Skip to main content
sharethis

พระสุพจน์ สุวโจ เป็นใคร ทำอะไร และสำคัญอย่างไร.......ทุก ๆ สำนักข่าวล้วนกล่าวขยายความหลังชื่อว่า "พระนักกิจกรรม" หรือ "พระนักอนุรักษ์"

อีกด้านหนึ่ง....ในความรับรู้ของแวดวงคนทำกิจกรรมด้านศาสนาแล้ว หลายคนรู้จักบทบาทของท่านในฐานะ "ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์" ซึ่งอยู่เบื้องหลังผลงานเผยแพร่ในแวดวงคนสนใจ
ศาสนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสนธรรมในแนวทางของท่านพุทธทาส

การจากไปของผู้อยู่ "เบื้องหลัง" รูปนี้ ส่งผลต่อการการทำงาน "เบื้องหน้า" มากอย่างยิ่ง ส่งผลสะเทือนต่อการทำงานต่อไปถึงขนาดที่งานทุกอย่าง ๆ ต้องหยุดลง และอาจไม่ได้เริ่มต้นใหม่อีก เพราะงาน "เบื้องหลัง" ที่ท่าน "ทำฟรี" นั้นเมื่อต้องหาบุคลากรมาทดแทน คงต้องใช้งบประมาณสูงลิ่ว

........................................................................................................................................

"เมื่อคืนพี่กลับจากงานศพแล้วก็นอนร้องไห้….ตอนนี้มีคนช่วยหลายคนหลายองค์กร พี่เข้าใจว่าทุกคนมาด้วยความรู้สึกอยากจะช่วยเหลือ แต่ถึงที่สุดแล้ว ต่างคนก็ต่างมีภารกิจที่จะต้องทำ" น.ส. อาภาวดี งามขำ ผู้ประสานงานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ สะท้อนความรู้สึกกับ "ประชาไทW

เธอเข้ามาทำหน้าที่ผู้ประสานงานของมูลนิธิแห่งนี้มาปีกว่า โดยตำแหน่งแล้วเป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ แต่ในการทำงานนั้น เธอต้องช่วยเหลือประสานงานให้กับกลุ่มเสขิยธรรมด้วย

"ที่ผ่านมาหลวงพี่ (สุพจน์ สุวโจ) เป็นคนดูแลเรื่องทางเทคนิคทั้งหมด เมื่อวานหลวงพี่กิตติศักดิ์ (กิตติโสภโณ ประธานกลุ่มเสขิยธรรม) บอกว่าจะทำวารสารเสขิยธรรมอีกเล่มเดียวเท่านั้น ถ้าไม่มีอาสาสมัครก็จะหยุดไปเลย ส่วนเว็บอีก 5 เว็บ ถ้าหาอาสาสมัครมาทำไม่ได้ก็ปิดไปเลย ให้สังคมได้รู้ว่าที่ผ่านมา หลวงพี่สุพจน์คือคนที่ทำสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด"

"ทั้งหมด" ที่อาภาวดีเล่าให้ฟังนั้น ประกอบไปด้วยเว็บไซต์ 5 เว็บ ประกอบด้วยเว็บไซต์ที่เผยแพร่แล้ว 3 เว็บไซต์ ได้แก่ www.skyd.org (เผยแพร่งานของกลุ่มเสขิยธรรม), www.www.buddhadasa.org (เผยแพร่ผลงานของท่านพุทธทาสและกลุ่มพุทธทาสศึกษา),http://kruamas.org/(รำลึกและเผยแพร่ผลงานของอาจารย์เครือมาศ วุฒิการณ์)

และเว็บไซต์ที่อยู่ระหว่างการจัดทำ 2 เว็บไซต์ ได้แก่ เว็บไซต์ของโครงการเสริมสร้างภูมิชีวิตพิชิตบุหรี่ และล่าสุดเว็บไซต์สำหรับโครงการจิตวิวัฒน์ ภายใต้การริเริ่มของน.พ. ประเวศ วะสี

และเว็บไซต์จิตวิวัฒน์นี้เองที่ ผู้ร่วมงานหลายคนคาดเดาว่าเป็นงานที่พระสุพจน์กำลังจะลงมือทำก่อนจะถูกฆาตกรรมในวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพราะคอมพิวเตอร์เปิดค้างไว้ และเวลาอินเตอร์เน็ตก็เปิดทิ้งไว้ พร้อมกับหนังสือคู่มือทำเว็บไซต์ ทั้งนี้ เพราะเว็บไซต์จิตวิวัฒน์นั้นเป็นงานล่าสุด ที่ตกลงใจกันว่าจะจัดทำ

นอกจากเว็บไซต์แล้วอาภาวดีกล่าวว่า งานหลัก ๆ อีกอย่างของพระสุพจน์ สุวโจ คือการทำอาร์ทเวิร์ก หนังสือทุกเล่มของกลุ่มเสขิยธรรมและกลุ่มพุทธทาสศึกษา ซึ่งมักได้รับการสนับสนุนงบประมาณจัดพิมพ์และเผยแพร่จากสำนักพิมพ์สุขภาพใจ

โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ผู้จัดการสำนักพิมพ์กล่าวหลังทราบข่าวการมรณภาพของพระสุพจน์ว่า "ก่อนหน้านี้ยังพูดตลกกับพ่อ (บัญชา เฉลิมชัยกิจ) ว่าเรานิมนต์ให้พระสุพจน์มาเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลป์ของเราเลยดีกว่า"

"นี่แมคอินทอชเพิ่งซื้อมาใหม่ ตั้งอยู่ที่สำนักงาน ไม่มีใครใช้เป็น เปิดไม่ได้ เพราะท่านใส่พาสเวิร์ดไว้แล้ว เว็บไซต์ก็ทำต่อไม่ได้ เพราะไม่มีใครรู้พาสเวิร์ด หลวงพี่กิตติศักดิ์ก็ไม่รู้ เพราะท่านปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหลวงพี่สุพจน์ดูแล…ถ้าเราหาอาสาสมัครไม่ได้เราก็คงต้องเลิกทำไปเลย เพราะคงจ้างไม่ไหว" อาภาวดี กล่าวถึงปัญหาเฉพาะหน้า

คอหนังสือด้านศาสนธรรมคงคุ้นเคยดี กับหนังสือรูปเล่มเรียบร้อย สะอาดตา อาทิเช่น คู่มือพุทธบริษัท, ฟ้าสางทางธรรมโฆษณ์,ทศวรรษแห่งการจากไปของพุทธทาส, คู่มือชาวพุทธ ฉบับกฎบัตรของพุทธบริษัท, สู่ชีวิตที่สงบเย็น ฯลฯ

"ถ้าจะนับกันจริง ๆ เป็นร้อย...." อาภาวดีกล่าว ซึ่งคงไม่เกินความจริงเมื่อนับรวมถึงวารสาร "เสขิยธรรม" ราย 3 เดือน ซึ่งพระสุพจน์รับผิดชอบด้านการผลิตมาตั้งแต่ปี 2542

แม้ในการรับรู้ของสังคม ดูเหมือนว่าพระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ประธานกลุ่มเสขิยธรรมจะมีบาทบาทมากทั้งการพูดการเขียน และการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ แต่เบื้องหลังนั้น งานหลาย ๆ ชิ้นจะไม่สามารถออกสู่สาธารณะได้เลยหากปราศจากเบื้องหลังที่ทำงานอย่างหนัก

อาภาวดีเล่ากับประชาไทว่า พระสุพจน์มีอัธยาศัยใจเย็น และทำงานเรียบร้อย

"ตัวหนังสือเบี้ยวไปนิดเดียวก็ทนไม่ได้ อย่างงานนี้ (เอกสารประวัติและผลงาน ซึ่งใช้เป็นที่ระลึกงานสวดอภิธรรมศพพระสุพจน์) ถ้าท่านเห็นก็คงทนไม่ได้หรอก"

เธอกล่าวและว่า ทางออกที่ผ่านมาคือ เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครของมูลนิธิมักจะปล่อยให้ท่าน "เก็บงาน" จนเป็นที่พอใจพร้อมกับบอกว่า "คืนนี้หลวงพี่ก็ทำทิ้งไว้แล้วกัน พรุ่งนี้พวกเราจะมาปริ้นท์เอง"

พระกิตติศักด์ ในฐานะเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิดที่สุดกล่าวในงานอภิธรรมศพวันแรกว่า พระสุพจน์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังผลงานของกลุ่มเสขิยธรรมอย่างแท้จริง และน้อยครั้งที่จะขอร้องให้ท่านลงชื่อตนเองเป็นผู้สร้างผลงานเหล่านั้น ท่านกล่าวและย้ำ............

"ไม่ใช่การตีฝีปาก พูดถึงความดีของคนตายที่ทำกันตามธรรมเนียม"

ทีมข่าวพิเศษ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net