Skip to main content
sharethis


รีเอ็นจีเนียริ่ง "ราชภัฏ" สู่ "อุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น"

เรียบเรียงจาก ปาฐกถาพิเศษ โดย ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก เสนอในการประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏกับการเคลื่อนงานนโยบายสาธารณะ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของท้องถิ่น วันที่ 31 กรกฎาคม 2549 โรงแรมโฆษะขอนแก่น


 


..................................................................


 


แม้จะไม่ได้ใกล้ชิดกันนัก แต่ด้วยความที่มอง "ราชภัฏ" ในแง่ที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาการเรียนรู้ของท้องถิ่น จึงคุ้นกับราชภัฏพอสมควร


 


สมัยก่อนที่จะเป็นมหาวิทยาลัย มีความพยายามร่วมกันผลักดันสิ่งที่เรียกว่า "อุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น" ขึ้นมา คำๆ นี้เป็นคำที่ทำให้เกิดการรวมตัวของวิทยาลัยครูสมัยนั้น แต่เมื่อเป็นมหาวิทยาลัยแล้ว เครือข่ายนี้ยังคงมีอยู่หรือไม่ ซึ่งคำว่า "อุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น" นี้ น่าจะเป็นจุดร่วมของการรวมตัวเป็นราชภัฏ ไม่ใช่เพียงแค่ในแง่ของการเป็นสถาบันการศึกษาเท่านั้น


 


ในความเป็นท้องถิ่น ท้องถิ่นของเรานั้นมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่แบ่งแยกภูมิภาค แยกจังหวัดหรือแยกอะไร ไม่ใช่ว่า พอป่าไม้ของเราถูกทำลายหมด เราก็เข้าไปตัดไม้ในพม่า ซึ่งเท่ากับทำร้ายตัวเอง ความเข้าใจนี้ ยังมีปัญหามากๆ  ซึ่งเราจะต้องมองให้กว้างออกไปในโลก


 


และเมื่อเราพูดถึงนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เอาเข้าจริงท้องถิ่นของเรายังถูกกวักมือให้ขึ้นมาร่วม เป็นการร่วมในเชิงรูปแบบ แม้แต่การปฏิรูปการศึกษาที่กำหนดว่า การจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วม แต่ความจริงไม่ได้ร่วมเลย เพียงแต่อาจมีปราชญ์ชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่นเข้ามาร่วมในห้องประชุม ก็แค่นั้น ผมอยากจะให้เราวิเคราะห์ให้ดี


 


เราต้องเข้าใจด้วยว่า นโยบายสาธารณะที่เราเห็นทุกวันนี้ เป็นเพียงผลที่เกิดจากการที่เราอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ นโยบายสาธารณะไม่ได้หมายความแต่เพียงว่าเป็นนโยบายที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของสาธารณะชนเท่านั้น แต่นโยบายสาธารณะในระบอบประชาธิปไตยนั้นจะต้องเป็นนโยบายที่ริเริ่มผลักดันมาจากฐานของประชาชนและท้องถิ่นอย่างแท้จริง ไม่มีระบอบประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่จะเป็นประชาธิปไตยที่เป็นเสรีอย่างแท้จริงถ้าปราศจากซึ่งการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น


 


สถาบันราชภัฏจะเป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่ในฐานะที่ดีที่สุดที่จะศึกษาคิดค้นความหมายของประชาธิปไตยให้เป็นวิถีชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง ในขณะที่เราพูดถึงอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เราพูดเสมอว่า ราชภัฏได้เปรียบกว่าจุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์ เพราะราชภัฏอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่มีชุมชนอะไรร้อยแปดที่จะเป็นฐานของการเรียนรู้ เพราะ ฉะนั้นราชภัฏจะต้องมองตนเองในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษา ไม่ใช่เป็นสถาบันที่จะสร้างนโยบายของสาธารณะโดยตรง


 


ถ้าเช่นนั้นมีคำถามว่า หลักสูตร การเรียนการสอน และการวิจัย ควรอยู่บนพื้นฐานอะไร ทั้งหมดนี้ไม่ได้บอกว่า ราชภัฏจะต้องมองเฉพาะในพื้นที่ท้องถิ่น การศึกษาในยุคนี้ไม่ว่าจะเป็นระดับไหนก็ตาม ตั้งแต่อนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา ต้องมีความเป็นสากล โลกทุกวันนี้เป็นโลกที่มันมีความใกล้ชิดกัน มี อิทธิพลซึ่งกันและกัน คือจะต้องรู้เท่าทันโลก แต่การเรียนรู้เท่าทันโลกนั้นจะต้องเรียนรู้จากตัวเองเป็นสำคัญ สังคมไทยทุกวันนี้เป็นสังคมที่ต้องพึ่งพาและสูญเสียอิสรภาพ


 


เราเคยภูมิใจนักหนาว่าเราเป็นประเทศเดียวที่เป็นเอกราช ไม่เคยเป็นเมืองขึ้น แต่ในทางความคิดรวมทั้งการกำหนดนโยบายสาธารณะ เราเป็นส่วนที่อยู่ภายใต้การเป็นอาณานิคมทางปัญญา โดยเฉพาะในยุคที่เราย่างเข้าสู่การพัฒนาสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรามีคนจากธนาคารโลก คนจากกองทุนระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญอเมริกามาวางแผนพัฒนาให้เรา การวางแผนได้สร้างความยากจนให้กับชนบท คำที่พูดว่าชนบทถูกทอดทิ้งให้อยู่ในความยากจน นั้น ในความจริงท้องถิ่นชนบท ถูกกดขี่ ขูดรีด เบียดเบียน และครอบงำ ทำให้เกิดความยากจนต่างหาก


 


แม้ในปัจจุบัน นโยบายสาธารณะก็เป็นนโยบายที่อยู่ภายใต้การบอกบทของปัญญาชนคนไทยซึ่งเข้าสู่ระบบการศึกษาที่อยู่ภายใต้ระบบอาณานิคมทางปัญญา ผู้เชี่ยวชาญของเราเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เข้ากับรัฐบาลอเมริกันได้อย่างสนิท มากกว่าที่จะเข้ากับท้องถิ่นและสังคมของตนเอง เพราะฉะนั้นสถาบันราชภัฏจึงมีบทบาทสำคัญที่จะต้องปรับกระแสกระบวนการเรียนรู้ของท้องถิ่นทั้งหมด เพราะไม่มีความเจริญก้าวหน้าที่ไหนที่เป็นไปโดยอิสระโดยไม่รู้จักตัวเอง


 


ในขณะที่สังคมไทยเราเริ่มจับกระแสการพัฒนากระแสการค้าเสรีจนกระทั่งไม่รู้จักตัวเอง ราชภัฏจะต้องมองตัวเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ของท้องถิ่น ราชภัฏต้องมีความใส่ใจในระบบการ ศึกษาและกระบวนการตั้งแต่ระดับประถม มัธยมขึ้นไป ถ้าราชภัฏไม่มีฐานส่วนนี้ ราชภัฏก็ไม่มีทางรู้ว่าหลักสูตร กระบวนการต่างๆ นั้น สอดคล้องกับความเป็นจริงไหม และไม่มีทางที่จะเป็น "อุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น" อย่างแท้จริง


 


ในขณะนี้ราชภัฏควรจะต้องมีบทบาทในการปฏิรูปการศึกษาให้มากขึ้น การปฏิรูปการศึกษาทุกวันนี้เป็นการปฏิรูปที่เละเทะที่สุด มีความลังเลระหว่างการกระจายอำนาจกับการรวมศูนย์อำนาจ ราชภัฏจะต้องเริ่มสนใจ และให้กระบวนการพัฒนาต่างๆ มาอยู่ที่ท้องถิ่น โดยมีราชภัฏเป็นผู้นำ ซึ่งจะปล่อยให้กำหนดกันที่กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้  


 


เมื่อถึงจุดนี้เราคงจะต้องเน้นว่า เราต้องสร้างให้การพัฒนานโยบายสาธารณะเป็น "กระบวนการ" ย้ำว่าเป็น "กระบวนการ" ไม่ใช่ "ตัวนโยบาย" เพราะบทบาทของสถาบันการศึกษาคือการสร้างกระบวนการเรียนรู้  เราต้องเปิดการจราจร 2 ทาง ระหว่างท้องถิ่นกับสถาบันการศึกษา ซึ่งไม่ได้หมายความว่า เชิญปราชญ์ชาวบ้านมานั่งเป็นกรรมการมหาวิทยาลัย แต่ภูมิปัญญาต่างๆ เป็นเรื่องที่น่าจะมาบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนและการวิจัย และไม่ได้หมายความว่า เราจะขังตัวเองปิดประตู ปิดหู ปิดตา หยุดพัฒนาท้องถิ่น ไม่ดูโลกภายนอก เพียงแต่เราต้องรู้จักตัวเอง


 


ทุกวันนี้เราคัดสรรไม่เป็น เราไขว่คว้าตามวิทยาการใหม่ๆ จนกระทั่งในขณะนี้แวดวงวิชาการเขาเรียกประเทศไทยว่าเป็น "ทุนนิยมเทียม" ทุกวันนี้พวกนายทุนก็ไม่ใช่ว่าเป็นอิสระอะไรนักหนา ไปดูเทคโนโลยีอะไรต่างๆ ที่เป็นทุนนิยม แต่ไม่เคยคิด ไม่เคยสรุปเทคโนโลยีของตนเอง ไม่มีตลาดของตนเอง พอเราทำอะไรไม่พอใจให้กับสหรัฐอเมริกา เขาก็จะตัดสิทธิ์จีเอสพี (GSP) หรือที่เรียกว่าข้อยกเว้นการลดหย่อนภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศไทย เมื่อปัญญาชนในแวดวงธุรกิจอยู่ในสภาพอย่างนี้แล้ว ก็หมายความว่าสังคมทั้งหมดพลันตกอยู่ภายใต้การครอบงำ


 


ขณะที่ในท้องถิ่นนั้นมีสินทรัพย์ทางปัญญาที่เราต้องรักษา ฉะนั้นถ้าปล่อยให้ชาวบ้านว่ากันไปโดยลำพัง ไม่มีสถาบันการศึกษามารองรับเลย ของของเราก็ถูกเขานำไปทำโน่น ทำนี่ เขาเอาไปจดทะเบียนหมดกลายเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเขา ที่บอกว่าชนบทถูกทอดทิ้ง ความจริงไม่ใช่ ในขณะนี้ชนบทกำลังถูกเขาเข้ามาล้วงภูมิปัญญาชาวบ้าน เราจึงต้องมารื้อฟื้นต้นทุนของเรา คือสิ่งที่เรียกว่าสินทรัพย์ทางปัญญาของเรา ตรงนี้เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่มากของสถาบันการศึกษา


 


คำถามคือ ทำอย่างไรที่จะนำสินทรัพย์เหล่านี้มาสู่กระบวนการเรียนการสอน การวิจัย แล้วก็สร้างฐานชุมชน สร้างฐานสังคม ให้มีบทบาทในการริเริ่มนโยบายสาธารณะจากฐานข้างล่าง ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่าก็ท้าทายสติปัญญาของราชภัฏที่ต้องใคร่ครวญ วางแผน ขอเสนอให้ราชภัฎจัดระบบตนเอง ราชภัฏ 40 แห่ง มาพิจารณาเป้าหมายร่วมกัน แล้วก็แยกย้ายไปดำเนินงาน แต่ต้องเป็นเครือข่ายที่มีความใกล้ชิดแน่นแฟ้น ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ เราก็จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่จะเป็นส่วนในการสร้างนโยบายสาธารณะที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของเรา


 


เราอย่าเพิ่งไปคิดนโยบายสาธารณะ อะไรที่มันเป็นสูตรสำเร็จ อาจจะไม่ใช่คำตอบก็ได้ แต่แน่นอนในขณะนี้มีปัญหาในบ้านเมืองมากมาย เราจะต้องมีส่วนในการคิด อย่างการปฏิรูปการเมืองในครั้งนี้ ราชภัฏจะต้องให้ความสนใจกับการกระจายอำนาจการศึกษาต่างๆ แล้วระดมสรรพกำลังที่จะกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว


 


ที่ชี้ให้เห็นว่า การศึกษาบทบาทของราชภัฏมีความสำคัญมาก ไม่ใช่เพื่อที่จะมาบอกว่าเราต้องพัฒนาไปสู่การเป็นเลิศทางวิชาการ เราเลิกทำอย่างนี้เสียที ความเป็นเลิศทางวิชาการ เป็นเลิศในบรรทัดฐานของอะไร เราไม่เคยตั้งคำถาม ทุกวันนี้เราจะได้ยินคำหนึ่งที่เราพูดกันอย่างกว้างขวางว่า เราต้องสร้างสังคมฐานความรู้ แต่สังคมฐานความรู้ เราต้องปุจฉาให้ดีด้วยว่า ความรู้ของเราคืออะไร


 


ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปการศึกษา การเรียนการสอน การวิจัย อยากจะขอใช้คำเรียกว่า "รีเอ็นจีเนียริ่ง" หรือ ยกเครื่อง แน่นอน ทั้งหมดเหล่านี้ไม่ได้เป็นของง่าย แต่เราต้องค่อยๆ คิดใคร่ครวญ วางแผนร่วมกัน ราชภัฏจะต้องมีบทบาทสำคัญในการหยิบยกประเด็นเรื่องการปฏิรูปการเมือง ในด้านการปฏิรูปการศึกษา ก่อนที่จะพูดถึงกระบวนการการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม


 


เป็นธุระของราชภัฏที่จะต้องคิดวางแผนพัฒนา ไม่ใช่เพียงเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการของราชภัฏ แต่ความเป็นเลิศของราชภัฏ ต้องมีความหมายที่กว้างและไกลไปถึงอนาคตของประเทศชาติโดยส่วนรวมด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net