Skip to main content
sharethis

ข่าวลือ เป็นสื่ออย่างหนึ่งที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกระพือสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดูเลวร้ายยิ่งขึ้น หลายเหตุการณ์ที่สร้างความสูญเสียจนกลายเป็นบทเรียนอันเจ็บปวด เนื่องจากสื่อกระแสหลักไม่สามารถทำหน้าที่ในตัวเองได้อย่างเหมาะสม ขณะที่ช่องทางสื่อสารของสื่อภาครัฐกลับทรงอานุภาพน้อยกว่าข่าวลือ ในที่สุดรัฐบาลจึงต้องจัดกระบวนทัพสื่อของตัวเองขนานใหญ่


แนวคิดหนึ่งคือการใช้สื่อโทรทัศน์ 2 ภาษา คือภาษาไทยและภาษามลายู เพราะคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ภาษามลายูสื่อสาร โดยนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมากำกับด้วยตัวเองอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานด้านการข่าวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นประชาสัมพันธ์จังหวัด ผู้สื่อข่าวและนักจัดรายการของสถานโทรทัศน์และวิทยุต่างๆ


ครั้งล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2548 นายสุรนันทน์ ได้เดินทางมาที่จังหวัดยะลา เพื่อประชุมร่วมกับผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น องค์กรภาครัฐและภาคประชาชน โดยเขาต้องการเห็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประ เทศไทย ช่อง 11 ยะลา เข้าถึงประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง


 "หลังเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ การประชาสัมพันธ์เป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความเข้าใจกับประชาชน เพราะที่ผ่านมามักเกิดกระแสข่าวลือในเรื่องต่างๆ จนนำไปสู่ความไม่เข้าใจและประชาชนตกเป็นเครื่องมือในการก่อเหตุร้าย" นายสุรนันท์ กล่าว


ทิศทางที่ได้กำหนดไว้คือการปรับผังรายการของช่อง 11 ส่วนแยกยะลา ซึ่งขณะนี้ได้เปลี่ยนเป็นสถานวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดยะลาแล้ว โดยให้มีรายการท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง และเป็นรายการ 2 ภาษาทั้งภาษาไทยและภาษามลายู รวมทั้งถ่ายทอดเสียงอาซาน (การประกาศเชิญชวนให้มาละหมาดที่มัสยิด : ศูนย์ข่าวอิศรา) ทุกครั้งเมื่อถึงเวลา


นอกจากนั้น ในช่วงเดือนรอมฎอนจะมีรายการพิเศษ คือถ่ายทอดสดพิธีละหมาดตะรอเวียะห์ จากนครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ในเวลา 23.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ชม


นางสาวมุจรินทร์ ทีปจิรังกูล หัวหน้าสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดยะลา ขยายรายละเอียดให้ฟังว่า การจัดรายการโทรทัศน์ 2 ภาษามีการเตรียมการมานานแล้ว เดิมนายสุรนันทน์ ต้องการให้ออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง เพราะต้องการให้เป็นสถานีโทรทัศน์ของประชาชนในพื้นที่จริงๆ


โดยนายสุรนันทน์ เสนอว่าน่าจะให้เป็น "ทีวีกีตอ"หรือ "โทรทัศน์ของเรา" เป็นสโลแกนหลัก โดยต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรายการที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต ศาสนา วัฒนธรรม กีฬา บันเทิงตามศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น จะมีการคัดเลือกละครที่ดีๆ มาฉาย รวมทั้งสารคดีที่มีประโยชน์ทั้งเรื่องศาสนา วิถีชีวิตมุสลิมในต่างประเทศ และเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น


 "ถ้ารายการที่เป็นภาษาไทย ก็จะมีไตเติ้ลเป็นภาษามลายู ส่วนรายการที่เป็นภาษามลายูก็จะมีไตเติ้ลเป็นภาษาไทย เพื่อให้เข้าใจเนื้อเรื่องคร่าวๆก่อน ถือเป็นรายการ 2 ภาษาอย่างแท้จริง นอก จากนั้นก็จะเป็นรายการที่มีการใช้ทั้ง 2 ภาษาในรายการเลย"


แต่เพื่อความมั่นใจในคุณภาพ เขาบอกว่า ทุกรายการจะมีคณะกรรมการที่ปรึกษาผังรายการ ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยทักษิณ และ วิทยาลัยอิสลามยะลา มาดูแลเรื่องการใช้ภาษามลายูที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด


นอกจากนี้ยังร่วมกำหนดกรอบ รูปแบบและเนื้อหารายการ ซึ่งในช่วงแรกจะอากาศวันละ 8 ชั่วโมงก่อนตามกำลังที่มีอยู่ เพราะขณะนี้ออกอากาศได้เพียง 5 ชั่วโมงเท่านั้น คาดว่าอีก 15 วัน น่าจะออกอากาศได้เต็มรูปแบบ


โดยช่วงแรกจะมีการถ่ายทอดสารคดีเรื่องหยาดน้ำพระราชหฤทัย 20 ตอน ส่วนรายการอื่นๆ เช่น รายการอินไซด์ปอเนาะ ถ่ายทอดทุกวันศุกร์ในเดือนรอมฎอน รวมทั้งรายการของกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) ด้วย


 "สำหรับการถ่ายทอดสดการละหมาดตะรอเวียะห์ได้เริ่มไปแล้วตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 4 ตุลาคม 2548 ซึ่งเป็นคืนแรกที่มีการละหมาดตะรอเวียะห์ นอกจากนี้ยังมีรายการบรรยายธรรมเกี่ยวกับการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ต่อไปจะมีรายการท้องถิ่นอิ่มบุญ รายการเสน่ห์สลาตัน และรายการสภาเยาวชนที่ให้เยาวชนทุกศาสนามาคุยกัน"


สำหรับมุมมองมองของสื่อท้องถิ่นอย่าง นายอูเซ็น ยูโซะ นักจัดรายการวิทยุชื่อดังของจังหวัดปัตตานีเสนอแนะว่า น่าจะให้มีรายการสารคดีเกี่ยวกับชีวประวัติของศาสดาในศาสนาอิสลาม เพราะง่ายต่อการทำความเข้าใจของประชาชนในพื้นที่ และอยากให้มีรายการสอนหลักการศาสนาอิสลามเบื้องต้น เพราะมีชาวบ้านอีกมากที่ไม่เข้าใจหลักปฏิบัติ เช่น การละหมาด การถือศีลอด


 "ผมอยากให้มีความหลากหลายด้วย ไม่เน้นเฉพาะรายการศาสนา เช่น เรื่องกฎหมาย การซื้อขายที่ดิน การโอนกรรมสิทธิ์ แต่ต้องอธิบายง่ายๆ ให้ชาวบ้านเข้าใจ เพราะถ้าเข้าใจยากเขาก็จะไม่ดู ที่สำคัญคือรายการเกี่ยวกับสุขภาพ โดยอธิบายตามหลักศาสนาร่วมกับหลักทางการแพทย์ เช่น การสวมรองเท้าเข้าห้องน้ำในทางศาสนาอิสลามว่าอย่างไร ทางการแพทย์ว่าอย่างไร"


เขายังให้ความเห็นว่า ไม่ควรแทรกภาษาไทยเข้าไปในรายการภาษามลายู โดยเฉพาะในรายการที่เกี่ยว กับการสอนศาสนาเพราะว่าชาวบ้านจะงง อีกอย่างโต๊ะครูเองก็ไม่เข้าใจภาษาไทย


"ยกตัวอย่างมีโต๊ะครูคนหนึ่งที่มาออกอาการในรายการของผม เขาต้องการพูดในรายการว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีคนใหม่ เป็นเหมือนพ่อของเรา แต่ด้วยความไม่เข้าใจภาษาไทย เขาไปพูดว่าผู้ว่าราชการจังหวัดคือเจ้าพ่อของจังหวัดปัตตานี คนฟังเองจะเข้าใจว่าเขาต้องการสื่ออะไร แม้ว่าเขาจะพูดไม่คล่อง แต่ถ้าเป็นคนทั่วไปก็ไม่รู้ว่าเขาจะคิดอย่างไร อาจจะเข้าใจผิดได้" นายอูเซ็น กล่าวและว่า ส่วนมากถ้ามีการถาม-ตอบในรายการโต๊ะครูจะไม่ตอบทันทีแต่จะเก็บคำถามไว้แล้วไปค้นคว้าหาคำตอบ หรือไม่ก็หาคนมาตอบแทน


 "ถ้าเป็นรายการที่มีการพูดกันหลายๆ คน เช่น มีทหาร นักกฎหมาย แล้วมีโต๊ะครูมาเสวนาด้วย โต๊ะครูจะเสียเปรียบ พูดไม่ออกเพราะลักษณะทั่วไปของโต๊ะครูคือ จะยกโองการในคัมภีร์อัล - กุรอ่าน และวัจนของศาสดามูฮำหมัดมาก่อน จากนั้นก็จะอธิบายไปเรื่อยๆ จนเห็นภาพ เพราะฉะนั้นโต๊ะครูจะไม่คุ้นกับงานที่ต้องเข้มงวดกับเรื่องเวลาอย่างรายการวิทยุและโทรทัศน์มากนัก โดยเฉพาะโต๊ะครูที่เก่งๆ ซึ่งเราอยากให้เขามาออกรายการมาก แต่เขาไม่เอา นอกจากไปบันทึกการสอนของเขามาเปิดเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าโต๊ะครูที่มาออกรายการไม่เก่ง"


ทั้งนี้จากการสำรวจ พบว่า คนที่ฟังรายการของเขาร้อยละ 80 เป็นชาวบ้านธรรมดาและเป็นผู้ใหญ่ ส่วนเด็กๆ มักจะดูโทรทัศน์มากกว่า


 "รายการของผมยังไม่ได้รับเสียงสะท้อนมาว่าเป็นการส่งรหัสอย่างที่นายรัฐมนตรีบอก แต่บางครั้งฝ่ายความมั่นคงก็มาขอความร่วมมืออยู่บ้าง เช่น ในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมาก็มาขอให้เปิดคำอวยพรของแม่ทัพภาคที่ 4 หรือมาขอให้พูดถึงปัญหายาเสพบ้าง เป็นต้น ผมเองก็เคยเชิญตำรวจมาออกรายการบ้าง เช่น มาให้ความรู้เรื่องกฎหมายจราจร แต่ช่วงหลังๆ เลิกไป เพราะหาเวลาที่ว่างพร้อมกันไม่ค่อยได้"


สำหรับรายการที่นายอูเซ็นเป็นผู้จัดได้แก่ รายการมุสลิมสัมพันธ์ ทางสถานีวิทยุกองทัพภาคที่ 4 เวลา 21.30 - 22.00 น. เว้นวันอาทิตย์ รายการเสียงสัจธรรม เวลา 22.10 - 23.00 น.ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดปัตตานี รายการวิถีชีวิต เวลา 20.30 - 21.00 น.ทุกวัน ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดปัตตานี โดยเป็นรายการที่เชิญโต๊ะครูมาบรรยายธรรมผ่ายสถานีวิทยุ


ด้านนายวรวิทย์ บารู รองประธานคณะอนุกรรมการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ในพื้นที่ ในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดที่รัฐบาลจะให้สถานีวิทยุ และสถานีโทรทัศน์ในท้องถิ่นเผยแพร่รายการด้านศาสนาในช่วงการถือศีลอด ว่า มีหลักการดี แต่ห่วงในเนื้อหาที่ออกรายการ โดยเฉพาะผู้ดำเนินรายการนั้น ไม่ใช่เพียงจะพูดภาษามลายูได้อย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องมีความรู้ที่ถูกต้องด้วยมินั้นชาวบ้านก็จะไม่มีความเชื่อถือ และมองเป็นภาพด้านลบ เพราะมุสลิมทุกคนรู้หลักการในศาสนาเป็นอย่างดี แต่จะมีวิธีการอย่างไรในการอธิบายถึงการนำหลักศาสนาต่างๆ ไปใช้ในชีวิตประจำวัน


ยุทธวิธีด้านสื่อเป็นอีกกระบวนท่าหนึ่งของรัฐบาลที่นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบภาคใต้ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ประชาชน  ต้องติดตามกันต่อไปว่าทีวีกีตอ จะสยบยุทธวิธีข่าวลือของฝ่ายตรงข้ามได้หรือไม่ร่าง




หมายเหตุ :


1. เวลา 23.00 น. เฉพาะในเดือนรอมฎอน(ระหว่าง 4 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2548) มีการถ่ายทอดสดการละหมาดตะรอเวียะห์ จากเมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
2. * ช่วงเวลาดังกล่าวจะมีการแทรกเสียงอาซานเมื่อถึงเวลาที่กำหนดละหมาดวันละ 5 เวลาของชาวมุสลิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net