Skip to main content
sharethis

ประชาไท—22 มิ.ย. 2549  "อ๊อกซ์แฟม" (Oxfam International) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ ที่ให้ความช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบปัญหาความยากจน ความเดือดร้อน และความอยุติธรรม ในประเทศต่างๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลกได้เปิดเผยข้อมูลในรายงานการศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดกับประเทศไทย ในกรณีที่มีการทำสัญญาเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา


 


ทั้งนี้ อ็อกซ์แฟมมีความกังวลเช่นเดียวกับองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ในประเทศไทย คือเกรงว่าข้อตกลงการค้าเสรี กับสหรัฐฯ ซึ่งมีข้อบังคับว่าด้วยเรื่องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวด จะปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึงยาราคาไม่แพงสำหรับประเทศไทย อ็อกซ์แฟมจึงขอเรียกร้องให้ประเทศสหรัฐฯ ยุติการกดดันให้ประเทศไทยบรรจุมาตรการ "ทริปส์ผนวก" ไว้ในข้อตกลงการค้าเสรี และควรที่จะสนับสนุนรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่ในการใช้มาตรการยืดหยุ่นที่อยู่ในข้อตกลงทริปส์ เช่น มาตรการบังคับใช้สิทธิ เพื่อขยายโครงการดูแลรักษาโรคเอดส์ของไทย และสร้างหลักประกันว่าโครงการฯ จะดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืนโดยสามารถนำยาชื่อสามัญมาใช้ได้อย่างประสบความสำเร็จ


 


กรณีปัญหาการได้รับเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ในประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่าการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวดสามารถปิดกั้นโอกาสการเข้าถึงยารักษาโรคได้อย่างไร แต่ปัญหาไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะโรคเอดส์เท่านั้น คนไทยจำเป็นต้องใช้ยารักษาโรคชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง จำนวนผู้ป่วยจากการดื้อยาและโรคเรื้อรังต่างๆ มีมากขึ้น จึงจำเป็นต้องหายาใหม่ๆ ที่มีประสิทธิผลและราคาไม่แพงมาใช้รักษา แต่ในจำนวนนี้ มียาหลายๆ ชนิด ที่ติดสิทธิบัตรหรือกำลังจะจดสิทธิบัตร ซึ่งจะทำให้ยามีราคาสูงเกินกว่าผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาจะหาซื้อมาใช้ได้


 


ดังนั้น อ็อกซ์แฟมจึงสนับสนุนข้อเรียกร้องขององค์กรภาคประชาสังคมของไทยที่เรียกร้องให้รัฐบาลไทยใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากมาตรการบังคับใช้สิทธิและมาตรการคุ้มครองการสาธารณสุขอื่นๆ เพื่อบรรดาประชาชนที่ยากจนจะได้เข้าถึงยาชื่อสามัญราคาไม่แพง และมีแรงปฏิเสธการบรรจุมาตรการทริปส์ผนวกชุดใหม่ไว้ในข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ


 


ประเทศไทยได้ปฎิบัติตามข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลกมาโดยตลอด จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องบรรจุบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มเติมไว้ในข้อตกลงการค้าเสรีอีก นอกเสียจากเป็นการเอื้อประโยชน์ระยะสั้น ให้แก่บริษัทยาขนาดใหญ่บนความเดือดร้อนของคนไทย ไม่ควรนำสุขภาพของประชาชนไปแลกกับข้อตกลงการค้าเสรี


 


นอกจากนี้ อ๊อกซ์แฟมยังมีข้อเสนอแนะเรื่องแนวทางการรับมือที่ประเทศไทยจะใช้กับสหรัฐฯ โดยระบุว่าควรจะระงับการเจรจาข้อตก ลงการค้าเอาเสรีไว้ เพื่อทำการศึกษาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบสาธารณสุขอย่างมีอิสระ และนำผลการศึกษานั้นมาพิจารณาก่อนการทำข้อตกลง


 


การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีในทุกๆ ขั้นตอน ควรจะมีความโปร่งใสมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเปิดเผยเนื้อหาการเจรจาให้สาธารณชนทราบ และให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดได้รับรู้ นอกจากนี้ รัฐบาลของทั้งสองประเทศควรจะรับฟังข้อเสนอและข้อกังวลของผู้มีส่วนได้เสียจากภาคประชาสังคมมาพิจารณา ในการเจรจาทุกๆ ขั้นตอน จากข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอของประเทศสหรัฐฯที่รั่วไหลออกมาเห็นได้ชัดว่า ข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้อาจสร้างผลกระทบที่รุนแรงต่อการสาธารณสุขของประเทศไทยได้ โดยเฉพาะการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อฯ และผู้ป่วยโรคเอดส์ดังนั้น ก่อนที่จะพิจารณาให้มีนโยบายใหม่ใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดให้มีการอภิปรายสาธารณะอย่างกว้างขวางเสียก่อน


 


ในข้อตกลงการค้าใดๆ ก็ตาม ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศไทยไม่ควรนำมาตรการ "ทริปส์ผนวก" มา บรรจุไว้ทั้งสิ้น แต่ควรจะระบุยืนยันชัดเจนว่าจะสนับสนุนให้ประเทศไทยใช้มาตรการยืดหยุ่นต่างๆ ซึ่งระบุไว้ในข้อตกลงทริปส์ในปฏิญญาโดฮาขององค์การการค้าโลก และมติที่ออกตามมาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม (30th August Decision) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "การแก้ไขปัญหาทริปส์/สุขภาพ (TRIPS/health solution)"


 


ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยควรจะพิจารณาที่จะใช้สิทธิเพื่อนำมาตรการบังคับใช้สิทธิมาใช้ อย่างเต็มที่และควรรักษาอำนาจวินิจฉัยที่จะตัดสินว่าจะใช้มาตราการบังคับใช้สิทธิกับกรณีใดไว้ ผลจากข้อตกลงการค้า


ไม่ควรจะจำกัดการแข่งขันในการผลิตยาชื่อสามัญไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ก็ตาม


 

ข้อผูกพันในหมวดอื่นๆ ของข้อตกลงการค้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในหมวดว่าด้วยการลงทุนและการระงับข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับรัฐ (Dispute Settlement) ต้องไม่จำกัดสิทธิของรัฐบาล ในอันที่จะนำมาตราการคุ้มครองการสาธารณสุขที่บัญญัติอยู่ในข้อกำหนดของการค้าโลกมาใช้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net