Skip to main content
sharethis

วันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม 2006 11:32น.


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


(หมายเหตุ: ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้บรรยายในหลักสูตร "มลายูศึกษาเพื่อความสมานฉันท์" ในหัวข้อ "ประวัติศาสตร์ลังกาสุกะและปัตตานี" ที่วิทยาลัยอิสลาม มอ. ปัตตานี ระหว่างวันที่ 11-12 พ.ค.ที่ผ่านมา)


 


เราทำวิชานี้ขึ้นมาเพราะคนไทยที่มีความรู้และความสนใจเกี่ยวกับเรื่องมลายูนี้น้อยมาก มีอคติเกี่ยวกับเรื่องมลายูเยอะแยะไปหมดเลยโดยไม่มีความรู้ เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็หวังว่า เราจะพยายามสร้างความรู้เกี่ยวกับมลายูแก่บุคคลทั่วไป


 


หัวข้อ "ประวัติศาสตร์ลังกาสุกะและปัตตานี"


1)โลกของชาวมลายู


2)ลังกาสุกะในศรีวิชัย


3)การเข้ามาของอิสลาม


4)การเสื่อมอำนาจและเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย


5)การต่อต้านและต่อรองกับรัฐไทย


 


จุดมุ่งหมายในประการแรกในการทำวิชานี้ จริงๆ แล้วไม่ใช่เพื่อคนที่เป็นมลายูอยู่แล้ว แต่เพื่อคนไทยโดยทั่วไปที่ไม่สนใจหรือไม่มีความรู้เรื่องมลายูมากกว่า อย่างไรก็ตามแต่เมื่อเราทำแล้วเสร็จแล้วเราก็อยากจะเรียน คือ มาที่นี่ไม่ได้มาเพื่อสอนแต่เพื่อเรียนและปรับว่าสิ่งที่ทำไปแล้ว พูดแล้วเกี่ยวกับเรื่องมลายูมันผิดยังไง เพราะฉะนั้นอย่าเกรงใจ ท้วง ค้าน หรือออกความเห็น เสนอก็ได้เพราะเราอยากจะเรียนรู้


 


โลกของชาวมลายู


เริ่มต้นพูดถึงเรื่องสังเขปประวัติศาสตร์มลายูปัตตานี ไม่เกี่ยวกับกลันตัน คำว่า มลายูจริงๆแล้วเป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ เราใช้กันในสองความหมาย คือ ความหมายแบบกว้างและความหมายแบบแคบ ความหมายอย่างกว้างก็หมายถึงกลุ่มประชากรที่ใช้ภาษาที่สัมพันธ์กัน และตั้งอยู่ในทำเลที่กว้างขวางมากของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นกลุ่มประชากรซึ่งอยู่ในคาบสมุทรในอาณาบริเวณที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก มีภาษาสัมพันธ์กันก็จริงแต่ว่าพูดกันไม่รู้เรื่อง ซึ่งผมถือเป็นความหมายอย่างกว้าง คือหมายความว่า ประชากรที่อยู่ในไทยตอนใต้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย คือกลุ่มที่เราใช้เรียกประชากรมลายูในความหมายอย่างกว้าง แต่ไม่ค่อยมีความหมายในทางประวัติ ศาสตร์มากสักเท่าไรเพราะกลุ่มนี้ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันในทางประวัติศาสตร์


 


ฉะนั้นในที่นี้จะใช้ในความหมายอย่างแคบซึ่งหมายความถึง กลุ่มประชากรที่ใช้ภาษาที่เรียกว่ามลายูหรืออาจจะมีสำเนียงแตกต่างกัน แต่พอจะพูดกันรู้เราเรื่องบ้าง เช่นประชากรที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย ฝั่งตะวันออกของมาเลเซีย กลันตัน ปัตตานีเหล่านี้พอจะพูดกันได้บ้างกับคนที่อยู่ในยะโฮ อย่างนี้ เป็นต้น


 


กลุ่มประชากรที่นี่จริงๆ แล้ว โดยแผนที่สรุปง่ายๆ ก็คือกลุ่มประชากรที่อยู่ในคาบสมุทรมลายูตอนล่าง กับอีกฝั่งหนึ่งของเกาะสุมาตรา คือ ฝั่งตะวันออกของเกาะสุมาตรา เลยไปจนถึงบางส่วนเกาะบอร์เนียว พูดง่ายๆ ว่ากลุ่มประชากรตรงนี้เป็นความหมายอย่างแคบของมลายู ซึ่งเราอาจจะเรียกว่า เป็นโลกมลายู เมื่อไรที่พูดถึงโลกมลายูก็หมายถึงคนกลุ่มนี้ ไม่ได้รวมมลายูในความหมายกว้าง


 


จริงๆ ในวิชานี้ เราต้องการให้ความหมายแคบลงไปกว่านั้นอีก เราจะเจาะจงลงมาที่ประชาชนมลายูที่อาศัยอยู่ใน 3 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยด้วยซ้ำไป ซึ่งในที่นี้บางทีผมจะใช้คำว่าปัตตานี ตามชื่อเก่าของดินแดน 3 จังหวัดตรงนี้ แต่บางครั้งก็จะพูดว่า 3 จังหวัดภาคใต้ ถ้าพูดว่าปัตตานี ซึ่งไม่ได้หมายความเฉพาะจังหวัดปัตตานีแต่รวมถึงทั้ง 3 จังหวัดตามชื่อเก่าของรัฐที่ชื่อนี้


 


ซึ่งก็แน่นอนว่าดินแดนที่เป็นมลายูในความหมายอย่างแคบสุดคือ ปัตตานี ก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกมลายูอย่างแน่นอน อย่างคร่าวๆ ก็คือที่เราพูดถึงดินแดนมลายูอย่างแคบส่วนที่เป็นตอนล่างของคาบสมุทรมลายู ทางตะวันออกของเกาะสุมาตรา บางส่วนของเกาะบอร์เนียว ไปถึงตอนล่างของฟิลิปปินส์เท่านั้นเอง


 


อย่างไรก็ตามแต่ถึงแม้ปัตตานีจะเป็นส่วนหนึ่งของโลกมลายู แต่ว่าที่จะพูดต่อไปนี้ ในระยะแรกอยากจะพูดถึงโลกมลายูกว้างๆ ไว้ก่อน ความรู้เกี่ยวกับโลกมลายู รัฐมลายูหลายเรื่องเหมือนกันที่มีการศึกษาโดยนักวิชา การที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ค่อนข้างเจาะทางตะวันตกของคาบสมุทรมลายูมาก ความรู้เหล่านี้ช่วยทำให้เราเข้าใจเรื่องของปัตตานีเพิ่มมากขึ้นด้วย


 


เริ่มต้นจากประวัติศาสตร์ยุคต้นเริ่มต้น จากภูมิประเทศที่เป็นดินแดนของโลกมลายูทุกวันนี้ เราจะพบว่าโลกมลายูโดยส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสุมาตรา ที่คาบสมุทรมลายูก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วไม่มีที่ราบน้ำท่วมถึงขนาดใหญ่ เช่นลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ลุ่มแม่น้ำโขง ลุ่มแม่น้ำอิระวดี สาละวิน แบบนั้นไม่มี เป็นน้ำท่วมถึงแบบกว้างๆ ไม่ใช่แม่น้ำสายสั้นๆ


 


ฉะนั้นส่วนใหญ่ แม่น้ำในดินแดนแถบนี้มันจะเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ ที่ไหลจากภูเขาที่อยู่ตรงกลางลงมาสู่ฝั่งทะเล เกิดพื้นที่ราบที่ไม่กว้างใหญ่ไพศาลมากนัก ก็อาจจะมีการเพาะปลูกในบริเวณที่เป็นพื้นที่ราบก่อนที่แม่น้ำจะไปถึงทะเลได้บ้าง ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถที่จะเป็นแหล่งที่มีการกระจุกตัวของประชากรขนาดใหญ่ได้


 


ในโลกมลายูทั้งหมดนี้ การกระจุกตัวของประชากรขนาดใหญ่ต้องมีที่สำหรับทำการเพาะ ปลูกขนาดใหญ่ เช่นอย่างลุ่มทะเลสาบเขมร ซึ่งไม่มีก็ไม่สามารถมีการกระจุกตัวของประชากรขนาดใหญ่ได้ หรือชวากลางที่มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์มาก แต่ในโลกมลายูไม่มี


 


ชาวมลายูไม่ใช่ประชากรกลุ่มแรกที่มาอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ แต่มีประชากรกลุ่มอื่นมาก่อน ประมาณ 2,500 -1,500 ปี ก่อนค.ศ. เชื่อว่า ชาวมลายูเริ่มจะอพยพเข้ามาจากยูนนาน อย่างไรก็ตาม ก็มีชาวมลายูที่เป็นบรรพบุรุษสืบมาของประชากรปัจจุบัน เริ่มเข้ามาในดินแดนที่เราเรียกว่าโลกมลายู เข้ามาอาศัยอยู่ในเขตที่เป็นชายฝั่งทะเลมากกว่าในส่วนที่เป็นพื้นแผ่นดิน


 


จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้หรือแม้แต่ทุกวันนี้ ผมได้คุยกับเพื่อนชาวมลายู เขาบอกผมว่ายังพบซาไกอยู่แถวบ้านเขาด้วยซ้ำ ส่วนในดินแดนที่ชาวมลายูอยู่ มักเป็นริมฝั่งทะเลมากกว่าซึ่งถนัดในการเดินเรือ เพราะฉะนั้นพวกนี้สามารถเดินเรือไปได้ไกลมากๆ เดินเลียบชายฝั่งไปได้ไกลมากๆ การเดินเรือไปยังเกาะมาดากัสกาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว อย่างไรก็ตามแต่โลกของชาวมลายูตรงนี้ ตั้งอยู่ในทำเลเส้นทางสำคัญทางการค้าของโลกทีเดียว


 


แรกสุดคือ ทะเลตรงนี้ ฝรั่งที่เป็นนักวิชาการบางคนเรียกว่าเมดิเตอร์เรเนียนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ เป็นทะเลท่ามกลางแผ่นดิน และตรงนี้จะมีการค้าตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว พบกลองมโหระทึกซึ่งผลิตทางตอนเหนือของเวียดนามกระจายไปในบอร์เนียวฝั่ง ตะวันออกและตะวันตกของประเทศไทยและมาเลเซียบางส่วน บนเกาะชวา เป็นต้น ก็เข้าใจว่าน่าจะมีประชากรมลายูซึ่งสามารถเดินเรือทะเลไปได้ไกลๆ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว


 


นอกจากนั้นแล้วหลังจากการค้าของโลกขยายตัวมากขึ้น นอกจากการค้าภายในของดิน แดนแถบนี้แล้วก็ยังมีตลาดใหญ่อยู่ 2 ตลาด ตลาดหนึ่ง คืออินเดียอีกตลาดหนึ่ง คือ จีน เป็นตลาดใหญ่มากจะค้าขายกันได้ก็ต้องผ่านตรงนี้ เพราะฉะนั้นก็ตั้งอยู่บนเส้นทางการเดินเรือที่มีความสำคัญมากในทางการค้า สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคที่ชาวมลายู ย่างก้าวเข้ามาสู่ยุคประวัติศาสตร์ก็คือ การเข้ามาของอารยธรรมอินเดีย ซึ่งเดินทางมาค้นหาทองคำแลกเปลี่ยนสินค้า


 


ในปัจจุบันเชื่อว่า ไม่เพียงแต่อินเดียที่เดินทางเข้ามายังโลกมลายูเพียงอย่างเดียว คนพื้นเมืองแถบนี้ก็เดินทางไปอินเดียด้วยเหมือนกัน สรุปก็คือ มันมีการแลกเปลี่ยนทางการค้าเกิดขึ้นก่อนและต่อมาก็ทำให้อารยธรรมของอินเดียเข้ามาอยู่ในดินแดนแถบนี้


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารยธรรมทางศาสนาฮินดูกับศาสนาพุทธ เป็นผลให้ชุมชนมลายูที่ตั้งอยู่เป็นชุมชนเล็กๆ ตามชายฝั่งเหล่านี้ ซึ่งเดิมที่เดียวอาจจะมีการรบราฆ่าฟันกันเอง มีโจรสลัดบ้างอะไรก็แล้ว แต่ก็รับอิทธิพลของพุทธและฮินดูจากอินเดียมา ก็เกิดการตั้งรัฐขึ้นมา สรุปง่ายๆ ก็คือสิ่งที่อารยธรรมอินเดียนำมาให้ชาวมลายูในแถบนี้ ทำให้เกิดการตั้งรัฐโดยไม่ใช่ชุมชนเหมือนแต่ก่อนแต่เป็นรัฐ มีพระเจ้าแผ่นดินที่คิดว่า ตัวเองเป็นเทวดาอะไรก็แล้วแต่ เพื่อให้ตนมีอำนาจเหนือชุมชนที่อยู่ขยายอำนาจขึ้นมา


 


เพราะฉะนั้นนับตั้งแต่เกิดเป็นรัฐขึ้นมา เราก็จะพบรัฐฮินดู-พุทธของชาวมลายูกระจายอยู่ตามชายฝั่งบนคาบสมุทรมลายูและบนเกาะสุมาตรา และนับจากนั้นเป็นต้นมาพบว่าการค้าระหว่างจีนและอินเดียยิ่งขยายตัวมากขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่7-8เป็นต้นมา จึงมีพ่อค้าจากดินแดนต่างๆ ทั่วโลกผ่านเข้ามาอย่างมากทีเดียว และการค้าสมัยก่อนไม่ใช่แค่เดินทางผ่านเพราะไม่ใช่เรือกลไฟ ต้องใช้เรือใบ


 


รูปแบบของมรสุมที่ผ่านดินแดนตรงนี้ สรุปง่ายๆ ก็คือว่าครึ่งปีมีลมพัดจากตะวันตกมาตะวันออก อีกครึ่งปีมีลมพัดจากตะวันออกไปตะวันตก เพราะฉะนั้นเรือที่ผ่านเข้าต้องจอดพักเป็นเวลานานๆ มาถึงขนสินค้ากลับเลยเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าลมไม่มาก็ต้องรอให้ลมมา ต้องมีการเจาะแวะ และการค้าในสมัยโบราณมันไม่ได้มีห้างที่มาซื้อสินค้าแล้วลงเรือได้เลยต้องรอกว้านซื้อสินค้าที่ต้องการ


 


ฉะนั้นการที่มีเส้นทางการค้าผ่านจึงไม่ได้หมายความเฉพาะเพียงที่มีเรือผ่าน แต่หมายถึงการเข้ามาตั้งหลักแหล่งของพ่อค้า ต้องมาอยู่ตรงนี้ รัฐที่มันเกิดขึ้นแล้วก็มีความซับซ้อนมากขึ้นมีคนต่างชาติต่างภาษาที่มีผลประโยชน์มากขึ้นๆ ในบรรดารัฐเหล่าถ้ามันสามารถทำได้สำเร็จมันจะประสบความมั่งคั่งมาก สิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จในตอนนี้ก็คือว่า ตรงนี้ที่เป็นช่องแคบมีโจรสลัดชุกชุมมากๆเลย ถ้าเราสามารถทำ 2 อย่าง


 


1. ปราบโจรสลัด เรือก็จะเข้ามาเมืองท่าของเราไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหนก็แล้วแต่ ก็จะเข้ามาเมืองท่าของเราได้ง่ายขึ้น


 


2. เมืองท่าเราต้องมีสินค้าที่เขาต้องการ อาจจะมาจากเมืองจัน ญี่ปุ่น เราต้องเก็บสินค้าเหล่านี้ไว้ในเมืองท่าเราให้พร้อม เข้ามาแล้วต้องการอะไรได้หมด โดยที่ไม่ต้องเดินเรือไปที่โน่นที่นี่


ฉะนั้นคนที่สามารถทำสิ่งนี้ได้ก็จำเป็นจะต้องมีเครือข่าย รัฐเล็กรัฐน้อยที่เกิดขึ้นต้องสร้างเครือข่ายอย่าให้ต้องแข่งกัน ให้ป้อนสินค้าให้กันและกันได้ด้วย และคนที่ทำอย่างนี้สำเร็จก็คือ รัฐศรีวิชัย ซึ่งมีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 -18 ซึ่งสามารถสร้างสหพันธรัฐที่มีความสัมพันธ์ เป็นเครือข่ายกว้างขวางทั้งทางฝั่งตะวันออกของเกาะสุมาตราและคาบสมุทรมลายู กลายเป็นมหาอาณาจักรที่มีความมั่งคั่ง


 


ลังกาสุกะในศรีวิชัย


ในสหพันธรัฐที่รวมกันอยู่หลวมๆนี้ มีเมืองๆ นึงที่ชื่อเสียงมากและปรากฏอยู่ในหลักฐานของจีน คือ เมืองชื่อลังกาสุกะ เข้าใจว่าเมืองนี้ที่ค้นพบคือ เมืองเก่าที่ยะรัง เป็นเมืองที่เขาได้ขุดค้น พบว่ามีโบราณสถานหรือศาสนสถานที่มีขนาดใหญ่มากๆ เรียกว่าใหญ่ที่สุดในโลกมลายูเลยก็ว่าได้ แต่ลังกาสุกะไม่ใช่ศูนย์กลางของศรีวิชัยนะ แต่แน่นอนว่าลังกาสุกะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัยแน่นอน เพราะว่าหลังจากที่ศรีวิชัยเสื่อมแล้วเนี่ย มันมีพระเจ้าแผ่นดินจากอินเดียคนหนึ่งยกกองทัพมาโจมตีศรีวิชัย หนึ่งในเมืองที่ถูกโจมตีนี่ก็คือ ลังกาสุกะ แต่เป็นเมืองที่มีความมั่งคั่งทางการค้าอย่างดี เพราะไม่มีเมืองโบราณรุ่นเดียวกันในโลกมลายูที่มีความมั่งสามารถก่อสร้างอะไรได้มากมายเท่าลังกาสุกะ


 


หลังจากศรีวิชัยเป็นต้นมา ไม่มีรัฐมลายูแห่งใดที่สามารถสร้างเครือข่ายได้กว้างขวางเท่า แต่รัฐมลายูใหญ่ๆ ที่เกิดหลังจากนั้นเป็นต้นมานี้ เรียนรู้บทเรียนจากศรีวิชัย ต้องคุมโจรสลัดให้อยู่ มีความเข้มแข็งเพียงพอในการที่ป้องกันการรุกรานจากอาณาจักรที่ใหญ่กว่า และสร้างเมืองท่าที่มีความพร้อมในการอำนวยความสะดวกในการค้าขาย เช่น มะละกาที่มีกฎหมายทางทะเลที่สำคัญสำหรับเรือที่ผ่านเข้ามา รัฐมลายูทั้งหลายเรียนรู้เรื่องนี้ มะละกา ยะโฮเรียนรู้สิ่งนี้มา แม้แต่ปัตตานีเองก็เรียนรู้สิ่งนี้มา ในการที่จะสร้างเป็นลักษณะที่มีความสมบูรณ์ในการทำการค้าระหว่างประเทศ


 


รัฐมลายูที่ตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งเหล่านี้เรียกตามภาษาทางวิชาการว่า ปาซีซี คือรัฐชายฝั่งเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในรัฐมลายูนะ ทางตอนเหนือของเกาะชวาก็มี ซึ่งมีลักษณะที่เหมือนกันอยู่2-3อย่างด้วยกัน


 


อันแรกก็คือว่า มีประชากรค่อนข้างเบาบาง เพราะว่าไม่มีพื้นที่ราบเพียงพอที่จะทำการเพาะปลูกได้ แต่เมื่อไรก็ตามแต่ที่การค้ามันเกิดรุ่งเรืองขึ้นมาขึ้นมา จะมีประชากรจากที่ต่างๆไหลเข้ามาอยู่ ทำให้อาหารไม่พอกิน ส่วนใหญ่ของรัฐชายฝั่งเหล่านี้คือผลิตอาหารไม่พอ ดังนั้นต้องนำเข้าอาหารจากที่อื่น


 


ส่วนคาบสมุทรมลายูก็จะนำเข้าอาหารจากนครศรีธรรมราช อยุธยา หรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะว่าลึกเข้าไปส่วนในยิ่งมีคนเบาบาง คนก็ไม่มีผัก ไม่มีอาหาร แต่ถ้าเป็นเกาะชวาข้างในมีคนเยอะมากเลย เพราะฉะนั้นสามารถนำเข้าอาหารจากส่วนในเกาะชวามาเลี้ยงได้ เพราะฉะนั้นรัฐชายฝั่งส่วนใหญ่เป็นรัฐขนาดเล็กนอกจากนั้นยังมีการเคลื่อนย้ายประชากรรวดเร็วมากถ้ารัฐใดมีความรุ่งเรืองทางการค้าก็จะมีคนจากที่ต่างๆเข้ามาเยอะแยะ รัฐเจริญเติบโตขึ้นทันที


 


ปัตตานีในช่วงที่รุ่งเรืองทางการค้ามีประชากรหนาแน่นมาก มากขนาดที่พระราชาของปัตตานีสามารถเรียกเกณฑ์กองทัพขนาดใหญ่ได้ในเวลาอันเร็ว แต่พอถึงช่วงที่ปัตตานีเสื่อมประชากรจะเบาบางมากเลย คนก็ย้ายออกไปเพื่อไปหาเมืองท่าที่ทำกำไรได้ดีกว่า รัฐพวกนี้จะเป็นลักษณะอย่างนี้ทั้งหมด ถึงแม้ว่าจะมีการเคลื่อนย้ายเข้ามาของคนต่างชาติ ไม่ว่าใครจะเข้ามาตรงนี้ก็ตามแต่ ในที่สุดแล้วก็จะถูกกลืนให้กลายเป็นมลายูไป


 


อย่างตำนานของโต๊ะเคี่ยมซึ่งเป็นคนจีน เข้ามารับราชการแล้วก็เปลี่ยนศาสนาเป็นมุสลิม สรุปง่ายๆ คือเรื่องของโต๊ะเคี่ยมเป็นเรื่องของการถูกกลืนให้เป็นมลายูนั่นเอง ตรงนี้จึงมีอัตลักษณ์ของความเป็นมลายูเป็นหลักอยู่ คนจะเข้ามาจากไหนก็แล้วแต่ก็จะถูกกลืนอัตลักษณ์เป็นมลายูไป ชื่อมลายูก็เป็นชื่อชาติพันธุ์เหมือนไทย มันไม่บริสุทธิ์หรอก มันก็ผสมปนเปกันไปของคนอีกหลายชาติ หลายภาษา


 


หันกลับมาดูลังกาสุกะต่อ ในบรรดารัฐมลายูลังกาสุกะเป็นรัฐที่มีความสำคัญค่อนข้างมาก พุทธศตวรรษที่20 มีเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งก็แล้วแต่ประชากรและผู้ปกครองที่อยู่ที่ลังกาสุกะที่ยะรังอยากเคลื่อนย้ายเข้ามาหาแม่น้ำ ย้ายจากยะรังมาสู่ปัตตานีปัจจุบันนี้


 


สิ่งที่น่าสังเกตก็คือว่า รัฐมลายูที่อยู่ทางตอนเหนือๆ ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกจะอ้างลังกาสุกะเป็นคล้ายๆ ต้นกำเนิดในอุดมคติของเขา ในขณะที่รัฐมลายูที่อยู่ทางตอนล่างที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย จะอ้างจากสุมาตรา มะละกา ก็อ้างว่า มาจากสุมาตรา รัฐอื่นๆ ก็จะอ้างว่ามาจากมะละกาอีกทีหนึ่ง มันเป็นโลกมลายูที่อาจแบ่งออกเป็น 2 ส่วน หนึ่งคือ โลกที่มีปัตตานีเป็นศูนย์ กลาง และทางตอนล่างที่มีมะละกาเป็นศูนย์กลาง ในอุดมคตินะไม่ใช่ในความจริง ในความจริงเป็นอย่าง ไรอีกเรื่องหนึ่ง


 


เรื่องของโครงสร้างการเมืองการปกครองและสังคมของรัฐมลายูทั้งหลาย อันแรกคือ เมืองซึ่งเป็นที่อยู่ของพระราชามักตั้งอยู่ปากแม่น้ำ ใกล้แต่ไม่ติดฝั่งทะเล เพราะถ้าติดฝั่งทะเลจะสะดวกในการถูกปล้นสะดมของชาติอื่นได้ ก็จะถอยจากฝั่งทะเลเข้ามาลึกเข้ามานิดหน่อย เรือสามารถเดินเข้าเดินออกสะดวก นอกจากนั้นแล้วในฐานะที่เป็นเมืองท่า ก็จำเป็นที่จะต้องที่ซึ่งสามารถที่จะออกเรืออย่างปลอดภัย ปัตตานีถือว่า เป็นรัฐในอุดมคติเลยเพราะว่า มีดินก้อนไปล้อมตัวอ่าวปัตตานีอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าคุณเข้ามาในอ่าวนี้คลื่นลมกำบังให้เสร็จทุกอย่างกำบังให้เสร็จ การป้องกันโจรสลัด ก็ทำได้ค่อนข้างง่าย


 


นอกจากนั้นแล้วปากแม่น้ำยังให้ประโยชน์หลายอย่าง บริเวณปากแม่น้ำจะให้พื้นที่ราบสามารถทำการเพาะปลูกได้ การที่รายาเกณฑ์คนให้คนขุดคลอง ถมที่ ในบริเวณปากแม่น้ำก็เพื่อให้เป็นที่เพิ่งผลผลิตทางการเกษตร เพราะฉะนั้นการมาตั้งศูนย์กลางอำนาจอยู่บริเวณปากแม่น้ำทำให้สามารถรวบรวมประชากรได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในภูมิประเทศแบบนั้น


 


ทั้งแม่น้ำยังเป็นเส้นทางคมนาคมให้เราสามารถเข้าไปยังส่วนในที่ลึกเข้าไปได้ด้วย เพื่อต้องการของป่า คือประมาณศตวรรษที่17-18เป็นต้นมา ของป่าเป็นความต้องการในตลาดโลกมาก การเข้ามามีส่วนแบ่งคือ เข้าไปเอาของป่ามา เพราะรายามีอำนาจแค่เพียงในนาม ประชากรข้างในไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของรายาเหมือนในเขตเมือง แต่อย่างน้อยที่สุดก็ต้องพึ่งพากันและกันที่จะส่งส่วยที่เป็นของป่ามายังเมืองท่าด้วย ดังนั้นส่วนใหญ่รัฐปัตตานีก็จะตั้งอยู่ตรงนี้


 


ในรัฐนี้ กลุ่มคนชั้นปกครองคือ คนที่เป็นสุลต่านหรือเป็นรายาก็แล้วแต่ ย่อมเป็นคนที่มีอำนาจและผลประโยชน์สูงสุดในรัฐนั้นๆ แต่คนกลุ่มนี้ไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดเพียงกลุ่มเดียว มีอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีคนในบังคับบัญชามากเพราะว่า เป็นคนต่างชาติที่อพยพเข้ามา และไม่ได้มาคนเดียวแต่มาเป็นฝูงมันก็มีกำลังคนอยู่ในมือตนเองพอสมควร เขาได้รับความจงรักภักดีจากคนที่อยู่ส่วนในของแผ่นดินได้ คนกลุ่มนี้จะเข้ามาแบ่งปันผลประโยชน์จากตัวรายา ซึ่งเรียกกว้างๆ กันในรัฐมลายูว่าโอรังกายา อำนาจสำคัญที่เห็นได้ชัดจากคนกลุ่มนี้คือการดำรงตำแหน่งสำคัญของระบบปกครองของรัฐมลายู ประกอบด้วย 4 ตำแหน่งด้วยกัน


 


คล้ายๆ ตำแหน่งเสนาเวียงในระบบจตุสดมภ์ของไทย


คล้ายๆ ตำแหน่งเสนาพระคลังของไทยเหมือนกัน


ประมาณนายทัพเรือ


ประมาณเจ้ากรมท่าของไทย ดูแลเกี่ยวกับการค้า


 


ทั้ง 4 ตำแหน่งเหล่านี้ส่วนใหญ่สืบทอดทางสายโลหิต ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อำนาจเหล่านี้ ฝังอยู่ในตระกูลของโอรังกายาเลย ไม่ใช่ ตำแหน่งที่เปรียบเทียบกับอยุธยา ถ้าใครได้รับใช้ใกล้ชิดสันหลังสะดุ้งทุกวันเพราะว่า จะสั่งเฆี่ยนเมื่อไรก็ได้ ซึ่งจะไม่เจอในรัฐมลายู อำนาจของรายากับโอรังกายังค่อนข้างใกล้เคียงกัน เมื่อไรก็ตามที่รายาอ่อนแอ พวกโอรังกายาบางคนก็จะแต่งตั้งตนเองขึ้นมาดำรงตำแหน่ง มหาอุปราชในภาษาไทย ซึ่งไม่ได้หมายความถึงเฉพาะผู้ที่จะขึ้นมาเป็นรายายาเท่านั้น


 


เปรียบเทียบง่ายๆ คือ นายกรัฐมนตรี ซึ่งพบในรัฐมลายูหลายรัฐมาก แต่ไม่พบในรัฐปัตตานี ปัตตานีเองก็พบปัญหาแบบนี้เหมือนกัน เพราะว่าปัญหาของรัฐมลายูนี้คือ อำนาจมีการถ่วงดุลกันไปมาระหว่างโอรังกายากับรายาค่อนข้างมาก


 


ในขณะเดียวกันพวกโอรังกายาเหล่านี้ก็แย่งอำนาจกันเองด้วย พยายามจะเข้ามาแทรกแซงการสืบทอดราชสมบัติ เพราะการสืบทอดของสุลต่านหรือรายาไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอนว่า ใครจะขึ้นมาแทน หลังจากที่รายาสวรรคตไปแล้ว ก็จะมีการต่อรองว่าใครจะขึ้นมาแทน โอรังกายาก็จะหนุนคนที่ตนคิดว่า จะได้ประโยชน์มากที่สุดขึ้นมาแทน คือ ตำแหน่งรายานอมินี มีมาตั้งแต่โบราณแล้ว


 


ในประวัติศาสตร์ของปัตตานี ก่อนหน้าที่จะเป็นรายา ผู้หญิง 4 องค์ มันมีการแย่งอำนาจกันเยอะมาก แต่ในประวัติศาสตร์บันทึกไว้เพียงว่า รายาถูกแทง ถูกวางยาพิษบ้าง นั่นคือ การแย่งอำนาจกันของกลุ่มโอรังกายา เสนอตัวเจ้านายที่เขาบังคับบัญชาได้ขึ้นมาเชิด


 


ช่วงนั้นเป็นช่วงที่การค้าปัตตานีมีความรุ่งเรืองมาก พวกโอรังกายาเองก็คงจะคิดออกว่า หากยังทะเลาะกันอยู่อย่างนี้ ทำให้เรือต่างชาติไม่เข้ามาจอดแวะในปัตตานี เลยเลิกทะเลาะและหา ทางเอาคนที่พอจะอยู่ด้วยกันได้ขึ้นมาเป็นรายาแทน และเป็นเหตุผลที่เลือกผู้หญิงขึ้นมาเป็นรายา และประสบความสำเร็จด้วย เพราะในช่วงที่รายาเป็นผู้หญิงนั้นมีความสงบทางการเมือง ทำให้การค้าในปัตตานีมีความรุ่งเรืองมาก มีคนอพยพเข้ามาอยู่มาก ปัตตานีทั้งสามารถยกกองทัพไปตีอยุธยาก็ได้ อยุธยายกกองทัพมาตีปัตตานีก็ป้องกันได้ คือ เข้มแข็งพอที่จะป้องกันตนเองจากการรุกรานของอาณาจักรใหญ่ได้


 


สิ่งที่น่าสังเกตก็คือว่า ถ้าเรามองระบบราชการของปัตตานีและไปเปรียบเทียบกับอยุธยา ฮานอยก็ตาม สิ่งที่ต่างกันก็คือว่า ถึงแม้จะถูกยึดจากอยุธยาแล้ว ปัตตานีก็ไม่ได้พัฒนาตัวระบบราชการ เพราะว่า ผลประโยชน์ของรายาไม่เหมือนผลประโยชน์พระเจ้าแผ่นดินอยุธยา มันถูกแบ่งกับโอรังกายา อยุธยาพวกที่เป็นขุนนางต่างจังหวัดถูกฆ่าแล้วดึงประโยชน์มาอยู่ที่อยุธยา ที่รวยขึ้นๆ และมีกำลังสามารถสร้างระบบที่มีความซับซ้อนขึ้นได้ แต่ในรัฐมลายูไม่ใช่ ตัวทรัพย์ที่ได้มามาก ไม่ได้ไปกระจุกอยู่ที่ตัวรายาและกระจายไปทั่ว ทำให้ไม่มีพลังเพียงพอที่จะนำมาพัฒนาระบบราชการ


 


และนี่คือหัวใจสำคัญว่า อยุธยาจนกระทั่งถึงระบบราชการที่พัฒนาขึ้นมา ทำให้ไม่ถูกทำลายง่ายๆ สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ หากถูกตีไป เกิดการสืบเนื่องของตัวระบบ แต่มันไม่เกิดในรัฐมลายู


 


ถึงแม้ว่าตัวรายาไม่ได้มีอำนาจแบบพระเจ้าอยู่หัวอยุธยาก็จริง แต่ตัวรายาเป็นคนที่มีความศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง คนพื้นเมืองบอกว่า เราเป็นคนธรรมดาจะขึ้นเป็นเจ้าเมืองไม่ได้ ความคิดแบบนี้ไม่ได้มีเฉพาะในมลายูนะ ทางเหนือก็คิดแบบนี้ ถ้าอ่านประวันติศาสตร์เชียงใหม่ก็พบอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้นตัวรายาเหล่านี้ จึงเป็นบุคคลสำคัญที่ให้เสถียรภาพ คือตราบเท่าที่มีรายาถึงแม้จะไม่มีอำนาจใดเลยก็ต้องมีรายาสืบทอดขึ้นมาเพราะเป็นผู้ที่ทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง


 


นี่คือ กลุ่มคนที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจที่เป็นทางการของรัฐมลายู จะพูดถึงกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่นอกโครงสร้าง เดิมทีเดียวเรียกว่าอะไรก็ไม่ทราบแต่มาภายหลังเรียกว่าโบโมะ พ่อหมอในภาษาไทย หมอผีว่างั้น เพราะอย่าลืมว่าคนแถบนี้ไม่ว่าจะเป็นมลายู ชวา เคยนับถือศาสนาพื้น เมือง ทำพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ทั้งหลาย อยู่นอกโครงสร้าง เพราะว่า การที่จะเป็นโบโมะได้ไม่ต้องมีการแต่งตั้ง ต้องเรียนรู้เอาเอง จนสามารถทำได้ เสกได้ กลายเป็นคนที่ชาวบ้านนับถือ เป็นอำนาจที่เกิดขึ้นนอกโครงสร้าง ซึ่งมีบทบาทในประวัติศาสตร์ปัตตานี


 


สิ่งที่น่าสังเกตก็คือว่า ครูสอนศาสนาอิสลามที่มีสถานะเหมือนแบบนี้ แต่ไม่ได้ว่าครูสอนศาสนาเป็นโบโมะนะ แต่ว่า สถานะของครูสอนศาสนาอิสลามก็เป็นอิสระจากรัฐ ไม่ได้รับการแต่ง ตั้งจากรายา มีชื่อเสียงเป็นที่นับถือ อีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่นอกโครงสร้างก็คือ กลุ่มที่เป็นพ่อค้าทั้งหลาย โดยเฉพาะพ่อค้าที่มีคนในชุมชนของตนเองเป็นจำนวนมาก ที่พูดถึงมี2-3พวกด้วยกัน


 


1.จีนในช่วงที่ปัตตานีรุ่งเรืองทางการค้ามาก มีคนจีนอพยพเข้ามาเยอะมาก มีหลักฐานที่พูดถึงคนจีนในปัตตานีมาก แต่ก็ถูกกลืนให้เป็นมลายูมาก เช่นโต๊ะเคี่ยมที่เข้ามารับราชการแล้วก็ถูกกลืน เปลี่ยนศาสนามาเป็นอิสลาม คือ จีนเป็นกลุ่มที่ไม่มีรัฐบาลหนุนหลัง รัฐบาลไม่ได้สนใจที่จะมาส่งเสริมคนจีนที่เข้ามาแถบนี้มีอำนาจทางการเมือง


 


จะมีนโยบายช่วงสั้นๆ ในช่วงราชวงศ์หมิง ที่เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองในเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้ แต่นโยบายจีนสั้นมากๆ และไม่ได้มุ่งหวังจะแทรกแซงทางการเมืองโดยตรงแต่เข้ามาเพื่อรักษาสถานะเดิม เพราะจีนได้ประโยชน์อยู่แล้ว อย่าเปลี่ยนเท่านั้นเอง จีนเหล่านี้ถึงแม้จะมีคนมากก็ตาม ถึงที่สุดแล้วก็ยังสู้อำนาจของชาวพื้นเมืองไม่ได้


 


ต่างจากอีกพวกหนึ่งที่มีอำนาจมาหนุนหลังอยู่ข้างนอก คือ ฮอลันดา พูดถึงโปรตุเกสอีกนิด นึง โปรตุเกสก็เข้ามาก่อนฮอลันดา แต่ก็ไม่มีอำนาจ ทั้งๆ ที่โปรตุเกสมีฐานกำลังอยู่ใกล้ๆ ปัตตานีนี่เอง คือ มะละกา เพราะว่าสิ่งที่โปรตุเกสต้องการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ การผูกขาดการค้าเครื่องเทศ เผอิญปัตตานีอยู่นอกเส้นทางการค้าเครื่องเทศ ก็เลยไม่ค่อยสนใจที่จะเข้ามาหนุนหลังพวกโปรตุเกส แต่ฮอลันดาไม่ใช่ ฮอลันดานั้นสนใจที่จะเข้ามาดูแลรักษาผลประโยชน์การค้า บางครั้งก็เข้ามาช่วยปัตตานีรบกับอยุธยาหรือช่วยอยุธยารบกับปัตตานี ถ้าได้ประโยชน์จากฝ่ายไหนก้อยู่ฝ่ายนั้น นอกจากนั้นก็มีชาติตะวันตกอื่นๆ ที่นี่ไม่ขอพูดถึง


 


กลุ่มสุดท้ายที่อยู่ในโครงสร้างแต่ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างอำนาจของปัตตานีก็คือ กลุ่มประชาชนธรรมดาทั่วๆ ไป ถ้าอยู่ในเขตเมืองก็จะขึ้นอยู่กับอำนาจของรายา นอกเขตเมือก็จงรักภักดีกับโอรังกายาบางคน ตัวรายามีอำนาจในตัวประชาชนไม่เท่าไรนัก นับถือเพียงในนามมากกว่า


 


อย่างไรก็ตามแต่ประชาชนเหล่านี้ก็ใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านซึ่งมีโครงสร้างอำนาจของเขาเอง ซึ่งไม่สัมพันธ์กับอำนาจของรายาที่เป็นทางการหรือในเขตเมือง กลุ่มประชาชนเหล่านี้ถ้าพูดเป็นภาษาไทยก็คือ ไพร่


 


ไพร่ในที่นี้คือ คนที่ไม่ใช่เจ้าหรือขุนนาง ไพร่มลายูมีอิสระมากกว่าไพร่ไทย เดิมที่เดียวก็มีเท่ากันนะ แต่เมื่อพระเจ้าแผ่นดินแข็งขึ้น ทำให้อิสระของไพร่ยิ่งลดลงๆ แต่ในมลายูพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้แข็ง ซึ่งไพร่สามารถอพยพโยกย้ายได้ แต่ไพร่ไทยอพยพโยกย้ายไม่ได้ ได้แต่หนีเข้าป่าไปเลย แต่ก็ทำได้ยาก


 


การเข้ามาของอิสลาม


รัฐมลายูเหล่านี้ได้เปลี่ยนมาเป็นรัฐที่นับถือศาสนาอิสลามในภายหลัง ในศตวรรษที่18-19 ก่อนหน้าที่จะนับถือศาสนาอิสลามชาวมลายูนับถือศาสนาพื้นเมือง ต่อมาก็มีพูดกับฮินดูเข้ามา แต่ไม่ใช่ศาสนาที่เรียกว่า ศาสนามวลชน พราหมณ์ก็ตาม พระภิกษุก็ตามเข้ามาก็ไม่ได้เข้ามาอยู่ในหมู่บ้านแต่อยู่ในพระราชสำนัก ได้รับการอุปถัมภ์ จากตัวพระราชารัฐมลายู เพราะฉะนั้นความรู้เกี่ยวกับศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธของประชาชนไม่ลึกซึ้งเหมือนคนที่อยู่ในราชสำนัก เป็นศาสนาที่อยู่กับคนชั้นสูง คนทั่วไปก็รับมาเฉพาะชื่อหรือในนาม และพื้นฐานที่แท้จริงก็คือ ศาสนาพื้นเมืองที่นับถือมาก่อน เลยชื่อของเทวดามาใส่ในชื่อผีที่ตนนับถือมาก่อนซึ่งเปลี่ยนเป็นอุมา ศิวะ อะไรก็แล้วแต่


 


ก่อนหน้าที่จะมานับถือศาสนาอิสลามนั้น มีคนมุสลิมเข้ามาอาศัยที่นี่แล้ว เพราะพบหลุมฝังศพ ก็มาเริ่มเปลี่ยนศาสนาในพุทธศตวรรษที่ 18 อิสลามเข้ามาในเกาะสุมาตราและต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 19 มะละกาเริ่มรุ่งเรืองขึ้นมาและเปลี่ยนมาเป็นศาสนาอิสลาม ก็จะเชื่อว่า อิสลามขยายมาจากมะละกามายังคาบสมุทรมลายู


 


จริงแล้วศาสนาอิสลามก็เหมือนศาสนาพุทธในประเทศไทย คือพุทธที่ไทยนับถืออยู่ในขณะนี้กับอิสลามเข้ามาใกล้กัน ทั้ง2 ศาสนาไม่ได้เข้ามาเผยแพร่แล้วหยุดแต่มีการขยายตัวสืบเนื่องมาตลอดเวลา จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ก็ว่าได้นะ เช่น ในประเทศไทยทางตอนเหนือที่มีการเปลี่ยนศาสนาชาวเขาให้เป็นพุทธ ก็ถือเป็นการขยายอีกแบบหนึ่ง ศาสนาอิสลามก็เช่นเดียวกัน ศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธไม่ได้หยุดนิ่งต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่ตลอดเวลา


 


สิ่งที่น่าสนใจของการเข้ามาของศาสนาอิสลามก็คือว่า ตัวภาษามลายูจริงๆแล้วเป็นภาษา กลางในการค้าขายในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดมา เพราะฝรั่งที่เข้ามา พูดฝรั่งก็ฟังกันไม่ออก ต้องมีล่ามมาด้วยแล้วแปลเป็นภาษามลายู ใครที่ฟังมลายูออก ก็แปลเป็นไทยอีกทีหนึ่ง มลายูคือ ภาษากลางทั้งการค้าและการทูตก่อนอิสลามจะเข้ามา จนกระทั่งศตวรรษที่ 19 ก็ยังเป็นภาษา กลางทางการค้าอยู่


 


คนอิสลามที่เข้ามาถามว่า จะเกาะภาษาอะไร แน่นอนคือ ต้องเกาะภาษามลายู จึงมีบทบาทในการขยายศาสนาอิสลาม แม้แต่ตำราหนังสือเขียนเกี่ยวกับศาสนาอิสลามในระยะแรกๆ ที่เขียนที่อาเจะห์ ราชสำนักอาเจะห์ก็ให้เขียนเป็นภาษามลายู แสดงว่ามันเป็นภาษาทางศาสนา เหมือนกันกับภาษาไทยที่เป็นพาหะของศาสนาพุทธแบบลังกา


 


การเข้ามาของศาสนาอิสลามอย่างที่รู้กันมาคือ จะเน้นปัจจัยจากภายนอก แต่ปัจจุบันนักวิชาการจะให้ความสำคัญกับปัจจัยภายในของการเปลี่ยนศาสนาจากเดิมมาเป็นอิสลาม มุสลิมที่น่าสนใจคือ ปัจจัยภายในจะช่วยชี้ให้เราเห็นถึงภาวะบางอย่างของรัฐมลายูเหล่านี้ จะขอสรุปเรื่องปัจจัยภายในดังต่อไปนี้


 


อันแรกสุด คือศาสนาอิสลามเป็นศาสนามวลชน ไม่ใช่ศาสนาที่เข้ามาสู่ราชสำนัก ซึ่งเข้ามาสู่ประชาชน อยู่ได้เพราะประชาชน มันไม่ใช่อยู่ได้เพราะพระเจ้าแผ่นดินอุปถัมภ์ ก็เหมือนกับครูสอนศาสนาอิลามเหมือนกันไม่กินเงินเดือนพระเจ้าแผ่นดิน แต่ต้องอยู่ได้กับชาวบ้านด้วย นอกจากศาสนาพื้นเมืองเดิมที่รู้จัก คนมลายูเพิ่งรู้จักศาสนามวลขนอีกครั้งหนึ่งคือ ศาสนาอิสลาม ก่อนหน้านั้นที่เป็นพุทธ-ฮินดู ก็เป็นแบบไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไร ก็เหมือนกับคนไทยที่รู้จักศาสนาครั้งแรกก็เมื่อรับเอาศาสนาพุทธนิกายลังกาวงศ์เข้ามา ซึ่งเป็นศาสนามวลชนจริงๆ


 


ประเด็นที่สองก็คือว่า มันมีการผสมกลมกลืนกันกับความเชื่อเดิมที่มีอยู่ก่อน ทั้งพุทธและฮินดู พุทธเองก็ผสมกับฮินดูกับพุทธแบบเก่า และความเชื่อพื้นเมืองเดิมด้วย ศาสนาที่เข้ามาแล้วกลายเป็นศาสนาบริสุทธิ์ไม่ใช่ มันต้องผสมกลมกลืนกันกับสิ่งที่มันมีอยู่เดิมโดยที่ไม่ขัดกับหลักศาสนา เพราะฉะนั้นก็จะมีศาสนาพื้นเมืองมีการผสมปนเปกัน


 


ประเด็นที่สามก็คือว่า ศาสนาอิสลามที่พบในช่วงแรกๆได้รับอิทธิพลหรือนิกายซูฟี(ผู้อุทิศตนให้แก่การฝึกอบรมและขัดเกลาจิตวิญญาณของตนเองให้บริสุทธิ์และมีความศรัทธาในอัลลอฮฺมากขึ้น-ผู้เรียบเรียง)โดยตรงเลยทีเดียว เพราะว่างานเขียนระยะแรกๆ ที่เผยแพร่ศาสนาอิสลามมันมีอิทธิพลซูฟีอยู่ชัดเจน ซึ่งเป็นนิกายที่เน้นการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าโดยตรงผ่านการทำสมาธิ ตรงกับสิ่งที่มีอยู่แล้วในศาสนาพื้นเมืองเดิมและขณะเดียวกันก็ตรงกับฮินดู-พุทธที่เคยนับถือกันมา มันจึงมีเสน่ห์ไม่ขัดแย้งกับความเชื่อที่มีอยู่แล้วจนเกินไป จะพบได้ว่า มันปรากฏอยู่ในมุสลิมเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้


 


เช่น ในศาสนาพื้นเมืองเดิมมันมีการทำพิธีศพบรรพบุรุษ วิญญาณบรรพบุรุษเป็นสิ่งที่สำคัญมากในศาสนาพื้นเมืองเดิม เวลาทำศพให้กับผู้ตายในประเพณีเดิมจะใช้เวลานานมาก ต้องเอาศพไปทำให้เน่าเปื่อย ต้องเอากระดูกมาทำพิธีใหม่อีก กว่าศพจะถูกขจัดไปต้องใช้เวลาเป็นปี ซึ่งมุสลิมในตะวันออกเฉียงใต้ จะให้ความสำคัญกับศพมากกว่ามุสลิมในตะวันออกกลาง ปัจจุบันคนที่นับถือศาสนาอิสลามที่ไปเรียนในตะวันออกกลางจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีแบบนี้


 


ผู้สอนศาสนาอิสลามในระยะแรกๆ เข้มแข็งมาก ในแถบคาบสมุทรมลายูมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับโต๊ะโน่นนี่ที่เข้ามาสอนหนังสือเปลี่ยนศาสนา ในชวามีเรื่อง 12 คนที่มีอภินิหารด้วย เปลี่ยนศาสนาด้วย จะได้ยินเรื่องราวเหล่านี้เยอะแยะมาก ซึ่งในพุทธศาสนาลังกาวงศ์ ไม่ค่อยได้ยินเรื่องนี้ที่ไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นคนเปลี่ยนให้คนไทยมานับถือศาสนาพุทธลังกาวงศ์ เพราะมันไม่มีเรื่องราวแบบนี้ เปรียบเทียบกันได้เลย เพราะฉะนั้นมิชชันนารี ผู้สอนศาสนาจะมีบทบาทมาก


 


สิ่งที่น่าสนใจมากก็คือว่า ถ้าได้อ่านตำนานการเปลี่ยนศาสนาของรายา เราจะพบว่า มันมีลักษณะขัดแย้งกัน เอาเรื่องปัตตานีเป็นตัวอย่าง โต๊ะที่มาเปลี่ยนศาสนาของรายาที่นี่ตามประวัติปัตตานีเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านที่อยู่ในปัตตานี แสดงว่าประชาชนนับถืออิสลามก่อนหน้าตัวรายา


 


นอกจากนั้นแล้วเมื่อจะมาเปลี่ยนศาสนาของรายา รายาประชวรเป็นโรค เขาบอกว่าถ้ารักษาหายก็ขอให้เป็นมุสลิม พอรักษาหายก็ไม่ยอมเป็น ทำอย่างนี้ 3 ครั้ง รายาจึงยอมจำนนเปลี่ยน แสดงให้เห็นว่า มันมีความขัดแย้งกันอยู่ระหว่างอำนาจของโต๊ะครูและอำนาจของรายา โต๊ะครูไม่ได้อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของรายา เป็นอำนาจอิสระอีกอย่างหนึ่งที่ในแง่อำนาจของศีลธรรมอยู่เหนืออำนาจของรายา ที่สามรถเปลี่ยนศาสนาของรายาได้


 


เรามาคิดเปรียบเทียบกับพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ของไทยซึ่งตรงกันข้ามเลย ภิกษุมีชื่อเสียงทั้งหลายคือ คนที่พระเจ้าแผ่นดินอุปถัมภ์ ส่งไปเรียนหนังสือต่อที่ลังกา กลับมาก็สอนหนังสือบ้างหรือไปเรียนด้วยทุนตนเอง เมื่อกลับมาพระเจ้าแผ่นดินก็นับถือ ฉะนั้นภิกษุในพระพุทธศาสนาก็เลยต้องแสวงหาการอุปถัมภ์จากพระราชา โต๊ะครูไม่ใช่คนที่ต้องไปแสวงหาการอุปถัมภ์จากตัวรายา แต่ต้องสร้างฐานอำนาจตนเอง จะพบว่าผู้สอนศาสนาจะเป็นตัวคานอำนาจของโลก ไม่ว่าจะเป็นตัวรายา สยาม หรือฝรั่ง เป็นผู้คานอำนาจกับผู้ปกครองตลอดมา


 


มีทฤษฎีอีกอันหนึ่งซึ่งก็ฟังขึ้นเหมือนกัน คือมะละกาอ้างว่า นำศาสนาอิสลามให้ชาวมลายู แต่ในนักวิชาการบางกลุ่มหรือคนที่เป็นมุสลิมเอง คิดว่าศาสนาอิสลามที่มาจากมะละกาและเข้ามายังปัตตานีนั้น ไม่ได้มาจากมะละกาแต่มาจากตอนเหนือ เข้าใจว่า เป็นจีนมันเป็นแหล่งที่มาคนละแหล่งกัน จริงหรือเท็จไม่สำคัญ แต่มันแสดงให้เห็นถึงสำนึกของคนตรงนี้ว่า ตัวมีเอกลักษณ์ที่ต่างจากมะละกา เรื่องนี้อาจจะไม่จริงเลยก็ได้ แต่ว่าสำนึกของคนที่เชื่อว่า จริงก็เชื่อว่า รัฐมลายูของตนมาจากลังกาสุกะไม่ใช่มะละกา ที่มาของศาสนาอิสลามก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ไม่ได้มาจากมะระกา คือความรู้สึกที่คิดว่าตัวมีความเท่าเทียม ความศักดิ์สิทธ์เท่ากับมะระกาค่อนข้างมาก


 


อีกประเด็นหนึ่งก็คือว่า ปัตตานีนี่ได้ชื่อว่า เป็นศูนย์กลางการศึกษามาตั้งแต่โบราณ แม้แต่ปอเนาะก็ว่ากันว่าเริ่มขึ้นที่ปัตตานีก่อน ความจริงเป็นยังไงผมไม่ทราบแต่ที่สำคัญคือว่า สำนึกของคนเวลาพูดถึงปัตตานีมันไม่เหมือนความเข้าใจของคนไทยที่อยู่นอกดินแดนมลายู มันมีความรุ่งเรือง ศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์กลางการศึกษาทางศาสนาแฝงอยู่ในนี้ด้วย ตรงนี้ถ้าได้อ่านงานที่คนปัตตานีเขียน จะมีการย้ำการเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา


 


ผมเป็นคนกรุงเทพไปอยู่เชียงใหม่ จะพบว่าคนเชียงใหม่จะเน้นชื่อ ศิริมังคลาจารย์ คือพระองค์หนึ่งที่สามารถเขียนตำราภาษาบาลีให้คนเรียน เป็นความภาคภูมิใจของคนเชียงใหม่ที่ชื่อนี้มีความหมายสำหรับเขา แต่ไม่มีความหมายกับคนกรุงเทพเลย ก็เหมือนชื่อปัตตานีที่มีความหมายสำหรับคนที่นี่อย่างหนึ่ง ซึ่งคนไทยทั่วๆ ควรเข้าใจ


 


ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะพูดถึง คือ สิ่งที่คนไทยไม่ค่อยเข้าใจ ปัญญาชนมุสลิมเองก็มีสำนึกว่า การศึกษาปอเนาะเพียงอย่างเดียวไม่พอ จำเป็นที่จะต้องผนวกเข้ากับวิทยาการสมัยใหม่ที่ฝรั่งสร้างขึ้นด้วย อันนี้คนไทยไม่ค่อยเข้าใจว่า เขาไม่รับอะไรที่เป็นสมัยใหม่


 


ผู้นำทางการศึกษาที่สำคัญมากคนหนึ่ง(หะยีสุหลง)เป็นนักคิดมุสลิมคนแรกๆ ของปัตตานีเลยก็ว่าได้ เรื่องของการเปิดพื้นที่การศึกษาให้วิทยาการสมัยใหม่เข้ามา นี่เป็นประเด็นสำคัญ ถ้ามองมุสลิมทั้งโลกโดยเฉพาะมุสลิมในเอเชียตะวันออกด้วยกัน จะเห็นว่ามุสลิมในประเทศไทยมีปัญหาเรื่องนี้มาก เพราะว่า การศึกษาตะวันตกแบบที่รัฐไทยทำมันก็ไม่รวมศาสนาอิสลามไว้ด้วย


 


การศึกษาที่เป็นปอเนาะแท้ๆ ก็ไม่รวมความเป็นตะวันตก วิทยาการใหม่ๆ ไว้ด้วย แต่จริงๆปัญหาเกี่ยวกับวิทยาการสมัยใหม่ เป็นสิ่งที่นักคิดอิสลามคิดมาตั้งแต่ศตวรรษกับอิสลามที่19 และได้คำตอบที่แตกต่างกัน ในปากีสถานอย่างหนึ่ง ในอียิปต์อย่างหนึ่ง แต่เป็นปัญหาสำคัญของมุสลิมทั้งโลก แต่สิ่งนี้กลับไม่ได้รับคำตอบจากประเทศไทย และทำให้ไม่มีใครคิดปัญหานั้นต่อ


 


ความจริงแล้วความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมแผนใหม่กับศาสนาไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะนักคิดมุสลิม นักคิดพุทธก็คิด นักคิดคริสเตียนก็คิด นักคิดฮินดูก็คิด เพระนี่มันเรื่องใหญ่ อยู่วันหนึ่งตื่นขึ้นมาแล้วมาพบอารยธรรมแบบใหม่ล้อมรอบตัวคุณเต็มไปหมด ในขณะที่คุณยังคิดเรื่องในศาสนาคุณอยู่ แล้วคุณจะอยู่ในโลกที่มันขัดแย้งนี้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นนี่เป็นปัญหาที่เป็นนักคิดหรือไม่เป็นมุสลิมก็แล้วแต่ พยายามจะตอบมาเป็นเวลาร้อยกว่าปีมาแล้ว แต่น่าเสียดายที่มุสลิมในประเทศไทยไม่สามารถทดลอง ค้นคว้า เสนอ โต้แย้งกันในคำตอบเรื่องนี้ว่า อยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงตรงนี้โดยเป็นมุสลิมที่ดีได้อย่างไร ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มากๆ


 


การเสื่อมอำนาจและเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย


เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับปัตตานีที่มักจะเป็นเรื่องใหญ่ในประวัติศาสตร์ปัตตานีสรุปสั้นๆ ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับปัตตานี ไม่ใช่ดีนะครับ รบทะเลาะกันอยู่บ่อยๆตลอดเวลา แต่โดยรวมแล้วค่อนข้างดี คือว่า ทั้งอยุธยาและปัตตานีมันอยู่ในช่วงสมัยที่การค้าเฟื่องฟูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งสองฝ่ายต้องพึ่งพาอาศัยกัน


 


ปัตตานีต้องการอาหารจากอยุธยาและนครศรีธรรมราช ปัตตานีต้องการของป่า เมื่อสำเภาจีนเข้ามาจอดที่ปัตตานีเพราะฉะนั้นต้องมีของป่าให้มัน จนกระทั่งมีสินค้าหลายอย่างที่อยุธยาต้อง การจากปัตตานีเหมือนกัน เพื่อความเป็นเมืองท่าที่บริบูรณ์ เช่น เครื่องเทศ เพราะหลังที่โปรตุเกสยึดมะละกาได้แล้ว โปรตุเกสนี่ก็กระจุกที่คอขวด


 


แต่ก่อนเครื่องเทศมันไหลผ่านมะละกาไปยังเมดิเตอร์เรเนียน พอโปรตุเกสยึดมะละกาได้เครื่องเทศมันกระจายหมดเลย มันไม่ไหลผ่านมะละกา เพียงอย่างเดียว แต่มันผ่านเมืองท่าทั้งหมด ฉะนั้นอยุธยาก็ยิ่งอยู่ไกล เส้นทางการค้าเครื่องเทศใหญ่ ปัตตานีต้องเป็นตัวส่งให้กับอยุธยา สินค้าของอินเดียจำนวนหนึ่งที่ไม่เข้าไปที่มะริด เมื่อตอนนั้นอยุธยาเข้าครองมะริดด้วย อยุธยาก็ต้องการสินค้านี้ให้ไหลไปอยุธยา ทั้งสองฝ่ายต่างพยายามรักษากันและกัน


 


เมื่อหมดยุคการค้ามาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สถานการณ์มันเปลี่ยนไป ยุคการค้ามันหมดไปแล้ว เหลือแต่เรือจีน ถึงตอนนั้นปัตตานีก็เสื่อมอำนาจลงไปเยอะมาก เพราะหลังจากยุคการค้าคนก็อพยพออก ไทยยึดปัตตานีได้ถือว่า ง่ายมาก เพราะถ้าไปเปรียบเทียบกับสมัยอยุธยาที่ไปตีปัตตานีไม่รู้กี่ครั้ง ตีเองก็ไม่มีปัญญาต้องไปขอฮอลันดามาช่วยตีด้วยซ้ำไปก็ยึดไม่ได้สักที


 


แต่มาสมัยกรุงเทพฯ แป๊บเดียวได้เลย เพราะมันอ่อนไปมากแล้ว การค้าก็ไม่มี เพราะฉะนั้นผลประโยชน์ของกรุงเทพฯกับปัตตานีจึงต่างไปจากอยุธยา กรุงเทพฯไม่สนในว่าปัตตานีจะพังเพราะเขาไม่ได้ผลประโยชน์ เป็นช่วงที่รัฐมลายูเสื่อมอำนาจทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะปัตตานี ในขณะที่อังกฤษเริ่มโผล่เข้ามา เพราะฉะนั้นนโยบายของกรุงเทพฯ ก็คือว่า ต้องกันอำนาจไทยไปให้ไกลๆมลายู เพื่อกันอังกฤษเอาไว้ใช้เอง นโยบายของรัตนโกสินทร์กับปัตตานีต้องควบคุม ควบคุมตั้งแต่ยึดปัตตานีได้แค่ 3 ปี ก็แบ่งเป็นหัวเมือง


 


นโยบายแบ่งแล้วมีอำนาจ ไม่ได้มีที่ปัตตานีอย่างเดียว ใช้ทุกแห่ง เชียงใหม่ก็ใช้ สมัยก่อนเชียงใหม่ชื่อ ล้านนา มีหัวเมือง7-8 หัวเมือง พอมาถึงราชวงศ์จักรีก็ยังมี 7-8 หัวเมืองอย่างเก่า ผู้ปกครองก็เป็นพี่น้องกันหมด แต่อย่าขึ้นกันและกัน ทุกหัวเมืองขึ้นต่อกรุงเทพฯ กันหมด เชียงใหม่จะมีพี่ชายคนโตปกครองก็จริง แต่มีศักดิ์ศรีในฐานะพี่ชายคล้ายๆ สุลต่านปัตตานี มีศักดิ์ศรีเพราะสืบราชวงศ์กลันตันมา แต่ถามว่า มีอำนาจเหนืออีก 6 หัวเมืองหรือไม่ ไม่ ทำอย่างนี้ทุกแห่งเพราะฉะนั้นนโยบายของกรุงเทพจึงแตกต่างไป


 


อย่างไรก็ตามแต่มาถึงพ.ศ.2445 รัชกาลที่ 5 ความสัมพันธ์ก็เปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง คือ สยามก็ผนวกกับปัตตานี ดินแดนที่เป็นประเทศราชทั้งหมดของสยามถูกผนวกเข้าด้วยกันกับประเทศสยาม และเป็นการผนวกที่ประหลาดอยู่สักหน่อย คือ คุณก็รู้อยู่แล้วว่าคุณกับเขาไม่เหมือน กัน คุณกับเชียงใหม่ก็ไม่เหมือนกัน ไม่ได้สร้างระบบตัวแทนอะไรที่เชียงใหม่ หัวเมืองอีสาน ที่เขาไม่ได้เหมือนภาคกลาง หรือดินแดนที่เป็นปัตตานีมีระบบตัวแทนในการที่จะเรียกร้องความยุติธรรม ขอให้ช่วยเหลือเรื่องนั้นเรื่องนี้ตลอดเวลา เป็นต้น ไม่มีเลยถูกกลืนไปหมด


 


อย่างกรณีอังกฤษทำกับรัฐมลายู คือรักษาตำแหน่งสุลต่านเอาไว้ ตัวสุลต่านเป็นตัวระบบแทนตนเอาไว้ โดยเฉพาะในเรื่องของศาสนาอิสลามมีอะไรคุณสามารถร้องโวยวายขึ้นมา ถัดจาก 2445 มาอีกเพียงแค่ 4 ปี คือ2449 ก็เปลี่ยนจากระบบที่กลืนมาเป็นระบบเทศาภิบาล คือกลายเป็นส่วนหนึ่ง 100% เต็มของอาณาจักรสยาม ถือเป็นการกระทำที่เลวมาก


 


4 ปีคุณบอกว่า สุลต่านออกไป มีข้าหลวงจากกรุงเทพฯเข้ามาดูแลแทน กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบเทศาภิบาลใช้เวลาแค่ 4 ปี ย้อนกลับไปคิดถึงเชียงใหม่ ถามว่ากรุงเทพฯ ผนวกเชียงใหม่ใช้เวลากี่ปี ตั้งแต่ 2427 เริ่มจากส่งเจ้านายขึ้นไปทางเหนือ ดูแลรายงานอย่างเดียวไม่มีอำนาจใดเลยด้วยซ้ำไป แต่เผอิญเป็นเจ้านายก็เป็นที่เกรงใจนิดหน่อย ใช้เวลาเป็นหลายสิบปีกว่าจะได้เชียงใหม่


 


แต่ที่นี่4 ปีซึ่งเป็นระบบเทศาภิบาล กลายเป็น 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ 4 หากรวมสตูลด้วย อย่างไรก็ตามแต่ช่วงระยะเวลา 2466-2481 ประมาณหลัง 2475 เกิดจอมพล ป.แล้วเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่2 ที่ญี่ปุ่นเริ่มขึ้น สรุปก็คือจริงๆ แล้วนโยบายอังกฤษที่ลอนดอนมันไม่ได้วาง แผนให้เข้ายึดมลายูทั้งหมด แต่นโยบายอังกฤษคือ ถูกผลักดันโดยพ่อค้าที่อยู่ในมาเลเซียผลักดันให้ตัวรัฐบาลลอนดอนเปลี่ยนนโยบายอย่างโน้นอย่างนี้ ได้รัฐมลายูโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเป็นลักษณะของอาณานิคมอังกฤษ


 


ในช่วง 2466-2481 มันเป็นช่วงที่พวกพ่อค้าและข้าราชการอังกฤษเองที่อยู่ในมลายู พบว่าการปกครองของไทยที่อยู่ในรัฐมลายูนั้นใช้ไม่ได้ และวิธีแก้ปัญหาก็คือว่า เลิกสนธิสัญญา 2452 เลิกสัญญาแบ่งเขตแดนระหว่างอังกฤษกับไทยเสีย อันนี้เนี่ยทำให้รัฐบาลไทยมีความวิตกห่วงใยมากเลย ทั้งรัฐบาลในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และรัฐบาลหลัง 2475 ช่วงนี้เป็นช่วงที่รัฐบาลไทยค่อนข้างดีกับปัตตานีหรือ 3 จังหวัดนี้ รายงานที่มีการพูดถึงอยู่เสมอในการที่รัชกาลที่6 ส่งพระยายมราชมาตรวจราชการ ที่จริงเป็นการตอบสนองนโยบายต่อรัฐบาลอังกฤษว่า อังกฤษจะผนวกดินแดนนี้เข้าไป ก็เลยเปลี่ยนการปกครอง คือมาเสนอแนะว่าควรจะเป็นอย่างไร


 


ถ้ามองจากงานวิจัยของอาจารย์ปิยะ กิจถาวร ที่คุยกับชาวบ้าน ชาวบ้านค่อนข้างจะจดจำการปกครองของไทยสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือ ค่อนข้างดี ถ้าพูดถึงการปกครองไทยถ้าเป็นการโจมตีก็จะเป็นหลังจอมพล ป. แต่ก่อนหน้านั้นไปชาวบ้านยังมีทัศนคติที่ดี แต่ทั้งหมอเหล่านี้ผมเข้าใจว่ามันมาจากการเปลี่ยนโดยนโยบายของไทยเองด้วย พอหลังจากญี่ปุ่นขึ้นมามีอำนาจในเอเชียแล้ว คุณไม่ต้องกลัวอังกฤษอีกต่อไป และจากนั้นเป็นต้นมาพบว่านโยบายของรัฐบาลจอมพล ป.เปลี่ยนไปเป็นนโยบายสร้างชาติอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งจะกระทำคนในปัตตานีแตกต่างจากเก่าเพราะว่าคุณไม่ต้องวิตกกังวลเกี่ยวกับการดินแดนมลายูแล้ว


 


อย่างไรก็ตามแต่ก็เกิด 2475 ขึ้น จริงๆ แล้วผมเข้าใจว่ากลุ่มคนชั้นนำมลายูเกิดความหวังขึ้น เราลองคิดดูในโลกมลายูทั้งหมดเนี่ย มลายูที่ไหนได้เผชิญกับสภาพที่เรียกว่าประชาธิปไตย ประชาชนมลายูในประเทศไทยเท่านั้น ที่ได้เผชิญกับประสบการณ์ที่เรียกว่า ประชาธิปไตย ก่อนมลายูอังกฤษ มลายูในสุมาตรา ก่อนทั้งหมด เพราะฉะนั้นผมคิดว่า คนชั้นนำมีความหวัง ในการเลือกตั้งครั้งแรก ได้มีการเสนอว่า นักการเมืองที่อยากลงสมัครส.ส.ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ให้มีการเจรจาเพื่อจะวางเป้าหมายทางการเมืองร่วมกัน แสดงว่าห้วงหนึ่งชนชั้นนำมลายูมีความหวังกับประชาธิปไตย เป็นหนทางที่มีการต่อรองที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ระหว่างปัตตานีกับรัฐไทย


 


แต่ก็อย่างที่ทราบแล้วว่า ไม่ได้เป็นไปตามนั้น เพราะกลุ่มนักการเมืองทะเลาะกันเองประสบการณ์ประชาธิปไตยของมลายูในประเทศไทยเรียกว่า ล้มเหลว ใครมาพูดเรื่องประชาธิปไตย ให้ก็คิดว่า ไม่มีใครดึงดูดใจอยู่แล้ว เพราะว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมามันค่อนข้างจะแย่ ยิ่งรัฐบาลในสมัยจอมพลป.ยิ่งมีการขดขี่ข่มเหงกันมากขึ้น


 


โดยสรุปก็คือ ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาจนถึงสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เนี่ยอาจจะกล่าวได้ว่า แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอะไรในดินแดนแถบนี้มากนัก ไม่ใช่ไม่เกิดเลยนะ เกิดเหมือนกันแต่ไม่มากนัก ถ้าเปรียบเทียบกับอีสาน เหนือ ในช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึงช่วงสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดความเปลี่ยนแปลงที่อื่นเต็มไปหมดแต่ไม่เกิดในภาคใต้เท่าไร


 


คราวนี้ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่มันเกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมคิดว่ายุคพัฒนาซึ่งมีการสร้างนิคม มีการทำสวนยาง คนจากข้างนอกเข้ามาหาประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่นในยุคพัฒนา คือไม่ใช่คนในท้องถิ่นใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพียงอย่างเดียวนะ


 


ประเด็นสุดท้ายมาถึงการต่อต้านและต่อรองกับรัฐไทย ก็คือต่อต้านกับต่อรองนี้เรื่องเดียวกัน คือมีเส้นๆหนึ่ง อีกด้านหนึ่งต่อต้าน อีกด้านหนึ่งต่อรอง การต่อต้านและต่อรองแบ่งออก เป็น 3 ขั้นตอนด้วยกัน ไม่รวมปัจจุบัน เพราะปัจจุบันนั้นอธิบายได้ยากไม่รวม ตั้งแต่ 4 ม.ค.2547ตัดทิ้งไป อันนี้ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ก่อนหน้านั้นอาจแบ่งการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมลายูในปัตตานีได้เป็น 3 ขั้นตอนด้วยกัน


 


1. เป็นการเคลื่อนไหวที่มีชนชั้นผู้นำทางจารีต ลูกหลานสุลต่าน คนที่เคยเป็นโอรากายาอะไรก็ตามแต่ คนเหล่านี้เสียผลประโยชน์จากไทยยึดครอง พวกนี้ก็จะเป็นผู้นำในการต่อต้าน และแย่งอำนาจกันเอง ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะจบขั้นตอนที่หนึ่ง คือชนชั้นนำตามจารีตไม่มีบทบาทใดๆในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเลย จบสูญแล้ว มีการตั้งกลุ่มการเมืองที่เรียกว่ากำปา เพื่อต้องการรวมชาติมลายู ถือว่าการที่ปัตตานีจะได้เอกราชเป็นเงื่อนไขสำคัญก่อนที่จะรวมชาติมลายูได้ ความคิดเรื่องการรวมชาติมลายูเป็นความคิดของประธานาธิบดีซูกาโน เกิดขึ้นที่อินโดนีเซียก่อน เป็นความคิดมานาน เพราะฉะนั้นกลุ่มกำปาจึงได้รับการสนับสนุนจากอินโดนีเซียหรือซูกาโนค่อนข้างมาก และใช้ธงสีแดงขาวเหมือนอินโดนีเซียเหมือนกัน


 


2. หลังจากผู้นำทางจารีตหมดไปแล้ว ไม่ได้เป็นผู้นำทางการเมืองแล้ว กลุ่มที่เข้ามาคือกลุ่มผู้สอนศาสนาอิสลาม จะโชคดีหรือโชคร้ายอย่างไรก็แล้วแต่กลุ่มผู้นำหะยีสุหลงได้เข้าไปเกี่ยวพันกับกลุ่มที่สนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์ ด้วย หลังจากท่านปรีดีถูกรัฐประหารขับไล่แล้วเขาก็สงสัยกลุ่มนี้ด้วย ยกข้อหาแบ่งแยกดินแดนเข้าใส่


 


3.การเคลื่อนไหวในชั้นที่สามนี้ หลังจากนั้นก็จะไม่มีกลุ่มผู้นำทางศาสนาเข้ามาอีกเลย สิ่งที่น่าเสียดายมากๆในกรณีของหะยีสุหลงก็คือว่า เป็นครั้งแรกของการเปิดการเจรจากับรัฐไทยโดยสันติ คือข้อเสนอ 7 ข้อของท่านเป็นการเสนอเพื่อเจรจาแล้วคนถูกฆ่าตาย


 


เพราะฉะนั้นหมดเลยไม่มีอีกเลย ไม่รู้ว่าจะเจรจายังไงแล้ว ประสบความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าเลย ในขั้นที่สามในการเคลื่อนไหวทางการเมือง อยากเรียกว่าเป็นการเคลื่อนไหวของปัญญาชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ได้มาจากผู้นำทางจารีต ผู้นำทางศาสนา และอาจมีคนธรรมดาเข้าไปร่วมด้วย


 


สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือว่า มีความขัดแย้งก็ได้ ถามว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองคุณจะชูอะไร หนึ่งคือ ชูความเป็นมลายู สองคือ ชูความเป็นอิสลาม ถามว่าสองอย่างนี้ขัดแย้งกันเองได้ไหม คำตอบก็คือว่า ในประสบการณ์ของคนมลายูอย่างน้อยช่วงหนึ่งเขาถือว่าขัดแย้งกัน ในกลุ่มปัญญาชนที่มีความเคลื่อนไหว กลุ่มแรกคือ กลุ่มมูฮาเร็ม กลุ่มนี้ตั้งชื่อตนเองเป็นภาษามลายู ในขณะที่กลุ่มอื่นตั้งเป็นภาษาอังกฤษ ไม่เหมือนกัน สิ่งที่น่าสนใจคือ เป็นกลุ่มที่มีความคิดเป็นสังคมนิยม รังเกียจสิ่งที่เรียกว่า ศักดินา พูดง่ายๆ ว่าถ้าเขาชนะได้เอกราชมาจากไทย รัฐมลายูที่จะเกิดขึ้นมาจะต้องเป็นรัฐสังคมนิยมอิสลาม และค่อนข้างรังเกียจวัฒนธรรมที่เป็นระบบศักดินาทั้งหลาย


 


แต่ชาวบ้านมลายูทั่วไปแยกสองอย่างออกจากกันไม่ได้ ชาวบ้านคิดว่า การเป็นมุสลิมที่ดีต้องนุ่งโสร่ง นุ่งกางเกงได้อย่างไร เพราะความเป็นมลายูกับความเป็นมุสลิมมันแยกออกจากกันไม่ได้ แต่พวกBRN คิดว่า มันแยกออกจากกันได้ เพราะฉะนั้นพวกนี้จะค่อนข้างเน้นความเป็นมลายูสูง ความเป็นมุสลิมน้อย ถึงแม้ว่าจะตั้งเป็นสังคมนิยมอิสลามก็ตาม และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้กลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อมาเป็นกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับกลุ่ม BRN คือ รับไม่ได้ที่จะกลายเป็นสังคมอิสลามแบบนั้นโดยลืมความเป็นมุสลิมของตัวเอง


 


หลังจากนั้นเป็นต้นมาจะพบว่าการเคลื่อนไหวทางการเมือง ความเป็นอิสลามจะมีความ สำคัญเท่าเทียมกันกับความเป็นมลายู ทั้งสองอย่างจะเท่าเทียมกันแล้ว ถูกชูขึ้นมาพร้อมๆ กัน ซึ่งไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ไม่ได้แปลว่าไม่มีเหตุการณ์รุนแรง ในชั่วโมงข้างหน้าที่จะพูดถึงสังคมมลายูมีคนที่ศึกษาเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านในช่วง 2520 มีการพูดถึงการระแวง พูดถึงระเบิด พูดถึงการอุ้มครูไป มี แต่ว่าโดยทั่วไปแล้วค่อนข้างสงบ ถ้าเปรียบเทียบ เพราะฉะนั้นหลังจากนั้นมาการเคลื่อน ไหวยิ่งจะเน้นไปในทางศาสนามากขึ้น เป็นต้นว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวหลังจากนั้นตั้งกลุ่ม BBMP เรียกตัวเองว่ามูจาฮีดีน คือเป็นมลายูนี่ คุณไม่ต้องเป็นมูจาฮีดีนแต่คุณต้องเป็นมุสลิม อย่างนี้เป็นต้น ตรงที่เป็นรากศาสนาจะถูกเน้นมากขึ้น อีกอย่างหนึ่งก็คือว่ามิติของอิสลามเน้นไปที่การเคลื่อนไหวมากขึ้น จนกระทั่งมาถึงวันที่ 4 ม.ค. 2547 มันเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้เหมือนกัน ซึ่งจะเล่าในชั่วโมงสุดท้าย


 


การต่อต้านและต่อรองกับรัฐไทย


ประเด็นสุดท้ายมาถึงการต่อต้านและต่อรองกับรัฐไทย ก็คือต่อต้านกับต่อรองนี้เรื่องเดียวกัน คือมีเส้นๆหนึ่ง อีกด้านหนึ่งต่อต้าน อีกด้านหนึ่งต่อรอง การต่อต้านและต่อรองแบ่งออก เป็น 3 ขั้นตอนด้วยกัน ไม่รวมปัจจุบัน เพราะปัจจุบันนั้นอธิบายได้ยากไม่รวม ตั้งแต่ 4 ม.ค.2547ตัดทิ้งไป อันนี้ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ก่อนหน้านั้นอาจแบ่งการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวมลายูในปัตตานีได้เป็น 3 ขั้นตอนด้วยกัน


 


1. เป็นการเคลื่อนไหวที่มีชนชั้นผู้นำทางจารีต ลูกหลานสุลต่าน คนที่เคยเป็นโอรากายาอะไรก็ตามแต่ คนเหล่านี้เสียผลประโยชน์จากไทยยึดครอง พวกนี้ก็จะเป็นผู้นำในการต่อต้าน และแย่งอำนาจกันเอง ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะจบขั้นตอนที่หนึ่ง คือชนชั้นนำตามจารีตไม่มีบทบาทใดๆในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเลย จบสูญแล้ว มีการตั้งกลุ่มการเมืองที่เรียกว่ากำปา เพื่อต้องการรวมชาติมลายู ถือว่าการที่ปัตตานีจะได้เอกราชเป็นเงื่อนไขสำคัญก่อนที่จะรวมชาติมลายูได้ ความคิดเรื่องการรวมชาติมลายูเป็นความคิดของประธานาธิบดีซูกาโน เกิดขึ้นที่อินโดนีเซียก่อน เป็นความคิดมานาน เพราะฉะนั้นกลุ่มกำปาจึงได้รับการสนับสนุนจากอินโดนีเซียหรือซูกาโนค่อนข้างมาก และใช้ธงสีแดงขาวเหมือนอินโดนีเซียเหมือนกัน


 


2. หลังจากผู้นำทางจารีตหมดไปแล้ว ไม่ได้เป็นผู้นำทางการเมืองแล้ว กลุ่มที่เข้ามาคือกลุ่มผู้สอนศาสนาอิสลาม จะโชคดีหรือโชคร้ายอย่างไรก็แล้วแต่กลุ่มผู้นำหะยีสุหลงได้เข้าไปเกี่ยวพันกับกลุ่มที่สนับสนุนท่านปรีดี พนมยงค์ ด้วย หลังจากท่านปรีดีถูกรัฐประหารขับไล่แล้วเขาก็สงสัยกลุ่มนี้ด้วย ยกข้อหาแบ่งแยกดินแดนเข้าใส่


 


3.การเคลื่อนไหวในชั้นที่สามนี้ หลังจากนั้นก็จะไม่มีกลุ่มผู้นำทางศาสนาเข้ามาอีกเลย สิ่งที่น่าเสียดายมากๆในกรณีของหะยีสุหลงก็คือว่า เป็นครั้งแรกของการเปิดการเจรจากับรัฐไทยโดยสันติ คือข้อเสนอ 7 ข้อของท่านเป็นการเสนอเพื่อเจรจาแล้วคนถูกฆ่าตาย


 


เพราะฉะนั้นหมดเลยไม่มีอีกเลย ไม่รู้ว่าจะเจรจายังไงแล้ว ประสบความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าเลย ในขั้นที่สามในการเคลื่อนไหวทางการเมือง อยากเรียกว่าเป็นการเคลื่อนไหวของปัญญาชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ได้มาจากผู้นำทางจารีต ผู้นำทางศาสนา และอาจมีคนธรรมดาเข้าไปร่วมด้วย


 


สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือว่า มีความขัดแย้งก็ได้ ถามว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองคุณจะชูอะไร หนึ่งคือ ชูความเป็นมลายู สองคือ ชูความเป็นอิสลาม ถามว่าสองอย่างนี้ขัดแย้งกันเองได้ไหม คำตอบก็คือว่า ในประสบการณ์ของคนมลายูอย่างน้อยช่วงหนึ่งเขาถือว่าขัดแย้งกัน ในกลุ่มปัญญาชนที่มีความเคลื่อนไหว กลุ่มแรกคือ กลุ่มมูฮาเร็ม กลุ่มนี้ตั้งชื่อตนเองเป็นภาษามลายู ในขณะที่กลุ่มอื่นตั้งเป็นภาษาอังกฤษ ไม่เหมือนกัน สิ่งที่น่าสนใจคือ เป็นกลุ่มที่มีความคิดเป็นสังคมนิยม รังเกียจสิ่งที่เรียกว่า ศักดินา พูดง่ายๆ ว่าถ้าเขาชนะได้เอกราชมาจากไทย รัฐมลายูที่จะเกิดขึ้นมาจะต้องเป็นรัฐสังคมนิยมอิสลาม และค่อนข้างรังเกียจวัฒนธรรมที่เป็นระบบศักดินาทั้งหลาย


 


แต่ชาวบ้านมลายูทั่วไปแยกสองอย่างออกจากกันไม่ได้ ชาวบ้านคิดว่า การเป็นมุสลิมที่ดีต้องนุ่งโสร่ง นุ่งกางเกงได้อย่างไร เพราะความเป็นมลายูกับความเป็นมุสลิมมันแยกออกจากกันไม่ได้ แต่พวกBRN คิดว่า มันแยกออกจากกันได้ เพราะฉะนั้นพวกนี้จะค่อนข้างเน้นความเป็นมลายูสูง ความเป็นมุสลิมน้อย ถึงแม้ว่าจะตั้งเป็นสังคมนิยมอิสลามก็ตาม และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้กลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อมาเป็นกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับกลุ่ม BRN คือ รับไม่ได้ที่จะกลายเป็นสังคมอิสลามแบบนั้นโดยลืมความเป็นมุสลิมของตัวเอง


 


หลังจากนั้นเป็นต้นมาจะพบว่าการเคลื่อนไหวทางการเมือง ความเป็นอิสลามจะมีความ สำคัญเท่าเทียมกันกับความเป็นมลายู ทั้งสองอย่างจะเท่าเทียมกันแล้ว ถูกชูขึ้นมาพร้อมๆ กัน ซึ่งไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ไม่ได้แปลว่าไม่มีเหตุการณ์รุนแรง ในชั่วโมงข้างหน้าที่จะพูดถึงสังคมมลายูมีคนที่ศึกษาเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านในช่วง 2520 มีการพูดถึงการระแวง พูดถึงระเบิด พูดถึงการอุ้มครูไป มี แต่ว่าโดยทั่วไปแล้วค่อนข้างสงบ ถ้าเปรียบเทียบ เพราะฉะนั้นหลังจากนั้นมาการเคลื่อน ไหวยิ่งจะเน้นไปในทางศาสนามากขึ้น เป็นต้นว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวหลังจากนั้นตั้งกลุ่ม BBMP เรียกตัวเองว่ามูจาฮีดีน คือเป็นมลายูนี่ คุณไม่ต้องเป็นมูจาฮีดีนแต่คุณต้องเป็นมุสลิม อย่างนี้เป็นต้น ตรงที่เป็นรากศาสนาจะถูกเน้นมากขึ้น อีกอย่างหนึ่งก็คือว่ามิติของอิสลามเน้นไปที่การเคลื่อนไหวมากขึ้น จนกระทั่งมาถึงวันที่ 4 ม.ค. 2547 มันเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้เหมือนกัน ซึ่งจะเล่าในชั่วโมงสุดท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net