Skip to main content
sharethis


 


โดย บำเพ็ญ ไชยรักษ์


 


ประชาไท—21 ม.ค. 2549 ปิดให้แซด สผ.  รับใบสั่งการเมือง  ลักไก่ชงเหมืองโปแตชเข้าบอร์ดกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติด่วนจี๋  23 มกราคม 2549 กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรฯ ฉุนเตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง


 


เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2549 ที่ผ่านมานายชนินท์  ทองธรรมชาติ  หัวหน้าสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม  สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)  ร่วมกับนายสุรพงษ์  เชียงทอง  กรมทรัพยากรพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และเจ้าหน้าที่จากบริษัทเอเซียแปซิฟิกโปแตช คอร์ปอร์เรชั่น (เอพีพีซี)  ได้จัดประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาเรื่องโครงการเหมืองแร่โปแตช  และสรุปข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  ในวันที่ 23 มกราคม 2549 นี้


 


แหล่งข่าวจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  กล่าวว่า สผ.ได้มีจดหมายเชิญประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในสัปดาห์นี้  โดยในหนังสือเชิญนั้นไม่มีวาระเรื่องเหมืองแร่โปแตชแต่อย่างใด  แต่ในที่สุด สผ.ขอเลื่อนการประชุมเป็นวันที่ 23 ม.ค. โดยจะมีนายสุริยะ  จึงรุ่งเรื่องกิจ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม    ห้องประชุมอรรถไกรวัลวที   สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  ทำเนียบรัฐบาล  เวลา 14.00 น.  โดยบรรจุโครงการเหมืองแร่โปแตชเข้าพิจารณาใน 3 ประเด็นคือ 


 


-           นโยบายการพัฒนาแหล่งแร่โปแตชอุดรธานีและภาคอีสานจำเป็นจะต้องมีหรือไม่


 


-           แร่โปแตชมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างไรและมีปัญหาอุปสรรคใดบ้าง


 


-           จะมีความคิดเห็นอย่างไรต่อการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชในจังหวัดอุดรธานี


 


ด้านนายหาญณรงค์  เยาวเลิศ  สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในวันที่ 23 มกราคม 2549 นี้ จะมีการพิจารณาเรื่องการทำความตกลงเรื่องการทำสัญญาระหว่างรัฐบาลไทย  กับรัฐวิสาหกิจจีนเรื่องการทำเหมืองแร่โปแตชจังหวัดสกลนคร ดังนั้นรัฐบาลจึงนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  เพื่อขอความเห็นชอบในการดำเนินการ


 


นายสุวิทย์  กุหลาบวงศ์  ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาปัญหาดินเค็มและการจัดการทรัพยากรแร่ภาคอีสาน  กล่าวว่าภายหลังจากที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้ง ครม.สัญจรจังหวัดเลย วันที่ 9-10 มกราคม 2549 ที่ผ่านมา  และได้ร่วมกับเครือข่ายชาวบ้านติดตามนโยบายประชานิยมและการแก้ไขปัญหาความยากจน  ได้เข้าพบทำความตกลงกับนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่สนามบินจังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งมีข้อตกลงว่าจะไปพบและพูดคุยกันกรณีปัญหาเหมืองแร่โปแตช  และความเดือดร้อนอื่น ๆ ในภาคอีสาน ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นเหตุให้หน่วยงานราชการ  และฝ่ายการเมืองออกมาเคลื่อนไหวรับลูก  เพื่อเตรียมป้อนข้อมูลให้นายกฯ  และเป็นสิ่งที่น่าสงสัยว่าเหตุใดจึงได้มีการเคลื่อนไหวร่วมกันระหว่าง สผ.   กพร.  และบริษัทเอพีพีซี  เจ้าของโครงการตลอดจนการแอบสอดเรื่องเหมืองแร่โปแตชเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอย่างเร่งด่วน  โดยที่ชาวบ้านไม่ได้ร่วมรับรู้ด้วย  ซึ่งมันก็เหมือนกับการผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตชซึ่งปกปิดข้อมูลที่ประชาชนควรรู้ของฝ่าย  สผ.   กพร.  และบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัญญา  ที่ต้องใช้ช่อง พรบ.ข้อมูลข่าวสารฟ้องร้องประชาชนจึงได้มาอ่าน  การผ่านความเห็นชอบรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2543  ก่อนที่จะมีกฎหมายแร่ที่อนุญาตให้ทำเหมืองใต้ดินในปี 2545  ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอนกฎหมายแร่  และยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ทำเหมือง ไม่มีแผนที่ขอบเขตเหมืองประกอบ  แต่ สผ.ก็หลับหูหลับตาให้ความเห็นชอบไป  แล้วประชาชนคนไทยจะเชื่อมั่นอะไรได้กับระบบการพิจารณารายงานอีไอเอของสผ.  


 


ด้านนายปัญญา  โคตรเพชร  รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  เปิดเผยว่า  ภายหลังได้ทราบข่าวนี้กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ประชุมกันอย่างเร่งด่วน และมีความคิดเห็นว่ากลุ่มได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีที่จังหวัดเลย  โดยมีสาระสำคัญเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการพิจารณาโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี  และระบุว่าการดำเนินการใด ๆ  เกี่ยวกับเรื่องนี้ต้องเป็นไปอย่างเปิดเผยมิใช่งุบงิบกันเอง  ซึ่งการร่วมกันระหว่าง  สผ.  กพร.  และบริษัทครั้งนี้นับเป็นการกระทำที่ไม่เห็นหัวชาวบ้าน  และการประชุมครั้งนี้เป็นการผลักดันให้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อ  รายงานอีไอเอฉบับเพิ่มเติมของบริษัท  ซึ่งกลุ่มฯ  ได้ยืนยันเรียกร้องมาตลอดว่าต้องยกเลิกอีไอไอที่ผิดขั้นตอน  กลุ่มฯ จึงได้มีมติกันว่าจะเคลื่อนขบวนประมาณ 300 คนเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  คัดค้านการพิจารณาอีไอเอฉบับเพิ่มเติม  และขอให้ยกเลิกอีไอเอฉบับเก่าให้จัดทำและพิจารณาใหม่  ในวันที่ 23 มกราคม 2549 นี้ที่สถานที่ประชุม  ทำเนียบรัฐบาล  และจะดำเนินการให้ถึงที่สุดเรื่องความผิดพลาดในการให้ความเห็นชอบอีไอเอโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีไปแล้วเมื่อปี 2543 นั้น  เพราะสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องรับผิดชอบ ในโอกาสนี้กลุ่มจะได้เดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้เอาผิดกับ สผ. ที่ได้ทำหน้าที่ผิดพลาดจนเป็นผลให้เกิดความขัดแย้ง  และจะสร้างความเสียหายต่อชุมชน นายปัญญากล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net