Skip to main content
sharethis






ลองหลับตา ย้อนนึกกลับไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 จนถึงวันนี้ แล้วถามตัวเองว่า หากเราย่นย่อเวลาได้เท่ากับระยะที่สมองและหัวใจส่งสัญญาณได้ "คุณเห็นใครในปีที่ผ่านมา" และนี่คือโจทย์ที่กองบรรณาธิการประชาไทแต่ละคนได้รับ เพื่อให้มันเหมาะกับวาระแห่งการสรุปบทเรียนอย่างในช่วงปีเก่าผ่าน-ปีใหม่มานี้


 


โปรดอย่าเพิ่งคิดว่า บุคคลที่อยู่ในหัวข้อข้างบนเป็นบุคคลที่ "ประชาไท" จัดให้เป็น "The Visible Man" ของเรา เพราะบทวิพากษ์วิจารณ์ต่อจากนี้ เป็นการนำเสนอคนที่อยู่ในสายตาในรอบปี 2548 จากบุคคลในกองบรรณาธิการประชาไท คนที่ 1 ที่ผ่านการสืบค้น วิเคราะห์ วิพากษ์ ชั่ง ตวง วัด และให้น้ำหนัก จากจำนวนทั้งหมด 8 คน ซึ่งจะทยอยนำเสนอวันละคนจนครบ 8 ก่อนที่เรา "กองบรรณาธิการประชาไท" จะได้ร่วมกันประชุม ถกเถียง และเลือกโดยใช้หลักฉันทามติ ซึ่งก็คือ ทุกคนจะต้องเห็นพ้องต้องกันอย่างปราศจากข้อข้องใจ เพื่อให้ได้ "The Visible Man" ของ "ประชาไท" โดยมี อ.รุจน์ โกมลบุตร จากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการประชุม


 



ท่ามกลางเหล่าพญาเหยี่ยวในสถานการณ์ภาคใต้เต็มคณะรัฐมนตรี พิราบน้อยตัวหนึ่งกำลังทำงานอย่างเงียบๆ จาตุรนต์ ฉายแสง หรือ "อ๋อย" คือพิราบตัวนั้น


 


ทั้งนี้หากติดตามวิธีการแก้ปัญหาของรัฐต่อสถานการณ์ภาคใต้จะเห็นว่า รัฐตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง เน้นไปที่ทำให้เจ็บ  ทำให้จำ ทำให้หาย และทำให้ตาย!


 


ทว่า "จาตุรนต์" ซึ่งเป็นบุคคลในรัฐบาลด้วยกลับชูธงในทางตรงข้ามมาตั้งแต่เหตุการณ์เริ่มประทุเมื่อต้นปี 2547 จนถึงปัจจุบัน แม้แนวทางของเขามักจะถูกเก็บเข้ากรุบ่อยๆ ก็ตาม


 


หากย้อนกลับไปช่วงหลังเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคมปีก่อน จาตุรนต์เป็นบุคคลแรกๆ ที่ส่งทีมเข้าไปทำงานในพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกมาวิเคราะห์หาแนวทางนำเสนอ จนนำมาสู่การเรียกร้องให้รัฐบาลใช้แนวทางจัดการปัญหาภาคใต้ลักษณะเดียวกับพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 6 คืออย่าให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปสร้างปัญหาและอย่าสร้างความรู้สึกแบ่งแยกให้กับคนในพื้นที่ พูดง่ายๆ คือปกครองด้วยความเข้าใจคนในพื้นที่ ไม่ใช่ปกครองแบบกดด้วยอำนาจ


 


รัฐบาลมีทีท่าเหมือนจะรับนโยบายนี้ แต่เมื่อเหล่าขุนพลเหยี่ยวที่แวดล้อมนายท่านรู้สึกว่าไม่ได้ใช้อำนาจจึงไม่ถูกใจ เหล่าเหยี่ยวกระหายเลือดจึงกดดันให้ไปใช้แนวทางแห่งความหวาดกลัว ส่วนนโยบายของพิราบน้อยตัวนี้ถูกพับไป


 


ต่อมากระแสสังคมเริ่มทนไม่ไหวกับโหดร้ายและความตายอันมากมายหลายครั้งในภาคใต้ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลหาแนวทางสันติมาใช้ รัฐบาลจึงต้องจำยอมตั้ง คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) ขึ้น ด้วยแนวทางประนีประนอม ละมุนละม่อมของจาตุรนต์ กอส.จึงเลือกเขามาร่วมทีมแก้ปัญหาภาคใต้ด้วย ขณะนั้นเขาดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี


 


หลังการกลับมามีบทบาทในเรื่องภาคใต้ครั้งนี้ เขามุ่งไปที่รักษาแผลทั้งทางกายและใจให้กับเหล่าบุคคลที่ถูกผลกระทบจากการที่เหยี่ยวรัฐฟัดกับเหยี่ยวภาคใต้เป็นอันดับแรก ด้วยการเข้าไปมาเป็นประธานคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คณะกรรมการเยียวยา )


 


นอกจากนี้ บทบาทหลักของเขาใน กอส. คือตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมความไว้วางใจ ความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ตอนนี้คณะทำงานดังกล่าวได้ผลิตงานวิจัย การดำเนินกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ : ปัญหาและแนวทางแก้ไขออกมาเผยแพร่แล้ว


 


ต้องยอมรับว่าความยุติธรรมเป็นเงื่อนไขสำคัญในการก่อความไม่สบในภาคใต้ การศึกษากระบวนการตรงนี้เพื่อนำมาสู่การปฏิบัติให้เข้ารูปเข้ารอยเป็นสิ่งสำคัญ (ห่วงแต่เพียงว่านายท่านจะไม่รับอีก เพราะมีพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการฉุกเฉินเป็นหลักแห่งความยุติธรรมแบบรัฐบาลนี้อยู่แล้ว)


 


อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากในสังคมไทย เพราะคนไทยถูกปลูกฝังให้ยอมรับเอกลักษณ์และวัฒนธรรมเดี่ยวมาตลอด แต่จาตุรนต์ดูจะเข้าใจและสนใจตรงนี้กว่าขุนพลอื่นๆ ของนายท่าน จึงพยายามสร้างความเข้าใจกับสังคมในเรื่องนี้หลายครั้งแม้นายท่านจะไม่ฟังและเอ่ยถึงสิ่งที่นายจาทำเลยก็ตามก็ตาม


 


และหลังจากรัฐบาลมี กอส. ไว้รับแรงเสียดทานในการแก้ปัญหาเรื่องภาคใต้แทนแล้ว เขาก็ไม่จำเป็นในสายตานายท่านอีกต่อไป คือรัฐบาลไม่จำเป็นต้องมีผู้มีภาพแห่งทางสันติไว้รับหน้าแทนขุนพลเหยี่ยวอีก เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้น สังคมจะด่า กอส. ไว้ก่อน  เขาจึงถูกขยับให้ไปรับหน้ากับปัญหาครูแทน ต้นเดือนสิงหาคมนายท่านจึงให้จาตุรนต์ นกพิราบ ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังดีที่ว่าหน้าที่และบทบาทของเขาใน กอส. และบทบาทในคณะกรรมการเยียวยา ไม่ได้ถูกสั่งริบไปด้วย


 


แม้จะไม่มีบทบาทในรัฐบาลเกี่ยวกับภาคใต้โดยตรงเหมือนครั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี แต่เขาก็แอบปิดทองด้านความสมานฉันท์ไปกับบทบาททางการศึกษาที่มี เขาเริ่มวางนโยบายแก้ปัญหาภาคใต้ในระยะยาว โดยปรับกระบวนการศึกษาเรียนรู้ในภาคใต้ให้มีลักษณะที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ในระยะแรกคือให้พื้นที่ทางภาษากับนักเรียนในพื้นที่มากขึ้น คือเปิดโอกาสในการเลือกใช้ภาษาในการเรียนการสอน


 


 "ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ เพราะการศึกษาและภาษาจะทำให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งเราต้องเข้าใจก่อนว่าเรื่องการใช้ภาษาเป็นสิทธิที่ต้องเคารพว่าเขามีสิทธิที่จะเลือกใช้ภาษาของพ่อแม่ ซึ่งหากประชาชนไม่เข้าใจตรงนี้ก็จะไม่มีวันเข้าใจเลย เมื่อยอมรับแล้วก็ต้องส่งเสริมให้เด็กได้เรียนภาษาไทยมากขึ้น นี่เป็นหน้าที่ของรัฐ"


 


นอกจากนี้เมื่อรัฐโยนหินถามทางเรื่องการปิดโรงเรียนปอเนาะลงมา จาตุรนต์มีท่าทีในทางตรงข้ามอย่างชัดเจนและยืนยันว่าจะไม่มีการปิดปอเนาะ


 


"การส่งเสริมและพัฒนาโรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถือเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และโดยกฎหมาย ที่ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามจะมีการเปิดสอนศาสนาหรือความรู้อื่นขึ้น กระทรวงศึกษาธิการ และรัฐบาล มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุน"


 


ทุกวันนี้นายจา ยังนั่งปิดทองที่กระทรวงศึกษาธิการอย่างขยันขันแข็งจนนกกระจอกข่าวถึงกับบ่นว่าจะขยันอะไรนักหนาดึกแล้วบ้านช่องช่องยังไม่ยอมกลับ คุ้มดีคุ้มร้ายแกก็แถลงข่าวตอนกลางคืนเสียดื้อๆ


 


แน่นอนว่า นายท่านจ้าวแห่งเหยี่ยวยังไม่ค่อยใยดีพิราบน้อยตัวนี้เช่นเดิม แต่พิราบก็ทำหน้าที่ด้วยความเงียบของเขาต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วจนถึงปีนี้ โดยไม่โอดครวญร่ำร้องเหมือนกลุ่มต่างๆ ที่ข่าวฉาวๆออกมากันมากมาย


 


เอาเป็นว่า แม้ปัจจุบันงานของนายจาพิราบน้อยจะไม่ค่อยเป็นข่าว  แต่งานหลังพระที่เขาทำล้วนเป็นหัวใจหลักในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ในระยะยาวที่รัฐต้องสนใจทั้งสิ้น เขาจึงสมควรถูกเสนอให้เป็น The Visible Man ผู้ปิดทองหลังพระในปีนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net