Skip to main content
sharethis

ภาคใต้ - หวั่นโรงไฟฟ้าสงขลาทำคลองนาทับพัง นักวิชาการยันคุณภาพน้ำ เหมาะต่อการเจริญเติบโตและวางไข่สัตว์น้ำ ระบุปากคลอง - กลางคลองสมบูรณ์สุด ประมงพื้นบ้านรายได้สูง 75,000 - 480,000 บาทต่อคนต่อปี เกรงระบบหล่อเย็นโรงไฟฟ้า ดูดสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ไข่และสัตว์น้ำวัยอ่อน เตือนอย่าปล่อยน้ำอุณหภูมิสูง และสารเคมีทำความสะอาดระบบหล่อเย็น - เครื่องจักรลงคลอง


 


เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 19 มิถุนายน 2549 ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา มีการประชุมคณะกรรมการร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินงานและพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชนโรงไฟฟ้าสงขลา โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลา มีนายสมพร ใช้บางยาง ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เป็นประธาน มีผู้เข้าร่วมประชุม 30 คน


 


นายศราวุธ เจะโส๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์ประมงน้ำจืดปัตตานี ในฐานะหัวหน้าคณะจัดทำฐานข้อมูลระบบนิเวศทางน้ำและสภาวะทรัพยากรประมงบริเวณคลองนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา นำเสนอผลการดำเนินงานให้ที่ประชุมทราบว่า จากการเก็บข้อมูลทุกเดือนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2548 จนถึงเดือนเมษายน 2549 พบว่า คุณภาพน้ำในคลองนาทับ เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและการวางไข่ของสัตว์น้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อยและสัตว์น้ำชายฝั่ง โดยในฤดูน้ำหลากมีปริมาณน้ำมาก จะทำให้สัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์มากขึ้น


 


นายศราวุธ รายงานต่อไปว่า นอกจากนี้ บริเวณปากคลองมีความเสี่ยงที่จะเกิดปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสี เนื่องจากมีสารไนเตรตสะสมอยู่มาก หากเกิดการฟุ้งกระจายจะทำให้ปลาตายเป็นแพภายใน 1 วัน ปรากฏการณ์เช่นนี้จะพบมากในทะเลสาบสงขลา สารนี้อาจสะสมอยู่ในทะเลเมื่อถูกคลื่นซัดเข้ามาในคลองทำให้ปลาตายได้ หรืออาจจะสะสมจากการทำเหมืองแร่ดีบุกบริเวณต้นน้ำในอดีต


 


นายศราวุธ รายงานอีกว่า จากการสำรวจพบสัตว์น้ำทั้งหมด 211 ชนิด โดยช่วงปากคลองและกลางคลองมีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด มีสัตว์น้ำวัยอ่อนชุกชุม มีชาวประมง 1,902 คน สามารถจับสัตว์น้ำได้มากที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม เฉลี่ย 1,835 ตันต่อปี รายได้เฉลี่ยระหว่าง 75,000 - 480,000 บาทต่อคนต่อปี ส่วนบริเวณโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลา พบสัตว์น้ำมีราคาน้อย ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าอยู่ห่างจากบริเวณกลางคลองประมาณ 9 กิโลเมตร


 


"ผลกระทบจะเกิดขึ้นหลังจากก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว มี 3 ประการ คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ไข่และสัตว์น้ำวัยอ่อน จะถูกดูดเข้าสู่ระบบหล่อเย็น มีการปล่อยน้ำที่อุณหภูมิสูงลงสู่ลำคลอง และอาจมีสารเคมีจากการทำความสะอาดระบบหล่อเย็น หรือเครื่องจักรปนเปื้อนในลำคลอง จึงเสนอให้ควบคุมการสูบน้ำเข้าไปในระบบหล่อเย็นไม่เกิน 0.5 ลูกบาศก์ต่อวินาที ขณะที่ชาวบ้านเสนอให้ปักไม้ไผ่สลับเป็นฟันปลาเพื่อชะลอความเร็วของน้ำ และเป็นที่ยึดเกาะของตะไคร่น้ำ และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ตัวอ่อนของสัตว์น้ำ ได้ใช้เป็นแหล่งหลบซ่อนหรือหลบหนีได้" นายศราวุธ กล่าว


 


นายศราวุธ เสนอว่า ควรควบคุมไม่ให้อุณหภูมิน้ำทิ้งจากหอหล่อเย็นสูงกว่าน้ำในคลองเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส โดยให้เก็บกักน้ำทิ้งจากหอหล่อเย็นไว้ในบ่อพักน้ำอย่างน้อย 2 วัน แล้วปล่อยลงบ่อหน่วงน้ำอีก 1 วัน ก่อนจะปล่อยลงสู่คลองนาทับ โดยมวลน้ำสามารถถ่ายเทความร้อนระหว่างกันในระดับอุณหภูมิปกติในระยะทางประมาณ 3.5 กิโลเมตรจากจุดระบายน้ำ ออกแบบคลองระบายน้ำให้น้ำไหลได้ช้าลง และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำแบบผสมผสานลงในบ่อพักน้ำและบ่อหน่วงน้ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน


 


นายนคร ศรีวิเชียรสมบัติ ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลา แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ข้อเสนอหลายข้อของคณะเก็บข้อมูล การไฟฟ้าแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการแล้ว


 


นายเคล้า แก้วเพชร แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ขณะนี้มีชาวบ้านตำบลป่าชิง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา 7 คน และตำบลนาหว้า อำเภอจะนะ 5 คน แจ้งให้ตนทราบว่าจะคัดค้านการเวนคืนที่ดิน เพื่อวางสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลาไปเชื่อมกับสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่มีอยู่แล้ว ส่วนรายอื่นๆ ไม่คัดค้าน


 


นายสมพร จึงมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในฐานะเจ้าของโครงการ เจรจากับชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว จนเป็นที่พอใจทั้ง 2 ฝ่าย เพราะการคัดค้านอาจเนื่องมาจากชาวบ้านยังไม่พอใจค่าเวนคืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net