Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ - 26 พ.ค. 48 วันนี้เวลาประมาณ 14.00 น. ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะผู้พิพากษา 9 คน อ่านคำตัดสินคดีป.ป.ช.ทั้งคณะรวม 9 คน ว่ามีมูลความผิดจริง ฐานกระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีขึ้นค่าตอบแทนให้ตนเอง และศาลพิพากษาสั่งให้จำคุกจำเลยคนละ 2 ปี แต่ให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี

สืบเนื่องจากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะเป็นองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 301 ต้องกลายมาเป็นองค์กรที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา กรณีออกระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่รายเดือน ซึ่งมีความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยเจตนาเพื่อแสวงหา หรือเพื่อให้ได้รับประโยชน์ที่มิควรได้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คดีดังกล่าวมีนายคัมภีร์ แก้วเจริญ อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ป.ป.ช. ทั้งคณะรวม 9 คนคือ พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ ประธาน ป.ป.ช. นายชิดชัย พานิชพัฒน์ พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ นายวิเชียร วิริยะประสิทธิ์ นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น นายยงยุทธ กปิลกาญจน์ นายประดิษฐ์ ทรงฤกษ์ นายเชาว์ อรรถมานะ และนายพินิต อารยะศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เรียงลำดับเป็นจำเลยที่ 1-9 ในข้อหาร่วมกันออกระเบียบค่าตอบแทนพิเศษให้แก่ประธาน และกรรมการ

ผลการพิพากษาหลังจากที่ศาลทำการพิเคราะห์จากพยานและหลักฐานของทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยแล้ว เห็นว่า จำเลยทั้ง 9 คน ได้กระทำความผิดตามฟ้องและแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองโดยอำเภอใจจริง แม้ภายหลังจำเลยจะนำเงินที่ได้มาส่งกลับคืน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความผิดที่สำเร็จแล้วสูญหายไป ดังนั้นศาลจึงมีมติ 6 ต่อ 3 พิพากษาให้จำคุกจำเลยคนละ 2 ปี แต่เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยทั้ง 9 แล้ว โทษจำคุกศาลให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี

อย่างไรก็ตาม ศาลทำการพิจารณาคดีความจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ประกอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ , กฎหมายป.ป.ช. และ พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และผลประโยชน์ตอบแทนอื่นให้กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2541 แล้ว เห็นว่า ป.ป.ช.ทั้ง 9 ไม่มีอำนาจในการออกระเบียบ ซึ่งที่ ป.ป.ช.อ้างอาศัยอำนาจมาตรา 5 และ 107 ของ กฎหมายป.ป.ช.
ซึ่งศาลเห็นว่า มาตราดังกล่าว เป็นการกำหนดอำนาจให้ออกระเบียบ เพื่อบริหารสำนักงานบุคลากรและงบประมาณ ไม่ใช่อำนาจเพื่อการออกระเบียบจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช.ดังกล่าว เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายป.ป.ช.นั้น มีพ.ร.บ.เงินเดือนฯ ได้กำหนดอัตราไว้ให้ชัดเจนอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีข้อเท็จจริงที่อธิบายถึงการพิจารณากลั่นกรองเพื่อออกร่างระเบียบของป.ป.ช.ทั้ง 9 คนได้ว่า เป็นผู้เริ่มต้นและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 คณะ เพื่อศึกษาข้อกฎหมายและรายละเอียดเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น ซึ่งในชั้นพิจารณา 2 อนุกรรมการ ได้มีการบันทึกข้อสังเกตไว้แล้วว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจออกระเบียบ ดังนั้น จึงสามารถเชื่อได้ว่า ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน รู้ล่วงหน้าตั้งแต่แรกแล้วว่าไม่มีอำนาจ แต่ยังร่วมประชุมกันเพื่อลงนามออกระเบียบในวันที่ 29 ก.ค.2547 โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีคนใดคัดค้าน จึงเห็นว่าป.ป.ช.ทั้ง 9 มีความผิดจริงตามฟ้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net