Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 19 พ.ค.48 ท่ามกลางสัปดาห์แห่งการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก เครือข่ายพุทธิกา (B-Net) จัดเสวนาประจำปี 2548 เรื่อง "แก้เงื่อน ถอดปม ความรุนแรงในสังคมไทย" โดยเชิญฆราวาสมาเป็นวิทยากร และมีพระไพศาล วิสาโล เป็นผู้ดำเนินรายการ

น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสกล่าวถึงความรุนแรงเงียบ หรือความอยุติธรรมในสังคม อันก่อให้เกิดปัญหาความยากจน ซึ่งทำให้ผู้คนล้มตายทั่วโลกมากกว่าการเกิดสงครามทุกชนิด โดยสาเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาความรุนแรงเงียบนี้คือ วัฒนธรรมและโครงสร้างอำนาจแนวดิ่งในสังคมไทย ซึ่งมีลักษณะการรวมศูนย์อำนาจ ทำให้เกิดการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเคารพความหลากหลายน้อย และง่ายที่จะนำไปสู่ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ อีกทั้งแนวคิดเชื้อชาตินิยมก็เป็นจุดอ่อนสำคัญที่อาจเกิดการปลุกระดมและนำไปสู่ความรุนแรงได้

นอกจากนี้ทิศทางการพัฒนาแบบทุนนิยม ก็ทำให้ผู้คนในสังคมขาดมิติทางจิตวิญญาณ ขาดความเต็มอิ่มในตนเอง นำไปสู่ปัญหาที่เห็นได้ชัด 3 ประการ ได้แก่ ปัญหายาเสพติด ปัญหาความฟุ่ม เฟือย และปัญหาความรุนแรง

"โดยเฉพาะระบบการศึกษา ไม่เคยมีเลยที่การศึกษาไทยจะทำให้เยาวชนจะเข้าใจตนเอง เข้าใจเพื่อนมนุษย์ ดังนั้นมันจึงหนีการนองเลือดไม่พ้น" น.พ.ประเวศกล่าว

ส่วนศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า ตนขอฟันธงว่า ความรุนแรงที่ได้ขยายตัวทั่วโลกในขณะนี้ เพราะมีการขยายตัวของทุนนิยมไปทั่วโลก เนื่องจากระบบทุนนิยมตั้งอยู่บนความรุนแรงตั้งแต่ต้นในหลักการของการสะสมทุน ซึ่งต้องแย่งชิงทรัพยากรของคนอื่น โดยระบบทุนนิยมเป็นการผลักคนอื่นไม่ให้เข้ามาใช้ร่วม เน้นการแข่งขันเพื่อเข้าถึงตลาด ทั้งหมดนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำอย่างมโหฬารอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

"การเหลื่อมล้ำนี้ไม่ใช่เรื่องความยากจน แต่หมายถึงว่าคุณไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นในการดำรงชีวิตได้" ศ.ดร.นิธิกล่าว

ศ.ดร.นิธิกล่าวว่า นอกจากนี้ระบบทุนนิยมยังครอบงำระบบสื่อสารมวลชน และระบบการศึกษาซึ่งสร้างมาตรฐานความถูกผิดที่คับแคบ และส่งเสริมอำนาจนิยม โดยทำให้คนเชื่อว่าอำนาจสามารถแก้ปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม คงเป็นการยากที่จะต่อต้านทุนนิยม แต่การบรรเทาความรุนแรงนั้น ต้องทำโดยการผลักดันประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้หมายความเฉพาะการเลือกตั้ง แต่คือการให้โอกาสกับความแตกต่างหลากหลาย และไม่ถูกครอบงำจากรัฐส่วนกลาง

ขณะที่นางรสนา โตสิตระกูล จากมูลนิธิสุขภาพไทย มองว่า ความรุนแรงพัฒนาได้ง่ายเพราะเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ จนกลายเป็นสภาพที่แพร่หลายในสังคมโลก และได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นสถาบัน มีอาวุธยุทโธปกรณ์มากมาย ขณะที่ผู้คนคิดว่าสันติวิธีนั้นเกิดยาก

"ที่บอกว่าสันติวิธีเกิดยากก็เพราะเราไม่เคยทดลองสันติวิธีอย่างจริงจัง ไม่เคยพัฒนาองค์ความรู้เรื่องนี้ และสำหรับชาวพุทธก็ไม่เคยนำหลักเมตตาธรรมมาทดลองให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ" นางรสนากล่าว

นางรสนายกตัวอย่างถึงสันติวิธีของมหาตมะคานธี ซึ่งนอกเหนือจากการต่อสู้เพื่อให้อินเดียได้เอกราชจากอังกฤษแล้ว ยังมีหลักสำคัญในการพัฒนาให้ประชาชนพึ่งตนเองได้เป็นสำคัญ เพราะเรื่องทางเศรษฐกิจเป็นปมเงื่อนสำคัญของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง หากประชาชนยังพึ่งตนเองไม่ได้ ก็คงแก้ปัญหาได้ยาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net