Skip to main content
sharethis


ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ ข่าวการซื้อหุ้นบริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) และบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) โดยทุนยักษ์แห่งสื่อบันเทิงไทยอย่างบริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) เกิดขึ้นก่อนหน้าการประกาศถอดรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" ไม่กี่วัน กระแสเรื่อง "เสรีภาพสื่อมวลชน" และ "ยุคมืดสื่อมวลชน" จึงเกิดขึ้นในทะเลแห่งข่าวสารของสังคมไทยอย่างเลี่ยงได้ยาก


 


จะเป็นไรไปเล่าหากสื่อจะถูกเทคโอเวอร์โดยเสี่ย เพราะในอีกด้านหนึ่งของสื่อก็คือความเป็นเสี่ย เหตุไฉนยามที่เอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์จึงมองหนังสือพิมพ์เป็นเช่นสินทรัพย์ แต่เมื่อกำลังจะถูกเทคโอเวอร์สินทรัพย์จึงกลายเป็นความหมายของ "เสรีภาพสื่อ" ไปเสียได้....หลายคนอาจคิดในใจ


 


เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว. กรุงเทพมหานคร ผู้เคยทำหน้าที่ "สื่อ" และเคยผ่านบรรยากาศของการ "ถูกถอดรายการ" แม้จะยังไม่เคยถูกเทคโอเวอร์ แต่สนามรบอันเดียวดายของเขาในครั้งนั้นก็ได้รับคำอธิบายจากเพื่อนร่วมวิชาชีพว่าสิ่งที่เขาประสบนั้นคือการ "แทรกแซงเสี่ย" หาใช่การ "แทรกแซงสื่อ" อย่างที่เจ้าตัวเข้าใจแต่อย่างใดไม่


 


วันนี้เขาได้โอกาสยืนยันอีกครั้งว่า ถึงจะเป็นเสี่ยแต่ก็เป็นเสี่ยชนิดพิเศษ ที่ควรมีกติกาต่างหากจากเสี่ยทั่วๆ ไป คำยืนยันของเขาครั้งนี้อาจไม่เดียวดายเหมือนที่ผ่านมา


 


.........................................


 


อาจารย์มองอย่างไรกับการซื้อหุ้นของมติชนกับบางกอกโพสต์ซึ่งมีบางฝ่ายอธิบายว่า เรื่องนี้ก็เป็นธรรมดาของธุรกิจ


 


คือจะเป็นธรรมดาของธุรกิจก็ไม่ควรจะเป็นธรรมดาของธุรกิจเรื่องสื่อ เพราะสื่อไม่ควรจะมีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถที่จะเป็นเจ้าของอย่างเด็ดขาด เพราะถ้าเป็นเจ้าของอย่างเด็ดขาดก็สามารถที่จะกุมชะตา ทิศทางของข่าวได้ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่ออะไรก็ตามที่เป็นการนำเสนอข่าวสาระทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงต้องดูกลุ่มทุนที่จะเข้ามาลงทุนในสื่อด้วย ถ้าเป็นกลุ่มทุนที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มทุนที่ได้อำนาจการบริหารของประเทศ มันจะเป็นการผูกขาด 2 อำนาจเข้าด้วยกัน บ้านเมืองก็จะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยคนกลุ่มเดียว นั่นประการที่หนึ่ง


 


ประการที่สอง การถือหุ้นสื่อนั้น ไม่น่าจะถือหุ้นเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ และไม่น่าจะมีผู้ใดถือหุ้นเกิน 1 สื่อ หรือมีการถือหุ้นข้ามระหว่างสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ก็ไม่สมควร และเรื่องนี้ก็น่าจะมีกำหนดกฎเกณฑ์ในอนาคตที่จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่อไป


 


ซึ่งอาจารย์เสนอว่าควรออกเป็นกฎหมาย


ครับ ก็คงจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รายละเอียดก็ต้องไปว่ากันอีกที


 


เรื่องนี้กลายเป็นกระแสที่สังคมตอบรับเพราะกลัวทุนใหญ่ฮุบสื่อ


มันเป็นเรื่องของทุนทางการเมืองที่ต้องการที่จะคุมสื่อ เพราะว่าถ้าคุณสังเกตดู สิ่งที่เขาต้องการก็คือบางกอกโพสต์ซึ่งเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลในขณะนี้ คือเรื่องต่างประเทศ แล้วนายกรัฐมนตรีก็พูดอยู่เป็นประจำว่า บางกอกโพสต์หรือหนังสือพิมพ์ภาษาต่างประเทศเป็นตัวที่ทำให้ข่าวต่างประเทศโน้มเอียงไปในทางนั้น


 


ขณะเดียวกันถ้าคุณดูมติชน ก็จะเห็นว่าคนอ่านอยู่ในระดับปัญญาชน ชนชั้นกลาง และชนชั้นสูง รัฐบาลเขากำลังมีจุดอ่อนในเรื่องนี้อยู่ ในเรื่องชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง และปัญญาชน เพราะฉะนั้นเขาต้องการที่จะควบคุมสื่อ 2 กลุ่มนี้ล่ะครับ


 


อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าถ้าคนทำสื่อแข็งขัน ก็น่าที่จะผ่านพ้นภัยนี้ไปได้ และในอนาคตน่าจะนึกถึงเรื่องการกระจายหุ้นซึ่งควรจะให้กับพนักงานที่เป็นสื่อมวลชนเอง ยังดีกว่าคนนอกเพราะยังพอรู้ร้อนรู้หนาว รู้ความรู้สึกนึกคิดของสื่อที่จะต้องมีเสรีภาพได้ดีกว่า


 


ในขณะที่มติชนออกมาต่อสู้และมีบทบาทอยู่บนหน้าสื่อตอนนี้ แต่ทางฝั่งบางกอกโพสต์เองค่อนข้างจะนิ่ง ทำไมถึงแตกต่างกัน


คือหนึ่ง มติชนเขาถูกซื้อด้วยเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าโพสต์นะครับ ประเด็นต่อมาคือโพสต์นั้นมีข่าวคราวมานาน แล้วก็มีบางคนวิเคราะห์ว่า มติชนนั้นเป็นตัวลวง จริงๆ แล้วเขาต้องการโพสต์มากกว่ามติชน นี่เป็นลูกลวง


 


อาจารย์คิดอย่างไรกรณีที่เริ่มมีการพูดกันว่า ประเทศไทยเข้าสู่ยุคมืดของสื่อมวลชนอีกครั้งหนึ่งแล้ว


ผมว่ามันเข้าสู่ยุคมืดมาหลายปีแล้ว แต่คนไม่ค่อยรู้สึก แต่ผมรู้สึกเพราะว่าผมทำสื่อมาก่อน


 


...................................


 


ข้างต้นคือคำยืนยันอีกครั้งของอดีต "เสี่ยแห่งสื่อ" ซึ่งปัจจุบันเหลือช่องทางการสื่อสารเพียง สำนักพิมพ์ "ขอคิดด้วยคน" กับรายการโทรทัศน์ที่ไม่ข้องเกี่ยวกับการเมืองโดยสิ้นเชิงอีกบางรายการ


 


ในช่วงเวลาที่สังคมไทยกำลังฮันนีมูนอยู่กับรัฐบาลทักษิณ 1 นั้น รายการของเขาถูกถอดออกจากผังแบบราบคาบทั้งรายการโทรทัศน์และวิทยุ วันนั้นเขาออกมาส่งเสียงดังๆ ว่า การเมืองแทรกแซงสื่อ....แต่ไม่เพียงว่า เสียงขานรับจากเพื่อนร่วมวิชาชีพจะไม่ดังอย่างเช่นวันนี้แล้ว เขายังเปิดแนวรบกับ "เสี่ย" ของบาง "สื่อ" ด้วยเหตุที่เขากล่าวพาดพิงว่า มีสื่อบางแห่งหันหน้าไปซูฮกรัฐบาลแลกกับความช่วยเหลือให้พ้นจากภาวะล้มละลาย


 


เขาถูกตอบโต้ทันทีว่า เหตุที่เขาร้องแร่แห่กระเชอเช่นนั้น เปรียบได้กับ "ลูกหมา" ที่มีนิสัยร้องเสียงดังเมื่อถูกทำให้เจ็บ ซึ่งไม่อาจเทียบได้กับ "ลูกเสือ" เจ็บแค่ไหนก็ไม่มีใครได้ยินเสียง


 


อย่างไรก็ตามเมื่อลูกเสือนั้นกำลังเผชิญกับสิ่งเดียวกับที่เขาเคยเผชิญ เขาแสดงความเห็นว่า.....


 


"รายการคุณสนธิที่ถูกถอดโดยที่มีข้อกล่าวหาว่า คุณสนธิหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ผมคิดว่าก็ควรจะดำเนินคดีกับคุณสนธิในเรื่องนั้นๆ แต่ไม่ควรที่จะหาเหตุในการปิดสื่อ คนที่ปิดสื่อกำลังขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 39 และ 41 คือถ้าใครทำผิดกฎหมายก็ดำเนินคดีไปตามกฎหมายนั้นๆ เช่นการหมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือเป็นกบฏในราชอาณาจักร หรือแบ่งแยกดินแดน แต่ก็ไม่ควรเอามาเป็นเหตุในการถอดผังรายการนี้ออกไป เพราะมันเป็นคนละเรื่องกัน


 


"สื่อจะต้องมีเสรีภาพ เราจะต้องปกป้องเสรีภาพของคน แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูด เราควรจะต้องปกป้องให้เขาได้มีโอกาสพูด เพราะฉะนั้นผมไม่เห็นด้วยกับการถอดผังรายการนี้นะครับ"


 


ช่วงท้ายของการสนทนาวันนี้ เขากล่าวฝากไปถึงลูกเสือตัวนั้นด้วยว่า...


 


"อยากจะให้คุณสนธิร้องดังๆ เมื่อถูกปิด ควรจะต้องร้องดังๆ อย่าไปถือคติว่าลูกเสือไม่ร้อง มีแต่ลูกหมาเท่านั้นที่ร้อง อย่าไปถือคตินี้"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net