Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความรุนแรงจากวัฒนธรรม hooligan ใช่ว่าจะหายไปจากเกมการแข่งขันไปโดยสิ้นเชิง ทุกวันนี้ความรุนแรงจากเกมฟุตบอลยังมีให้เห็นในทั่วภูมิภาค "ประชาไท" มีรายงานให้เห็นถึงรากเหง้าของความรุนแรงในเกมฟุตบอล จากอดีตจนถึงปัจจุบัน แล้วคุณจะรู้ว่า นี่ไม่ใช่เกมกีฬาธรรมดา

 

 

รายงานโดย : วิทยากร บุญเรือง

 

 

ความรุนแรงจากวัฒนธรรม hooligan ใช่ว่าจะหายไปจากเกมการแข่งขันไปโดยสิ้นเชิง ทุกวันนี้ความรุนแรงจากเกมฟุตบอลยังมีให้เห็นในทั่วภูมิภาค "ประชาไท" มีรายงานให้เห็นถึงรากเหง้าของความรุนแรงในเกมฟุตบอล จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

 

ความรุนแรงจากยุคกลาง

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากเกมกีฬานั้น เริ่มมีการบันทึกไว้ตั้งแต่ยุคคริสต์ศตวรรษที่ 6 ในการแข่งขันรถม้า (Chariot-racing) ระหว่างสองทีมในกรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) สัปดาห์การแข่งขันอันอลหม่านในปี ค..532 มีผู้เสียชีวิตถึงประมาณ 30,000 คน ซึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างแฟนกีฬาฝ่ายตรงข้ามกัน

 

ส่วนต้นกำเนิดความรุนแรงในกีฬาฟุตบอลของประเทศอังกฤษ มีหลักฐานบ่งแน่ชัดว่าในราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 เกมกีฬานี้ได้ถูกบันทึกความรุนแรงไว้แล้ว

 

เกมฟุตบอลในยุคนั้นถือว่าเป็นกีฬาพื้นบ้าน นิยมเล่นกันในวัน Shrove Tuesdays (วัน mardi gras วันที่เล่นสนุกสนานกันทั่วเมือง) และวันพิธีทางศาสนารวมถึงวันเทศกาลต่างๆ การเล่นฟุตบอลสมัยนั้น คล้ายกับการทำสงครามของเด็กหนุ่มเมืองหนึ่งกับอีกเมืองหนึ่งที่ใกล้กัน

 

ส่วนมากลูกฟุตบอลทำจากหนังสัตว์ แล้วนำมาเย็บติดกัน แต่ที่นิยมกันในสมัยนั้นคือการนำกระเพาะของหมูมาเป่าลมเข้าไป เกมนี้จะเล่นเป็นวันๆ กติกาก็คือการนำลูกฟุตบอลสู่ประตูของฝ่ายตรงกันข้าม อาจจะไม่จำกัดผู้เล่นและวิธีที่จะนำลูกบอลไปทำประตูฝ่ายตรงข้าม เกมนี้ได้รับการสนับสนุนบ้างจาก เจ้าของที่ดินและศักดินา ในยุค feudal เพราะดูเหมือนว่าเกมนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ "ความเป็นลูกผู้ชาย" (manly)

 

สำหรับส่วนอื่นๆ ของยุโรป ก็มีการละเล่นคล้ายๆ กัน เช่น ในเยอรมันเรียกเกมที่คล้ายๆกันนี้ว่า "Knappen" ในเมืองฟลอเรนซ์เรียกว่า "calcio in costume" แต่เรายอมรับกันว่า พื้นฐานของเกมฟุตบอลสมัยใหม่นั้น เริ่มขึ้นที่ประเทศอังกฤษ

 

ในงานพิธีทางศาสนารวมถึงวันเทศกาลต่างๆ บ่อยครั้งที่จะมีเรื่องของการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมักจะมีความรุนแรง การทะเลาะวิวาท การบาดเจ็บ และบางครั้งเลยเถิดถึงความตายตามมา แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเกมฟุตบอลในสมัยนั้นเป็นเครื่องระบายอารมณ์หลังจากการดื่ม

 

ที่อังกฤษในยุคกลางนั้น นานๆ ครั้ง ที่ผู้คนจะได้ระเบิดความรุนแรง ความเครียดที่สั่งสมในชีวิตประจำวัน แอลกอฮอล์และเกมฟุตบอลจึงเป็นหนทางออกทางหนึ่งในการ "ระเบิดความกดดัน" นั้นออกมา ในยุคเดียวกันที่ส่วนอื่นๆ ของยุโรป เกมฟุตบอลได้ถูกวางมาตรการสั่งห้ามมิให้เล่น เนื่องจากความรุนแรงของมันนั่นเอง

 

ไม่เคยมีที่ไหนที่ไม่ได้รับความรุนแรงจากนักฟุตบอลขี้เมาในยุคนั้น ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 เริ่มมีการเรียกร้องให้ควบคุมกีฬาประเภทนี้ในอังกฤษ หลังจากที่มันแพร่หลายเข้าไปในลอนดอน (London) กลุ่มลูกมือฝึกหัด (ในยุคกลางแต่ละสมาคมการค้ามักจะมีลูกมือฝึกหัด) ฝ่ายตรงกันข้ามมักที่จะใช้เกมฟุตบอลเป็นเครื่องมือในการทะเลาะวิวาท ทั้งในตลาดและย่านการค้าต่าง ๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อการค้าขายในวันนั้นๆ

 

Nicholas Farndon นายกเทศมนตรีของเมืองลอนดอนได้ป่าวประกาศการควบคุมเกมฟุตบอลไว้เป็นครั้งแรกเมื่อปี ค..1314 ว่า "ที่ใดมีความวุ่นวายเอะอะ สร้างความเสียหาย ย่อมเป็นผลมาจากการเล่นฟุตบอลในที่สาธารณะ ซึ่งมันทำให้เกิดสิ่งชั่วร้ายต่างๆ นานา พระเจ้ามีประสงค์ไม่อนุญาตให้กระทำเช่นนั้น เราจะต้องควบคุมและทำตามข้อห้ามนั้น, ในนามของกษัตริย์อังกฤษ จะต้องมีการลงโทษ เกมฟุตบอลจะต้องไม่เกิดขึ้นในเมืองนี้ นับแต่นี้เป็นต้นไป"

 

แต่โดยเหตุผลเบื้องหลังแล้ว ข้อห้ามนี้เกิดจากการกดดันของพวกพ่อค้าและสมาคมการค้า เนื่องจากเกมฟุตบอลทำให้เศรษฐกิจในกรุงลอนดอนได้รับความเสียหาย

 

ผลของการควบคุมนี้ ถึงแม้จะมีการจำกัดพื้นที่, มีการจับกุมกลุ่มผู้เล่น, และการลงโทษ แต่เกมฟุตบอลยังคงดำเนินต่อไปอีกกว่า 300 ปีถัดมา ในบางส่วนใหญ่ที่อังกฤษและสก๊อตแลนด์ ยังมีการเล่นการอย่างแพร่หลายโดยที่ไม่ค่อยยี่หระกับคำสั่งห้าม, ข้อห้าม, หรือเหตุจากความรุนแรงของกีฬาประเภทนี้ซักเท่าไหร่นัก

 

ล่วงมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 - 18 มีบันทึกไว้ว่า นักฟุตบอลร้อยกว่าชีวิต ได้ทำลาย ทางส่งน้ำ - ท่อระบายน้ำของเมือง จากนั้นเริ่มมีการจับตาโดยฝ่ายปกครองจากการเล่นเกมนี้โดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่นการแข่งขันครั้งหนึ่งที่เมือง Kettering ชายฉกรรจ์แบ่งฝ่ายข้างละ 500 กว่าคน แสร้งว่าทำการแข่งขัน แต่กลับปล้นสะดมอาหาร ในร้านค้าท้องถิ่น และก่อการจลาจลอย่างคนบ้าคลั่ง

 

จากนั้นรูปแบบของเกมฟุตบอลก็เปลี่ยนไป จากเกมต่อสู้ที่ไม่มีกฎระเบียบ (unregulated battle) และยากต่อการกำหนดขอบเขตพื้นที่ (ill-defined field of play) สู่เกมกีฬาสมัยใหม่ที่มีกฎระเบียบ (modern rule- governed sport) มีการจำกัดพื้นที่, ลดพื้นที่ให้แคบลง, มีสนามแข่งขันโดยเฉพาะ, เริ่มมีการวางกฎกติกา แต่กระนั้นความรุนแรงของเกมนี้ก็ยังคงมีอยู่ โดยมีคำกล่าวติดตลกของผู้พิพากษาท่านหนึ่ง กล่าวไว้ว่า

 

"In 1829, a Frenchman who saw a football match in Derby asked 'If this is what they call football, what do they call fighting?"

 

ฟุตบอล,ความรุนแรงในโรงเรียนประจำ : สู่เกมฟุตบอลสมัยใหม่

ยุคสมัยใหม่ สนามการแข่งขันฟุตบอลถูกนำเข้าไปอยู่ในโรงเรียนประจำของลูกผู้มีอันจะกินของอังกฤษ ถึง ณ ช่วงเวลานี้ การแข่งขันมีกฎระเบียบและลดความรุนแรงจากยุคกลางลงไปมาก กลายเป็นความรุนแรงที่แฝงตัวรูปแบบใหม่

 

ในโรงเรียนประจำชายล้วน พวกรุ่นพี่จะเกณฑ์เด็กใหม่ๆ เพื่อไปทำการแข่งขันกับฝ่ายตรงข้าม เกมฟุตบอลนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างระบบ "fagging system" (ระบบที่ให้นักเรียนรุ่นเล็กรับใช้นักเรียนรุ่นใหญ่) ขึ้นมาในโรงเรียนประจำของอังกฤษ บ่อยครั้งที่ความรุนแรงจากเกมฟุตบอลได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ในสถานศึกษาเพื่อผลประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น ในปี ค.. 1828 Dr. Thomas Arnold หัวหน้าผู้ควบคุมทีมรักบี้ (Rugby) ชอบที่จะนำนักเรียนที่ก้าวร้าว,ชอบความรุนแรงในเกมฟุตบอล เข้าสู่ทีมรักบี้ นอกจากนี้เขายังแต่งตั้งให้นักเรียนเหล่านั้นเป็นผู้นำนักเรียนรุ่นน้อง (prefect-fagging) เพื่อทำให้ระบบนี้มั่นคงยิ่งขึ้นไป

 

แต่เมื่ออาจารย์ท่านอื่นๆ ไม่เห็นดีเห็นงามกับความรุนแรงของเกมกีฬานี้ และมีท่าทีว่าจะสั่งระงับ เขากลับทำให้เกมนี้เป็นสิ่งถูกต้อง ด้วยการยุยงให้ลูกศิษย์สร้างกฎกติกาการเล่นให้เหมาะสม ทั้งนี้เกมฟุตบอลกลายเป็นเกมที่มีความรุนแรงและการกดขี่จากระบบ "fagging" สำทับลงไปเสียแล้ว

 

ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชนชั้นกรรมาชีพในสหราชอาณาจักรต้องทำงานถึงสัปดาห์ละ 6 วัน มักที่จะใช้เกมฟุตบอลในการผ่อนคลายจากการทำงานหนัก ลูกเด็กเล็กแดงของชนชั้นกรรมาชีพก็ชอบที่จะเด็กฟุตบอลตรงข้างถนน เช่นเดียวกับลูกหลานคนมีจะกินในโรงเรียนประจำ ว่ากันว่ารากฐานของเกมฟุตบอลสมัยใหม่มาจากการผสมผสานการละเล่นฟุตบอลของ 2 ชนชั้นนี้

 

วัฒนธรรมทีมกีฬาแบบอังกฤษ เริ่มถูกเผยแพร่ไปสู่ภาคพื้นยุโรป ในขั้นเริ่มแรกพร้อมกับวิชาพละศึกษา ค่านิยมของชาวฝรั่งเศส , อิตาลี , เยอรมัน การเล่นกีฬาของเยาวชนเปรียบเสมือนการส่งผ่านชีวิตวัยเยาว์ พัฒนาทักษะ สู่การเป็นลูกผู้ชายตามแบบฉบับอังกฤษ (British gentleman)

 

เช่นเดียวกับแถบสแกนดิเนเวียน (Scandinavians) การเล่นฟุตบอลเหมือนกับการสมาทานเอาค่านิยมของสุภาพบุรุษอังกฤษสู่ชนชาวไวกิ้ง ในประเทศเดนมาร์ก ตัวอย่างของเกมครั้งหนึ่งในทศวรรษที่ 1900 ซึ่งถึงแม้สนามจะจุผู้คนไว้มากมาย แต่ก็ไม่เกิดความวุ่นวายในสนามแต่อย่างใด และบ่อยครั้งที่ราชวงศ์เดนมาร์กเข้ามาชมเกมการแข่งขันด้วย การพนันเกี่ยวกับฟุตบอลเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และความรุนแรงจากเกมการแข่งขันของภูมิภาคนี้เทียบไม่ได้กับแถบบริเตน

 

ตัวอย่างเหตุการณ์ความรุนแรงจากเกมฟุตบอลตั้งแต่ยุคกลางจนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

 

1314, 1315 กษัตริย์ Edward ที่ 2 ทรงสั่งระงับเกมฟุตบอล

1349, 1388, 1410 ฟุตบอลถูกห้ามเล่นในลอนดอนโดยเด็ดขาด ซึ่งเป็นผลของการกดดันจากสมาคมพ่อค้า.

1477 กษัตริย์ Edward ที่ 4 ออกกฎหมายต่อต้านการเล่นฟุตบอล

1496 กษัตริย์ Henry ที่ 7 ออกกฎหมายต่อต้านการเล่นฟุตบอล

1539 เกมฟุตบอลแมตซ์หนึ่งในเมืองChester ถูกล้มเลิกเนื่องจากไม่สามารถควบคุมความรุนแรงได้

1555 ฟุตบอลถูกห้ามเล่นในเมือง Liverpool เพราะถือว่าเป็นการประทุษร้ายและทำร้ายร่างกาย

1576 รายงานจาก Middlesex County มีชายฉกรรจ์ร้อยกว่าคนชุมนุมกันเพื่อเล่นฟุตบอลอย่างบ้าคลั่ง

1581 Evanses Feld แห่ง Southemyms. ฆ่าคนไปถึง 2 คนในการแข่งขันฟุตบอลแมตซ์หนึ่ง

1608 ฟุตบอลถูกห้ามเล่นในเมือง Manchester เพราะถือว่าเป็นการประทุษร้ายและทำร้ายร่างกาย

1638 ฝูงชนที่เล่นฟุตบอลได้ทำลายระบบส่งน้ำของเมือง Ely

1694 ฝูงชนที่เล่นฟุตบอลได้ทำลายระบบส่งน้ำของเมือง Fenland

1740 การแข่งขันครั้งหนึ่งที่เมือง Kettering ชายฉกรรจ์แบ่งฝ่ายข้างละ 500 กว่าคน แสร้งว่าทำการแข่งขัน แต่กลับปล้นสะดมอาหาร ในร้านค้าท้องถิ่น และก่อการจลาจล

1843 ตำรวจ 50 นาย และทหาร 200 นาย ตรวจตราและป้องปรามแฟนบอลในการแข่งขันระหว่างทีม Preston North End กับทีม Sunderland

1881 สถานีรถไฟ ไม่สามารถทำการได้ เนื่องจากฝูงชนแฟนบอลจากการแข่งขันระหว่างทีม Newton Heath กับทีม Preston North ก่อจลาจลหลังจบเกม

1884 แฟนบอลทีม P.N.E เข้าไปทำร้ายนักเตะและแฟนบอลของทีม Bolton Wanderers หลังจากจบเกม

1885 การแข่งขันระหว่าง ทีม Aston Villa กับทีม Preston. กลุ่มอันธพาลได้ขวางปาแฟนบอลด้วยวัสดุต่างๆ

1886 เกิดสงครามย่อยๆที่สถานีรถไฟแห่งหนึ่งระหว่างแฟนบอล ทีม Preston North End กับทีม Queens Park 1893 ระหว่างเกม ทีม Nottingham Forest กับทีม West Bromwich Albion ผู้ชมได้ลงไปในสนามพร้อมกับทำร้ายนักเตะของ West Bromwich Albion

1908 ที่ฮังการี หลังจากเกมระหว่างทีม Manchester United กับทีมฟุตยอลไม่มีชื่อของฮังการี ผู้เล่นทีม Manchester เข้าไปทำร้ายแฟนบอลฮังการีที่ข้างสนาม

1909 ฝูงชนกว่า 6000 คนก่อความวุ่นวายที่ Hampden Park, เมือง Glasgow.

1920 แฟนบอลทีม Birmingham City ข้างปานักเตะตนเองด้วยขวด

1930 ระหว่างเกม Clapton Orient กับ Queens Park Rangers หลังจากที่ทีม Queens Park Rangers ได้ประตูขึ้นนำ ก็เกิดการจลาจลชองแฟนบอลขึ้น ตำรวจต้องเข้ามาระงับสถานการณ์

1931 ที่เยอรมันนี การแข่งขันระหว่างทีม Hertha Berlin กับ Fuerth แฟนบอลของ Hertha ได้ขว้างปาผู้เล่นทีม Fuerth จนได้รับบาดเจ็บ

1933 ที่ฝรั่งเศส ตำรวจไม่สามารถเข้าควบคุมความวุ่นวายของแฟนบอลระหว่างเกม Nice กับ the Wolves ทำให้ผู้จัดการทีม Wolves ต้องสั่งให้ผู้เล่นวอล์เอาท์ออกจากสนาม

1934 แฟนทีม Leicester City ได้ก่อความวุ่นวายบนรถไฟหลังจากกลับมาจากการแข่งขันที่ Birmingham.

1935 ที่ไอร์แลนด์ เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกแฟนบอลทำร้ายระหว่างเกม Linfield กับ Belfast Celtic.

 

 

Hooligan : ผู้ก่อความวุ่นวายในยุโรป

จากเหล่าผู้ก่อความวุ่นวายกับเกมฟุตบอลในยุคกลาง จะเห็นว่าพวกเขาล้วนแล้วแต่มีส่วนในการละเล่นแบบไม่มีขีดจำกัดนั้น แต่สำหรับฟุตบอลสมัยใหม่ กฎ-กติกา-ระเบียบ-แบบแผน ทำให้เกิดข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนผู้เล่นของเกมนี้ เหล่านี้ทำให้เกิดองค์ประกอบใหม่ที่แยกออกมาจากเกมฟุตบอลในสนาม นั่นก็คือ "แฟนฟุตบอล" (supporter)

 

Hooligan จัดว่าเป็นแฟนฟุตบอลที่มีความโน้มเอียงไปในทางการใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้าม รากศัพท์ของคำว่า "Hooligan" นี้ยังไม่มีข้อสรุปถึงต้นกำเนิดที่แน่ชัด แต่คำๆนี้ได้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในรายงานของตำรวจลอนดอนเมื่อปี ค.. 1898 มีทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับต้นกำเนิดของคำนี้ นั่นก็คือสันนิษฐานว่าจะมาจากชื่อของหัวหน้าแก๊งข้างถนนชาวไอริสในลอนดอน ที่ชื่อว่า "Patrick Hooligan" แห่งแก๊ง "Hooley" (คำว่า "Hooley" เองในภาษาไอริช ก็มีความหมายว่า ป่าเถื่อน,รุนแรง)

 

กระบวนการทำงานของ Hooligan ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็จะเป็นแบบง่ายๆ คือ "ดูบอลและก็ตีต่อยกัน" ที่อังกฤษถือว่าเป็นดินแดนเมกะของอันธพาลในคราบแฟนบอลเหล่านี้

 

หลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงทศวรรษที่ 1950 ยุคแห่งความกลมเกลียวสมานฉันท์ (High levels of national solidarity ) ดำเนินต่ออย่างราบรื่น เพื่อเยียวยาจิตใจอันบอบช้ำของคนในภูมิภาคยุโรปรวมถึงบริเตน แต่เหตุการณ์นี้กลับเปลี่ยนแปลงเมื่อล่วงเข้าสู่ยุคทศวรรษที่ 1960 รูปแบบใหม่ของลัทธิชาตินิยมบ้าคลั่ง (zealous-patriotism) เข้าสู่สังคมอังกฤษ นั่นก็คือการต่อต้านและกระทำความรุนแรงต่อผู้อพยพ-แรงงาน ต่างชาติ (immigrants) ยุคสมัยนี้ได้สร้าง new-hooligan ที่ฝังความเชื่อแบบ Fascist และการเพิ่มจำนวนขึ้นหลังจากร่อยหรอไปในยุคสงคราม ก็เพิ่มทวีคูณขึ้นมากด้วย

 

จากต้นกำเนิดของเหล่า Hooligan ใหม่ในยุค 60 ที่อังกฤษ วัฒนธรรมความรุนแรงนี้ก็ค่อยๆแทรกซึมไปยังภูมิภาคอื่นๆในยุโรปตามลำดับ ช่วงทศวรรษที่ 1970 แฟนฟุตบอลอันธพาลในอิตาลีส่วนหนึ่ง รวมกลุ่มกันในนาม "Ultras" สร้างความรุนแรงและวุ่นวายให้กับการแข่งขันฟุตบอลในประเทศและข้างเคียง

 

สก๊อตแลนด์บ้านพี่เมืองน้องของอังกฤษ ความรุนแรงจากเกมลูกหนังของที่นั่นกลับต่างจากอังกฤษราวฟ้ากับเหว ความดุเดือดในการเชียร์จะมีเรื่องที่มากกว่าฟุตบอลเป็นตัวกระตุ้น เช่นเกมระหว่างทีม Rangers กับทีม Celtic นั้นมีเรื่องของศาสนาเป็นตัวชูโรงให้เกมมีความดุเดือดมากขึ้น แต่แฟนบอลทีมชาติสก๊อตแลนด์ที่เรียกขานตนเองว่า "Tartan Army" ถือว่าเป็นแฟนลูกหนังที่มีความเป็นมิตรมากที่สุดทีมหนึ่งในโลก

 

Hooligan ยุคใหม่คืบคลานเข้าไปถึงแถบสแกนดิเนเวียเช่นกัน ธุรกิจสโมสรฟุตบอลการเริ่มต้นสร้างแฟนคลับตั้งแต่ยุค 1970 ทำให้ความรุนแรงจากการเชียร์ฟุตบอลในภูมิภาคนี้เริ่มระอุขึ้น ชาวสวีเดนเริ่มรับรู้พิษสงของ hooligan เมื่อครั้งที่แฟนบอลทีม IFK Göteborg ทำลายข้าวของและต่อสู้กับตำรวจ หลังจากจบแมตซ์ที่ส่งผลให้ทีมต้องตกลงไปเล่นในระดับดิวิชัน 2 ในปี 1970 หลังจากยุคทศวรรษที่ 1970 การเชียร์บอลแบบวัฒนธรรมอังกฤษเข้าสู่สวีเดนอย่างเต็มตัว แฟนบอลของทีม AIK ขนานนามกลุ่มตนเองว่า "Black Army" ส่วนทีม Hammarby IF มีแฟนหนุนหลังที่เรียกว่า "Bajen Fans" เช่นเดียวกัน เหล่านี้คือพื้นฐานความรุนแรงของ hooligan สวีเดนในยุค 1980 ที่ขึ้นชื่อลือชาอีกแห่งในยุโรป ผิดกับเดนมาร์ก ที่ hooligan มีจำนวนน้อยนิด และแฟนบอลทีมชาติเดนมาร์กเองก็ได้รับการยกย่องในระดับดีเมื่อเทียบกับแฟนบอลทีมชาติสก๊อตแลนด์

 

ในทศวรรษที่ 1980 ความรุนแรงจากวัฒนธรรม hooligan ก้าวถึงขีดสุด โศกนาฏกรรมครั้งที่ถูกกล่าวถึงและเป็นที่บาดใจของแฟนบอลอังกฤษก็คือเหตุการณ์ที่ Heysel Stadium แฟนบอลทีม Juventus 38 ราย และเด็กน้อยชาวเบลเยียม 1 คน ต้องสังเวยชีวิตให้กับการก่อความรุนแรงของแฟนบอล Liverpool และ Juventus เหตุความรุนแรงนี้เองทำให้ทีมจากอังกฤษถูกห้ามการแข่งขันในบอลถ้วยยุโรปถึง 5 ปี

 

หลังจากเหตุการณ์ที่ Heysel Stadium ทำให้หลายฝ่ายจับตามองเหล่า hooligan และมีมาตรการย้ำยั้งอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่ใช่ว่าความรุนแรงจะหายไปจากเกมการแข่งขันไปโดยสิ้นเชิง ทุกวันนี้ความรุนแรงจากเกมฟุตบอลยังมีให้เห็นในทั่วภูมิภาคของยุโรป

 

............................................................

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

 

หนังสือ

Armstrong, G. 1998. Football Hooligans: Knowing the Score. Oxford: Berg.

Wagg, S.1984. The Football World: A Contemporary Social History. Brighton: Harvester Press.

 

ข้อมูลออนไลน์

http://elt.britcoun.org.pl/elt/s_commer.htm#hools

http://en.wikipedia.org/wiki/Football_(word)

http://en.wikipedia.org/wiki/Hooliganism

http://www.sirc.org/publik/football_violence.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net