Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คณะทำงานคัดค้านโรงไฟฟ้าแก่งคอย

เรา......คณะทำงานคัดค้านโรงไฟฟ้าแก่งคอย พบเฮียซือ หรือ "คุณพิชัย โชควนิชวัฒนา" ประธานเกษตรกรสวนส้มภาคกลาง 5 จังหวัด และประธานชมรมสวนส้มรังสิต ราวบ่าย 4 โมง ของวันที่ 19 พฤษภาคม 2548 โดยนัดหมายล่วงหน้าเพียง 1 ชั่วโมง เพื่อรับรู้บทเรียนที่แลกด้วยสวนส้มสามแสนไร่และความล้มละลายของเกษตรกร 5 จังหวัด

จากแก่งคอย-วังน้อย เป็นระยะทางราว 50 ก.ม. เราเลี้ยวเข้าโรงไฟฟ้าวังน้อย หยุดถ่ายวีดีโอและรูปที่หน้าโรงไฟฟ้าที่ตกแต่งด้วยต้นไม้ เป็นระเบียบเรียบร้อย สลับกับป้าย ISO ที่ปิดไว้หน้าโรงงานเป็นระยะ ๆ เหนือปล่องสูงของโรงงานมีควันสีขาวก้อนใหญ่ ลอยอ้อยอิ่ง ในขณะที่แหงนมองขึ้นอีกนิด จะเห็น หมอกควันสีเทาดำประจาน "โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด" ปกคลุมอยู่ทั่วอาณาบริเวณ "ฉลาก" ISO หน้าโรงงานจึงกลายเป็นป้ายโฆษณาชวนเชื่อขนาดใหญ่ของสินค้าพลังงานขึ้นมาทันใด

เราพบ "นักสู้เพื่อชาวสวนส้ม" ที่บ้านสวนซึ่งห่างจากโรงไฟฟ้าวังน้อยไม่น่าเกิน 5 ก.ก. คุณพิชัย โชควนิชวัฒนา ในฐานะคู่กรณีของ โรงไฟฟ้าวังน้อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ กฟผ. เล่าว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้เดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าในปี 2541 หลังจากนั้น 2 ปี สวนส้มที่อยู่รอบ ๆ โรงไฟฟ้าพบปัญหาที่ไม่อาจแก้ไขได้ และนำไปสู่การรวมตัวกันของเกษตกรสวนส้มเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในปี 2544 เนื่องจากมลพิษของโรงไฟฟ้าทำให้สวนส้มนับแสนไร่ต้องเสียหาย

กำเนิด "นักสู้เพื่อชาวสวนส้ม"

พิชัย โชควนิชวัฒนา เล่าว่า เขาและเกษตรกรร่วมชะตากรรมเริ่มร้องเรียนกับรัฐบาลชวน หลีกภัย เมื่อ 25 มิถุนายน 2543 สมัยนั้น นายอนุรักษ์ จุรีมาศ เป็นรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ 8 เมษายน 2544 สมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรฯ เข้าร้องเรียนกับชูชีพ หาญสวัสดิ์ 20 เมษายน 2544 เกษตรกรราว 8 พันคน รวมตัวกันที่วัดจุฬา ฯ นักวิชาการ และ รัฐมนตรีช่วยฯ ลงพื้นที่ มีการพูดคุยว่าจะช่วยเหลือชาวสวนส้มอย่างเร่งด่วน กลุ่มชุมนุมก็สลายตัว รัฐมนตรีประพัฒน์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาส้ม หลังจากนั้นก็ไม่มีความคืบหน้า จึงร้องเรียนมายังนายกรัฐมนตรี

นับตั้งแต่ร้องเรียน แล้ว เกษตรกรสวนส้ม 5 จังหวัด ก็ร้องเรียนต่อรัฐมนตรีอีกหลายคน

"ผมขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลผ่านมา 14 รัฐมนตรีแล้ว"

รัฐมนตรีเท่าที่จำชื่อได้ มีตั้งแต่ รองนายกฯ สุวิทย์ คุณกิตติ, รองนายกฯ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ, ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์, ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, อนุรักษ์ จุรีมาศ, เนวิน ชิดชอบ, วราเทพ รัตนากร, นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช ฯลฯ จนล่าสุด สมศักดิ์ เทพสุทิน ไม่รวมถึง มนูญกฤต รูปขจร ประธานรัฐสภา ตลอดจนประธานคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมในสมัยนั้น

" แต่ไม่มีรัฐมนตรีคนไหนที่จะช่วยเหลือเราได้เพียงแต่ว่าโกหกเราเรื่อย ๆ เราก่อม็อบ ก็เอาคนมาสลายม็อบ เราก่อม็อบเมื่อวันที่ในวันที่ 8 ตุลา 44 ก็ถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองตี อย่างในภาพถ่ายหนังสือพิมพ์ จับแกนนำไป 25 คน เข้าห้องขัง นี่คือภาพเหตุการณ์ที่ถูกตำรวจย่ำยี ม็อบไปที่หน้าทำเนียบ"

" คือไม่รู้จะไปที่ไหนแล้ว เพราะทุกคนหรือหลายคนสิ้นเนื้อประดาตัว เราไม่อยากไปตีกับเจ้าหน้าที่หรอก แต่ไม่มีทางไปแล้ว ร้องไปหลายหน่วยงานแล้ว แต่ช่วยไม่ได้ จึงได้ก่อม็อบไปที่หน้าทำเนียบขอร้องนายกฯช่วย แต่กลับกลายว่า เขาเอาตำรวจมาตี ตีล้อมกรอบมาถึงก็จับแกนนำไป บางคนถูกตีหัวแตก โดยเย็บไปหลายเข็ม"

พิชัย โชว์ แฟ้มรูปที่ตัดเก็บจากหนังสือพิมพ์ เพื่อยืนยันความโหดร้าย ป่าเถื่อนของตำรวจไทย นักทฤษฎีรัฐศาสตร์รุ่นใหม่ฟันธงว่า "การใช้ความรุนแรงของรัฐเข้าจัดการกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ (กรณีคัดค้านโรงไฟฟ้าวังน้อยของชาวสวนส้ม) ในประเทศประชาธิปไตยอาจถือได้ว่าเป็นดรรชนีวัดความไร้น้ำยาของการเมืองแบบเก่า ซึ่งไม่สามารถให้คำตอบกับปัญหาและความขัดแย้งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ทำได้เพียงรับใช้ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง"

นพ.พรหมมินทร์ เสิศสุริย์เดช แห่งกระทรวงพลังงาน เป็นรัฐมนตรีคนสุดท้ายที่เข้ามารับผิดชอบ 26 สิงหาคม 2546 วาระ การช่วยเหลือเกษตรกรสวนส้มเข้าสู่การประชุมพิจารณาของ ครม. "รัฐมนตรีก็อภิปรายเรื่องของเราตกไป ปัดความรับผิดชอบการช่วยเหลือเรื่องผลกระทบทั้งปวง ผมได้มีการก่อม็อบอีกครั้งหนึ่ง และส่งเรื่องร้องเรียนศาลปกครอง ปลายเดือนหน้า คณะทนายความจะลงมาแถลงความคืบหน้าเรื่องการช่วยเหลือ"

การที่รัฐมนตรี "คนเดือนตุลา" อภิปรายเช่นนั้นน่าจะเป็นการตอกย้ำความจริงที่ว่า โฉมหน้ารัฐบาลชุดนี้เป็นเพียง "การเปลี่ยนมือของอำนาจจากการกดขี่ของคนกลุ่มหนึ่ง ไปสู่การใช้อำนาจกดขี่ปราบปรามประชาชนของคนอีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้น" ในความหมายของนักรัฐศาสตร์ที่สนใจการเมืองภาคประชาชนว่าไว้ ภาษาในวรรณกรรมเรื่องสั้นตามท่วงทำนองของนักเขียนเดือนตุลาอาจสรุปได้ว่า เป็นเพียงการ "การเปลี่ยนเหลือบฝูงใหม่"

เราพลิกสำนวนศาลปกครองที่หนาราว 200-300 แผ่น อย่างคร่าว ๆ จึงได้รู้ว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีกำลังการผลิต 1200 เมกกะวัตต์ ไม่ใช่ 600 เมกกะวัตต์อย่างที่เราเข้าใจ ที่หน้าสำนวนศาลปกครองปึกใหญ่มีชื่อ จำเลย 4 คน ดังนี้
1.นายกรัฐมนตรี
2.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.
3.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร
4.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทุกวันนี้ความหวังอยู่ที่ศาลปกครอง ที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนที่เดือดร้อนจากการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของหน่วยงานรัฐ

ปิดฉากชีวิตชาวสวน

"ในอดีตที่ทำสวนส้มมา 20 ปี เราไม่เคยพบปัญหาเกี่ยวกับโรคที่เราแก้ไขไม่ได้ แต่โรคตัวนี้แก้ไขไม่ได้ เราจึงทำการสำรวจวิเคราะห์ ไม่เคยมีโรคที่เราแก้ไขไม่ได้ เราจึงหาวิธีการเข้าไปแกะสลากยาของโรงไฟฟ้า และนำมาวิเคราะห์กับเอกสารของสารเคมี เราจึงรู้ว่าสารเคมีที่โรงไฟฟ้าจำเป็นต้องใช้มีกี่ชนิด และมีอะไรบ้างที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม"

พิชัย เล่าต่อว่า ปี 2543 ส้มของเขาร่วง ขณะที่ยังเก็บขายไม่ได้ หลาย ๆ สวนก็เป็นอย่างเดียวกัน สวนส้มร่วงที่พื้นเต็มไปหมด ชนิดที่เหยียบแทบไม่ติดพื้น ก่อนมีโรงไฟฟ้า เกษตรกรปลูกส้ม 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ค่อยมีพืชอย่างอื่น โรงไฟฟ้าเดินเครื่องปี 2541 หลังจากเดินเครื่องก็มีปัญหา ในปี 2544 ส้มร่วงหนาตา ในปี 2545 ไม่มีส้มจะร่วงแล้ว ก่อนหน้ามีโรงไฟฟ้าสวนส้มสมบูรณ์มาก แต่หลังจากนั้นไม่มีผลผลิต

"เมื่อก่อนโรคที่เกิดจากสวนส้มเราแก้ไขได้ เดี๋ยวนี้แก้ไขไม่ได้ ต่อให้ปรมาจารย์ก็แก้ไขไม่ได้ สารพัดโรคที่เขาอ้างมา นักวิชาการมีเป็นพัน ๆ คน เขาวิเคราะห์มา 4-5 ปีแล้วทำไมหาแนวทางแก้ไขไม่ได้ ถามว่ามีนักวิชาการคนไหนแก้ไขได้ ไม่มี เพราะฉะนั้นเราจึงมุ่งประเด็นว่าเกิดจากโรงไฟฟ้าอย่างแน่นอน เพราะเมื่อโรงไฟฟ้ายังไม่เปิดเดินเครื่องเราไม่เคยเจอผลกระทบตรงนี้ ตั้งแต่โรงไฟฟ้าเปิดเดินเครื่องเป็นทางการ เราก็ประสบปัญหาโรคส้มตรงนี้ และหาทางแก้ไขไม่ได้ เราจึงมั่นใจว่าเกิดจากโรงไฟฟ้าอย่างแน่นอน"

เมื่อคณะทำงานถามว่า ทำไมเชื่อมั่นว่าโรงไฟฟ้าเป็นสาเหตุที่ทำให้ส้มร่วง เขาตอบอย่างมั่นใจว่าด้วยแบบฉบับของนักวิชาการชาวบ้านที่เรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติว่า เป็นเพราะ
1.โรงไฟฟ้าจะมีระบบสั่นสะเทือนของแม่เหล็กที่จะทำงานอยู่ 24 ชั่วโมง ต้นไม้ที่อยู่ในรัศมีโรงงานจะเจอระบบสั่นสะเทือนของแม่เหล็กทำงานอยู่ตลอดเวลาระบบรากจะไม่เดิน

2.สายไฟแรงสูงของโรงไฟฟ้าที่จะผ่านไปในพื้นที่การเกษตร พืชผลที่อยู่ใต้กระแสไฟตรงนี้จะไม่เจริญเติบโต ถ้าใต้สายไฟมีต้นส้ม ลูกส้มจะเล็กกว่าบริเวณอื่น ยอดและใบจะเล็กไม่โต

ความเสียหายไม่เพียงแต่เกิดกับเจ้าของสวนส้มที่พอจะมีอำนาจการต่อรองเท่านั้น หากแต่เกิดกับเจ้าของที่ดินที่มีแนวท่อก๊าซและสายไฟพาดผ่าน ซึ่งคนเหล่านี้ไม่มีเงื่อนไขในการรวมตัวกัน ราคาค่าชดเชยที่ดิน กฟผ. จึงเป็นผู้กำหนดแต่เพียงผู้เดียว ในขณะที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างที่ควรจะเป็น

ขณะนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด ไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนึ่งไปได้รับผลกระทบซ้ำรอบสอง บางคนอยู่ที่หนองเสือก็ได้รับผลกระทบแทบจะหมดตัว ก็กู้หนี้ยืมสินไปปลูกที่ลพบุรี ปรากฏว่าเจอซ้ำสองอีก หนีเสือปะจระเข้ บางส่วนย้ายไปกำแพงเพชร หรือไปไกลกว่ากำแพงยังพออยู่ได้ แต่ก็มีปัญหาเรื่องน้ำในฤดูแล้ง เมื่อถามว่าเขามีโครงการจะย้ายเหมือนคนอื่นไหม เขาตอบว่า

"เราไม่มีกำลังจะย้ายไปไหน ไม่ใช่ว่าอยากอยู่ เรียกว่าทนอยู่"

คำยืนยันผู้ร่วมชะตากรรม

เราพบผู้ร่วมชะตากรรมผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยนามของ "พิชัย โชควนิชวัฒนา" ที่เดินทางมาเยี่ยมจากลพบุรี เขาเล่าว่า วิศวกรในโรงไฟฟ้ามาซื้อส้มไปกิน แล้วบอกว่า "อย่าบอกว่าผมบอก ผมกินเงินเดือนเขา" เขาย้อนคำของวิศวกรโรงไฟฟ้าวังน้อย "ต้นไม้เล็ก ๆ จะไปก่อน ต่อไปมะพร้าวลูกจะเล็กลง พนักงานไฟฟ้าพูดมาอย่างนั้น ได้ข่าวว่าทดลองปลูกส้มไว้ 4 ไร่ ตอนนี้ได้ข่าวว่าก็ไม่ได้ผล ขนาดทำมุ้งครอบไว้อย่างดี ไว้ต่อต้านกับพวกเรา พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาอยู่ในโรงไฟฟ้าเขาทำได้ ต้นเฟื่องฟ้าที่ปลูกก็คุยว่าไม่เห็นเป็นอะไร จริง พอต้นโทรมปุ๊บก็เอามาเปลี่ยน ประมูลดูแลต้นไม้ปีนึงเป็นล้าน มองดูแล้วลำบาก รัฐบาลชุดนี้ไม่ยอมรับ"

เขามีบ้านอยู่ตรงกันข้ามโรงไฟฟ้า เยื้องวัดลำพญา "วันดีคืนดีตอนกลางคืนปล่อยควันดำปื๊ดเลย คล้าย ๆ ปิดไว้ก่อน อากาศครึ้ม ๆ ผสมโรงปล่อยเต็มที่เลย ผมอยู่กับสวนส้มมา เกิดที่บางมด ทำสวนส้มบางมดมา ทำไม่ยากเหมือนตอนนี้นะเอาไม้ไช ๆ ดิน เอาส้มลงก็ได้แล้ว ตอนนี้ประคบประหงม ทำอย่างดี คลุกปุ๋ย ย้ายมาอยู่นี่ 20 กว่าปี ….ที่ราชบุรีพวกสวนองุ่นก็เริ่มบ่น มะพร้าวน้ำหอมก็เริ่มมีอาการแล้ว และไม่ติดลูกด้วย.... คนที่ปลูกส้มเช้งก็เริ่มเดือดร้อน" เขาหมายถึงญาติที่ราชบุรี ที่พบกันเมื่องานบวช ซึ่งที่ราชบุรีเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซอีกโรงหนึ่งที่ย้ายไปจากบ้านกรูด/ประจวบฯ ขณะที่โรงที่บ่อนอกย้ายมาที่แก่งคอย สระบุรี

สารเคมี : สาเหตุของภูมิคุ้มกันส้มบกพร่อง

พิชัยเล่าว่า พลังงานที่โรงงานไฟฟ้าใช้ ร้ายแรงตามลำดับคือ
1.ลิกไนต์ 2.น้ำมันดีเซล 3.ก๊าช 4.พลังแกลบ

เขาเชื่อว่า จริง ๆ แล้วเชื้อเพลิงพวกนี้ผลกระทบน้อยกว่าสารเคมีที่ใช้อยู่ ก๊าซธรรมชาติจะมีสารอยู่ตัวหนึ่งที่ไม่สามารถจะแยกออกมาหมดได้ เหลือ 0.03 ส่วนใน 1 ล้านส่วน แต่เมื่อเกิดเผาไหม้แล้วจะเกิดก๊าซพิษต่อ ก๊าซพิษจะลอยไปสะสมอยู่ในอากาศ ก้อนเมฆ กระแสลมลมพัดไปตรงไหนก็มีผลถึงตรงนั้น เวลาฝนตกลงมาหรือน้ำค้างแรง ๆ ก็จะสลายตัวรวมกับน้ำฝนและกลายเป็นฝนกรด แต่ยังไม่ร้ายแรงเท่ากับสารเคมีที่โรงไฟฟ้าใช้ ซึ่งคนทั่วไปไม่ได้คิด คงมุ่งไปที่เชื้อเพลิงอย่างเดียว

"ในช่วงที่เราต่อต้านกันอยู่ก็มีกรมควบคุมมลพิษมาวิเคราะห์ เมื่อเข้าที่ประชุม ก็บอกว่าตรงนี้โรงไฟฟ้าไม่มีผลกระทบ ผมก็ท้าว่าคุณกล้าไหม ในช่วงที่โรงไฟฟ้าปล่อยควันดำ คุณมาเลย เอาสื่อมวลชนมาเป็นสักขีพยาน เราจะขึ้นไปบนปล่อง ไปเอาควันพิษมาวิเคราะห์ คุณกล้าไหม ไม่กล้า นักวิชาการทั้งที่ทำเนียบและกระทรวงเกษตร ผมขอท้า โกหกเรา เราไม่มีความรู้หรอก แต่เขาวิเคราะห์แล้วไม่ตรงประเด็น ไม่ตรงความจริง" ปัญหาคือนักวิชาการเลือกที่จะรับใช้ใคร เลือกที่จะแสดงจริยธรรมทางวิชาการของตัวเองอย่างไร นักวิชาการอย่างแพทย์หญิง อรพรรณ กรณี ยืนยันว่าชาวแม่เมาะเจ็บป่วยเพราะเกิดจากฝุ่นควันเหมืองถ่านหินแม่เมาะ เป็นตัวอย่างของนักวิชาการ "นอกคอก" ก็ถูก "จัดการ" ตามระเบียบ

ในการผลิตกระแสไฟฟ้ามีสารเคมีหลายชนิด เท่าที่พิชัยศึกษา ค้นคว้ามีดังนี้

สารเคมีตัวที่ 1 : ใช้บำบัดน้ำให้บริสุทธิ์ /สารเคมีตัวที่ 2 : ใช้ฆ่าเชื้อจึงจะนำน้ำไปใช้ได้/สารเคมีตัวที่ 3 : กำมะถัน ใช้ล้างท่อน้ำ /สารเคมีตัวที่ 4 : ใส่ลงไปในหม้อเพื่อควบคุมความเย็นของน้ำ ซึ่งขาดตัวนี้ไม่ได้ เกิดร้อนจัดหม้อระเบิด /สารเคมีตัวที่ 5 : ใส่ลงไปในหม้อน้ำเพื่อควบคุมความร้อนให้อยู่ในอุณหภูมิที่กำหนดเอาไว้ ไม่ให้ร้อนจัด เพราะจะระเบิด /สารเคมีตัวที่ 6 : เรซิน พิชัยเปรียบเทียบว่าเหมือนแบตเตอรี่ที่ยังไม่ได้เติมน้ำกรด ไม่มีปฏิกิริยาอะไร แต่ถ้าไปผสมกับสารเคมีอีกตัวหนึ่ง จะมีปฏิกิริยาเกิดขึ้นทันที /สารเคมีตัวที่ 7 : สารบางชนิด ในบางประเทศห้ามใช้ ถ้าใช้ไปแล้วจะเป็นสารโซดาไฟ ร้ายแรงมากเลย

สารเคมีต่าง ๆ ที่ใช้ จะระเหยตัวไปที่ปล่องไอน้ำ สารเคมีเหล่านี้เมื่อถูกใช้ไปแล้วจะกลายเป็นสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สารส้ม โซดาไฟ สารทั้ง 3 ตัวนี้จะลอยไปสะสมกับก้อนเมฆ อากาศ กระแสลม เมื่อฝนตกลงจะสลายตัวลงกับน้ำฝน สะสมในแหล่งน้ำที่ดิน

ความรู้เหล่านี้ไม่ได้ได้มาจากการทดลองในห้องแล็บสี่เหลี่ยมแคบ ๆ แต่ได้จากห้องทดลองจริง ๆ ในพื้นที่ไม่น้อยกว่าสามแสนไร่

"เมื่อต้นส้มสะสมสารเหล่านี้ไว้ในปริมาณมาก ต้นส้มจะอ่อนแอ สารพัดโรคจะเข้ามาถึง นักวิชาการไม่สามารถวิเคราะห์โรคส้มได้ วิเคราะห์ไม่ตรงประเด็นกับความเป็นจริง"

ขณะที่ต่อต้านในปี 2544 เขาเล่าว่า มีเกษตรกรบางคนไปทำสวนที่ลพบุรี บอกว่าลพบุรียังไม่มีผลกระทบ แต่ในขณะนั้นพิชัยเชื่อมั่นว่าลพบุรีหนีไม่พ้นภาวะวิกฤติ เพราะมลภาวะอากาศไปถึง อากาศพัดไปถึง ขณะที่ประเสริฐ ผู้ร่วมชะตากรรมอีกคนหนึ่งที่เดินทางมาจากลพบุรี ยืนยันว่า

"ที่ลพบุรีอาการเดียวกับรังสิต ไปดูได้เลย ส้มประมาณ 3 ปีเหลือแต่ซาก….ก่อนที่โรงไฟฟ้าจะสร้าง ส้มบ้านหมี่เขาดัง.....ผลกระทบช้ากว่าหนองเสือ 2 ปี ตอนนี้ผลกระทบไปไกลกว่า 180 กิโลเมตร ที่บ้านหมี่เริ่มเป็นปีที่แล้ว ส้มปีที่ 3 พอจะเก็บได้บ้าง ปีที่ 4 เริ่มกระทบ ผลดก แต่เริ่มเล็กลง ๆ"

พิชัยยืนยันว่า "โรคนี้เข้ามาเหมือนกันหมด เป็นพร้อมกันหมด นักวิชาการตอบผมได้ไหม ไม่ใช่ผมอวดเก่ง เราไม่มีความรู้เรื่องสารเคมี ไม่มีความรู้เรื่องโรค แต่เมื่อเกิดความเสียหายแล้วเราจำเป็นต้องมีการค้นคว้า เราใช้ความพยายาม ผลเสียหายในอนาคตบอกได้เลยว่าผลไม้ยืนต้นอยู่ไม่ได้ โรงไฟฟ้าเดินเครื่องปีแรกยังไม่มีผลกระทบ เข้าใจว่ามันเกิดจากการสะสม ....…เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ยอดเริ่มหงิก ใบเล็ก เหลือง ลูกเริ่มหล่น เวลาฝนตก อาการเหล่านี้เกิดจากอะไร จะเป็นมากกว่าปกติ ...เริ่มต้นก็งามดี พอจะเก็บก็ยังไม่ทันได้เก็บ ล่วงหมด นักวิชาการตอบได้ไหมว่าเกิดจากอะไร"

เขาฝากคำถามมายังนักวิชาการด้านการเกษตร พิชัยไม่รู้หรอกว่า "ความรู้" ที่ได้จากการสังเกตของเขา ไม่ผ่าน "พิธีกรรม" ของการสร้างความรู้ นั่นคือ ไม่มีเชิงอรรถ บรรณานุกรม ระเบียบวิธีวิจัย อย่างที่ "นักวิชาการ" ทำ ความรู้ของนักวิชาการจึงรับใช้เพียงอำนาจรัฐ รับใช้การพัฒนาที่ไม่สนใจคนจน ไม่เคยรับใช้ประชาชน !!!!!!

สิ่งที่ยืนยันถึงที่มาของความรู้ ความพยายามเข้าใจเรื่องสารเคมี ของพิชัย คือ การที่เข้าไปเอาฉลากสารเคมีที่ถัง 200 ลิตร ในโรงงานไฟฟ้า "กว่าเราจะไปเอาฉลากยาจากโรงไฟฟ้าไม่ใช้เรื่องง่าย" เขาบอกเล่าถึงความพยายาม

จากวังน้อยถึงแก่งคอย : ย้อนรอยเหยื่อโรงไฟฟ้าก๊าซฯ

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านรู้หรือไม่ว่าจะมีโรงไฟฟ้า เขาตอบว่า

"สำหรับที่นี่เราไม่มีความรู้ พอเขามาก่อสร้างโรงไฟฟ้าเราก็ดีใจ พวกเราจะได้มีไฟใช้ พวกเราจะได้มีงานทำ ไม่ต้องไปทำงานไกลๆ โรงไฟฟ้าที่นี่มีการจ้างงานบางส่วน เป็นงานย่อย ๆ ไม่ใช่แบบที่ไปคุมเครื่อง"

"ที่ไหนจะมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้น ผมก็พยายามที่จะคุยให้แกนนำแต่ละท้องที่ฟังว่า ถ้าเราสามารถที่จะต่อต้านได้ว่าไม่ให้เกิดโรงไฟฟ้า ไม่ให้เขาก่อสร้างได้ ต้องพยายาม ถ้าเขาก่อสร้างกันเสร็จแล้ว เราก็ไม่มีโอกาสคัดค้านได้ เช่นที่โรงไฟฟ้าวังน้อย เขาก่อสร้างไปแล้วเราไปคัดค้านก็ไม่ได้ เขาไม่เห็นด้วยกับตรงนี้ ทั้งรัฐบาลและนักวิชาการ เขาก็จะหาทางโกหกเรา เขาก็บอกว่าไม่มี ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เขาก็ว่าโรงไฟฟ้าของเขาได้รับค่ามาตรฐานจากต่างประเทศ เอาต่างประเทศมาอ้าง เป็นโรงงานไฟฟ้ามาตรฐาน ISO 4100 เราไม่สามารถต่อต้านเขาได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ถ้าเรามีโอกาสต่อต้านเขาก่อนที่จะก่อสร้างต้องต่อต้าน เพราะไม่มีผลกระทบต่อพืชอย่างเดียว มันมีผลกระทบต่อลูกหลาน เหลนโหลน ต่อไปอีกด้วย" เขาย้ำถึงพิษภัยโรงไฟฟ้าเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมต่อไปว่า

"ถ้าเขายังไม่สร้างไม่ควรให้สร้าง เพราะสร้างแล้วเราจะยุติเขาไม่ได้แล้ว เราจะประท้วงไม่ให้เขาเดินเครื่องไม่ได้แล้ว เพราะเขาใช้ทุนมหาศาล อย่างโรงไฟฟ้าวังน้อยก่อสร้างไปหลายหมื่นล้าน เมื่อเขาก่อสร้างแล้วเราก็หาแนวทางว่าให้เขาหาทางแก้ไขได้ไหม แต่ก็ไม่แก้ไข เพราะถ้าแก้ไขก็ต้องใช้เงินหลายพันล้าน ให้ประชาชนหรือคนที่ยังไม่ประสบปัญหาตรงนี้ ตรงไหนที่มีข่าวว่าจะสร้างโรงงานไฟฟ้า ขอฝากว่าผลักดันให้ไปที่ไกล ๆ อย่าให้ก่อตั้งตรงนั้น เพราะจะมีผลกระทบถึงลูกหลาน เหลน โหลนในภายหน้า บอกได้เลยว่ามีผลกระทบแน่นอน"

ต่อคำถามถึงสภาพน้ำ เขาอธิบายว่า เวลาฝนตกมีการสะสม จะมีคราบเหลืองอยู่ผิวน้ำ ในอดีตเราไม่เป็นแบบนี้ ฝนปกติเป็นฝนบริสุทธิ์ เราเอาภาชนะไปรองฝนกลางแจ้ง ภาชนะนั้นจะขึ้นเป็นคราบและมีตะกอนเกาะอยู่ ในอนาคตไม่รู้จะเป็นอย่างไร ขณะนี้รวงข้าวก็ไม่สมบูรณ์ น้ำบริโภคไม่ได้ เพราะมีขี้เขม่า ในรัศมีหลายกิโล เพราะไปตามกระแสลม

จุดทิ้งน้ำของโรงไฟฟ้า ประชาชนเคยปลูกผักกะเฉด มีปลา พอทิ้งน้ำปลาที่เคยมีบางส่วนอยู่ไม่ได้ เพราะมีเชื้อสารเคมีอยู่แล้ว
ราคาของการต่อสู้

ไม่เคย มีนักวิชาการคนใดประเมินค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ว่าการต่อสู้เพื่อทวงสิทธิอันชอบธรรมของคนจนอันเนื่องจากนโยบายรัฐบาล หรือโครงการขนาดใหญ่ของนายทุนมีมูลค่าเท่าไร แต่ต้นทุนในการต่อสู้แต่ละครั้งก็แพ้ตั้งแต่แรกแล้ว อีกฝ่ายมีทุนเป็นหมื่นล้าน อีกฝ่ายต้องกู้หนี้ยืมสินมาสู้

"พื้นที่สวนส้มที่เราร้องเรียนไป 4 จังหวัด จำนวน 1 แสนกว่าไร่ แต่จริง ๆ แล้วพื้นที่สวนส้มมีราว 3 แสนกว่าไร่ รายใหญ่ ๆ ไม่อยากยุ่ง พื้นที่ 5 จังหวัดขณะนี้ไม่มีส้มใหญ่ออกมาจำหน่าย มีแต่ส้มเล็ก ๆ ส้มคั้น ขณะนี้ลพบุรีกำลังได้รับผลกระทบแล้ว ถ้าโรงไฟฟ้าที่พยุหะคิรี นครสวรรค์ ก่อสร้างได้ผมบอกได้เลยว่าสวนส้มในภาคเหนือต้องมีอันเป็นไป ไม่รู้ว่าการต่อต้านที่พยุหะคิรีจะสำเร็จหรือไม่ เพราะการไฟฟ้าฯ จะพยายามซื้อแกนนำ คนที่ต่อต้านก็อ่อนกำลังลง ….... โรงไฟฟ้าพยายามออกข่าวตามสื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พาคนไปกินไปเที่ยว หลอกกันเรื่อย เพื่อซื้อใจชุมชนที่ไม่มีความรู้ทำให้เชื่อว่าโรงไฟฟ้าดี. ......ค่าเสียหายที่ได้รับเวลานี้หลายล้าน ต้องเป็นหนี้สถาบันการเงินอยู่ แปลงที่อยู่วังน้อย 67 ไร่ ลงทุนไปแล้วไม่ได้เก็บเลย เฉพาะแปลงนั้นก็หลายล้าน....เรามีค่าใช้จ่ายเท่าไรต่อเท่าไรไม่มีใครรู้ ค่าถ่ายเอกสาร ค่าโทรศัพท์ ค่ารถสึกหรอ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว หมดไปเป็นแสน"

เกษตรกรที่เคยอยู่หน้าโรงไฟฟ้า ซึ่งเดินทางมาจากลพบุรีเพื่อเยี่ยมพิชัย กล่าวว่า

" ส้มสวนผมชุดแรกอยู่ได้ 19 ปี ยังไม่ตายแต่ลูกเล็ก แปลงที่ 2 ทำได้ 8 ปี ไฟฟ้ายังไม่มา พอโรงไฟฟ้าลง ปีที่ 7 ก็มีอาการ ก็ไปทำอยุธยาอีก 40 ไร่ ลงไป 10 บาทได้ไม่ถึง 10 บาท ผมก็ไปเที่ยวกำแพงเพชร ชอบ น้ำดี แปลงนี้(ที่อยุธยา)เก็บชุดใหญ่ไปชุดเดียว ขาดทุน 2-3 ล้าน"

ในขณะที่ประเสริฐ บอกเราว่า สวนของเขามี 110 ไร่ เสียหายไป 25 ล้าน

"กระดุกกระดิกนิดหน่อยเป็นล้านแล้ว" พิชัยกล่าวเสริม

อำนาจอยู่ที่การรวมตัวต่อรอง

เขาอธิบายถึงการต่อสู้ที่ยืดเยื้อว่า

"เคยไปปิดหน้าโรงไฟฟ้าฯ หลายวัน เขาก็ปล่อยเจ้าหน้าที่ระดับสูงมาสลายม็อบ รับปากเรา หลอกเรา ขนาดไปที่ทำเนียบ เนวิน (ชิดชอบ) กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงทำหนังสือลงนาม แต่ไม่ปฏิบัติตาม หลอกเรา มีช่วงหนึ่งม็อบมีความรุนแรง ทำให้ชาวบ้านศรัทธามากเลย ช่วงนั้น รัฐบาลให้พลตรีไตรรงค์ หรือเสธไอซ์มาสลายม็อบ มารับปากจะช่วยอย่างนั้นอย่างนี้ เสธไอซ์เอาเงินจากโรงไฟฟ้าให้รัฐบาลมาจ่าย พูดต่อหน้าม็อบเลยว่าจะเอาสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์มาวิเคราะห์ ม็อบใหญ่ ๆ จะเจอพลเอกชัยสิทธิ์ เกตุทัต พูดจาน่าเชื่อถือ ว่าโรงไฟฟ้าไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ พอคุยไป ๆ ไม่ใช่ มาหลอกเรา แล้วก็จบ กลายเป็นมาสลายม็อบ ภาครัฐบาลไม่ได้ช่วยเรา แต่ละคนรับหน้าที่ไม่นาน"

"17 มิ.ย.45 รัฐมนตรีประพัฒน์รับปากว่าจะช่วยไร่ละ 5320 บาท ไม่ทันไรปรับ ครม.แล้ว เนวิน (ชิดชอบ) กับสรอรรถ (กลิ่นประทุม) มารับหน้าที่ต่อ พอข่าวว่าจะมาเป็นรัฐมนตรีผมก็เอากระเช้าไปให้ สรอรรถ (กลิ่นประทุม) มีคนเอามาให้ 21 กระเช้า เนวิน (ชิดชอบ) มีกระเช้าเดียว พูดคุยกันถึงตัว พอแนะนำตัวเนวิน (ชิดชอบ) บอกว่าจำได้ ๆ พอเข้าพบครั้งที่ 2 เข้าไม่ถึงตัวแล้ว...." พิชัยเล่าถึงความรู้สึกในการเข้าพบนักการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยใบหน้าที่เรียบเฉย ยากจะเข้าใจความรู้สึก แต่ดูเหมือนไม่หวาดหวั่น ก้าวพ้นความกลัวอำนาจรัฐ หากมุ่งมั่น/ยืนยันที่จะต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจลงมาดูแลความเสียหายจากการพัฒนาอุตสาหกรรมของรัฐต่อไป

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรสวนส้มหลายแสนไร่ คงได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่า ไม่มีใครรับผิดชอบ ไม่ว่ารัฐบาลหรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

"มันเป็นรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลถือหุ้นอยู่ นักการเมืองถือหุ้นอยู่ ใครจะยอมรับ รับเมื่อตอนสลายม็อบอย่างเดียว" พิชัย โชควนิชวัฒนา กล่าวทิ้งท้าย

การสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ จากวังน้อยถึงแก่งคอย ยังคงอยู่บนข้ออ้างของ "ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม" ที่มุ่งทำลายล้างความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและมุ่งประโยชน์เฉพาะกลุ่มทุนระดับชาติและทุนข้ามชาติเป็นสำคัญ โดยไม่สนใจความล้มละลายของเกษตรกรที่เป็นภาคการผลิตที่แท้จริงแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net