Skip to main content
sharethis

สถานการณ์สื่อมวลชนไทยในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 2549 ยุคการสร้างอาณาจักรแห่งความกลัวและความเกลียดชัง


 


ตลอดยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เสรีภาพของสื่อมวลชนไทยอยู่ในภาวะถดถอยมาโดยตลอด เนื่องจากถูก"แทรกซึม-แทรกแซง-แบ่งแยก" ภาวะเช่นนี้ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นเป็นทวีคูณเมื่อเกิดวิกฤติทางการเมืองในช่วงปลายปี 2548 มาจนถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่าเสรีภาพสื่อมวลชนไทยในรอบปีที่ผ่านมา เข้าสู่ "บรรยากาศแห่งความกลัวและความเกลียดชัง"


 


ยิ่งกว่านั้น ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่มีความขัดแย้งทางความคิดสูง ผู้นำรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยังพยายามบิดเบือนการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้ประชาชนเกิดความเกลียดชัง และความเข้าใจผิดว่าสื่อได้คุกคามนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งกล่าวหาว่าสื่อไม่เป็นกลาง จ้องทำลายรัฐบาลและความสงบสุขของประเทศ


 


พฤติกรรมดังกล่าว นับว่าเป็นการตอกย้ำให้สื่อถูกลดทอนความน่าเชื่อถือลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนถึงแม้ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ได้เคยสัญญาว่า จะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย แต่กลับกรพทำในสิ่งตรงกันข้ามตลอดเวลา มีความพยายามใส่ร้าย ป้ายสี เพื่อบั่นทอนความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชน ควบคู่ไปกับการฟ้องร้องคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายในมูลค่ามหาศาล เพื่อสกัดการเปิดโปงข้อเท็จจริงของสื่อมวลชน เช่น การฟ้องร้องหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กรณีการนำเสนอข่าว รันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิร้าว และการฟ้องคดีการปั่นหุ้นของบริษัทปิกนิคแก๊ส หนังสือพิมพ์เครือมติชน โดยเรียกค่าเสียหายหลักพันล้าน


 


นอกจากนี้ ยังมีความพยายามใช้อำนาจทุนที่มีความใกล้ชิดกับอำนาจทางการเมือง เข้ามาครอบงำกิจการสื่อสารมวลชน เช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับหนังสือพิมพ์ในเครือมติชนและบางกอกโพสต์


 


เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้แสดงความเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตย ด้วยการส่งเสริมกระบวนการตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองอำนาจ ในกลับกัน ผู้นำรัฐบาลได้แสดงตนเป็นต้นแบบในการฟ้องหมิ่นประมาทหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอข่าวในเชิงตรวจสอบเพื่อจงใจข่มขู่คุกคามการทำหน้าที่อย่างตรงไปมาของสื่อมวลชนในการตรวจสอบและเฝ้าระวังการใช้อำนาจรัฐของนักการเมือง


 


ทั้งนี้ แทนที่รัฐบาล จะส่งเสริมและพัฒนาวิทยุชุมชนให้เป็นสื่อของประชาชนโดยประชาชน เพื่อประโยชน์ของประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กลับเลือกปฏิบัติและใช้อำนาจทางการเมือง ปิดสถานีวิทยุชุมชนที่นำเสนอเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐ สั่งถอดรายการวิทยุ แทรกแซงการนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ ปลดพิธีกรรายการวิทยุ โทรทัศน์ที่ นำเสนอรายการ ไม่เป็นที่พอใจของผู้มีอำนาจ


 


สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกเมื่อรัฐบาลประสบภาวะวิกฤติทางการเมือง โดยมีข้อมูลที่เชื่อได้ว่า คนวงในรัฐบาลให้การสนับสนุนและจัดตั้งกลุ่มคนเพื่อกระทำการคุกคามสื่อ ในรูปแบบที่ไม่น่าเกิดขึ้นในอารยะประเทศ เช่น กรณีมีกลุ่มบุคคลใช้กำลังปิดล้อมหนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก หรือการนำขบวนรถจักรยานยนต์รับจ้างไปสร้างความกดดันที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และหนังสือพิมพ์แนวหน้า


 


นอกจากนี้ ยังเกิดขบวนการจัดตั้งทางการเมืองเพื่อทำสงครามข่าวสารกับสื่อมวลชน เช่น การตั้งกระทู้ในเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ ตั้งทีมส่งข้อความสั้นผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (เอสเอ็มเอส) ด้วยข้อความที่ใส่ร้ายป้ายสี รวมถึงการโทรศัพท์เข้าไปรายการวิทยุและโทรทัศน์เพื่อปลุกปั่นให้คนในสังคมเกิดความแตกแยก โดยหวังผลทำลายล้างทางการเมือง ที่สำคัญคือ มีการใช้ผู้ดำเนินรายการในรายการวิทยุและโทรทัศน์เป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาล


 


สถานการณ์ดังกล่าว ถือได้ว่ามีการคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่รุนแรง โดยหวังจะทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตกอยู่ใน "อาณาจักรแห่งความกลัว" เพื่อสยบยอมต่ออำนาจทางการเมืองหรือยอมเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร โดยได้มีความพยายามแทรกแซง แบ่งแยก ทำลายความน่าเชื่อถือ กระทั่งใช้วิธีการต่างๆ ที่ไม่ชอบธรรมเพื่อคุกคามปิดกั้นเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน การกระทำต่างๆ เหล่านี้


 


ในโอกาสวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก พวกเราในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนหยัดจะเดินหน้าทำหน้าที่ต่อไปโดยยึดหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ พร้อมยอมรับการตรวจสอบจากสังคมด้วยวิถีทางอันชอบด้วยกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย เพราะเราเชื่อว่าการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น ที่จะเป็นเกราะคุ้มกันสื่อมวลชนไม่ให้ถูกใส่ร้ายกล่าวหา และตกเป็นเหยื่อของขบวนการบ่อนทำลายที่เกิดขึ้นและดำเนินอยู่ในขณะนี้ การต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อของสื่อมวลชนจะต้องดำเนินต่อไป เพราะเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพของประชาชน


 


สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย www.tja.or.th


สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย www.thaibja.org


3 พฤษภาคม 2549


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net