Skip to main content
sharethis


15 ก.ค. 2549 โครงการสิทธิชุมชน ร่วมกับ สนง.กองทุนสนับสนุนการวิจัย จัดเวทีวิชาการสาธารณะ ""เปิดศักราชสิทธิชุมชนครั้งที่3"โดยผู้เข้าร่วมเวทีเป็นตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนจากทั่วประเทศกว่า 400 คน

 


โดย นายเสน่ห์ จามริก ผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวว่า สิทธิมนุษยชนนั้น ไม่สามารถมองแบ่งแยกเป็นส่วนๆ หรือแบ่งแยกสัญชาติได้ แต่สิทธิมนุษยชนของทุกคนในโลกนั้นมีความเกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน แม้แต่องค์การสหประชาชาติต้องออกปฎิญญาในเรื่องสิทธิประชาชนมาแล้วหลายฉบับ


 


สำหรับเมืองไทยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนถือว่ายังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ของมุสลิมในภาคใต้ หรือ การต่อต้านรัฐบาล หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าจะเกิดความรุนแรง ซึ่งจะรุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจว่าจะใช้รูปแบบใดในการเผชิญหน้ากับกระแสเรียกร้องสิทธิจะใช้วิธีรุนแรงหรือสันติวิธี


 


ด้าน น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า สังคมไทยถูกความรุนแรงจากโลกทุนนิยมทำลายมาเป็นเวลานานานแล้ว ทั้งทางด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต ของชุมชน การเข้ามาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำร้ายสังคม ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนต้องมีเครื่องมือในการป้องกันกระแสทุนนิยมสากลและโลกาภิวัตน์ไม่ให้เข้ามาคุกคามสิทธิของชุมชน ทำร้ายวิถีชีวิต วัฒนธรรม


 


"แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะพูดถึงสิทธิชุมชนไว้ก็ตาม แต่ในทางปฎิบัติยังไม่เห็นผลที่น่าพอใจ ดังนั้นประชาชนควรจะรวมตัวผลักดันให้ออกพระราชบัญญัติสิทธิชุมชน โดยอาศัยความรู้ ประสบการณ์ งานวิจัย ต่างๆที่เคยทำมาบัญญัติในกฎหมายเพื่อส่งเสริมสิทธิชุมชนเช่น สิทธิในการสื่อสาร เพราะปัจจุบันการสื่อสารถูกทุนครอบงำ สิทธิในการมีระบบการเมืองของตัวเอง และควรจะมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อส่งเสริมสิทธิของชุมชนที่มีความเป็นอิสระ" น.พ.ประเวศ ระบุ


 


จากนั้น ได้มีการเสนอผลวิจัยสิทธิชุมชนในภูมิภาคต่างๆอย่างสรุป โดยภาคอีสาน พบว่าการแผ่อำนาจของรัฐและทุนเข้าสู่ชุมชนอิสานในปัจจุบัน มีความรุนแรงขึ้น เรียกว่า "การแย่งชิงทรัพยากร" ด้วยภาคอุตสาหกรรมและเมือง ต้องการใช้ทรัพยากรขนานใหญ่ในการลงทุนทั้งภาคเกษตร ป่าไม้ อุตสาหกรรม พลังงานและการก่อสร้างสาธารณูปโภค


 


จึงปรากฏโครงการขนาดใหญ่ที่ปรากฏในพื้นที่วิจัย คือการสร้างเขื่อนในโครงการโขง ชี มูล การขยายตัวของธุรกิจดูดทรายในแม่น้ำมูล แม่น้ำชี การกว้านซื้อที่ดินแปลงใหญ่ริมแม่น้ำชีตอนต้นเพื่อปลูกอ้อยป้อนโรงงานน้ำตาล การประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน


 


โครงการเหล่านี้ได้สร้างผลกระทบต่อชุมชนอย่างกว้าง เกิดการสูญเสียที่ทำกินของราษฎร การสูญเสียพื้นที่กรรมสิทธิ์ส่วนรวมของชุมชน เช่น ป่าชุมชน แหล่งน้ำชุมชน ทำเลสัตว์เลี้ยง แหล่งทำการประมง แหล่งต้มเกลือ นอกจากนี้ยังการเกิดมลพิษในดิน ในน้ำและชั้นบรรยากาศ การอพยพโยกย้ายราษฎรทางด้านสังคมเกิดความขัดแย้งหลายระดับ


 


เหล่านี้กลายเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนโดยตรงทั้งสิทธิพื้นฐานของราษฎรผู้เป็นสมาชิกชุมชน สิทธิด้านเศรษฐกิจวัฒนธรรม โดยเฉพาะเมื่อมีการเคลื่อนไหวตอบโต้ของชุมชน กระบวนการต่อสู้ ต่อรองที่เกิดขึ้นยิ่งแสดงกระบวนการละเมิดอื่นๆ โดยเฉพาะสิทธิ์ทางการเมืองติดตามมามากมาย เช่น การละเมิดสิทธิด้านข่าวสารข้อมูล สิทธิการรวมกลุ่ม สิทธิการชุมนุม สิทธิการมีส่วนรวม เป็นต้น


 


ซึ่งแสดงออกมาในรูปแบบของการจ้องมองจับผิด การปิดกั้น ปิดบัง การกีดกัน การหลอกลวง การสร้างข่าวให้ร้ายป้ายสี การหน่วงเหนี่ยว เตะถ่วงกระบวนการแก้ปัญหา การยุแหย่ให้เกิดความแตกแยกของชุมชน การขู่ปราม การทำร้ายร่างกาย การฟ้องให้แกนนำมีคดีติดตัว เป็นต้น"ผลวิจัย ระบุ


 


ด้านผลวิจัยภาคเหนือ พบว่า สถานการณ์ทรัพยากรภาคเหนือในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงค่อยๆเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขและปัจจัยของสถานการณ์ในโลกกระแสโลกาภิวัตน์ ที่รุกคืบขยายจากศูนย์กลางเข้าสู่ชุมชนชายขอบที่มีฐานทรัพยากร พร้อมกันนั้นการต่อสู้เพือปกป้องสิทธิในการจัดการทรัพยากรของชุมชนมีมาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับเปลี่ยนใช้กระบวนการในการต่อสู้ที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ทั้งการปรับรูปแบบการจัดการทรัพยากร สร้างความสัมพันธ์กับรัฐ รวมถึงระหว่างคนที่ใช้ฐานทรัพยากรร่วมกัน


 


ขณะเดียวกัน การนโยบายรัฐก่อให้เกิดความสับสนความลักลั่นระหว่างการหวงพื้นที่ทางฐานทรัพยากร แต่อีกด้านหนึ่งก็ส่งเสริมให้เกิดการรุกคืบของการพัฒนาทีส่งผลกระทบต่อ,ฐานทรัพยากรมากมาย เช่น การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดจำเป็น การเปิดเหมืองลิกไนต์ หรือแม้กระทั่งในรูปแบบของการใช้ภาษี ไปอุ้มเศรษฐกิจของจีนในการเปิดการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง


 


ขณะที่ผลวิจัยสิทธิชุมชนภาคใต้ พบว่า ถึงแม้ว่าภาคใต้ได้ชื่อว่าเป็นภาคที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติตั้งแต่ป่าเขา จนถึงทะเล เป็นฐานสำคัญที่ทำให้ชุมชนใช้ประโยชน์เลี้ยงชีพ พึ่งตัวเองและสืบทอดความเป็นชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะของวิถีชีวิต วัฒนธรรม ที่หลากหลายรูปแบบ บ่งบอกถึงความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นใต้ ที่ส่งผลต่อการเมืองภาคประชาชน เศรษฐกิจชุมชนและการต่อสู้การละเมิดสิทธิในประเด็นต่างๆ


 


ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net