Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ร่วมกับสำนักบัณฑิตอาสาสมัครมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเครือข่ายการศึกษาเพื่อเด็ก จัดสัมมนาเรื่อง หลักประกันคุณภาพการศึกษาถ้วนหน้า: สร้างอย่างไร ใครคือผู้สร้าง ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 


นายจอน อึ๊งภากรณ์ รักษาการสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ กล่าวว่า การศึกษาทุกวันนี้เป็นขั้นบันได เพราะเมื่อเรียนสูงขึ้นเรื่อยๆ คนจะเริ่มหลุดออกมาจากระบบการศึกษา บางคนเรียนได้แค่ประถมต้น บางคนมัธยมต้น สุดท้ายพบว่ามีประมาณ 5% เท่านั้นของคนยากจนที่มีโอกาสส่งลูกเรียนในระดับอุดมศึกษา


 


แม้จะมีการให้เรียนฟรี แต่ปัญหาก็คือ ไม่ได้เรียนฟรีจริง เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่น ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ค่าเรียนพิเศษ ค่าหนังสือเรียน ค่าเดินทาง ค่าอาหาร


 


ที่ผ่านมา มีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้นักเรียนมัธยมปลายกู้เรียนได้ โดยสามารถนำเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายทั้งค่าเล่าเรียน ค่าเดินทาง ค่าหอพัก รวมทั้งสามารถปันให้พ่อแม่ได้ เพื่อทดแทนรายได้จากการไม่ได้ทำงาน อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อเสีย คือ เมื่อเรียนจบต้องคืนทุนโดยมีจดหมายมาทวงหนี้


 


ต่อมานโยบายพรรคไทยรักไทยยกเลิก กยศ. และตั้งกองทุนกู้ยืมที่ผูกติดกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ขึ้น ให้สามารถกู้ยืมได้ในระดับอุดมศึกษา แม้มีข้อดีคือ ทุกคนสามารถกู้ได้ ไม่ว่าจะมีฐานะอย่างไร และไม่ต้องใช้คืนจนกว่าจะมีรายได้เป็นของตัวเอง แต่ข้อเสียคือ กู้ได้เพียงค่าเล่าเรียนหรือค่าหน่วยกิต ไม่สามารถกู้เงินส่วนอื่นๆ ได้ นับเป็นการกั้นโอกาสทางการศึกษา นอกจากนี้ในอนาคตเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ค่าเรียนจะแพงขึ้น เพราะต้องขึ้นเงินเดือนครู และปรับค่าเล่าเรียนให้ใกล้ค่าจริงมากขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา


 


ดังนั้น จึงเสนอให้ทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาจริงๆ ทุกอย่างต้องฟรี โดยทุนอาจได้จากรัฐและท้องถิ่น เพื่อให้เด็กกลับมาพัฒนาท้องถิ่นเมื่อเรียนจบ นอกจากนี้ การศึกษาต้องมีคุณภาพ โดยหลักสูตรการเรียนต้องสอดคล้องกับชีวิตจริง ทำให้เป็นมนุษย์ที่ดี สามารถจัดการกับชีวิตและรู้จักแก้ปัญหา


 


สุดท้ายคือ ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในโรงเรียน โดยดัดแปลงหลักสูตรให้เหมาะกับพื้นที่ เช่น ถ้าอยู่ชายทะเล ก็ควรมีการสอนเรื่องการประมงด้วย โดยให้ผู้ที่มีทักษะด้านนั้นๆ มาเป็นครู


 


ด้านนายชัยพร แซ่ย่าง ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์เผ่าม้ง จากพะเยา กล่าวว่า เวลาไปโรงเรียน เด็กนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์มักจะถูกเพื่อนล้อเลียนว่าเป็นไอ้แม้ว ไอ้อาข่า ไอ้พูดไม่ชัด ทำให้เด็กรู้สึกมีปมด้อย ยิ่งไปกว่านั้นในกลุ่มเด็กที่ไม่ได้รับสัญชาติไทยหรือคนต่างด้าวนั้น จะไม่ได้รับทุนการศึกษาเนื่องจากระบุไว้ว่าต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น ทำให้เด็กไม่ได้รับสวัสดิการต่างๆ


 


นอกจากนี้ เมื่อเรียนจบแล้ว กลุ่มเด็กที่เป็นคนต่างด้าวก็ไม่ได้รับวุฒิบัตรรับรองการศึกษา หรือแม้จะได้แต่ก็มีการระบุไว้ว่าเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ทำให้ไม่สามารถเรียนต่อได้ ดังนั้น แม้จะอยากมีงานทำ มีอาชีพที่ดี แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีความรู้ จึงต้องกลับมาทำการเกษตรเช่นเดียวกับพ่อแม่ต่อไป


 


ส่วนนางสาวอังศุสร อภิราชกมล ตัวแทนนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากระบบแอดมิดชั่น กล่าวว่า ระบบการศึกษาไทยคล้ายการขายฝัน โดยถูกออกแบบให้ทุกคนมีค่านิยมว่าต้องเรียนในมหาวิทยาลัยจึงจะดูดี เรียนเพียงแค่เพื่อเกรดหรูๆ ทั้งยังวางหลักสูตรให้คนในชุมชนต้องเรียนเหมือนๆ กัน ทั้งที่แต่ละที่ก็มีลักษณะเฉพาะของตนเอง  


 


ระบบแอดมิดชั่นที่นำมาใช้เห็นว่าดีแล้ว แต่ระบบของเรายังไม่พร้อม แม้จะมีเทคโนโลยีทันสมัย แต่บุคลากรก็ใช้ไม่เป็น นอกจากนี้ การสมัครสอบหรือการตรวจที่นั่งสอบที่ให้ทำผ่านอินเทอร์เนตก็มีปัญหา เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เข้าถึงอินเทอร์เนต


 


ไม่ควรอ้างว่า ไม่มีงบพิมพ์ใบสมัครเพราะค่าสมัครสอบก็แพง และปีก่อนๆ ก็จัดกันมาได้ นอกจากนี้ การประกาศที่นั่งสอบยังเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หากใครไม่ได้เช็คข่าวตลอดก็คงไม่รู้ ทำให้บางคนไปสอบผิดที่ตามที่เป็นข่าว    


 


แถลงข่าวเรียกร้องการศึกษาถ้วนหน้า


จากนั้น เวลา 15.45น. เครือข่ายการศึกษาเพื่อเด็กได้แถลงข่าวเพื่อเรียกร้องการศึกษาถ้วนหน้า โดยนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป ในฐานะที่ปรึกษาเครือข่ายฯ กล่าวถึงข้อเรียกร้องว่า ต้องการให้รัฐจัดสวัสดิการการศึกษาถ้วนหน้า โดยไม่เลือกปฏิบัติ โดยให้มีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ ย้ำว่าการศึกษาไม่ใช่การสงเคราะห์ หรือการเอื้ออาทร แต่การศึกษานั้นเป็นสิทธิของทุกคน สุดท้ายเรียกร้องให้ชุมชนและเด็กได้มีส่วนร่วมในการกำหนดหลักสูตรการศึกษา เพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริง   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net