Skip to main content
sharethis




 


ถือเป็นความล้มเหลวไม่รู้จบในโครงการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ล่าสุดบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งรับผิดชอบจัดหากล้าพันธุ์ยางไม่สามารถส่งมอบกล้ายางให้เกษตรกรได้ครบตามกำหนดจำนวน 45 ล้านต้นได้ตามที่ระบุในสัญญาคือภายในวันที่ 31 ส.ค. 2549 ที่ผ่านมา ขณะที่เกษตรกรจำนวนมากที่เข้าร่วมโครงการต่างเดือดร้อนกันทั่วหน้า เพราะลงทุนเตรียมพื้นที่ ขุดหลุมรอพันธ์กล้ายาง แต่สุดท้ายไม่มีพันธุ์กล้ายางลงหลุมสักต้น...


 


โครงการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ถูกริเริ่มขึ้นในปี 2546 โดยนายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ขณะนั้น) ที่อ้างว่าต้องการเพิ่มศักยภาพพื้นที่ปลูกยางพาราทั่วทุกภาคของประเทศเพื่อต้องการยกระดับรายได้ให้เกษตรกร


 


ต่อมาวันที่ 26 พ.ค. 2546 นายเนวินได้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีให้มีการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 ก.พ.2542 ที่ระบุถึงจำกัดการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราของประเทศไม่เกิน 12 ล้านไร่ หากจะปลูกใหม่ให้ปลูกทดแทนเฉพาะในพื้นที่เดิมและไม่ควรปลูกใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเปลี่ยนใหม่ให้สามารถขยายพื้นที่ปลูกยางพาราได้ทุกภาคของประเทศในพื้นที่ที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดว่าเป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับปลูกยางพารา


 


และแล้วมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พ.ค.2546 ก็เห็นชอบและอนุมัติให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินโครงการปลูกยางพาราเพื่อยกระดับรายได้และความมั่นคงให้แก่เกษตรกรในแหล่งปลูกยางพาราใหม่ ระยะที่ 1 (2547-2549) กำหนดพื้นที่ดำเนินการเบื้องต้น 1 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แสนไร่ และภาคเหนือ 3 แสนไร่ ใช้งบประมาณดำเนินการจากกองทุนโครงการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ปลอดดอกเบี้ยทั้งสิ้น 1,440 ล้านบาท


 


ภายหลังโครงการดังกล่าวปรากฏออกสู่สาธารณะพบว่า มีเกษตรกรจำนวนมากแห่เข้าร่วมโครงการเพราะช่วงนั้นยางพาราราคาสูงเกิน 30 บาทต่อกิโลกรัม แต่อย่างไรก็ตามกรณีนี้กรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ทำหน้าที่ในการคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการซึ่งมีทั้งหมดจำนวน 142,300 ราย แบ่งเป็นเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด และภาคเหนือ 17 จังหวัด


 


ขณะที่กระบวนการจัดหากล้าพันธุ์ยางนั้น หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติ 26 พ.ค.2546 ได้ไม่ถึงเดือน กรมวิชาการเกษตรได้ออกประกาศการประกวดราคาให้บริษัทเอกชนยื่นประมูล ซึ่งปรากฏว่าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ชนะการประมูล ซึ่งต่อมากรมวิชาการเกษตรได้ทำสัญญากับซีพีให้ดำเนินการผลิตต้นกล้าพันธุ์ยางพาราซึ่งต้องใช้ทั้งสิ้น 90 ล้านต้น ในวงเงิน 1,397 ล้านบาท เพื่อส่งมอบให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปลูกภายในระยะเวลา 3 ปี (2547-2549) โดยตามสัญญาว่าจ้างระบุว่าในปีแรกซีพีต้องส่งมอบกล้าพันธุ์ยางให้ได้ 20% (18 ล้านต้น) ปี 2548 จำนวน 30% (27 ล้านต้น) และปี 2549 ซีพีต้องส่งมอบให้ได้ 50% (45 ล้านต้น)


 


อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการดำเนินการของซีพีในการส่งมอบพันธุ์กล้ายางให้เกษตรกรตามสัญญานั้นพบว่าเต็มไปด้วยปัญหา ไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาที่ระบุไว้ได้ อย่างในปี 2547 ซีพีส่งมอบกล้ายางให้เกษตรกรช้ากว่ากำหนด ทำให้กล้ายางที่เกษตรกรนำไปปลูกตายเป็นจำนวนมากเพราะเป็นช่วงฤดูแล้ง


 


หรือกรณีล่าสุด สัญญาที่ระบุว่าซีพีต้องมอบกล้ายางให้เกษตรกรที่เหลือจำนวน 45 ล้านต้นให้หมดภายในวันที่ 31 ส.ค.2549 แต่ปรากฏว่าซีพีไม่สามารถส่งกล้ายางได้ครบตามจำนวนที่กำหนด เพราะสามารถจัดหาได้เพียง 28 ล้านต้นเท่านั้น ยังเหลือกล้ายางค้างส่งอยู่อีก 17 ล้านต้น


 


ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ช่วงเริ่มโครงการใหม่ได้รับการทักท้วงจากหลายฝ่าย ที่วิตกว่ากล้ายางกว่า 90 ล้านต้นนั้นนับว่าเป็นปริมาณมหาศาล ไม่สามารถจัดหาด้วยลำพังแค่บริษัทใดบริษัทหนึ่งเพียงแห่งเดียวได้ ขณะที่ซีพีเองนั้นก็ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการจัดการกล้ายางพารามาก่อน แต่น่าเสียดายว่าข้อท้วงติงเหล่านั้นไม่มีผู้รับผิดชอบคนใดรับไปพิจารณา และในที่สุดปัญหาก็เกิดขึ้นตามข้อท้วงติงเหล่านั้นจริงๆ อีกทั้งเป็นที่น่าสังเกตว่าซีพีซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่มีความรู้ความสามารถด้านการเพาะกล้ายางพาราสามารถคว้าโครงการขนาดมหึมากว่า 1,400 ล้านบาทนี้มาดำเนินการได้อย่างไร


 


อย่างไรก็ตาม ปัญหาจากการไม่สามารถจัดส่งกล้ายางได้ตามกำหนดโดยเฉพาะในปี 2549 นั้นสร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างมาก เกษตรกรหลายรายได้ลงทุนไถปรับพื้นที่ รวมทั้งการจ้างขุดหลุมรอลงกล้ายางไปแล้ว


 


นายพิทักษ์ถิ่น กองสุข ผู้ใหญ่บ้านถุงกระเทียม หมู่ 11 ต.ภูซาง กิ่งอ.ภูซาง จ.พะเยา กล่าวว่า ในเขต กิ่งอ.ภูซาง มีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่ได้รับกล้ายางตามกำหนดทั้งหมด 7 หมู่บ้าน คือ หมู่ 2 บ้านนาหนุน, หมู่ 4 บ้านห้วยส้าน, หมู่ 6 บ้านถุงติ้ว, หมู่ 7 บ้านผาลาด, หมู่ 8 บ้านหนองเล้า, หมู่ 9 บ้านธาตุภูซาง และหมู่11 บ้านถุงกระเทียม


 


กรณีที่ซีพีไม่สามารถจัดหากล้ายางให้เกษตรกรได้ทันตามกำหนดนั้นสร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเกษตรกรที่ลงทุนขุดหลุมไปแล้ว โดยเฉลี่ย 90 หลุมต่อไร่ ราคาจ้างขุดหลุมละ 5 บาท ตกไร่ละ 450 บาท  ขณะที่เกษตรกรที่นี่ส่วนใหญ่เตรียมพื้นที่ปลูกกันคนละประมาณ 10-20 ไร่


 


"ผลกระทบเกิดขึ้นแน่นอน และหากกล้ายางไม่มาภายในเดือน ก.ย.นี้   โอกาสที่ต้นกล้ายางรอดน้อยมาก เพราะเป็นช่วงเริ่มเข้าสู่หน้าหนาวอากาศแล้ง ทำให้การลงทุนของเกษตรกรไม่เป็นไปตามเป้าที่คาดหวัง และไม่คุ้มกับการลงทุน" นายพิทักษ์ถิ่น กล่าว


 


ขณะที่นายจักรพงษ์ ธนะวรพงษ์ กลุ่มศึกษาปัญหายางพาราภาคอีสาน กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นตนเห็นว่าซีพีควรวางมือจากเรื่องกล้ายางไปเลย แล้วหาหน่วยงานอื่นที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมารับผิดชอบแทน เพราะบทเรียนตั้งแต่ปี 2547 ก็เห็นแล้วว่าซีพีไม่สามารถทำได้ตามสัญญาเพราะไม่มีความรู้และความชำนาญในเรื่องยางพารา


 


"เป็นเรื่องยากที่ซีพีบริษัทเดียวจะเพาะกล้ายางได้ในจำนวนมากตามสัญญา เพราะอย่างภาคใต้เองที่เขามีความเชี่ยวชาญเขาก็ไม่ได้เพาะต้นกล้ายางในจำนวนมหาศาลขนาดนั้นได้โดยหน่วยงานเดียว ส่วนใหญ่ก็เพาะไว้สำหรับเกษตรกรในพื้นที่และใกล้เคียงเท่านั้น การเพาะกล้ายางจำนวนมากโดยหน่วยงานเดียวผมเองก็ยังไม่เคยเห็น จึงเสนอว่าควรจะให้เปลี่ยนมาใช้ระบบการเพาะแบบรายย่อยกระจายกันไปในแต่ละพื้นที่แทน ใครที่พร้อมจะเข้าโครงการก็เสนอเข้ามาตามกำลังที่สามารถจะเพาะได้อย่างนี้จะดีกว่า" นายจักรพงษ์ กล่าว


 


ส่วนมาตรการเอาผิดกับซีพีในกรณีที่ส่งกล้ายางไม่ครบทันตามสัญญานั้น นายจักรพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนยังไม่ชัดเจนว่ารายละเอียดของสัญญาระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับซีพีนั้นมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง แต่ที่แน่ๆ เป็นสัญญาระหว่างรัฐบาลกับซีพีโดยตรง เกษตรกรจึงไม่สามารถเอาผิดกับซีพีได้ เพราะซีพีไม่ได้ทำสัญญาโดยตรงกับเกษตรกร ดังนั้นรัฐบาลต้องรับผิดชอบเกษตรกรในกรณีที่เขาลงทุนเตรียมหลุมไว้แล้วแต่ไม่มีกล้ายางไปให้


 


นายสถิตพันธ์ ธรรมสถิตย์ ผอ.สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง(สกย.) จ.หนองคาย เปิดเผยว่า ขณะนี้ซีพีได้ค้างส่งมอบกล้ายางเฉพาะใน จ.หนองคาย ประมาณ 2 ล้านต้น หรือคิดเป็น 24% ของกล้ายางที่ค้างจ่าย ซึ่งจากปริมาณกล้ายางที่มากและรับผิดชอบโดยบริษัทเดียวจนเกิดปัญหาความล่าช้าส่งมอบให้เกษตรกรไม่ทัน ซึ่งโดยส่วนตัวตนเห็นว่ากรมวิชาการเกษตรน่าจะให้ สกย.แต่ละจังหวัดผลิตกล้ายางเอง ซึ่งเชื่อมั่นว่า สกย.ก็มีศักยภาพในการผลิตกล้ายางให้เกษตรกรได้ไม่แพ้ภาคเอกชน


 


"ที่ผ่านมา สกย.มีหน้าที่แค่รับหนังสือจากกรมวิชาการเกษตรว่าจะมีการส่งมอบกล้ายางให้เกษตรกร เราทำหน้าที่เป็นเพียงสักขีพยานในการส่งมอบเท่านั้น ดังนั้นหากเป็นไปได้อยากจะให้ สกย.เป็นผู้รับผิดชอบในการผลิตกล้ายางให้เกษตร ซึ่งเรื่องนี้จะมีการนำเสนอกับกรมวิชาการเกษตรต่อไป" ผอ.สกย.หนองคาย กล่าว


 


นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลกับซีพีที่ไม่สามารถทำตามข้อตกลงในสัญญาได้ ดังนั้นต้องมีการจ่ายค่าชดเชยตามต้นทุนที่เกษตรกรได้ลงทุนไปจริง โดยซีพีต้องเป็นคนจ่าย แต่เบื้องต้นอาจจะต้องให้สกย.หรือรัฐบาลจ่ายไปก่อนแล้วค่อยไปเก็บกับซีพีอีกที


 


นอกจากนี้ นักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี กล่าวต่อว่า นี่ยังไม่นับรวมกรณีพันธุ์กล้ายางที่ซีพีได้ส่งมอบให้เกษตรกรไปแล้วว่ามีคุณภาพหรือไม่ ซึ่งรัฐต้องตรวจสอบคุณภาพกล้ายางที่เกษตรกรปลูกไปแล้วเพื่อเป็นข้อมูลว่าจะยกเลิกสัญญาดังกล่าวหรือไม่ เพราะในฤดูกาลถัดไป ซีพีต้องเร่งผลิตให้ทันตามความต้องการของเกษตรกรซึ่งอาจมีปัญหาด้านคุณภาพกล้ายางตามมาได้


 


"การแก้ปัญหานี้ถือเป็นบทพิสูจน์การทำงานของรัฐบาลได้เป็นอย่างดีว่ารัฐบาลจะทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรหรือจะปกป้องนายทุน เพราะเกษตรกรที่ปลูกยางในภาคอีสานยังไม่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของตนเอง ที่สำคัญคือเกษตรกรที่นี่อยากปลูกยางกันมาก จึงเป็นบรรทัดฐานให้รัฐบาลคิดว่าจะทำอะไรกับเกษตรกรก็ได้ ดังนั้นหากรัฐบาลไม่ปกป้องเกษตรกรก็เป็นเรื่องน่าเป็นห่วง" นักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี กล่าวทิ้งท้าย


 


อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าโครงการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราให้ได้ 1 ล้านไร่ ภายใต้การบริหารจัดการกล้ายางของซีพีนั้นล้วนประสบความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ขณะที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเองนั้น ปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าทั้งกรมวิชาการเกษตรรวมทั้งซีพีเองว่าจะจัดการแก้ปัญหาอย่างไร ดังนั้นถึงตอนนี้คงถือเป็นบทพิสูจน์สำคัญว่าปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐว่าจะจัดการหรือมีทางออกอย่างไรให้เกษตรกร และจะจัดการอย่างไรกับซีพีที่ไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาได้ ซึ่งประชาชนต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net