Skip to main content
sharethis

อานุภาพ นุ่นสง


สำนักข่าวประชาธรรม


 


เหตุการณ์ปะทะของม็อบทั้งกลุ่มสนับสนุน และคัดค้าน พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตรเมื่อเดินทางมายัง จ.เชียงใหม่เมื่อวันที่ 13 ส.ค. จนนำไปสู่การออกใบปลิวโจมตีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองจ.เชียงใหม่จำนวน  8 คน  โดยการโจมตีว่าเป็นผู้ไม่หวังดี และขัดขวางความเจริญของ จ.เชียงใหม่   ไม่ใช่เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งแรกที่เกิดขึ้น 


 


หากยังจำกันได้นับตั้งแต่มีการก่อตัวของกลุ่มประชาชนในจ.เชียงใหม่ที่เพียงแค่อยากรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน  รวมตัวกันเพื่อดู ASTV  ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ก็ปรากฏว่ามีการก่อกวนเรื่อยมา  จนถึงการคุกคามสุนทรี  เวชานนท์  นักร้องชื่อดังที่ไปร่วมร้องเพลงในเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ   จนเหตุการณ์ที่ล้มเวทีพรรคประชาธิปัตย์เมื่อคราวที่เดินทางมาปราศรัย จ.เชียงใหม่ 


 


สะท้อนให้เห็นว่า เมืองนี้แทบไม่เหลือพื้นที่ของคนที่มีความเห็นแตกต่างกันแม้แต่น้อยแล้ว   หากลองย้อนมองบทบาทของกลุ่มผู้ไม่หวังดี จ.เชียงใหม่ตามที่ใบปลิวกล่าวโจมตีก็ล้วนแต่มีบทบาทสำคัญที่ทำงานอยู่เคียงข้างภาคประชาชน   คอยติดตามตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของอภิมหาโปรเจ็คที่กระหน่ำเมืองเชียงใหม่ในเวลานี้


 


กลุ่มแกนนำเครือข่ายพันธมิตรฯ 8 คนที่ถูกโจมตีประกอบด้วย   1.สุริยันต์ ทองหนูเอียด  2.อุทัยวรรณ กาญจนกามล  3.ชัยพันธ์ ประภาสะวัตร  4.นิคม พุทธา  5.สุนทรี เวชานนท์  6.บัณรส บัวคลี่  7.สืบสวัสดิ์ สนิทวงศ์  และ 8.เฉลิมพล แซมเพชร


 


เนื้อหาใบปลิวระบุว่า กลุ่มคนเหล่านั้นเป็นผู้ไม่หวังดีและเป็นภัยต่อชาวเชียงใหม่ ถึงเวลาแล้วที่พวกเราปล่อยปละละเลยให้กลุ่มคนที่ไม่หวังดีต่อคนเชียงใหม่พากันขัดขวางนโยบายและการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ โดยแอบอ้างว่าเป็นคนเชียงใหม่


 


ใบปลิวระบุต่อว่า คนเหล่านี้มันบังอาจออกแถลงการณ์โจมตีนโยบายที่ช่วยเหลือพี่น้องคนจน จะยกเลิกนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เลิกกองทุนหมู่บ้าน คว่ำบาตรนโยบายประชานิยม ต่อต้านเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ซึ่งนำความเจริญมาสู่เชียงใหม่ทั้งสิ้น ดังนั้นขอให้พวกเราร่วมกันต่อต้านการกระทำของผู้ที่ไม่หวังดีต่อเมืองเชียงใหม่โดยการ 1.ไม่พูดด้วย 2.ไม่ต้อนรับ 3.ไม่คบค้า 4.ไม่ค้าขาย


 


สำหรับใบปลิวดังกล่าว ระบุที่มาว่าจากกลุ่มลูกหลานเมืองเชียงใหม่ มีการแจกจ่ายทั่วเขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่ และเขตพื้นที่รอบนอกเป็นจำนวนมาก โดยแผ่นใบปลิวนั้นมีขนาดใหญ่ 2 เท่าของกระดาษ เอ 4 พิมพ์ด้วยสีอย่างดี


 


ที่สำคัญ ในตอนท้ายของใบปลิวยังระบุรูปภาพของแกนนำเครือข่ายพันธมิตรฯทั้ง 8 คนด้วย


 


ทั้ง 8 คนเป็นใคร ? มาจากไหน ? สำคัญมากแค่ไหน ? เหตุใดกลุ่มที่สนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณจึงจงเกลียดจงชังจนถึงขั้นออกใบปลิวขับไล่ทั้งยังระบุชื่อ ภูมิลำเนา พร้อมรูปภาพให้ชาวเชียงใหม่ร่วมขับไล่   


 


สุริยันต์ ทองหนูเอียด อายุ 38 ปี มีภูมิลำเนา จ.พัทลุง จบการศึกษาจาก ม.รามคำแหง ขณะเป็นนักศึกษานับว่าเป็นนักกิจกรรมตัวยง เคยเป็นเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เมื่อปี 2538 หลังจบการศึกษาในปี 2540 เข้าร่วมงานกับกลุ่มเพื่อนประชาชน (Friend of People) และถือเป็นตัวจักรสำคัญที่ร่วมรณรงค์ผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในปี 2540   หลังจากนั้นยังคอยติดตามตรวจสอบนโยบายรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง


 


ปี 2544 ย้ายมาทำงานที่ จ.เชียงใหม่ ในตำแหน่งกองเลขาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเกษตรกรทั้งปัญหาป่าไม้ ที่ดิน   น้ำ ราคาพืชผลทางการเกษตร ปัญหาหนี้สินเกษตรกร  ปัญหาชนเผ่าอันเนื่องมาจากนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาลที่ผิดพลาด


 


และยังเป็นแกนนำคนสำคัญของเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองภาคเหนือ ซึ่งที่ผ่านมาได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้พ.ต.ท.ทักษิณลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเนื่องจากขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศจากกรณีการขายหุ้นชินคอร์ป 73,000 ล้านบาทโดยไม่เสียภาษี


 


ชัยพันธ์ ประภาสะวัต อายุ 56 ปี ภูมิลำเนา จ.ปทุมธานี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ช่วงเป็นนักศึกษาในยุค 14 ตุลา 16 ได้ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองบนถนนราชดำเนิน ทั้งเคยเป็นกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมัชชาคนจน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสมัชชาคนจนไปด้วย  


 


ชัยพันธ์ย้ายตั้งหลักปักฐานที่ จ.เชียงใหม่เมื่อ 20 ปีที่แล้วในฐานะศิลปิน มีผลงานด้านประติมากรรมปั้นพระพุทธรูปให้กับวัดหลายๆวัดใน จ.เชียงใหม่ เช่น วัดดอยคำ วัดดอยสะเก็ด วัดท่าตอน วัดเจดีย์หลวง ฯลฯ และเริ่มต่อสู่ร่วมกับคนเชียงใหม่ในปี 2538 เมื่อครั้งรัฐบาลมีนโยบายสร้างเตาเผาขยะของเทศบาลเมืองเชียงใหม่ ณ ต.บ้านปง อ.หางดง ครั้งนั้นชุมชน ต.บ้านปงไม่เห็นด้วยกับโครงการจึงออกมาคัดค้าน เขาในฐานะคลุกคลีกับชุมชนแถบนั้นตั้งแต่สมัยมาปั้นพระพุทธรูปให้กับวัดดอยคำจึงเข้าร่วมกับเคลื่อนไหวคัดค้านครั้งนั้นด้วย จนในที่สุดโครงการดังกล่าวจึงถูกยุติลง


 


ปี 2546 ชัยพันธ์ได้รับรางวัลงานวิจัยยอดเยี่ยมจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากงานวิจัยเรื่องลุ่มน้ำแม่ตาช้างซึ่งเป็นลำน้ำสายหลักของชุมชน ต.บ้านปง ต.หนองควาย อ.หางดง ซึ่งจากเดิมชุมชนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำเกิดความขัดแย้งอย่างหนักจากการแย่งกันใช้น้ำ งานวิจัยดังกล่าวสามารถนำมาซึ่งรูปแบบการใช้น้ำแบบบูรณาการจนแก้ปัญหาความขัดแย้งไปได้


 


นอกจากนี้ ชัยพันธ์ถือเป็นแกนนำคนสำคัญในการคัดค้านโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ที่มีการใช้พื้นที่ป่าในกิจการเชิงพาณิชย์ จนกระทั่งถูกทำร้ายร่างกายจากคณะผู้ติดตามดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้รับผิดชอบโครงการฯเมื่อครั้งไปออกรายการถึงลูกถึงคนเมื่อต้นปี 2549 ที่ผ่านมา


 


ปัจจุบัน ชัยพันธ์เข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคีคนฮักเชียงใหม่ ที่ติดตาม ตรวจสอบนโยบายการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ของรัฐบาล และยังเป็นสมาชิกเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองภาคเหนือที่ติดตามตรวจสอบนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาลรวมทั้งเรียกร้องให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งด้วย


 


นิคม พุทธา ภูมิลำเนาเป็นชาว จ.เชียงใหม่โดยกำเนิด จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง คลุกคลีกับการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เคยเป็นลูกจ้างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนผันตัวเองมาร่วมงานกับมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย ขณะที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ประสานงานมูลนิธิคุ้งครองสัตว์ป่าฯภาคเหนือ ควบคู่ไปกับการเป็นผู้อำนวยการโครงการลุ่มน้ำปิงตอนบน ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ลุ่มน้ำปิง


 


ช่วงปี 2547-2548 เขาเป็นแกนนำชาวบ้าน อ.เชียงดาวคนสำคัญในการคัดค้านโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว เพราะพื้นที่บริเวณยอดดอยหลวงมีลักษณะเป็นระบบนิเวศน์ที่เปราะบาง จึงต้องการให้พื้นที่ดังกล่าวคงความเป็นดั้งเดิมเอาไว้ให้มากที่สุด ในที่สุดโครงการดังกล่าวก็ถูกยกเลิก


 


ปัจจุบัน นิคมยังคงทำงานรณรงค์เคลื่อนไหวด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และเป็นสมาชิกภาคีคนฮักเชียงใหม่รวมทั้งเป็นสมาชิกเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองภาคเหนือ ร่วมตรวจสอบนโยบายการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ แสดงความคิดเห็นในโครงการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ที่จะสร้างปัญหาผลกระทบทั้งต่อชุมชน ระบบนิเวศน์ อัตลักษณ์และวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ เช่น คัดค้านการสร้างพนังกั้นตลิ่งริมแม่น้ำปิงเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม คัดค้านการรื้อฝายพญาคำ ฝายท่าวังตาล และฝายหนองผึ้ง รวมทั้งคัดค้านโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีและโครงการอุทยานช้าง เพราะโครงการเหล่านี้นำมาซึ่งผลกระทบต่อท้องถิ่นรวมทั้งระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันเรียกร้องให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่นทั้งในด้านสิทธิ การมีส่วนร่วมมากขึ้นด้วย


 


ทพ.อุทัยวรรณ กาญจนกามล อายุ 58 ปี ภูมิลำเนา จ.เชียงใหม่ จบการศึกษาจากคณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี 2516 เคยเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 หลังจากนั้นเข้าเป็นอาจารย์คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาเชียงใหม่ โดยในปี 2527-2530 เป็นรองคณะบดี ปี 2532-2535 เป็นรองคณะบดีบัณฑิตวิทยาลัย และเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย 5 สมัย หลังจากนั้นได้ใช้สิทธิ์เออร์ลี่รีไทน์รุ่นที่ 1 ออกมาทำงานด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่นโดยการตั้งสถาบันเสริมสร้างพลังชุมชนขึ้นมา


 


นอกจากนี้ ปัจจุบันยังเป็นเลขาธิการสภาเวียงพิงค์ ประธานแนวร่วมต่อต้านคอรัปชั่น จ.เชียงใหม่ คณะกรรมการรณรงค์ส่งเสริมอำนาจท้องถิ่น ประธานคณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิงและสิ่งแวดล้อม และเป็นนายกสมาคมพลเมืองเหนือเพื่อเสริมสร้างพลังชุมชน ขณะเดียวกันปัจจุบันเป็นเป็นผู้อำนวยการวิทยุชุมชนคลื่น FM 99 เมกะเฮิร์ทด้วย


บัณรส บัวคลี่ อายุ 39 ปี ภูมิลำเนา จ.สุราษฎร์ธานี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ในปี 2533 หลังจากนั้นเข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ระหว่างนั้นได้ย้ายไปยังส่วนภูมิภาคต่างๆทั่วภูมิภาคก่อนที่จะมาประจำและลงหลักปักฐานอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน


 


บัณรส ถือเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ติดตามและตรวจสอบนโยบายรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยอย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการพัฒนาของรัฐที่ไม่มีความเหมาะสมร่วมกับภาคีคนฮักเชียงใหม่ อาทิ โครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว การสร้างพนังกั้นริมตลิ่งแม่น้ำปิง โครงการอุทยานช้าง ขณะที่ปัจจุบันเป็นสมาชิกเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองภาคเหนือ ซึ่งเมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมาเขาเป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายพันธมิตรฯที่ไปร่วมตรวจสอบการเดินทางมาตรวจราชการของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่หน้าท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41 ด้วยการใส่เสื้อระบุข้อความ"ขับไล่ทรราช"จนเกือบเกิดการปะทะกับกลุ่มที่มาสนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณด้วย


 


สืบสวัสดิ์ สนิทวงศ์ อายุ 65 ปี ภูมิลำเนาเป็นชาวกรุงเทพฯ จบการศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ปริญญาตรีรัฐศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2505 หลังจบการศึกษาเข้ารับราชการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเวลา 2 ปีก่อนจะผันตัวเองไปเป็นพนักงานในบริษัทเอกชน


 


ด้วยความที่พ่อเป็นคนเชียงใหม่ ทำให้หลังเกษียณในปี 2542 สืบสวัสดิ์มุ่งหน้ามาตั้งรกรากที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ตามความตั้งใจ และช่วงปี 2546 หลังจากมาตั้งรกรากใน อ.สารภีได้ไม่นาน ราชการมีนโยบายที่จะรื้อฝายพญาคำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ กรณีดังกล่าวชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมต่างพากันคัดค้านเพราะฝายพญาคำถือเป็นภูมิปัญญาของชุมชนในการจัดการแม่น้ำปิงมาใช้ในการเกษตรเป็นเวลานานนับร้อยปี


 


เมื่อชุมชนดั้งเดิมลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้าน สืบสวัสดิ์ไม่อาจนิ่งดูดายได้ เขาจึงเข้าร่วมกับชาวบ้านในการเคลื่อนไหวคัดค้านนั้นด้วย เพราะเชื่อว่าฝายพญาคำไม่ใช่สาเหตุของปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ แต่ปัญหาที่แท้จริงคือการบุกริมริมตลิ่งแม่น้ำปิงต่างหาก


 


การเคลื่อนไหวครั้งนั้นทำให้เขาได้รู้จักผู้คนจำนวนมาก และได้รับรู้ว่านอกจากการคัดค้านฝายพญาคำแล้ว ยังมีชาวเชียงใหม่อีกจำนวนมากที่ออกมาคัดค้านนโยบายของรัฐบาล เช่น กลุ่มที่คัดค้านการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว กลุ่มคัดค้านเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นต้น ต่อมากลุ่มต่างๆเหล่านี้จึงได้รวมตัวกันติดตามตรวจสอบนโยบายรัฐบาลต่อการพัฒนาเมืองเชียงใหม่โดยใช้ชื่อ"ภาคีคนฮักเชียงใหม่" สืบสวัสดิ์ก็เป็นสมาชิกหนึ่งในนั้น


 


จากนั้นเป็นต้นมาเขาเข้าร่วมกิจกรรมการเคลื่อนไหวเพื่อตรวจสอบ แสดงความคิดเห็นต่อนโยบายการพัฒนาของภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง


 


ศ.เฉลิมพล แซมเพชร เป็นชาวกรุงเทพฯ ปัจจุบันเป็นอาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว ศ.เฉลิมพลยังเป็นสมาชิกภาคีคนฮักเชียงใหม่ที่ปลีกเวลาการสอนมาร่วมติดตาม ตรวจสอบ รวมทั้งคัดค้านโครงการพัฒนาของภาครัฐที่จะเป็นตัวทำลายวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเอกลักษณ์ของความเป็นเมืองเชียงใหม่ เช่น โครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี โครงการสร้างพนังกั้นริมตลิ่งแม่น้ำปิง โครงการอุทยานช้าง เป็นต้น


 


สุนทรี เวชานนท์ คนนี้ไม่ต้องบอกกล่าวอะไรมากเพราะเป็นที่รับรู้ของสาธารณะอยู่แล้ว สุนทรีเป็นศิลปินนักร้องชาวเชียงใหม่ ที่มีสำนึกในความเป็นชาวล้านนาเชียงใหม่อยู่เต็มเปี่ยม เคยร่วมคัดค้านโครงการพัฒนาเมืองเชียงใหม่หลายโครงการที่จะเป็นตัวทำลายอัตลักษณ์ ความเป็นตัวตนของชาวล้านนา วัฒนธรรม รวมทั้งวิถีชุมชนของเมืองเชียงใหม่


 


ช่วงเดือนก.พ.2549 ที่ผ่านมา เครือข่ายพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการเมืองภาคเหนือชุมนุมที่สนามวอลเล่ย์บอล ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้กระแส "Taksin Getout" สุนทรีย์เข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง และยังได้ขึ้นเวทีกล่าวแสดงความคิดเห็นให้พ.ต.ท.ทักษิณลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศอันเนื่องมาจากกรณีการขายหุ้น 73,000 ล้านบาทให้กลุ่มเทมาเส็กโดยไม่เสียภาษี ซึ่งครั้งนั้นสุนทรีได้กล่าวพาดพิงถึงนักการเมืองท้องถิ่นเชียงใหม่รายหนึ่งด้วย ผลที่เกิดขึ้นคือเช้าวันรุ่งขึ้นได้เกิดเหตุลอบวางระเบิดที่ร้านอาหาร"เฮือนสุนทรี" ซึ่งเป็นร้านอาหารของสุนทรีนั่นเอง


 


หากดูประวัติของกลุ่มไม่หวังดีต่อ จ.เชียงใหม่ตามที่ใบปลิวกล่าวโจมตี  ก็จะพบเขาเหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญที่กล้าตั้งคำถามต่อทิศทางการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ในเมืองที่อยู่ภายใต้เงาของทักษิณ   การทวนกระแสดังกล่าวจึงไม่แปลกที่จะถูกโจมตีอย่างหนักจนถึงขับไล่ออกนอกเมือง   ไม่ต่างจากเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา   เมื่อมีกลุ่มผู้หวังดีต่อบ้านเมืองพยายามจะลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อให้บ้านเมืองพัฒนาไปถูกทิศทาง  เกิดความเป็นธรรมต่อสังคม  ก็จะต้องถูกคุกคามอยู่เช่นนี้  หนักที่สุดก็ถึงขั้นปลิดชีวิตก็เคยมีมาแล้ว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net