Skip to main content
sharethis


ประชาไท—23 พ.ย. 48     คณะวิจัยเพื่อธรรมาภิบาลการไฟฟ้า ชี้คณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้าชั่วคราวที่รัฐบาลแต่งตั้งไร้อำนาจ ไม่ตอบสนองการมีส่วนร่วมของประชาชน แนะควรใส่ใจโครงสร้างกิจการไฟฟ้าทั้งหมด จี้รัฐทบทวนโดยนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในกฎหมายแต่งตั้งกรรมการครั้งต่อไป

 


หลังจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้าชั่วคราวทั้งหมด 7 คน โดยมี นายยงยุทธ  วิชัยดิษฐ อดีตประธานกรรมการการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) เป็นประธานกรรรมการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า พ.ศ.2548 วันนี้ คณะวิจัยโครงการศึกษา"ธรรมาภิบาลกิจการไฟฟ้าในประเทศ" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สถาบันพระปกเกล้า กลุ่มพลังไทและสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.) ได้นำเสนอกรณีปัญหาของคณะกรรมการชุดดังกล่าวและข้อเสนอต่อรัฐบาล ณ ห้องประชุมรำไพพรรณี สถาบันพระปกเกล้า


 


นางชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน กลุ่มพลังไท มองว่าคณะกรรมการฯ ที่รัฐบาลแต่งตั้งนั้นมีจุดอ่อนที่สำคัญมากคือมีเพียงระเบียบสำนักนายกฯ ที่ใช้รองรับการแต่งตั้ง ขณะที่บริษัท กฟผ.จำกัด(มหาชน) มีสิทธิผูกขาดถูกต้องตามพระราชบัญญัติซึ่งมีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่า ทำให้คณะกรรมการฯ ทำได้เพียงขอความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เท่านั้น ทั้งการแต่งตั้งก็ไม่มีมาตรการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนอีกด้วย


 


"คณะกรรมการฯ เมื่อออกจากตำแหน่ง สามารถออกไปดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้เลย โดยไม่มีมาตรการกำหนดให้เว้นวรรคแต่อย่างใด ซึ่งทำให้มีช่องโหว่และอาจเป็นการเอื้อต่อธุรกิจส่วนตัวในอนาคตได้ ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคขาดความมั่นใจ และคณะกรรมการฯ ชุดนี้ยังไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะถ่วงดุลระหว่างเอกชนกับผู้บริโภคด้วย" นางชื่นชม กล่าว


 


นอกจากนี้ นางชื่นชมยังตั้งข้อสังเกตว่า เกณฑ์การคัดเลือกคณะกรรมการฯ ในครั้งนี้ไม่มีความชัดเจนด้านองค์ประกอบของทั้ง 7 คน ซึ่งควรมีหลักสมดุลของทั้งมุมมองและความคิด หรือระบุสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ และควรมีมาตรการเพื่อไม่ให้แสวงหาประโยชน์ในอนาคต จึงต้องจับตามองต่อไปว่าคณะกรรมการฯ ชุดนี้จะปฏิบัติตนเพื่อเอื้อต่อธุรกิจหรือเป็นกลางได้หรือไม่


 


ทั้งนี้ นางชื่นชม เห็นว่า การจัดตั้งคณะกรรมการฯ เป็นก้าวย่างที่ดีขึ้น แต่ว่ายังมีขอบเขตหน้าที่จำกัดจึงไม่เห็นผลในทางปฏิบัติมากนัก เป็นเพียงการสร้างตัวละครขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่อธิบายแทนรัฐ ซึ่งท้ายที่สุดการตัดสินใจจริงๆ ก็อยู่ที่รัฐบาล จึงไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการ


 


"ที่สำคัญคือโครงสร้างกิจการไฟฟ้า ต้องชัดเจนว่าควรมีการแข่งขันหรือไม่ ซึ่งตอนนี้การดำเนินการในเรื่องหลักใหญ่นี้ยังถูกปิดกั้นอยู่และไม่ได้นำมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เราอยากให้เริ่มต้นใหม่โดยพูดถึงโครงสร้างก่อนที่จะมุ่งระดมทุนหรือกระจายหุ้น" ตัวแทนกลุ่มพลังไท กล่าว


 


ด้าน นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ความจริงแล้วคณะกรรมการฯ ควรมีพระราชบัญญัติรองรับการแต่งตั้งก่อนที่จะมีการแปลงสภาพและแปรรูปกิจการไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นแนวทางปฏิบัติสากลที่ทำกันในประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปโครงสร้างของระบบไฟฟ้าเพื่อไม่ให้มีลักษณะผูกขาด แต่ควรสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันเพื่อให้เอื้อต่อการกำกับดูแลที่ดี


 


ทั้งนี้ นายศุภกิจ เห็นว่า โครงสร้างการผูกขาดของกิจการไฟฟ้าที่เป็นอยู่เป็นอุปสรรคต่อการกำกับดูแลเป็นอย่างมาก ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันเสรีมากกว่านี้ โดยภาพรวมของการวิจัยมีการมองถึงปัญหาและข้อเสนอ ซึ่งมุ่งหวังให้สังคมและรัฐบาลร่วมกันวิเคราะห์ปรับปรุงกระบวนการต่างๆ เพื่อประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน


 


"เราสนใจกรอบและกระบวนการในการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อหามาตรการกำหนดที่ชัดเจนโดยไม่ว่าใครจะเข้ามารับหน้าที่นี้ก็ต้องตัดสินใจในธรรมาภิบาลเพื่อประโยชน์ของประชาชน และมีอำนาจจริงสามารถถ่วงดุลจากสังคมได้ด้วย ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการฯชั่วคราวยังไม่สามารถนำไปสู่การกำกับดูแลที่ดีได้" นายศุภกิจ กล่าว


 


ขณะเดียวกัน นักวิจัยจาก สวรส. กล่าวอีกว่า "ผู้บริโภคต้องการมีส่วนร่วมกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า แต่ในสังคมไทยผู้ใช้ไฟฟ้ามีความแตกต่างกันมาก เช่น ระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมกับครัวเรือน  แต่ปัจจุบันรัฐบาลให้น้ำหนักผู้บริโภครายใหญ่คือสภาอุตสาหกรรมเป็นหลัก แต่ผมอยากเห็นกระบวนการของรัฐบาลที่ให้ผู้บริโภครายย่อยมีส่วนร่วมให้มากกว่านี้"


 


ด้านนางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการฯ ชุดนี้ยังไม่ปรากฏให้เห็นถึง กลไกการสรรหา การตัดสินใจและกระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งยังไม่มีกลไกเชื่อมโยงรับเรื่องราวร้องทุกข์และการเยียวยาต่อภาคประชาชนอีกด้วย


 


นางสาวสายรุ้ง เสนอว่า "คณะกรรมการฯ ต้องมีตัวแทนของผู้บริโภคทั้งในขั้นตอนการตัดสินใจและกำกับดูแล ซึ่งจากการวิจัยพบว่าในประเทศไทยประเมินได้ต่ำสุด แม้ว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนจะมีผลการประเมินสูงสุดในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมา โดยดูจากข้อมูลการยื่นร้องเรียนทบทวนค่าเอฟที แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า เป็นต้น แต่เป็นเพียงการพยายามเข้าไปขณะที่ไม่มีช่องทาง ซึ่งการมีคณะกรรมการฯ ก็ไม่ได้ช่วยให้มีช่องทางมากขึ้นแต่อย่างใด


 


สำหรับวันที่ 24 พ.ย.นี้ สอบ.จะเข้าหารือกับคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เจ้าของร่างพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งองค์กรภาคประชาชนต่างๆ กำลังดำเนินการจัดทำสื่อเผยแพร่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net