Skip to main content
sharethis

คำแถลงถึงรัฐบาลและปวงชนชาวไทย


สภาประชาชนท้องถิ่นผู้ใช้น้ำอย่างยั่งยืน


 


            นับจากที่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำจืดในเขตภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเขตพื้นที่พิเศษภายใต้แผนพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนน้ำใน "จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง" ในช่วงปีนี้


            สิ่งที่พบเห็นและเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงในกระบวนการแก้ไขปัญหาวิกฤตครั้งนี้ คือ การกำหนดนโยบายและการวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาของคณะรัฐบาล โดยเฉพาะจากตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวง  ความผิดพลาดนี้เป็นเพราะเหตุผลสำคัญ  2 ประการ คือ


1.     รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาและระดมสรรพกำลังที่มีเข้ามาทำงาน เพราะกลัวเสียภาพพจน์และบรรยากาศการลงทุนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะกับนักลงทุนข้ามชาติ ที่รัฐบาลได้ใช้ความพยายามต่าง ๆ ทั้งในทางนโยบายและความสัมพันธ์ส่วนตัว เชิญชวนให้คนเหล่านี้เข้ามาลงทุนและแสวงประโยชน์ในประเทศไทย โดยไม่คำนึงถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับสังคมไทยทั้งในภาวะปัจจุบันและในระยะยาว


2.     คณะรัฐบาลล้วนประกอบไปด้วยนักธุรกิจการเมือง นักการอุตสาหกรรม นักการเงิน และอื่น ๆ ที่เข้าใจเพียงผลประโยชน์ของการลงทุน การทำธุรกิจการค้า  จะเห็นได้ว่า ในคณะบุคคลที่บริหารอยู่ในรัฐบาล ไม่มีผู้ทรงคุณธรรมและจริยธรรมทางสังคมที่จะทำให้เกิดความสมดุลและมีความเป็นธรรมในการดำเนินนโยบายและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ  รัฐจึงมองไม่เห็นและไม่เข้าใจถึงความเดือดร้อนของผู้คนกลุ่มอื่น ๆ


ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นถูกทำให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะเหตุว่า


 


      -รัฐบาลเลือกใช้วิธีการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จแทนการให้ข้อมูลที่เป็นจริงต่อสาธารณะมาตั้งแต่เริ่มต้น สิ่งนี้ไม่เพียงแต่ทำให้รัฐแก้ปัญหาไม่ถูกต้อง ยังทำให้สาธารณชนเข้าใจปัญหาคลาดเคลื่อนจากสาเหตุที่แท้จริง และมองว่าการคัดค้านของชาวบ้านในภาคตะวันออกไม่มีเหตุผล ไม่เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติ


 


-รัฐบาลเลือกใช้วิธีการแสดงอำนาจสยบการคัดค้านเคลื่อนไหวของประชาชนท้องถิ่นมาตั้งแต่     เริ่มต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งทหารเข้าไปทำงานมวลชนสัมพันธ์และการก่อสร้างเร่งด่วน วิธีการนี้รบกวนวิถีชีวิตประชาชนถึงในบ้าน และยังเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนที่รุนแรงขึ้น   สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่า รัฐบาลกำลังหลงอยู่ในอำนาจของตน ขาดหลักคุณธรรมของผู้บริหารประเทศที่ควรต้องให้ความสำคัญกับประชาชนทุกฝ่าย โดยเฉพาะชุมชนเกษตรกรรม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่หล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศ


            สภาพปัญหาและสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น ทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่ของภาคตะวันออกและชุมชนท้องถิ่นที่ประสบปัญหาเดียวกัน  จำเป็นต้องพึ่งตนเองและรวมตัวกันเป็น "สภาประชาชนท้องถิ่นผู้ใช้น้ำอย่างยั่งยืน" เพื่อช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นที่กำลังประสบปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นและเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวม ตามนโยบาย เจตนารมณ์ และอุดมการณ์ 4 ประการ คือ


1.     ผลักดันให้ การกำหนดกระบวนการแก้ไขปัญหาการใช้ทรัพยากรน้ำตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลหลายมิติที่เป็นจริง  บนฐานของการยอมรับสิทธิชุมชนผู้อยู่ก่อนต่อการตัดสินใจเลือกทางออกการพัฒนาที่ยั่งยืน และการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรประจำท้องถิ่น


2.     ผลักดันให้ การกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนา โดยเฉพาะโครงการใหญ่ ๆ  ต้องคำนึงถึงความสมดุลกับศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติและผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง โดยผ่านกระบวนการพิจารณาร่วมระหว่างผู้ต้องการเข้ามาในท้องถิ่น กับประชาชนผู้อยู่ก่อน (ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ กึ่งรัฐ และนักการเมืองท้องถิ่น)


3.     ผลักดันให้ การดำเนินโครงการใด ๆ  ต้องไม่มีผลกระทบอย่างรุนแรงและอย่างเฉียบพลันต่อระบบนิเวศของชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ  ทั้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  รวมถึงระบบสังคม วัฒนธรรม และประเพณีของชุมชน


4.     ผลักดันให้ มีการเปิดเผยและเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริงต่อสาธารณะในระดับประเทศ ในทุกกรณีปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาและในทุกขั้นตอน และร่วมรณรงค์ให้ยกเลิกระบบวิธีการแก้ปัญหาด้วยการโกหกสาธารณะ ให้เป็นวิถีวัฒนธรรมใหม่ของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบการบริหารราชการแผ่นดินและการดำเนินการทางการเมือง


            ในครั้งนี้ สภาประชาชนท้องถิ่นผู้ใช้น้ำอย่างยั่งยืน ขอยื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลต่อปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นคือ


1.     ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลางเพื่อดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิของประชาชนผู้ใช้น้ำในภาคตะวันออกที่กำลังเกิดขึ้นในหลายลักษณะและในหลายจังหวัดโดยเร็ว  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหารุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จากผลกระทบเรื่องการใช้น้ำที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแหล่งน้ำ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายในช่วงที่ผ่านมาของรัฐบาล และขอให้เปิดเผยผลการตรวจสอบต่อสาธารณะ


2.     ขอให้รัฐบาลหยุดทุกโครงการที่จะผันน้ำออกไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติและที่จัดสร้างขึ้นอิงธรรมชาติของชุมชน  รวมถึงการหยุดการสร้างเสริมสิ่งกีดขวางทางน้ำทุกประเภท


3.     ขอให้รัฐบาลยอมรับข้อเสนอของภาคอุตสาหกรรมที่เสนอไว้ตั้งแต่ต้นว่า จะหยุดตัวเองและลดการผลิตของโรงงานลง  เพราะเวลานี้ ภาคส่วนอื่น ๆ  ได้หยุดตัวเองในการใช้น้ำไปหลายเดือนแล้ว เช่น ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนผลไม้ คงเหลือแต่การใช้น้ำอุปโภค บริโภคครัวเรือน และการบริการ ที่จำเป็นกับคนทุกคนไม่ใช่เฉพาะกลุ่ม จึงเป็นความชอบธรรมที่ทุกภาคส่วนต้องหยุดตัวเองเพื่อรอให้ปริมาณน้ำคืนเข้าสู่ภาวะปกติ หรือสามารถใช้น้ำในพื้นที่เพื่อดำเนินกิจกรรมของตนเอง โดยไม่ส่งผลกระทบในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค


 


นายสุทธิ อัชฌาสัย


     ตัวแทนสภาประชาชนท้องถิ่นผู้ใช้น้ำอย่างยั่งยืน


เวทีสัมมนา "วิกฤตและทางออกการจัดการน้ำภาคตะวันออก : กรณีศึกษาจังหวัดระยอง


7 กันยายน 2548


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net