Skip to main content
sharethis

รายงานโดย นิตยสารรายสัปดาห์พลเมืองเหนือ


 


 


แนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่หรือภาคเหนือ คงมิใช่เพียงแค่ภาครัฐเท่านั้น ที่จะเข้าในสภาพปัญหาและค้นคิดวิธีจัดการ ประชาชนที่สัมผัสกับเหตุการณ์น้ำท่วมและอยู่กับลำน้ำมาทั้งชีวิตก็มีสิทธิ์ที่จะคิดหาวิธีแก้ และมีมุมของการจัดการตามภูมิปัญญาของตนเองเช่นกัน


 


สัปดาห์ที่ผ่านมา เพียงแค่ 2 เวที ก็สะท้อนให้รับรู้ได้ว่า ผู้คนในสังคมสนใจและคิดค้นวิธีช่วยกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมมากมายเพียงไร


 


เวทีแรก เครือข่ายแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบภาคประชาชนจัดนิทรรศการขึ้นที่พุทธสถาน "พลเมืองเหนือ" ก็เป็นองค์กรร่วมด้วย และอีกเวที โทรทัศน์ไอทีวี จัดไอทีวีสัญจร ประเด็นวิกฤตน้ำท่วมเหนือ ที่ศูนย์การค้าเชียงใหม่พาวิลเลียน นี่คือมุมมองของคนต้องการแก้น้ำท่วม !


 


0 0 0


 


ปราโมทย์ ไม้กลัด


อดีตอธิบดีกรมชลประทาน


"การจัดการลำน้ำในภาคเหนือ ยังไม่เป็นระบบ พอเกิดวิกฤตรุนแรงก็เป็นอย่างที่เห็น ประเด็นสำคัญว่าเราจะบริหารจัดการน้ำ ไม่ให้เกิดน้ำท่วมอย่างที่เคนเป็นได้อย่างไร เพราะทั้งลำน้ำปิง สาขา หรือลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่างมายังอุตรดิตถ์ที่เกิดท่วมหลัก ก็ยังไม่อยู่ในจุดที่บริหารจัดการได้สมบูรณ์ 1 ปีผ่านมา ยังไม่มีกระบวนการจัดการที่เป็นรูปธรรมได้


 


การที่มีฝนตกหนัก น้ำไหลบ่ามา เราจะสู้หรือไม่สู้ อยู่ที่เราสภาพพื้นที่ ถ้าเป็นหมู่บ้านที่อยู่ตามเชิงเขา ทางของน้ำ ก็อย่าไปสู้ ย้ายหนีทางน้ำเสีย ขึ้นที่สูง แต่เมืองใหญ่นครเศรษฐกิจอย่างเชียงใหม่ ไม่สู้แล้วจะหนีไปไหน ในความเห็นของผมก็ต้องสู้ แต่สู้อย่างไรต้องศึกษาให้ชัดว่าสภาพปัญหาเกิดจากอะไร แล้วประมวลวิธีการสู้ ให้เหมาะกับพื้นที่ และที่สำคัญคือประชาชนต้องยอมรับ อาจไม่ใช่คันดิน พนังคอนกรีต ที่เป็นวิธีทำแต่โบราณอย่างเดียว


 


อย่างที่หาดใหญ่ เขาสู้ด้วยการแบ่งน้ำคลองอู่ตะเภาลงทะเลสาบสงขลาอีกทางหนึ่ง เหมาะสมกับพื้นที่ก็ได้ผล ที่ชุมพร แบ่งน้ำจาคลองท่าตะเภาให้ลงทะเลโดยเร็วก่อนเข้าเมืองชุมพร ก็ได้ผล สำหรับเชียงใหม่ ถ้าจะแบ่งน้ำ ภูมิประเทศทำได้หรือไม่ หรือทำอย่างไรนำน้ำ 700 ลบม.ผ่านตัวเมืองโดยเร็ว เพราะตัวน้ำปิงรับได้ไม่เกิน 400 ลบม. ที่เหลือทำอย่างไร มีวิธีหลายอย่าง เช่น ผันน้ำอ้อมเมือง บริหารน้ำจากคลองแม่แตง ดูแลเหมืองธรรมชาติที่มีอยู่ เป็นต้น"


 


ยงยุทธ ติยะไพรัช


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


"หากเรามีป่ากระจายความชุ่มชื้น ฝนก็จะตกกระจาย ไม่กระจุกและเกิดน้ำท่วมอย่างที่อุตรดิตถ์ ส่วนน้ำท่วมเชียงใหม่เกิดจากปริมาณน้ำ เพราะความแปรปรวนของอากาศฝนตกไม่สม่ำเสมอ ตกมาแล้ว สภาพน้ำปิงถูกบุกรุก เกิดปัญหา ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และเทศบาลนครเชียงใหม่ก็ได้ขยายความกว้างและความลึกของแม้น้ำปิงไปแล้ว กรณีของสิ่งกีดขวางลำน้ำ เมื่อน้ำแล้วก็ต้องการกั้นน้ำเพื่อใช้ น้ำมากก็ไม่ต้องการให้กีดขวาง ระบบฝายยางจึงเกิดขึ้น การดักน้ำจากต้นน้ำแม่แตงลงน้ำแม่งัดก็ลดปริมาณน้ำไหลเข้ามาสู่เมืองได้การผันน้ำจากแม่งัดลงมาแม่กวงก็จะลดปริมาณน้ำได้อีก ที่บริเวณเชิงเขาก็เจาะร่องระบายน้ำไม่ให้เข้าเมือง ทั้งหมดนี้มีแผนงานโครงการแล้ว แต่ถามว่าทำเมื่อไหร่ โชคไม่ดีที่การเมืองไม่ต่อเนื่อง เกิดการยุบสภาการเสนอขอใช้งบประมาณจึงหยุดชะงัก"


 


นิคม พุทธา


มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธ์พืช ฯ


"ป่าทางเหนือของเชียงใหม่สูญเสียเพราะเกิดการขยายตัวของพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะสวนส้ม น้ำที่ไหลมาแอ่งเชียงใหม่ - ลำพูน มีหลายสาย ทั้งน้ำแม่ริม ลุ่มน้ำแม่แตง ไหลมาหล่อเลี้ยงเชียงใหม่ มีการผันเข้าคลองชลประทาน หากบริหารจัดการให้ดีก็คุมปริมาณน้ำได้ ส่วนน้ำแม่งัดที่ อ.พร้าว ปีที่แล้วถนนสะพานขาด คนตาย ก็เพราะพร่องน้ำไม่ทัน ที่ใต้เขื่อนแม่งัดมีเขื่อนห้วยปะจุ๋ม น้ำมากแตกทะลักลงมาที่ ต.แม่หอพระ อ.แม่แตง เกิดความเสียหายมาก ดังนั้น ถ้าเราจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน เราจะต้องเข้าใจทั้งระบบลุ่มน้ำ ต้องไม่ลืมว่า ที่อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ปีที่แล้วก็เจอท่วมหนัก ปัญหาน้ำท่วมฝนตกหนัก ไม่ใช่แค่พี่น้องในอำเภอเมืองที่เจอปัญหา ถ้าเราจะแก้ไขให้ยั่งยืน ต้องยึดหลักคือ 1. ดูทั้งระบบ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ 2. ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่เลือกปฏิบัติ เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม 3. นำองค์ความรู้ดั้งเดิมของท้องถิ่นมาผสมผสานเทคโนโลยี


 


เมื่อเรารู้ว่าน้ำเหนือมามาก ตรงไหนแคบก็ทำให้กว้าง ตรงไหนตื้นก็ทำให้ลึก โดยศึกษาการไหลของน้ำด้วย การที่ทำให้น้ำ 700 ลบม.ไหลผ่านเมืองเชียงใหม่โดยเร็วที่สุดนั้นผมไม่เห็นด้วย เพราะใต้เมืองยังมีคนสารภี คนหางดง เวียงกุมกาม ไหลจากเมืองก็ไปสร้างปัญหาให้ที่อื่น ถ้าเรารู้ว่าบ้านเราร่องมรสุมพัดผ่าน เราก็ต้องรักษาป่าธรรมชาติ ปลูกป่าชะลอน้ำ ที่ที่เป็นที่ราบน้ำท่วมถึงก็อย่าให้คนไปอยู่ กฎหมายต่างๆ ต้องควบคุมจริงจัง และพื้นฟูระบบเหมืองฝายดั้งเดิมที่มี คูคลองระบายน้ำขุดลอกกันได้มากน้อยแค่ไหน ต้องพิจารณาแนวทางอื่นๆ ด้วย


 


บุญเลิศ บูรณุปกรณ์


นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่


"แนวทางที่เทศบาลนครเชียงใหม่ทำในปีนี้ คือ ยกระดับคันดินฝั่งตะวันตกและตะวันออก ขึ้น 1 เมตร และเสริมกระสอบทรายเรียงอีก 50 ซม หากระดับน้ำไม่เกิน 4.50 เมตร และปริมาณน้ำไหล 600 ลบม.ต่อวินาที คิดว่าจะพอรับไหล นอกจากนั้นยังได้มีมาตรการเสริมคือทำเขื่อนคอนกรีตที่เคลื่อนย้ายได้ เป็นท่อนความยาว 1 เมตรที่จะนำมาเรียงกันยาว 2 กม. กันไม่ให้น้ำเข้าเมืองด้านใน คิดว่าจะช่วยบรรเทาในระดับหนึ่ง แม้จะยังกังวลอยู่เพราะต้องใช้แนวยาวราว 4-5 กม. แนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมเมือง เราจะต้องนำน้ำออกจากเมืองไปให้เร็วที่สุด


 


กรณีพนังกั้นน้ำของโยธาธิการและผังเมือง ตอนแรกมีแนวคิดเมื่อเกิดน้ำท่วมใหม่ๆ เป็นพนังคอนกรีตเหมือนภาคกลาง แต่ตอนนี้มีการปรับเปลี่ยนแบบไป ในพื้นที่เทศบาลฯ คงจะไม่ที่เป็นคอนกรีตไม่เกิน 500 เมตร ถ้ามีทั้งแนวผมก็คงไม่เอา ด้วย ที่จะมีน่าจะเป็นที่โรงไฟฟ้าบ้านเด่น ที่เป็นโค้งน้ำไม่ติดถนน เป็นจุดที่รับน้ำแรงมาก


             


ตัวแทนชาวบ้านย่านถนนมหิดล


"ผมเป็นวิศวกร เป็นที่รู้กันว่าก่อนสร้างถนนต้องหาค่าปริมาณน้ำในใน 10 ปี และออกแบบท่อให้ระบายได้ แต่เชียงใหม่ได้สร้างถนน แล้ววางท่อไป มีข้อมูลว่าท่อระบายน้ำของเทศบาลถูกปิดถมไป เพราะกรมโยธาธิการและผังเมืงวางท่อบำบัดน้ำเสียไปเจอและก็เลยปิดไป ไม่สนใจว่าน้ำจะท่วมเชียงใหม่ เรื่องนี้ผมได้เสนอไปทั้งนายกรัฐมนตรี นายกเทศมนตรีแล้วเงียบหายหมด


 


ตัวแทนชุมชนนันทาราม ประตูก้อม และนาฏศิลป์


"พวกผมเดือดร้อนมา 3 - 4ปี แล้ว น้ำท่วมเชียงใหม่ ไหลออกจากประตูก้อมไม่ได้ เพราะเทศบาลฯ นำเครื่องบำบัดน้ำเสียไปปิดกั้นไว้ แถมยังมีตะแกรงครอบไว้ด้วย เวลาฝนตกลงมาน้ำไหลจาก 5 -6 แห่ง ไปไหนไม่ได้ แก้ไขแค่นี้ก็แก้ไม่ได้ จะเจาะให้เป็นสะพานข้ามไป ให้น้ำไหลใต้สะพาน หรือจะทำร่องให้กว้างขึ้นท่านก็ไม่ทำ น้ำที่ประตูก้อมไปที่ไหนก็ไม่ได้"


 


ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง


"ปัญหารุกล้ำลำน้ำปิงเกิดขึ้นมา 15 ปีแล้ว ถึงขณะนี้แก้ไขไม่ได้ แถมยังมีรุกต่อ การจะแก้ต้องทำทั้งระบบ ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ การที่พยายามทำให้น้ำออกจากเมืองเร็วๆ แล้วคนใต้น้ำทำอย่างไร ปีที่แล้วน้ำท่วมบ้านเขาไม่มีใครทำข่าว รายงานแต่ไนท์บาซาร์ การขุดลอกน้ำปิงตะกอนทรายหายไปเหลือแต่โคลน ปีหน้าก็ต้องมาอีก เพราะเราขุดจนเกินความสามารถของลำน้ำ ควรจะให้พื้นที่ป่า ผืนดินมีความสามารถอุ้มน้ำได้เหมือนพระราชเสาวนีย์พระราชินี ส่วนระบบเหมืองฝายของบ้านเราก็อุดตันไม่ขุดลอกมานานแล้ว ทั้งๆ ที่จะมีส่วนช่วยกระจายน้ำได้มาก"


 


ตัวแทนหนองหอยซอย 4


"ปัจจุบันบ้านผมน้ำยังท่วมอยู่เลย ประเด็นอยู่ที่การก่อสร้างต่างไปปิดกั้นทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการเคหะฯ ถนนหนทาง ที่จริงการที่จะมีจะไปสร้างถนน ก็จะต้องมีคลองสาธารณะด้วย แต่นี่ไม่เห็นมี"


 


ตัวแทนชาวบ้านเวียงทอง (จุดที่ท่วมหนักที่สุดในเมืองเชียงใหม่)


"อยากให้นายกเทศมนตรีวางแผนจัดการน้ำท่วมปีนี้ให้ชัดเจน เพราะชาวบ้านกังวลกันมาก ถามตลอดว่าเทศบาลทำอะไรอยู่บ้าง"


 


พ่อหลวงสมบูรณ์ บุญชู


แก่ฝาย


"มีผู้ให้ข้อมูลผิดเรื่องฝายเป็นตัวการปิดกั้นการไหลของน้ำ ไม่ใช่เลย เวลาน้ำท่วม ท่วมหลังฝายไปมากมาย การมีฝายเพราะเป็นการยกระดับน้ำให้ชาวบ้านในพื้นที่เชียงใหม่และลำพูนได้ใช้ หากจะมีการรื้อชาวบ้านไม่ยอมแน่ ปีที่แล้วมีการสั่งการให้รื้อ เอารถไปขุดก็เป็นเรื่องกันมาครั้งหนึ่งแล้ว"


 


สมบูรณ์ ชัยวรรณ


ตัวแทนจากเชียงดาว


"กรณีมีแนวคิดจะทำฝายยางแทนฝายหินทิ้งของชาวบ้าน ผมมีภาพและข้อมูลของฝายยางที่เชียงดาวมาให้ดู ฝายนี้สร้างเสร็จปี 2543 วงเงิน 500 ล้านบาท แต่บัดนี้เป็นอนุสาวรีย์ที่ฝังไว้ที่เชียงดาว ส่งน้ำให้ชาวบ้านก็ไม่ได้ เพราะไม่มีท่อระบายน้ำใดใดทั้งสิ้น มีแต่ตัวฝายอย่างเดียว และปีที่แล้ว ที่น้ำท่วมเชียงดาว ฝายนี้ก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย เพราะไม่มีระบบอะไรเลย มีแต่อาคารบ้านพักเจ้าหน้าที่อย่างเดียวเท่านั้น"



ดร.วสันต์ จอมภักดี


รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


"สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ เป็นเพราะน้ำปิงในปัจจุบันแคบมาก โดยบางจุดมีความกว้างของลำน้ำเพียง 30 เมตรเท่านั้น ทั้งที่ในอดีตเคยมีความกว้างถึง 200 เมตร ซึ่งต้นเหตุมาจากการบุกรุกหรือมีการถมที่รุกล้ำเข้าไปในเขตลำน้ำ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบจะต้องเร่งจัดการปัญหาการบุกรุกพื้นที่ริมน้ำให้ได้โดยเร็ว เพื่อคืนพื้นที่ริมตลิ่งให้แม่น้ำปิงสามารถรองรับปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้น และผมเสนอให้มีการแก้ไขกฏหมาย เพราะเมื่อมีการระบุว่าเมื่อมีที่งอกเจ้าของมีสิทธิครอบครอง ทำให้เราเสียลำน้ำทั่วประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฏหมาย"
 
ไพรินทร์ เทียนตระกูล


ตัวแทนมัสยิดอัต-ตักวา ย่านชุมชนวัดเกต


"พนังกั้นแม่น้ำปิงคงจะช่วยป้องกันน้ำท่วมได้ไม่มากเท่าใดนัก เพราะน้ำที่ไหลเข้าท่วมในปีที่ผ่านมาทะลักเข้ามาทางท่อระบายน้ำ ไม่ใช่น้ำล้นตลิ่ง และพนังยังจะทำให้ภูมิทัศน์ของแม่น้ำปิงสูญเสียไปเพราะแท่งคอนกรีต ตัวเองเห็นว่าหากมีการขุดลอกแม่น้ำปิงอย่างถูกวิธีน่าจะเป็นทางเลือกที่ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้มากกว่า"

ลักขณา พบร่มเย็น


อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


"ในแง่ของกฎหมายแล้วหากจะมีการดำเนินโครงการก่อสร้างดังกล่าว ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องมีการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสียก่อน รวมทั้งจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและตัดสินเกี่ยวกับการดำเนินโครงการนี้ ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการดังกล่าว ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการนี้สามารถที่จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอความเป็นธรรมได้.


กิตติ สิงหาปัต


ที่ปรึกษาชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม


"ผมเองก็ไม่แน่ใจว้าถ้ามีน้ำอีกจะแก้ได้หรือไม่ ฟังจากหลายคน การรุกล้ำลำน้ำก็ยังไม่ได้แก้เพราะติดขัดเรื่องกฎหมาย การจัดการต้นน้ำ ที่ฟังดูเหมือนจะพยายามแต่ก็ไม่ชัดเจน ที่เห็นว่าได้ทำคือแนวคันกั้นของเทศบาลฯ ซึ่งอาจทุเลาระดับความเสียหายลงไปหากจะมีน้ำท่วมในปีนี้ แต่สิ่งที่น่าจะดีคือ หลายคนเมื่อมาพูดหน้าประชาชน น่าจะเป็นคำมั่นให้ได้ไปทำงานหนักขึ้นต่อไป


 


ผมว่าประชาชนยังคงไม่เชื่อมั่น เพราะปีที่แล้วโดนกันหนัก คนส่วนใหญ่เมื่อเจอมาอย่างนี้จะไม่มั่นใจ และการแก้ปัญหาของภาครัฐต้องยอมรับว่าไม่ฉับพลีนทันที ไม่มีความเด็ดจาด กระทบหลายฝ่าย ประชาชนย่อมกังวลใจอยู่ "

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net