นตัวแทนชาวบ้านจากที่ต่างๆ ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นเวทีปราศรัยเล่าเรื่องราวความทุกข์ร้อนของตัวเองให้พวกเดียวกันฟัง

บรรยากาศหน้ารัฐสภาวันอาทิตย์สุดแสนจะเงียบเหงา มีแต่ตำรวจนอกเครื่องแบบที่นั่งคุมอยู่ห่างๆ กับรถสายตรวจที่ตระเวนผ่านมาเป็นระยะ

"ฝนตกบ้างไหมป้า" ข้าพเจ้าเริ่มต้นบทสนทนา ป้าข้างๆ หันมามอง อาจด้วยไม่คุ้นกับภาษากลาง จึงเพียงพยักหน้ารับแล้วหันกลับไป

"แล้วอยู่กันจั๊งไสล่ะป้า บ่เปียกเบิ๊ดเหรอ" ข้าพเจ้าพยายามอีกครั้งพร้อมภาษาอีสานกระท่อนกระแท่น ….. ป้ายิ้มๆ

แกบ่นให้ฟังว่า คืนแรกต้องนอนตากยุงกันตัวลาย เพราะเหนื่อยเกินไปที่จะกางมุ้ง เนื่องจากฝนตกหนัก ทุกคนเลยต้องยืนจับผืนผ้าใบเตี้ยๆ ให้ติดกันเพื่อกันน้ำฝน กระเป๋าก็เปียก พื้นก็เปียก แต่ก็ผ่านไปได้แม้จะทุลักทุเล ผิดกับวันนี้ที่อากาศร้อนอบอ้าวราวจะแกล้งให้คนเป็นบ้า
……………..

มันไม่น่าจะเป็นเรื่องสนุกนักที่คนร้อยกว่าคน จะมานอนตากยุง-น้ำค้าง-แดด-ฝน และต้องอาบน้ำกลางแจ้งจากแท็งก์น้ำบนฟุตบาท ต้องแย่งกันใช้ห้องน้ำบนรถสุขาเคลื่อนที่เพียง 1 คัน ต้องแบกข้าวเจ้า ข้าวเหนียว มาคนละครึ่งกระสอบ เครื่องเผาเตาไฟทำกินกันง่ายๆ ใต้ต้นไม้ที่ใครต่อใครเดินไปเดินมา

กระนั้นก็ตาม เมื่อมองจากที่ไกลๆ เราจะไม่ค่อยเห็นรายละเอียดใดๆ นอกจากความรกรุงรังที่น่ารำคาญหู รำคาญตา

แต่วันนี้เป็นวันอาทิตย์ ข้าพเจ้าไม่มีนัดหมายใด จึงพอมีเวลาอยู่บ้างที่จะฟังเรื่องเล่าของคนจน
………………….

เดือนพฤษภาคม เป็นช่วงเริ่มต้นฤดูทำนา ชาวบ้านที่ว่างพอที่จะมาร่วมชุมนุมส่วนใหญ่จึงล้วนเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ (ซึ่งยังดูแข็งแรง) เสียมาก ทั้งจากเขื่อนปากมูล เขื่อนสิรินธร (อุบลราชธานี) เขื่อนลำตะคอง (โคราช) เขื่อนคลองกราย (นครศรีธรรมราช) เขื่อนโป่งขุนเพชร (ชัยภูมิ) เขื่อนหัวนา เขื่อนราศีไศล (ศรีสะเกษ) โดยโครงการเหล่านี้สร้างรอยแผลให้ชาวบ้านแตกต่างกันไป

ในขณะที่แผลกำลังเน่าเฟะอยู่นี้ มันกำลังจะถูกซ้ำอีกครั้ง หากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรในวันที่ 16-17 พ.ค.นี้เห็นชอบกับแผนการจัดการน้ำแบบบูรณาการ อันจะนำมาซึ่งโครงการสร้างเขื่อนอีกจำนวนมาก รวมทั้งรื้อฟื้นโครงการเขื่อนที่ถูกระงับไปแล้วกลับมา ด้วยฐานคิดของรัฐบาลและข้าราชการที่เชื่อว่า "ทั้งภัยแล้ง ทั้งน้ำท่วม เขื่อนช่วยท่านได้"

นี่คือเหตุผลหลักที่ชาวบ้านมาชุมนุมกันที่หน้ารัฐสภาเพื่อตะโกนบอกว่า นอกจากเขื่อนจะช่วยไม่ได้จริงแล้ว ยังเป็นตัวสร้างปัญหา (ที่แก้กันไม่จบไม่สิ้น) เสียเองอีกด้วย

ส่วนเหตุที่ไม่ไปตั้งหลักชุมนุมกันที่ปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ อันเป็นที่ประชุมครม.นั้น เพราะชา วบ้านเชื่อว่าจะมีการชุมนุมของคนในพื้นที่จำนวนมากที่มีปัญหาเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ของรัฐบาล กระทั่งแฟนพันธุ์แท้อย่าง "สมัชชาคนจน" อาจจะเข้าไม่ถึง
……………………

หลังจากทนร้อน นั่งฟังปัญหาอยู่กว่าครึ่งวัน หากจะสรุปรายละเอียดให้สั้นกระชับ เหมือนบทสรุปผู้บริหารในรายงานวิจัยล่ะก็ อาจพอยกตัวอย่างให้เห็นได้ว่า

สำหรับ เขื่อนปากมูล ซึ่งชาวบ้านต่อสู้มาเกือบ 15 ปีนั้น แม้จะยอมตามการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้เปิดประตูเขื่อน 4 เดือน ปิด 8 เดือนแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหา เพราะเลยกำหนดเปิดเขื่อนเดือนพฤษภาคมมา 15 วันแล้ว ยังไม่มีทีท่าว่าจะเปิดประตูน้ำให้น้ำและปลาจากแม่น้ำโขงไหลสู่ลำน้ำมูน จนชาวบ้านที่ตั้งท่าทอดแหก็ได้แต่ตั้งท่าอยู่อย่างนั้น ทั้งที่เรื่องนี้มีมติครม.รับรองไปเมื่อ 8 มิ.ย.47 แต่ทางจังหวัดและกฟผ.อ้างเรื่องภัยแล้ง ขณะที่ชาวบ้านยืนยันว่า "โอ๊ย ฝนซิต๊กมาตั้งแต่เมษาโน่นแล่ว"

เขื่อนราศีไศล ยังมีปัญหาเรื่องการพิสูจน์สิทธิ์เพื่อจ่ายค่าชดเชยให้แก่ชาวบ้าน โดยกรมชลประทานกำหนดจะจ่ายค่าชดเชยแก่พื้นที่ที่น้ำท่วมไว้ที่ระดับหนึ่ง (119 ม.รทก.) แต่ชาวบ้านยืนยันว่า ไม่ว่าจะท่วมมากท่วมน้อย ท่วมแค่ไหนก็คือ ท่วม ควรจ่ายให้เท่าเทียม นอกจากนี้คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาแก้ไขเรื่องต่างๆ ก็ยังไม่ได้รับการต่ออายุ หลังสิ้นสุดรัฐบาล

เขื่อนหัวนา เขื่อนนี้ก็มีมติครม.รองรับเมื่อ 25 ก.ค.43 ที่เห็นชอบให้ชะลอการถมลำน้ำมูลเดิมไว้ก่อน เพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสำรวจทรัพย์สินของราษฎรที่ต้องได้รับการชดเชย แต่แล้วก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ ค่าชดเชยที่ว่าจะได้จึงยังไม่ถึงมือผู้ได้รับผลกระทบจนบัดนี้

เขื่อนสิรินธร มีปัญหาการจ่ายค่าชดเชยไม่ทั่วถึง โดยจ่ายให้เฉพาะที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ ทำให้ชาว บ้านส่วนใหญ่ไม่ได้ค่าชดเชย ขณะที่การจัดที่ดินรองรับการอพยพของชาวบ้าน ก็เป็นพื้นที่ทุรกันดารไม่สามารถทำการเกษตรได้ ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกว่า 40% ไม่ยอมย้ายเข้าไปอยู่ อย่างไรก็ตาม มีมติครม.ที่เห็นชอบให้จัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านใหม่ครอบครัวละ 15 ไร่ออกมาถึง 3 ครั้ง แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ

ส่วนเขื่อนลำตะคองนั้น ชาวบ้านมีปัญหากับ โรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าใต้ดินขนาดมหึมา 1,000 เมกกะวัตต์ และมีการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่บนภูเขา โดยการระเบิดหินทำอ่างเก็บน้ำวันละ 2 ครั้งตลอดระยะเวลา 2 ปี 7 เดือนนี้เอง ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เจ็บป่วยจากโรคปอดเรื้อรังจำนวนมาก และมีบางส่วนที่เสียชีวิต จึงมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องค่าชดเชยจาก กฟผ. โดยมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้ามาร่วมแก้ปัญหา แต่เรื่องก็ยังไม่คืบหน้ามากนัก

ขณะที่ เขื่อนโป่งขุนเพชร ซึ่งเป็นเพียง "ว่าที่เขื่อน" เพราะมีปัญหาการไม่ยอมรับในพื้นที่และครม.สั่งให้ระงับการก่อสร้างไปเมื่อ 29 เม.ย.40 มาวันนี้ชาวบ้านเดือดเนื้อร้อนใจ เพราะกำลังจะมีการนำกลับเข้ามาพิจารณาเดินหน้าต่อกันอีกครั้ง ทั้งที่ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องการมีส่วนร่วม และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามแนวทางที่นักวิชาการเสนอทางออกไว้แล้วแต่อย่างใด
………………………

ท่ามกลางบรรยากาศเงียบสงัด และสายตาที่ยากจะคาดเดาของผู้คนที่ขับรถผ่านไปมา ชาวบ้านบางคนแซวกันเองในวงว่า เมื่อวานเดินไปยื่นหนังสือถึงบ้านนายกฯ เดินไกลมาก ไปถึงยังไม่ให้กินน้ำซักแก้ว ทีตอนมากินข้าวกับม็อบตอนเป็นนายกฯ ใหม่ๆ ชาวบ้านยังเลี้ยงดูอย่างดี

ข้าพเจ้าจึงถามต่อว่า อยู่มา 3 วันมีส.ส. ส.ว.คนไหนออกมาถามบ้างหรือเปล่า "ไม่มี ไม่มีหรอก แต่เดี๋ยวว่าวันจันทร์จะไปยื่นหนังสือกับวุฒิฯ " ใครบางคนตอบด้วยน้ำเสียงกระตือรือร้นไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

อาจเพราะวันนี้ก็เป็นอีกวันที่ต้องลุกขึ้นป่าวร้องถึงความเดือดร้อน หลังจากทำเช่นนั้นกันมานับ 10 ปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net