Skip to main content
sharethis

แม้เหตุการณ์คลื่นยักษ์ซึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2548 จะผ่านพ้นไปกินเวลาเกือบครึ่งปีแล้วก็ตาม แต่ทว่าจากวันนั้นจนถึงปัจจุบันนี้ เหตุการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน ยังคงฝังรากทิ้งรอยในความทรงจำของหลายๆคนที่ได้ประสบภัยธรรมชาติครั้งนั้น และที่สำคัญในบางพื้นที่ยังถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัดตามมาอีกหลายระลอก
-------------------
6 เดือนหลังซึนามิ ที่เห็นและเป็นไป
ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์

แม้เหตุการณ์คลื่นยักษ์ซึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2548 จะผ่านพ้นไปกินเวลาเกือบครึ่งปีแล้วก็ตาม แต่ทว่าจากวันนั้นจนถึงปัจจุบันนี้ เหตุการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน ยังคงฝังรากทิ้งรอยในความทรงจำของหลายๆคนที่ได้ประสบภัยธรรมชาติครั้งนั้น และที่สำคัญในบางพื้นที่ยังถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัดตามมาอีกหลายระลอกด้วย

เกาะคอเขา หมู่ที่ 3 อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ ซึ่งก่อนหน้านี้" ประชาไท" ได้รายงานถึงปัญหากรณีที่ดินวัดทุ่งตึกจำนวน 117 ไร่ ซึ่งปัจจุบันนี้เหลือ 21 ไร่ และมีการลอบยิงพระสงฆ์ในพื้นที่อีกด้วย

ปัจจุบัน "เกาะคอเขา" เป็นอย่างไร

"พี่บ่าว" แหล่งข่าวคนเดิม ซึ่งขอใช้นามสมมุติเนื่องจากพี่บ่าวบอกว่า ขนาดที่แหลมป้อมนักข่าวยังถูกยิงได้ นับประสาอะไรกับพี่ ที่บนเกาะอิทธิพลที่นี่

พี่บ่าวบอกว่าตอนนี้บ้านบนเกาะคอเขายังสร้างไม่เสร็จ โดยเฉพาะบ้านชาวบ้านที่ได้รับความเสียหาย และถนนหนทางยังพังยับเยิน พระยังไม่มีกุฏิอยู่

"ผมไม่แปลกใจหากคนที่มาบนเกาะคอเขาจะเห็นถนนหนทาง และบ้านเรือนด้านหน้าสร้างเสร็จดูคล้ายกับไม่เคยเกิดคลื่นยักษ์เพราะบริเวณบ้านเหล่านั้นเป็นของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น บนเกาะนี้จึงไม่ต่างจากบ้านของเขา" พี่บ่าวกล่าว

พี่บ่าวเล่าต่อว่าในขณะเดียวกันบ้านของชาวบ้านยังไม่เสร็จ ถนนหนทางยังอยู่ในสภาพเดิมเหมือนหลังเหตุการณ์ใหม่ๆ ชาวบ้านยังได้เรือไม่ครบ

"คนเรือแตกกลับไม่ได้เรือ แต่คนที่ได้เรือแล้ว ออกหาปลาได้แล้วกลับเป็นคนที่ไม่ได้รับความเสียหาย ถ้าจะให้พูดกันตรงๆ ก็คือ เงินทั้งหลายที่บริจาคผ่านผู้นำท้องถิ่นนั้นไม่เคยมาถึงชาวบ้านอย่างพวกผมเลย" พี่บ่าวกล่าวและว่า

"คุณมาซิ มาที่นี่ มาให้เห็นกับตา มาให้รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น นี่ผ่านไปเกือบครึ่งปีแล้ว สภาพที่นี่ยังไม่ต่างจากเดิมเท่าไร แต่อย่ามาอย่างนักข่าวนะ เพราะถ้าคุณมาอย่างนักข่าว สองตาที่คุณจะได้เห็น ไม่ใช่ความจริงที่เกิดขึ้นที่เกาะคอเขา"

ที่สำนักสงฆ์วัดทุ่งตึก ต.เกาะคอเขา ท่ามกลางเสียงอึกทึกครึกโครม

หลังจากนมัสการพระคุณเจ้าแล้ว เมื่อถามถึงหลังเหตุการณ์ซึนามิและเรื่องที่ดินธรณีสงฆ์ของวัด 117 ไร่ "พระคุณเจ้า" เล่าว่า ตอนนี้กุฏิพระยังไม่เสร็จ พระหลายรูปจึงยังอยู่ที่วัดบางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

"ส่วนที่ดินวัดตอนนี้เขาแบ่งให้ 21 ไร่ ตอนแรกเขาบอกว่า จะแบ่งที่ดินให้วัด 21 ไร่ ที่สาธารณะประโยชน์ 10 ไร่ แต่ตอนนี้ทั้งที่สาธารณะและที่ดินวัดเหลือรวมกัน 21 ไร่" พระคุณเจ้ากล่าว

ที่ดินอีก 90 กว่าไร่อยู่ไหน...

พระคุณเจ้าเล่าว่าเสียงที่อึกทึกโครมครามตามที่ได้ยินคือ การก่อสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ นี่จึงเป็นคำตอบว่า ที่ดินที่เหลืออีก 90 กว่าไร่หายไปไหน

"อาตมาไม่อยากวุ่นวาย เขาแบ่งให้เท่าไรก็ใช้แค่นั้น เขาอยากได้อะไรก็ให้เขาเอาไป หลังจากคุยกับโยมครั้งก่อน ก็มีคนมาเปรยๆ หลายครั้งว่า คงต้องจุดธูปให้เสียที แต่อาตมาก็ไม่ได้สนใจอะไร นี่ก็วุ่นอยู่แต่เรื่องซ่อมแซม สร้างกุฏิให้เสร็จเพราะพระเจ้ารูปอื่นยังไม่มีกุฏิ จึงต้องไปอาศัยวัดอื่น" พระคุณเจ้ากล่าว

คำพูดดังกล่าวทำให้ "โยม" อย่างฉันหนาวๆในใจ เพราะครั้งก่อน "โยม" เขียนเรื่องพระคุณเจ้าถูกลอบยิง จึงเป็นผลให้มีคนมาเปรยๆให้พระคุณเจ้าฟังว่าอยากจุดธูปบูชาข้าง "โลงศพ"

พระคุณเจ้ากล่าวทิ้งท้ายกับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นที่เกาะคอเขาแห่งนี้คือความจริง ขึ้นชื่อว่าความจริงแล้วย่อมเป็นสิ่งไม่ตาย

นมัสการกราบลาพระคุณเจ้าด้วยความรู้สึกที่บอกไม่ถูก ปัจจุบันนี้ความจริงยังคงเที่ยงแท้และเป็นสิ่งไม่ตาย แต่เหตุไฉนคนพูดความจริงจึงไม่รอดพ้นเงื้อมมืออิทธิพลที่หยิบยื่นความตายมาให้

ถัดไปจาก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา มาถึง อ.เมือง จ.ภูเก็ต พี่สมศักดิ์ ศรีรักษา เจ้าของมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ซึ่งเคยพา "กระจอกข่าว" ซอกซอนเมืองภูเก็ตกล่าวว่า

"โอย...ตอนคุณมายังเรียกได้ว่าพอหากินได้บ้างเพราะหลังเหตุการณ์ใหม่ๆ คนลงมาเยอะ แต่วันนี้ไม่มีคนเลย ตอนนี้ผมวิ่งมอเตอร์ไซด์บ้างเป็นบางวัน แต่ปกติก็มาช่วยเมียขายผลไม้ที่ตลาด" พี่สมศักดิ์เล่า

พี่สมศักดิ์เล่าอีกว่า ขณะนี้เป็นช่วงหน้าฝน และมีลมมรสุมมาก จึงไม่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเลย

"ความจริงตอนหน้าร้อน นักท่องเที่ยวก็ไม่ค่อยมีหรอก จะคึกคักก็ที่ป่าตองแห่งเดียวแหละ ที่อื่นเงียบมาก สำหรับผม แผนการโปรโมทการท่องเที่ยวหรือติดสัญญาณเตือนภัยทั้งหลายแหล่ ไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวหันมาเที่ยวที่นี่เลย และคงเป็นอย่างนี้อีก 2-3 ปี นี่คงเป็นช่วงขาลงของเมืองภูเก็ต" พี่สมศักดิ์เล่าบ้างบ่นบ้างตามประสาวินมอเตอร์ไซด์อารมณ์ดี และกล่าวในตอนท้ายว่า

"แต่ก่อนผมได้วันละ 1,000-2,000 บาทจากการวิ่งรถ ต่อตอนนี้ ได้ 100 บ้าง อย่างเก่งก็ 200 บาทต่อวัน เลยมาขายผลไม้กับเมียดีกว่า"

"พี่โชต" วิโชติ ไกรเทพ นักพัฒนาเอกชน กล่าวกับฉันถึงเรื่องชาวประมงที่ จ.ภูเก็ตว่า ตอนนี้เรือยังได้ไม่ครบทุกคน บ้านเรือนของชาวเลยังสร้างไม่เสร็จ อีกทั้งยังเป็นหน้ามรสุม ชาวเลไม่สามารถออกเรือหาปลาได้

"คงต้องค่อยหมดหน้าน้ำ หน้าลมมรสุมแหละ กว่าเขาจะหาปลา ออกทะเลตั้งตัวได้อีกครั้ง" พี่โชติกล่าว

ในขณะเดียวกันที่ หาดประพาส กิ่ง อ.สุขสำราญ จ.ระนอง ชาวประมงพื้นบ้านที่นี่ก็ประสบปัญหาไม่ต่างจากชาวประมงที่ภูเก็ต

"บังโชค" สมโชค พงประเสริฐ เล่าว่า ก่อนหน้ามรสุมยังออกเรือได้บ้างแต่ปลาที่ได้มีน้อยมาก หากเทียบกับก่อนเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์

"นี่ยังมาติดหน้ามรสุมอีก เรือก็ออกไม่ได้" บังโชคกล่าวและเล่าถึงชมรมประมงพื้นบ้านว่า ขณะนี้ต่อเรือไปแล้วเสร็จจำนวน 10 ลำ

"เรือที่เสียหายทั้งหมด 30 ลำ พวกเราช่วยกันต่อได้แล้ว 10 ลำ ซึ่งไม่รวมเรือเล็ก หรือเรือพีช อีกหลายลำ หมดหน้ามรสุม ก็คงเสร็จ ได้เรือกันทุกคน กว่าเราจะตั้งตัวได้คงใช้เวลาเป็นปี บางทีอาจเกือบสองปีด้วยซ้ำ" บังโชคกล่าว

นี่จึงเป็นปัญหาหนักใจของชาวเลว่า กว่าจะถึงเวลาที่ตั้งตัวได้ในระยะ 1-2 ปีพวกเขาจะเอาอะไรกิน จะหาอะไรเลี้ยงครอบครัว

ใกล้กันนั้น ที่หมู่บ้านมอแกน เกาะเหลา อ.เมือง จ.ระนอง

"พี่นา" นักพัฒนาองค์เอกชนกล่าวว่า "ปัญหาเร่งด่วน ตอนนี้ที่เกาะเหลาคือ โรคอหิวาตกโรคที่กำลังระบาดอยู่ ซึ่งก่อนหน้านี้ราว 2-3 อาทิตย์มีเด็กๆในหมู่บ้านเสียชีวิตไปแล้ว 1 คน"

เธอเล่าว่าขณะนี้เด็กอีกคนที่ได้รับเชื้อกำลังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในตัวจังหวัด การเร่งทำความเข้าใจเรื่องการป้องกันและรักษาโรคจึงเป็นงานเร่งด่วนของอาสาสมัครที่นี่ นอกเหนือจากการซ่อมเรือและช่วยเหลือชาวบ้านด้านอาหารการกิน

"ปัญหาอื่นๆในพื้นที่เกาะเหลายังมีอีกมาก แต่เรื่องความเป็นความตายจากโรคระบาดของคนบนเกาะเป็นเรื่องสำคัญกว่า" พี่นากล่าว

เกาะเหลาในครั้งก่อนที่" ประชาไท" นำเสนอเรื่อง "เจ้าแม่เกาะ" และจนถึงขณะนี้ปัญหาดังกล่าวก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ป้าเฮี่ยน ชาวบ้านบนเกาะเหลา อายุกว่า 40 ปีเล่าให้ "ประชาไท" ฟังว่า "ฉานโดนเขาตบ เขาไม่พอใจ ให้ผู้ใหญ่มาว่า แล้วเขาก็เดินๆ เข้ามาตบ"

ที่มาของสาเหตุดังกล่าวคือ มีหน่วยงานจากคณะกรรมการเซฟอันดามัน เข้ามาตรวจสอบการทำงานของอาสาสมัครบนเกาะ

"เจ๊เนา" เจ้าของสมญานาม "เจ้าแม่เกาะ" ที่ชาวบ้านที่นี่ตั้งให้กล่าวโจมตีอาสาสมัครบนเกาะว่ามาทำให้วิถีชีวิตชาวมอแกนที่นี่เปลี่ยนไป อีกทั้งมีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นใหม่ เนื่องจากคนเดิมเป็นแนวร่วมกับพวกอาสาสมัคร

ป้าเฮี่ยนเล่าว่า ไม่พอใจที่เจ๊เนาพูดอย่างนั้น เลยชี้แจงทางกรรมการตอนที่เจ๊เนาไม่อยู่อยู่ว่า คนที่ฮุบของบริจาค และเงินที่นำมาบริจาคในช่วงแรกๆ ก่อนที่ทีมอาสาสมัครจะลงมาคือเจ๊เนา แต่ตอนนี้พอทีมอาสาสมัครลงมาการบริจาคของและเงินจัดเป็นระบบและไม่ผ่าน "นายหน้า" เหมือนก่อน ทำให้เจ๊เนาไม่พอใจ

"ความจริงฉานกลัว แต่ชาวบ้านอื่นไม่มีใครกล้าพูด ฉานเลยพูดแทน เจ๊เนาไม่พอใจ เขาเลยมาตบเอา ฉานไม่รู้จะทำไง กลัว ผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ก็ทำตามที่เจ๊เนาสั่ง " ป้าเยี่ยนเล่า

บ้านมอแกนบนเกาะเหลาแห่งนี้อยู่ติดๆ กัน ในวันนี้ที่เหตุ มีคนอยู่เยอะแต่ไม่มีใครกล้าช่วยเหลือป้าเฮี่ยน เพราะความกลัว "เจ้าแม่เกาะ"

ทีมอาสาสมัครบนเกาะกล่าวแก่ "ประชาไท" ว่า ในบรรดาชาวบ้านบนเกาะ ป้าเฮี่ยน ถือว่าเป็นคนกล้าที่สุดแล้ว แต่กระนั้นก็ยังโดนทำร้ายร่างกาย จึงไม่แปลกที่เหตุการณ์วันนั้นไม่มีชาวบ้านคนใดกล้าเข้าไปช่วยเหลือ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทางทีมอาสาสมัครจะหาทางแก้ไขต่อไป แต่ในขณะนี้โรคร้ายกำลังระบาด จำต้องเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ลุล่วงเสียก่อน

นี่คือ โฉมหน้าของสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่บริเวณชายฝั่งอันดามันซึ่งได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิ ระยะเวลา "ครึ่งปี" ที่ผ่านมาหลายๆ พื้นที่ได้รับการ คลี่คลาย แก้ไขปัญหาให้บรรเทาเบาบาง แต่ปัญหาอีกหลายพื้นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข มิหนำซ้ำยังกลายเป็นเคราะห์ซ้ำสองหนุนกระหน่ำผู้คนที่นั่นอีกหลายระลอก อย่างไร้การเหลียวแล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net