Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 24 มิ.ย. 49     วันที่ 23 มิ.ย. ที่โรงแรมรามาการ์เดน นายอรรถพล ใหญ่สว่าง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด บรรยายในหัวข้อเรื่อง "ความคุ้มค่าในการดำเนินคดีพิเศษ" ว่า ความคุ้มค่าของการดำเนินคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่จำเป็นต้องพิจารณาจากผลงานการสั่งฟ้องคดีเพียงอย่างเดียว ต้องดูผลของการดำเนินคดีว่าสามารถจับกุมผู้ต้องหารายใหญ่ได้มากน้อยแค่ไหน และไม่ควรนำผลการประเมินแบบระบบเศรษฐกิจมาใช้กับงานคดี มาตรา 22 ของพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ ระบุว่า ประสิทธิภาพต้องเชื่อมประสิทธิผล


 


นายอรรถพล กล่าวว่า ดีเอสไอมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ผู้มีอิทธิพลที่สุดคือผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและการเงิน แต่ต้องทำงานภายในรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ที่ต้องคำนึงสิทธิและเสรีภาพของทุกฝ่าย


 


ทั้งนี้ ตัวชี้วัดความคุ้มค่าการทำงานของดีเอสไอที่สำคัญ คือความเชื่อศรัทธาของประชาชน แต่คดีดังหลายคดีความเห็นของอัยการกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอไม่ตรงกัน ทั้งที่คดีพิเศษต่างจากคดีอาญาทั่วไป เพราะคดีทั่วไปไม่มีอัยการเข้าไปร่วมสอบสวนหรือให้คำแนะนำ ดังนั้นตัวชี้วัดของคดีพิเศษควรเป็นคดีที่สอบสวนรวบรวมหลักฐานอย่างสมบูรณ์ เมื่อสำนวนส่งถึงอัยการ ต้องสั่งฟ้องทุกคดี โดยไม่มีการสั่งให้สอบเพิ่มเติม


 


แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นเช่นนั้น จาก 10 คดีที่ดีเอสไอส่งสำนวนให้อัยการ มีการสั่งไม่ฟ้องถึง 2 คดี เป็นสิ่งที่ต้องทบทวนการทำงาน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมอัยการจึงสั่งไม่ฟ้องคดีทั้งที่ร่วมสอบสวนตั้งแต่ต้น


 


นอกจากนี้ โฆษกสำนักอัยการสูงสุดยังมีความเป็นห่วงงานคุ้มครองพยาน โดยเฉพาะงานภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมามีพยานหลายคนเสียชีวิตก่อนขึ้นเบิกความ จึงต้องขอความร่วมมือไปยังศาลยุติธรรม เพื่ออนุญาตให้พยานปากสำคัญเบิกความล่วงหน้า


 


"มีความจริงบางอย่างที่พูดไปแล้วอาจไม่ถูกใจดีเอสไอ เช่น คดีเอ็นพาร์ค อัยการสั่งให้สอบเพิ่ม เพราะดีเอสไอไม่ดำเนินการตามคำแนะนำของอัยการในชั้นสอบสวน สุดท้ายอัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ในบางคดีดีเอสไอก็สอบสวนไปโดยไม่มีอัยการเข้าร่วม เช่น คดีเกี่ยวกับ กทม. ซึ่งดีเอสไอเรียกพยานบางคนมาสอบและบันทึกถ้อยคำ โดยอัยการไม่รู้เรื่อง เมื่อสอบถามเหตุผล ก็บอกว่าไม่มีความศรัทธาในตัวอัยการที่ร่วมสอบสวน คดีนี้จึงเป็นสาเหตุให้อัยการกับพรรคประชาธิปัตย์แทบมองหน้ากันไม่ได้ บางคดีอัยการบอกว่าหลักฐานเพียงแล้ว ขอหยุดสอบสวน ดีเอสไอก็บอกว่ายังไม่พอขอสอบต่อ สุดท้ายดีเอสไอก็สั่งไม่ฟ้อง แต่อัยการสั่งฟ้อง


 


"และยังพบว่าหลักฐานที่ขอสอบต่อ เป็นหลักฐานที่ทำให้สั่งไม่ฟ้องทั้งสิ้น ดังนั้นขอเตือนไปยังดีเอสไอ ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ว่าการทำงานของท่าน อาจส่งผลให้คดีเป็นการสอบสวนโดยมิชอบได้"นายอรรถพลกล่าว


 


นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการนำตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ มาวัดผลงานในกระบวนการยุติธรรม เพราะสถิติคดีไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ถูกต้อง การอำนวยความยุติธรรมต้องชี้วัดที่ความสงบสุขของประเทศ แต่ถ้าใช้ตัวชี้วัดแบบนี้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องถือว่ารัฐบาลสอบตก


 


แนวคิดเรื่องตัวชี้วัดนี้มาจากการเมืองภาคทุนนิยม เป็นแนวคิดที่ผิด ตัวชี้วัดที่ดีที่สุดน่าจะเป็นความภาคถูมิใจในการเป็นข้าราชการดีเอสไอ ทำงานเพื่อป้องกันอาชญากรรมอย่างมีประสิทธิภาพและพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะคดีเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งดีเอสไอควรมีซอฟแวร์ที่สามารถตรวจจับการกระทำความผิดผ่านทางเว็ปไชต์ รวมทั้งต้องมีสายลับที่แฝงตัวในกลุ่มโบรกเกอร์เพื่อรวบรวมหลักฐานจับแก๊งปั่นหุ้นกับกองทุนฝรั่งหัวดำมาดำเนินคดีให้ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net