Skip to main content
sharethis


ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ซึ่งล่าสุดได้เปลี่ยนสโลแกนโครงการมาเป็น "30 บาท ช่วยคนไทยห่างไกลโรค" ได้ดำเนินการมา ไม่มีใครปฏิเสธว่าโครงการนี้สร้างความพึงพอใจของประชาชนที่ได้ใช้บริการอย่างมาก แต่ก็ยังมีปัญหาหลายอย่างที่รอการปรับปรุง เพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพสูงสุด

 


สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงจัดงานสัมมนาเรื่อง "มองหลายมุมอนาคตหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อสร้างความเข้าใจในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และมองหาอนาคตของโครงการนี้ร่วมกัน


 


นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้า กล่าวว่า ปัญหาหลักของโครงการนี้ นอกจากเงินน้อย งานหนัก ฟ้องร้อง สมองไหลแล้ว ความไม่แน่นอนในอนาคตของโครงการเป็นอีกหนึ่งความทุกข์ของผู้ให้บริการ เพราะทุกคนไม่รู้ว่าปีหน้า ปีโน้นจะเป็นอย่าง และเป้าหมายสุดท้ายของโครงการคืออะไร ถามใครก็ไม่มีใครรู้ ทิศทางข้างหน้าของระบบ เมื่อมีปัญหาสมองไหล งบประมาณไม่เพียงพอ และงบฯที่ต้องเฉลี่ยปีละ 10% โดยเฉพาะในปี 2549 เพิ่มขึ้นถึง 18.8% ทำให้เป็นภาระงบประมาณมากขึ้น


 


"การแก้ไขเราจะต้องปฏิรูประบบใหม่ และจะต้องให้ประชาชนมีการร่วมจ่ายในการรักษาพยาบาล ถ้าหากไม่ทำวันนี้วันหน้าจะต้องทำ เพราะคงสู้กับค่าใช้จ่ายและค่ายาและวัสดุทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นตามระบบตลาดไม่ได้" นพ.เจตน์สะท้อนมุมของผู้ให้บริการ


 


นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ใช้บริการ ระบุว่า ถึงตอนนี้ประชาชนต้องเลิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล 30 บาท เพราะเงินที่ได้จากส่วนนี้มีไม่มาก และให้ใช้บัตรประชาชนแทนบัตรทองจะได้ไม่ต้องทำบัตร 48 ล้านใบทุกปี และต้องแก้ไขปัญหาสิทธิประโยชน์ที่ไม่เท่ากันระหว่าง 3 กองทุน คือ กองทุนประกันสังคม กองทุน 30 บาท และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ เพื่อให้ทุกคนได้รับบริการอย่างเท่าเทียม เมื่อกระจายงบประมาณดีแล้ว แต่ยังไม่พอประชาชนยินดีที่จะร่วมจ่ายแต่ไม่จำเป็นต้องร่วมจ่ายที่หน่วยบริการ เป็นการร่วมจ่ายด้วยระบบภาษี เช่น ระบบภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ภาษีที่ดิน ภาษีบาป ภาษีสุขภาพ


 


"ทราบมาว่ากรมบัญชีกลางจะออกระเบียบให้โรงพยาบาลเก็บค่ายาเพิ่มเติมได้ไม่เกิน 10% ซึ่งระเบียบนี้ไม่ดี เพราะทำให้โรงพยาบาลพยายามใช้ยาจากต่างประเทศที่มีราคาแพง" นางสาวสารีกล่าว และเสนอว่า ควรยุบ พ.ร.บ.ประกันภัยบุคคลที่ 3 เพราะทำให้เกิดปัญหาในการรักษาพยาบาล


 


ในส่วนของมุมมองสื่อ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ รองบรรณาธิการอำนวยการ หนังสือพิมพ์มติชน ให้ข้อเสนอแนะว่า ปัญหาหลักของโครงการ คืองบประมาณ และความไม่มั่นคงในนโยบาย ทำให้เกิดคำถามตลอดเวลาว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไรกับโครงการนี้ และจากตัวเลขจะเห็นได้ว่ามีประชาชนที่เข้าไม่ถึงระบบ 30 บาท ประมาณ 3-4 ล้านคน จะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้เข้าถึงบริการได้ และ สปสช.ควรใช้สื่อวิทยุชุมชน เพื่อการผลิตรายการให้ประชาชนเข้าใจและเข้าถึงบริการมากขึ้น


 


นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า โครงการ 30 บาท เป็นโครงการที่ให้ผลที่ดีกับประชาชน สังเกตได้จากทั้งผู้ที่ชอบรัฐบาลและไม่ชอบรัฐบาลต่างก็เห็นความสำคัญของโครงการนี้ ซึ่งต้องมีการพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการประชาชนดียิ่งขึ้น แก้ไขสภาพความแออัดของผู้ป่วยนอก เพราะขณะนี้แพทย์ 1 คน ใช้เวลาตรวจคนไข้เฉลี่ยเพียง 3 นาทีต่อคน และจะตัดบทคนไข้ทันทีที่คนไข้พูดได้ประมาณ 12 วินาที ต่อไปจะให้สถานพยาบาลรุกใกล้บ้าน โรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องมีแผนกผู้ป่วยนอก (OPD) เพื่อให้โรงพยาบาลเป็นสถานที่รับส่งต่อ ปีนี้ได้เริ่มทำไปแล้ว 13 โรงพยาบาลทั่วประเทศ เช่น พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา แพร่ เชื่อว่า 2-3 ปีต่อจากนี้โรงพยาบาลอื่นๆ จะทำตาม


 


และ ทาง สปสช.จะขยายสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งมีอัตราตายอันดับ 4 รองจากอุบัติเหตุ โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง


 


ไม่ว่าอนาคตของโครงการ 30 บาท นั้นจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ โครงการนี้จะต้องดำเนินต่อไป และเป็นโครงการที่ต้องปลอดการเมือง ไม่ว่าพรรคใดเข้ามาบริหารประเทศก็ต้องสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชน ภายใต้แนวคิดว่า หลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของปวงชนชาวไทย


 


……………………………………………………


ที่มา: http://www.matichon.co.th/matichon

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net