Skip to main content
sharethis

สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนา "นคราประชาธิปไตยทางรอดสังคมไทย" โดยมี ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และ ดร.เกษียร เตชะพีระ จากรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มาอธิบาย สภาพแห่งสองนคราปัจจุบันและอนาคตรวมทั้งภาพรวมของทางออก

 

 

หลังเหตุการณ์เดินขบวนขับไล่รัฐบาลเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้นำเสนอทฤษฎีที่เรียกว่า "สองนคราประชาธิปไตย" อันให้ภาพธรรมชาติลักษณะของสังคมการเมืองไทยไว้ กล่าวคือ "คนชนบทคือผู้เลือกรัฐบาล ส่วนคนในเมืองคือผู้ล้มรัฐบาล"

 

 

จนกระทั่งเวลานี้ สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับ "รัฐบาลทักษิณ" คล้ายกับกำลังก้าวเข้าสู่วงจรแห่งสองนคราประชาธิปไตย เช่นกัน

 

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 3/2549 ในหัวข้อ "นคราประชาธิปไตยทางรอดสังคมไทย" โดยมี ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และ ดร.เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาอธิบาย สภาพแห่งสองนคราปัจจุบันและอนาคตรวมทั้งภาพรวมของทางออกในมุมมองของแต่ละคน นอกจากนี้ นักวิชาการรัฐศาสตร์ทั้งสามยังได้ให้ความเห็นต่อประเด็น มาตรา 7 ที่กำลังร้อนแรงอยู่ในเวลานี้ด้วย

 

รายงานเสวนานี้จึงขอแบ่งเป็นสองตอนจากเรื่องราวที่พูดคุยกัน โดยตอนที่ 1 ว่าด้วยสองนคราประชาธิปไตย และตอนที่ 2 ว่าด้วยมาตรา 7

 

0 0 0

 

ตอนที่ 1

ว่าด้วยนคราประชาธิปไตย

 

ดร.ชัยวัฒน์ : อาจารย์อเนก เสนอไว้ว่า มีความแตกต่าง 2 อย่างที่อยู่ด้วยกัน ข้อสงสัยคือมันอยู่ด้วยกันอย่างไร ผมขอตอบว่า มันอยู่ด้วยระบบแบ่งปัน 3 อย่าง คือระบบแบ่งปันเรื่องเวลา ระบบแบ่งปันเรื่องพื้นที่ ทั้งสองอันนี้นำไปสู่ระบบแบ่งปันเรื่องอำนาจ

 

ระบบแบ่งปันเรื่องเวลา หมายความว่า ประชาธิปไตยแบบนครชนบท ถูกบอกว่าเวลาของประชาธิปไตยถูกแบ่งบทมาให้ในเวลาเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้หมายความถึงวันเลือกตั้งอย่างเดียว หมายถึงทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เวลานั้นอำนาจไปอยู่ที่ชาวบ้าน คือเป็นคนเลือก เขามีสิทธิ์บอกว่าอยากได้ใครมาเป็นผู้แทน

 

แต่อีกนครหนึ่งเป็นประชาธิปไตยที่บอกว่า เวลาอื่นเป็นประชาธิปไตยของเขาด้วย เป็นเวลาแสดงสิทธิ เป็นเวลาบอกว่าอยากได้อย่างไรจากกระบวนการทางการเมือง โดยมีพื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจหลายอย่างรองรับ

 

หลายท่านคงทราบว่า พื้นที่หลายพื้นที่เวลาไปลงคะแนนเสียงต้องลงทุน หมายความว่า ไปกาลงคะแนนเสียงต้องขาดรายได้ ต้นทุนที่จะไปลงทุนในการเลือกตั้งมีน้อย ใช้ไปในเวลานั้นแล้วก็หมดเวลาทำอย่างอื่นต่อไป ปล่อยให้คนอื่นว่าไป แต่อีกนครไม่ใช่อย่างนั้น มีต้นทุนอย่างอื่นสามารถใช้อำนาจในเวลาอื่นได้ นี่เป็นข้อแตกต่าง

 

สอง เรื่องพื้นที่ ในนครแบบหนึ่งเชื่อว่า พื้นที่ทางการเมืองเป็นพื้นที่ที่เป็นสาธารณะมาก และปรากฏในวันเวลาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง คือทุกอย่างที่ไม่เป็นส่วนตัว เวลามีเรื่อง ก็ไปบ้าน ส.ส.ได้ บ้านต้องเปิด

 

ในนครอีกนครเป็นพื้นที่ไม่ใช่ส่วนตัวแบบนั้น เขาจะเข้ามามีบทบาท ส.ส.จะลงมติอย่างไร ทักษิณจะไปขึ้นศาลปกครองอย่างไร จะเป็นพื้นที่ที่เขาต้องมามีส่วนร่วม

 

ระบบทั้งสองจึงนำมาสู่การแบ่งสรรอำนาจ ถ้าเดินตามสองนคราปกติ เมื่อนครหนึ่งเลือก อีกนครไม่ชอบ ก็จะแสดงให้เห็นว่าไม่ชอบ ก็แบ่งเวลาแบ่งอำนาจกัน ก็อยู่กันมาได้

 

ปัญหาตอนนี้มีว่า สังคมไทยมาถึงจุดที่ระบบแบ่งปันทั้งสองนครกำลังถูกนำมาปะทะกัน เวลาก็ปะทะกัน เห็นได้ว่าสายหนึ่งอยากเลือกตั้งเหลือเกิน เพราะเป็นเวลาที่เขาต้องใช้อำนาจแล้ว สำหรับรัฐบาลการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน มีความสำคัญในฐานะการสถาปนาความชอบธรรมอีกครั้ง แต่ในสายตาของชาวบ้านคืออำนาจที่เขาได้ใช้ แต่ส่วนอีกฝ่ายก็ไม่ต้องการให้รัฐบาลสถาปนาความชอบธรรมนั้น

 

 

ดังนั้นขณะนี้ทั้งเวลาและพื้นที่มาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และเป็นพื้นที่ที่ต่อสู้ปะทะกัน จากเดิมที่อยู่ในคูหาเลือกตั้งแล้วแข่งขัน อำนาจก็เช่นกัน มีความพยายามรณรงค์ให้มีคนมามากๆ ก็เป็นการอธิบายว่าอำนาจมาจากจำนวน การเลือกตั้งอำนาจก็มาจากจำนวน แต่ต้องเข้าใจว่าเป็นจำนวนที่นับหลังเวลาเลือกตั้งกับจำนวนนอกพื้นที่เลือกตั้ง ขณะนี้สองนครามาปรากฏตัวให้เห็นค่อนข้างชัดเจน งานของอาจารย์เอนกช่วยให้เราเข้าใจปรากฏการณ์นี้

 

 

แต่ส่วนสำคัญที่สุดที่สรุปไว้ท้ายๆ ของเล่มที่ว่า ประชาธิปไตยมันมีหลายแบบ ผมรู้สึกว่าทั้งนคราและประชาธิปไตยเป็นความยุ่งยากอย่างหนึ่ง จึงขอโฟกัสเรื่องที่ง่ายสุดในสมองของผมคือคำว่า สอง

 

คำนี้น่าสนใจ ในทฤษฎีประชาธิปไตยมันมีการจับคู่ เช่น คู่แบบคลาสสิก จะเป็นประชาธิปไตยกระฎุมพี กับประชาธิปไตยสังคมนิยม หรือประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม กับประชาธิปไตยแบบถึงรากถึงโคน ประชาธิปไตยแบบทางตรงกับประชาธิปไตยตัวแทน อาจอธิบายได้ในสถานการณ์นี้ คือที่พันธมิตรเรียกร้องคือทางตรง

 

หรือหลังๆ จะมีประชาธิปไตยอีกหลายแบบ เช่นประชาธิปไตยแบบเชิงพัฒนาการกับเชิงปกป้องที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างระบบการเมืองกับระบบตลาด หรืออีกอันก็มีประชาธิปไตยแบบเข้มแข็งกับประชาธิปไตยแบบบาง คือบอกว่าคนมีผลประโยชน์ร่วมกันทั้งๆ ที่ไม่มี อันนี้เป็นอย่างบาง ในที่สุดก็ถูกผลักไปให้ยอมเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

 

อีกอันเป็นการแยกระหว่างประชาธิปไตยเชิงขัดแย้งกับประชาธิปไตยแบบที่เรียกว่าเอกภาพคือไปให้ไกลกว่าคู่ตรงข้าม คิดว่าคนในสังคมนี้ในที่สุดแล้วต้องการการเคารพ ศักดิ์ศรี ผลประโยชน์ร่วมกัน แล้วมุ่งไปสู่การตัดสินใจที่เห็นพ้องต้องกัน

 

ถ้าค้นตำราตั้งแต่ปี ค.ศ.1956 ในงานอาจารย์ชื่ออาร์นเนส เคยรวบรวมนิยามประชาธิปไตยไว้ว่ามีอย่างน้อย 311 นิยาม นั่นคือเมื่อ 50 ปีก่อน

 

ทั้งหมดนี้เป็นในความเป็นจริงของสังคมการเมืองไทยที่มีความหลากหลาย แล้วเราจะให้ความหลากหลายนี้อยู่ร่วมกันอย่างไร

 

ในสถานการณ์สองสามเดือนที่ผ่านมาค่อนข้างชัด แล้วถ้าเราเชื่ออาจารย์เอนก ผมคิดต่อเองว่า สองนครามันอยู่ได้ถ้าเราจัดเวลาให้ถูกต้อง จัดที่ให้ถูกต้องไม่มีปัญหา เวลาที่มาเจอกันคือในคูหาเลือกตั้ง นคราที่หนึ่งเลือกแล้วก็กลับ นคราที่สองอาจบอกว่าไม่กลับยังคอยเฝ้าดู ก็ไม่มีปัญหา

 

คนที่อยู่ในตำแหน่ง แม้จะพยายามอ้างว่าก็เราได้รับเลือกตั้งมา ไอ้คนนั้นก็บอกว่าแม้คุณได้รับการเลือกตั้งมีความชอบธรรม แต่สิ่งที่คุณทำมันทำให้ความชอบธรรมหมดหรือไม่ ความชอบธรรมก็น่าสนใจเหมือนกระปุกออมสิน สิ่งที่ต้องทำคือใส่ บางครั้งก็ต้องเอามาใช้ สมัยก่อนมีกระปุกออมสินแบบที่บ้านผมไม่ชอบใช้เพราะมันเป็นรูปหมู วิธีเดียวที่จะใช้คือต้องทุบ

 

ผู้ดำเนินรายการ : คุณทักษิณไม่ค่อยเชื่อ แล้วพยายามทุกวิถีทางไม่ให้เกิดการล้มรัฐบาลตามนคราประธิปไตย ตรงนี้มองว่าสิ่งที่เกิดตอนนี้ช่วยทักษิณ หรือยิ่งช่วยสร้างความแตกแยก

ดร.เกษียร : ตอนแรกอาจารย์อเนกคงคิดเป็นภาษาฝรั่ง คือปิ๊งขึ้นมาหลังจากเห็นพฤษภาทมิฬ พอเห็นชื่อนิยายของชาร์ล ดิกเก้น (Charles Dickens) เรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่คนรู้จักกันเยอะในเรื่อง A Tale of Two Cities เลยตั้งชื่อแนวคิดว่า A Tale of Two Democracies เปลี่ยนคำว่า Cities เป็น Democracies หลังเห็นเหตุการณ์พฤษภา

 

แล้วก็มาถามผมว่า จะแปลคำนี้อย่างไร แกคิดแล้วบอกผมว่า สองนคราประชาธิปไตย ผมฟังแล้วเฉิ่ม ไม่น่าจะติดเลย แต่ตลกดีหลายปีผ่านไป คำนี้มันติด เพราะว่ามันเข้าไปยึดกุมความเป็นจริงใจกลางของสังคม นี่คือพลัง

 

อยากบอกว่า สภาพที่เรียกว่าสองนคราประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ระบอบทักษิณเกิดขึ้นด้วย เท่าที่ดูในสภาพนคราประชาธิปไตยยังจะอยู่กับเราไปอีกนาน แม้นายกฯทักษิณจะจากไปแล้ว

 

สองนคราตั้งอยู่บนฐานคิดอะไร ในแง่สังคมวิทยา หนึ่งคือมันไม่มีความเป็นนคราหรือชาติอันหนึ่งอันเดียวกันในทางเป็นจริง ในแง่การเมืองก็เป็นสองนครา พูดอย่างโหดเหี้ยมมันเป็นสองชาติ

 

ข้อสอง ทั้งสองชาตินี้คือชนบทกับเมืองไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจสังคม ข้อสาม ไม่เสมอภาคกันทางอำนาจการเมือง ข้อสี่ ไม่ยุติธรรมซึ่งสำคัญมาก ในสังคมไทยในรอบ 30 -40 ปีที่ผ่านมามีการผันทรัพยากรชนบทมาพัฒนานาเมืองตลอดช่วงเวลาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ทำให้ชนบทเปลี้ยแล้วเมืองโต

 

ข้อห้า สองนคราประชาธิปไตยไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นประชาธิปไตยที่ถูกภาวะทำให้เสื่อม คนเมืองเนื่องจากมีภาวะทางเศรษฐกิจดี มีเสรีภาพ แต่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะสามารถเอื้อมมือไปหยิบทรัพยากรจากชนบทมาใช้ได้อย่างสบายใจมาก

 

ถ้าเราเชื่อประชาธิปไตย จะมากจะน้อยต้องยอมรับความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ เสรีภาพที่คนเมืองมีภายใต้ระบอบนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ในแง่กลับกัน คนชนบทในวันเลือกตั้งเขาเป็นประชาธิปไตย เสียงข้างมากของเขาเป็นผู้เลือกรัฐบาลจริง แต่ประทานโทษประชาธิปไตยของเขาถูกจำกัดในแง่ที่ชัดเจนว่า มึงเลือกคนนี้นะ มันมีเจ้าพ่อจำนวนหนึ่ง มีนักเลือกตั้งจำนวนหนึ่งจองเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ต้องสงสัยด้วยหรือว่าจะเลือกใคร

 

คนทำการเมืองที่คิดกุมอำนาจในสังคมไทยต้องเผชิญและจัดการสภาวะสองนคราประชาธิปไตยในแบบต่างๆ กันหากอยากเป็นใหญ่ ยกตัวอย่างดังนี้

 

กลุ่มแรกเผด็จการทหาร เช่น จอมพลสฤษดิ์ รีดทรัพยากรชนบทในนามชาติ เอาแม่น้ำเอาป่าเขาโดยอธิบายว่าเอามาพัฒนาชาติ ในขณะเดียวกันก็กดขี่สิทธิเสรีภาพของคนเมืองในนามชาติด้วย บอกว่าเพื่อความมั่นคง

 

นักเลือกตั้ง จัดการโดยเข้าไปเป็นนายหน้าทางการเมือง จัดการอำนาจระหว่างเมืองกับชนบท ที่อาจารย์อเนกบอกคนต่างจังหวัดเลือกรัฐบาลคนในเมืองล้มรัฐบาล มันมีช่องตรงกลางคือคนต่างจังหวัดเลือกเจ้าพ่อหรือนักเลือกตั้งมา เช่น เสนาะ นึกหน้าตาออกใช่ไหม คนเมืองล้มรัฐบาลแล้วเลือกตั้ง อำนาจของนักเลือกตั้งเข้มแข็งยืนยงท่ามกลางความแตกต่างระหว่างสองนคร

 

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในอดีตศรัทธาพลังปฏิวัติของชาวนา อาศัยชาวนาดำเนินสงครามประชาชน สร้างฐานที่มั่นในชนบทใช้ชนบทล้อมเมือง จะให้เกิดปฏิวัติประชาธิปไตยแบบในจีน เปลี่ยนสังคมเป็นแบบจีน

 

สถาบันกษัตริย์ค้นพบตรงกันข้ามกับกับคอมมิวนิสต์ คือพบพลังปฏิปักษ์ปฏิวัติยิ่งใหญ่ในจีน สถาบันกษัตริย์เห็นพลังที่ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ในหมู่ชาวนา ดังนั้นจึงเดินทางเศรษฐกิจพอเพียงในกรอบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก ผูกทอสายใยเชื่อมเมืองกับชนบท ผ่านสองอย่าง คืออุดมการณ์ประชาชาตินิยมประชาธิปไตย กับโครงการพระราชดำริ

 

ถ้าคนเมืองกับชนบทมีความต่างกันมากก็สามารถทอนกันได้โดยให้มองพระองค์ พวกเราล้วนมีพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวกัน ถ้าความแตกระหว่างเมืองกับชนบทมีมาก โครงการพระราชดำริจะบรรเทา

 

แต่ รัฐบาลทักษิณ และไทยรักไทยมาสูตรใหม่คือทำสัญญาประชาคม ในสัญญาที่บอกกับคนเมืองว่า ใจเย็นๆ พี่ ผมจะทำให้เศรษฐกิจโต ในขณะเดียวกันก็บอกคนในชนบทว่า เราจะให้คุณ เหล่านี้เรียกว่าประชานิยม คือเศรษฐกิจดี กองทุนหมู่บ้านให้ประชานิยมอุปถัมภ์บริโภคนิยม คนชนบทจะได้แฮปปี้เพราะการบริโภคเป็นของคนเมืองที่คนชนบทรับรู้ผ่านสื่อ คิดถึงทีวีซึ่งเป็นของคน 60 ล้านคน ในทีวีมันแสดงแบบของคนชั้นนำในคนกรุงเทพฯ มีรถ มีบ้าน มีมือถือ คนเมืองมีสิทธิเหล่านี้ คนชนบทเห็นในทีวีทุกวัน แล้วอยากได้หรือไม่ ทักษิณก็บอกคุณมีได้ เดี๋ยวผมจะผันไปให้ ทำให้คนชนบทเอื้อมถึงสมบัติของคนเมืองเป็นครั้งแรก

 

ดังนั้นการเดินแนวทางประชานิยมด้วยทุนนิยม ชวนให้มวลชนมาประกอบธุรกิจ แปลงสินทรัพย์เป็นทุนจัดตั้งคนชนบทมาเป็นฐานการเมืองที่พึ่งพิงผู้นำ พึ่งพิงไทยรักไทย

 

ที่สวนจตุจักรมีคนจนเมือง มีแท็กซี่ วินมอร์เตอร์ไซค์รับจ้าง คาราวานคนจนมีภาพของคนชนบทที่ดูเหมือนฉิ่งฉับทัวร์ แต่อยากให้ตั้งหลักดูภาพแบบนี้ ดูความจริงของคนจน โดยเฉพาะคนจนชนบทเวลาเขาก่อม็อบเขาต้องเสียมากและทำไม่ได้ง่ายๆ ก่อม็อบแล้วจะถูกปราบ เช่น ม็อบต่อต้านท่อก๊าซ ถูกจับถอดเสื้อที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีจำได้หรือไม่

 

ม็อบตากใบที่จังหวัดนราธิวาสก็เช่นกัน จริงแล้วคนจนๆ ก่อม็อบยากมาก คนจนชนบทไม่ได้เอ็นจอยสิทธิที่เฉพาะเหมือนคนชั้นกลางชั้นสูงในกรุง คนชั้นกลางเป็นม็อบที่ปลอดภัย คนชั้นกลางชั้นสูงจะมองม็อบคนจนด้วยความไม่เข้าใจ ดูหมิ่นเหยียดหยาม หัวเราะ ลองนึกถึงภาพสิ่งที่สื่อและคนกรุงเทพมีต่อม็อบสมัชชาคนจนข้างทำเนียบ จำได้หรือไม่ว่าเขาจากไปอย่างไร ด้วยมือของตำรวจเทศกิจ ภายใต้การบริหารกรุงเทพมหานคร

 

เพราะฉะนั้นเราไม่ควรลืมว่า ในเงาอำมหิต ในลัทธิอำนาจนิยมและเสรีนิยมใหม่ของระบอบทิกษิณ มีลายนิ้วมือของชนชั้นนำ คนชั้นกลางปนเปื้อนอยู่เต็ม

 

ในแง่หนึ่งตอนนี้ หลังจากการตัดสินของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2549 ในเสรีนิยมใหม่ นายกฯ ทักษิณยิ่งอยู่ลำบาก เพราะยิ่งอยู่ต่อ คนจะเรียกร้องไม่เอา ซึ่งไม่เอาเสรีนิยมใหม่ทั้งกระบวนด้วย ถ้าคุณรักเสรีนิยมใหม่จริง ต้องรีบเปลี่ยนตัวคุณทักษิณโดยเร็วเพื่อจะประคองเสรีนิยมใหม่ไปให้ได้

 

ยิ่งคนชนบทมาเลือกตั้งกา 1 ใบแค่นั้น แต่มันคงจะยิ่งยากสำหรับเขาที่จะพัฒนานโยบายเองอย่างเป็นระบบบนฐานวิชาการ ยากที่คนอย่างพวกเขาจะเข้าถึงการตัดสินใจเชิงนโยบายได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเห็นคนจนไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นตัวของตัวเอง พึ่งพาผู้นำอุปถัมภ์ เพราะเขาก่อตัวภายใต้เงื่อนไขที่คนชั้นกลาง คนชั้นสูงส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจ ความที่เขาก่อตัวมาภายใต้การหล่อเลี้ยงของประชานิยมทักษิณมันก็เป็นอย่างนี้เป็นผลกรรมรวมหมู่

 

ที่น่าสนใจ คิดว่าการเมืองไทยมีคุณสมบัติพิเศษคือ ไม่ชอบการเมืองชนชั้น วิธีการจัดการความแตกต่างและขัดแย้งทางชนชั้นของการเมืองไทยที่ผ่านมาก็คือ ปัดป่ายบ่ายเบี่ยง ถ้าจะทะเลาะเรื่องชนชั้นก็เบี่ยงให้เป็นทะเลาะกันเรื่องอื่น ได้แก่เรื่องชาตินิยมกับความเป็นไทย คนไทยยินดีฆ่ากันในเรื่องความเป็นไทย มึงไม่ไทย มึงเป็นแกวเป็นอะไรฆ่ากันมาเยอะแยะแล้ว หลบเรื่องชนชั้นมาได้ตลอด

 

คราวนี้การเมืองประชานิยมของระบอบทักษิณเข้าจัดการเรื่องนี้แบบเป็นการเมืองชนชั้นที่คอรัป คือแบ่งชนชั้นหยาบๆ ประชาชนผู้ยากไร้ ชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง การเมืองประชานิยมก็คือ ทำให้การต่อสู้ความแตกต่างเรื่องชนชั้นกลายเป็นเรื่องรวมระหว่างประชาชนยากจนสู้กับชนชั้นสูงชนชั้นกลางในกรุง

 

อาร์เจนตินา ในสมัยเปรอนเป็นแบบนี้ เวเนซูเอล่าสมัยฮูโก้ชาเวส ก็เป็นแบบนี้ คิดว่าตรงนี้คือความพยายามของคุณทักษิณในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เข้าไปจัดการนายหน้าทางการเมือง เพราะไม่ชอบเลือกตั้ง ไปบีบพรรคต่างๆ แล้วเอานโยบายไปขายตรง มันส่งผลกระทบต่อสองนครา แต่มันยังไม่ลึกซึ้งเพียงพอที่จะเปลี่ยน

 

อย่างไรก็แล้วแต่ คิดว่ายากที่คนอย่างทักษิณจะผลักการเมืองแบบประชานิยมไปสู่จุดสุดที่เปรอนกับชาเวสเคยทำ เพราะคุณทักษิณไม่ใช่เปรอนหรือชาเวส ไม่ใช่นายทหารชั้นผู้น้อย ยังเป็นทักษิณ ณ สองแสนล้าน

 

แล้วทำอย่างไรต่อ ตอนนี้ทักษิณเปิดช่องสังคมเมืองกรุงเทพให้พื้นที่กับคนจนเมือง คนจนชนบทมาดำรงอยู่ข้างๆ ม็อบคนเมือง อยู่ในพื้นที่การเมืองเดียวกัน ดังนั้นพีเน็ตน่าจะไปถามเรื่องที่มากกว่าการลาก นายก ฯ สนธิ อภิสิทธิ์ มาคุยกัน คือไปลากม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับม็อบจตุจักรมาคุยกัน

 

เพราะสองม็อบนี้เป็นตัวแทนของสองนคราที่ประชานิยมทักษิณกวักมือจูงให้มาอยู่ข้างๆ กัน 2 ม็อบมาสานเสวนาประชาสังคมอย่างอารยะประชาธิปไตย อยากบอกว่า บทสนทนานี้มันน้อยไปด้วย เพราะมันจะยืดเยื้อ ต่อให้คุณทักษิณจากไป ก็ยังจะต้องคุยกันอีกนาน อย่างน้อยก็ต้องอธิบายได้ว่า ถ้าทักษิณออกไปคนขับแท็กซี่ วินมอร์เตอร์ไซค์ คนจนเมือง ชนบทจะได้อะไร เพราะเขาไม่เห็น เขาเห็นว่าทักษิณอยู่แล้วเขาได้

 

ผู้ดำเนินรายการ : อาจารย์เอนกเสนอว่า สองนคราสามารถสลายได้ ถ้ามีการพัฒนาชนบทให้เป็นเมืองมากขึ้นหรือมีคนชั้นกลางเพิ่ม แต่อาจารย์บอกว่าสองนครายังอยู่อีกยาว ทำไม

ดร.เกษียร : สองนคราเป็นผลมาจากการพัฒนาเมืองโตชนบทนิ่ง หน้าร้อนก็เปิดแอร์ ทำไมไฟจึงถูก เพราะไปเอามาจากแม่น้ำของเขา ปอดของเขา ดังนั้นถ้าอยากจะหลุดจากสองนครา อยากให้ชนบทยืนด้วยขาตัวเองเพื่อจะได้คิดเองเป็นอิสระแล้วมีอำนาจการเมืองอิสระ ก็ต้องให้โอกาสมาต่อรอง ไม่ยอมเสียทรัพยากรของเขาถูกๆ ให้อีกต่อไป ค่าไฟอาจจะแพงขึ้น แต่ไม่ได้แพงเพราะไปเข้ากระเป๋าพวกที่ถือหุ้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ต้องมองใหม่ว่า ถ้ามึงจะไปปล้นทรัพยากรชนบทมาแปลงเป็นไฟฟ้าเพื่อให้แอร์เย็นสบายก็ต้องจ่าย เส้นนี้คนเมืองอยากเดิน หรือกล้าเดินหรือไม่

 

ผู้ดำเนินรายการ : ถ้าดูจากสถานการณ์ประชาธิปไตยที่ผ่านมาก่อนถึงพฤษภาทมิฬที่ค่อนข้างชัดในการสร้างทฤษฎีสองนคราขึ้นมา ก่อนหน้านั้นจะบอกได้หรือไม่ว่าเป็นมาแล้วแต่มาชัดเจนขึ้นภายหลัง

ดร.นครินทร์ : มองสถานภาพแนวคิดสองนครา ต้องมองย้อนหลังไปสักนิด ประชาธิปไตยในเมืองไทยมีหลายประเภทหรือหลายลักษณะ เคยพูดกันมานานในทางวิชาการ แต่ที่เห็นชัดว่าทำไมไม่ออกมาข้างนอก เพราะมันไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง

 

ประชาธิปไตยสมัยโบราณ คือการสู้กันระหว่างจารีตประเพณีกับประชาธิปไตยสมัยใหม่ เรื่องที่เถียงกันมานานคือ ยังมีคนไทยจำนวนหนึ่งเชื่อว่า ประชาธิปไตยมีมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง ผิดหรือถูกไม่ทราบ แต่ผมไม่เชื่อ หลายคนพูดว่า ศิลาจารึกหลักที่หนึ่งคือ แม็กนากาต้า ในอังกฤษ อันนี้พูดกันเปิดเผยในเอกสารจำนวนมาก

 

หลายคนพูดว่าปฏิวัติ 2475 ก็ไม่ได้มีอะไร คือการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยสำนักหนึ่งพูดแบบนี้ ประชาธิปไตยรัฐจารีตกับรัฐสมัยใหม่ก็พูดแบบหนึ่ง แล้วก็ลืมประชาธิปไตยแบบไทยในสมัยสฤษดิ์หรือถนอมเลย ซึ่งคิดว่าอันนั้นคือพื้นฐานเก่าแก่ของเราที่มองประชาธิปไตยมีหลายความหมาย

 

อยากจะเรียนว่าความหมายประชาธิปไตยสมัยใหม่ดูเหมือนกำลังจะหายไป แต่ตอนนี้คิดว่ากำลังถูกกระแสประชาธิปไตยในปัจจุบันลากเข้ามา

 

ส่วนงานของอาจารย์อเนก ถ้านิยามนั้นเป็นขั้นที่สองหรือสาม ที่จับภาพประมวลให้เห็นสิ่งที่อาจารย์ชัยวัฒน์พูดว่า คนเมืองกับคนชนบทมีค่านิยม หรือมีแนวคิดมุมมองต่อประชาธิปไตยแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

 

แนวคิดของอาจารย์อเนกสามารถอธิบายสังคมไทยได้ดีตั้งแต่หลังยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้นมา คิดว่าชัดมากว่ารัฐบาลต่างๆ ล้มเพราะอะไร

 

แต่ตั้งแต่ปี 2540 มา เรากำลังเจอแนวคิดประชาธิปไตยอีกชุดที่เกิดมาใหม่คือ ประชาธิปไตยที่มาจากการตรวจสอบ และอยากให้มีผู้นำมีความเข้มแข็ง ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ใหญ่ของรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งตั้งแต่ ปี 2540 เราใช้ระบบบัญชีรายชื่อ นอกเหนือจากเขตเลือกตั้งอย่างเดียว ถ้าเลือกตั้งระบบเขตแบบเก่าคุณทักษิณก็จะมีอำนาจอีกแบบหนึ่งคือ กลับไปเขต 1 เชียงใหม่ หรือเขต 13 ดอนเมือง และได้แค่นั้นไม่สามารถไปหาเสียงทั่วประเทศได้

 

ระบบเลือกตั้งปัจจุบันเปลี่ยนสภาพการเมืองไทยไปอย่างสิ้นเชิงด้วยระบบบัญชีรายชื่อ นอกจากนี้ยังสร้างภาพลักษณ์ ภาพพจน์ ความเข้าใจและกริยาด้วยว่า เรากำลังมีการเลือกตั้งนายกฯรัฐมนตรีโดยตรง แต่ประทานโทษ ระบบของเราไม่ได้เลือกโดยตรง ต้องเลือก ส.ส.ในสภาก่อน แล้ว ส.ส.ค่อยไปเลือกนายกฯ แต่ทุกวันนี้เราหาเสียงเหมือนเลือกนายกฯโดยตรง เราเอาหลักการของระบบประธานาธิบดีหรือกึ่งประธานาธิบดีมาใช้ไปแล้ว

 

ระบบแบบมีผู้นำเข้มแข็ง เป็นประชาธิปไตยอีกชนิดหนึ่ง เราพ้นจากสองนคราธิปไตยไป เพียงแต่สองนคราประชาธิปไตยเป็นฐานของการเมืองแบบการเลือกตั้ง ต้องยอมรับว่าความแตกต่างของเมืองกับชนบทเป็นปรากฏการณ์ปกติของคนทั่วโลก แต่จะมีความแตกต่างจะมากหรือน้อยเท่านั้น มันไม่มีทางกลืนเป็นเนื้อเดียวกันได้

 

ประชาธิปไตยหลัง 2540 ที่มีผู้นำเข้มแข็งมีส่วนดี สองนคราธิปไตยบางมิติมีพลังมากขึ้น อาการที่เราเจอทุกวันนี้เป็นการเมืองที่เจอในระบบประธานาธิบดี ม็อบที่มาต่อต้านและเชียร์ทักษิณเป็นเรื่องปกติในระบบการเมืองแบบประธานาธิบดี เพราะเราไม่มีกลไกอื่นที่จะเอาผู้นำออกได้ในระบบประธานาธิบดี จะรักหรือชอบก็ต้องอยู่ไปจนครบวาระ เว้นแต่ทำผิดกฎหมายแล้วใช้กระบวนทางศาล เช่น กรณีของโจเซฟ เอสตราด้า ส่วนกระบวนการในรัฐสภาแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

 

หนังสืออาจารย์เอนกได้ให้ภาพสังคมไทยในช่วงหนึ่งได้ชัด แต่สิ่งที่ในหนังสือไม่ได้พูดคือประชาธิปไตยในยุคโบราณ เช่น ประชาธิปไตยที่มาจากการพระราชทาน และประชาธิปไตยหลังปี 2540 เป็นต้นมาซึ่งเป็นอีกชนิดคือกึ่งประธานาธิบดี

 

การเผชิญหน้าของม็อบในช่วงเวลานี้บางมิติก็คิดคล้ายอาจารย์เกษียรว่าเป็นเรื่องของเมืองกับชนบท บางมิติมันมากกว่านั้น เรากำลังเจอกลุ่มชนชั้นนำสองกลุ่มที่มีค่านิยมแตกต่างกันอย่างชัดเจน

 

ความจริงในกลุ่มของคนรักคุณทักษิณก็ไม่ใช่ชนบท มีคนชั้นนำ มีตัวเป้งๆ อยู่ตั้งหลายคน หรือกลุ่มที่ไล่คุณทักษิณก็มีคนจน ชาวไร่ชาวนาก็อยู่ในส่วนนี้

 

สังคมไทยวันนี้แตกเป็นสองส่วนชัดเจน เรื่องเมืองกับชนบท ใช่ เรื่องชนชั้น ใช่ แต่นอกจากนั้นเรากำลังเผชิญหน้ากับค่านิยมสองชุดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

 

ถ้าดูให้ดีคุณทักษิณพูดถึงอำนาจของตัวเองที่เขาได้รับจากประชาชนไปแล้ว อำนาจนั้นได้มาอย่างเด็ดขาด 5 ปีที่ผ่านมา ท่านไม่ยอมไปสภา ถ้าไปอย่างสม่ำเสมอ สภาถามก็ตอบ จริงบ้างเท็จบ้างก็ไม่เป็นไร ยกมือก็ชนะอยู่แล้ว ท่านจะกลายเป็นเหมือนนายกฯที่มีความเข้มแข็งเหมือนในอังกฤษ ญี่ปุ่น

 

ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ไปสภา ไปน้อยมาก นอกจากไปชี้แจงพวก พ.ร.บ.งบประมาณหรืออะไรพวกนั้น แล้วก็พูดให้เล่นการเมืองน้อยทำงานให้มากหน่อย มันเกิดอะไรกับองค์กรอิสระ ซึ่งรู้ๆ กันอยู่ว่า มีการล็อบบี้ มันบ่งบอกค่านิยมของทักษิณและกลุ่มชัดเจน หรือเรื่องพระราชกำหนด การแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็ชัดเจน นักกฎหมายกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่จัดการได้ แต่ก็เจอค่านิยมอีกชุดหนึ่งซึ่งศาลปกครองสูงสุดบอกไว้ว่า หยุดแปรรูป กฟผ. เพราะคุณต้องทำอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากกว่านี้

 

ค่านิยมของสองกลุ่มนี้ตรงกันข้ามกันในหลายเรื่องที่เกี่ยวกับคำว่า อำนาจมาจากไหน เมื่อรับมาแล้วมันเด็ดขาดหรือชั่วคราว ต้องมีการตรวจสอบหรือไม่ สภาจะทำหน้าที่อะไร ฝ่ายบริหารต้องชี้แจงต่อสภา ไม่ใช่ชี้แจงต่อประชาชนทุกวันเสาร์ พยายามขยันทุกเสาร์มาก แต่สภาไม่ไปพูดเลย แปลว่าอะไร คิดว่าบ้านเมืองถ้าเป็นสภาพแบบนี้มันโกลาหล วุ่นวาย และทำการปกครองไม่ได้

 

แล้วสองนคราก็เป็นฐานของการเมืองในระบบการเลือกตั้ง การเลือกตั้งแข่งกันจำนวนน้อยมากๆ แม้จะจดทะเบียนกัน 40 พรรค แต่เอาจริงก็แข่งกันแค่ 4 -5 พรรค ถ้าแข่งกัน 40 พรรคก็จะเป็นอีกชนิดเลย ถ้าการเมืองเป็นแบบนี้ มีข้อสังเกตว่า การเมืองที่มาจากฐานการเลือกตั้งคนจะแบ่งเป็นสองขั้ว เป็นที่มาของสองนคราประชาธิปไตย แม้คนชั้นนำก็เป็นสองขั้ว

 

ถามว่าปัจจุบันก้าวพ้นสองนคราหรือยัง คิดว่าการเลือกตั้งเป็นฐานอยู่ ระบบผู้นำเข้มแข็งหรือระบบตรวจสอบ เป็นอีกชั้นหนึ่งที่ซ้อนขึ้นมา บอกได้ว่าการเมืองปัจจุบันมันซับซ้อนกว่าสองนคราประชาธิปไตยไปแล้ว ความซับซ้อนเหล่านี้มาจากกติกาใหม่

 

แล้วรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ทำให้เกิดระบอบกึ่งประธานาธิบดีเหมาะกับสังคมไทยหรือไม่

ดร.นครินทร์ : เชื่อเหมือนอาจารย์ชัยวัฒน์ว่า การเมืองไทยมีระบบแบ่งปันอำนาจกันอยู่ โดยหลายๆ ฝ่ายตั้งแต่เบื้องสูงลงมาเบื้องล่าง ทุกคนเล่นการเมืองหมด อาจารย์มหาวิทยาลัยก็เล่นการเมือง การเมืองระบบนี้เปลี่ยนดุลยภาพไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนเพราะมีกติกาใหม่ ถ้าคุณทักษิณยังเป็น ส.ส.เขตอยู่จังหวัดเชียงใหม่ เขาจะไม่มีทางอ้าง 19 ล้านเสียงได้ อาจจะได้ท่วมท้นร้อยเปอร์เซ็นต์ก็แค่นั้น ระบบเลือกตั้งแบบใหม่ทำให้เขาต้องเดินสายทั่วประเทศ เพราะรัฐธรรมนูญมันบังคับไว้ แต่ความจริงระบบบัญชีรายชื่อ เราสามารถจัดเขตได้ซับซ้อนกว่านี้ ตัวอย่างเช่น ระบบบัญชีรายชื่อญี่ปุ่นเขาแบ่งเป็น 8 เขต

 

เราชอบให้เป็นระดับชาติ ดังนั้นจึงเป็นแรงของคะแนนเสียงและจิตใจว่า เรามีผู้นำแห่งชาติคนใหม่ขึ้นมา ส่วนระบบแบ่งปันอำนาจเสียไปหมดเลย

 

 

(อ่านตอน 2 พรุ่งนี้ ว่าด้วยมาตรา 7)

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net