Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 


ความพยายามที่จะเป็น somebody มากกว่าการเป็น nobody คือพื้นฐานจิตใจของมนุษย์ส่วนใหญ่...


 


แต่ใช่ว่าการเป็น "ใครสักคน" จะทำได้ง่ายๆ ในยุคที่อะไรๆ ก็ตกอยู่ภายใต้การแข่งขันและการสร้าง "จุดขาย" ภายนอกให้โดดเด่น


 


กระนั้น ผู้คนมากมายยังคงวุ่นวายอยู่กับความพยายามที่จะแตกต่างและความพยายามที่จะเป็นใครสักคน อยู่ร่ำไป โดยเฉพาะคนในวัยหนุ่มสาวที่ต้องการความยอมรับจากสังคมรอบข้างเป็นพิเศษ


 


การแข่งขันประกวดประชัน รวมถึงการหาที่ทางเพื่อแสดงออกซึ่งความแตกต่าง กลายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพราะชื่อเสียงโด่งดังและรูปลักษณ์ภายนอกที่เหนือกว่าใคร เป็นความใฝ่ฝันอันดับต้นๆ ที่คนรุ่นใหม่จากทุกหนทุกแห่งในโลกปัจจุบันต้องการจะไปให้ถึง


 


แม่แบบที่ใครต่อใครมีไว้ในใจจึงหนีไม่พ้นคนดัง Celebrity ที่ออกงานสังคมถี่จนจำหน้าได้ ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นนักธุรกิจ นักกีฬา หรือ "นัก" อะไรอีกต่างๆ นานาที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงานจนร่ำรวยมีชื่อเสียงล้นฟ้า รวมไปถึงซูเปอร์สตาร์ในสาขาอาชีพนักแสดง นักดนตรี และซูเปอร์โมเดล ที่ต้องโฆษณาประชาสัมพันธ์ตัวเองด้วยการตกเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ เพื่อไม่ให้คนลืม


 


ถึงแม้การตัดสินว่า "แม่แบบ" หรือ Icon ของคนรุ่นใหม่ที่จำกัดวงไว้แค่คนไม่กี่กลุ่มที่ว่ามาคือสิ่งที่น่าเป็นห่วง และดูจะเป็นการมองโลกในแง่ร้ายไปสักหน่อย แต่มันคงจะดีกว่า ถ้าหากคนหลากหลายสาขาอาชีพ เชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ แต่เป็นผู้ที่ลงแรงทำอะไรบางอย่างเพื่อคนอื่น จะได้กลายมาเป็นแบบอย่างของคนหมู่มาก หลังจากที่เผ่าพันธุ์ดารา Pop Stars และมหาเศรษฐี Millionaires ยึดครองพื้นที่ส่วนนี้ไว้นานแล้ว


 


ด้วยแนวคิดเช่นนี้เอง โครงการ Peace Jam ซึ่งเบื่อและเอียนกับสูตรสำเร็จของการตามอย่างคนดัง (ที่มีอยู่แค่ไม่กี่แบบ) จึงพยายามปรับเปลี่ยนวิธีคิดและค่านิยมสุดโต่งแบบเดิมๆ ด้วยการเริ่มต้นหาเครือข่ายเป็นวัยรุ่นและเยาวชนจากที่ต่างๆ ให้เข้ามาคลุกคลีกับผู้คนที่น่าสนใจจากหลากหลายที่มา


 


ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการนี้คือ Ivan Suvanjief ซึ่งเป็นศิลปินคนหนึ่งในเดนเวอร์, สหรัฐอเมริกา ต้องการที่จะผลักดันให้คนรุ่นใหม่รับรู้ว่า-ศักยภาพมีอยู่ในตัวเราเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะดึงศักยภาพส่วนบุคคลออกมาใช้ได้อย่างถูกที่ถูกทางหรือเปล่าก็เท่านั้น


 


จุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็นโครงการนี้ เกิดจากการที่อีวานได้มีโอกาสพบปะกับเด็กวัยรุ่นผิวสีกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่รู้แม้กระทั่งว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นเป็นใคร แต่คนที่ถูกมองว่าเป็น "เด็กเหลือขอ" เหล่านั้นกลับรู้จัก "อาร์คบิชอปเดสมอนด์ ตูตู" นักต่อสู้เพื่อสันติภาพในแอฟริกาใต้ที่ต่อสู้กับอำนาจเผด็จการร่วมกับเนลสัน แมนเดลา และเด็กกลุ่มนั้นเห็นว่าผู้ใหญ่สองคนนี้ช่างเท่และเด็ดเดี่ยวเสียนี่กระไร


 


การพบกันกับเด็กกลุ่มนั้นทำให้อีวานมองเห็นว่า "การให้ค่า" ที่คนส่วนใหญ่มักใช้เกณฑ์ "เด่น ดัง รวย" เป็นหลักคงจะล้าสมัยเกินไปเสียแล้ว เพราะนอกจากเกณฑ์ที่ว่ามาจะทำให้ผู้คนเคยชินกับการแข่งขันชิงดีและแสวงหาโอกาสใส่ตัวแล้ว ยังเป็นค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับวัตถุจนเกินไปอีกด้วย


 


อีวานและนักกิจกรรมชื่อ Dawn Engel (ผู้กลายเป็นภรรยาของเขาในอีก 2 ปีต่อมา) จึงร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิ Peace Jam ขึ้นมา เพื่อแสดงให้คนอื่นๆ เห็นว่า ยังมีอะไรที่สร้างคุณค่าแก่ตัวบุคคลได้ดีกว่าเกณฑ์ทั้งสาม อย่างที่เคยใช้


 


การเดินชุมนุมประกาศจุดยืนครั้งสำคัญของ Peace Jam เกิดขึ้นเมื่อปี 1996 หลังจากที่อีวานและดอว์นใช้เวลาหาแนวร่วมในโครงการของตนตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา


 


ความพยายามของทั้งสองคนเห็นผลดีเกินคาด เพราะว่าผู้คนจำนวนมากในเดนเวอร์และทั่วสหรัฐอเมริกาเห็นด้วยกับแนวคิดของ Peace Jam และให้การสนับสนุนรวมถึงทุนอีกมิใช่น้อย


 


นับแต่นั้นเป็นต้นมา กิจกรรมพบปะสังสรรค์เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดภายใต้ชื่อ Peace Jam ก็เกิดขึ้น...


 



 


กิจกรรมหลักๆ ของ Peace Jam คือเปิดโอกาสให้วัยรุ่นจากที่ต่างๆ ทั่วโลกได้มีโอกาสพบปะพูดคุยและเรียนรู้วิธีคิด การดำเนินชีวิต และประสบการณ์ของบุคคลที่น่าสนใจ ซึ่งภายหลังได้มีการติดต่อกับสถาบันโนเบล เพื่อขอความร่วมมือจากผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลทั้งหลาย ให้มาเป็นวิทยากรร่วมของโครงการที่จัดขึ้นหมุนเวียนกันไปในแต่ละประเทศ


 


Peace Jam ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งครบรอบสิบปี เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมานี้ และอีวานกับดอว์นได้ฉลองวันเกิดปีที่ 10 ของโครงการที่บ้านเกิด ซึ่งก็คือเมืองเดนเวอร์ - สหรัฐอเมริกา


 


แขกรับเชิญสำคัญๆ ที่ผู้เข้าร่วมโครงการในปีนี้จะได้เข้าไปคลุกวงในก็ได้แก่ องค์ดาไลลามะ จากทิเบต ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ รวมถึง Mairead Corrigan สตรีนักต่อสู้เพื่อสันติชาวไอร์แลนด์เหนือที่ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 1976


 


แมร์เรียด คอร์ริแกน กล่าวว่าเธอเชื่อมั่นในตัวตนและความสามารถของบุคคลว่ามันจะเชื่อมโยงไปสู่สังคมในส่วนอื่นๆ ของโลก และทิ้งท้ายก่อนปิดโครงการได้อย่างน่าฟังว่า


 


"ตอนที่ยังเป็นวัยรุ่น เราทุกคนล้วนแต่ต้องการจะทำอะไรที่ทรงคุณค่าให้กับโลก แต่มันคงจะน่ากลัวทีเดียวถ้าเราต้องเริ่มต้นจากแนวคิดที่ว่า "ฉันจะต้องเปลี่ยนแปลงโลกให้ได้" การเข้าร่วมโครงการนี้ (Peace Jam) น่าจะช่วยให้หลายคนได้เข้าใจและมองเห็นว่าการเป็นคนธรรมดาๆ ก็สามารถทำอะไรบางอย่างได้..."


 


"สิ่งที่สำคัญก็คือการเริ่มต้นจากหน่วยเล็กๆ อย่างเช่น ชุมชนที่แต่ละคนอาศัยอยู่ ถ้าพรสวรรค์ของพวกเขาคือการทำสวน ก็จงเริ่มด้วยการเป็นคนสวนที่ดี หากความสามารถของพวกเขาคือการเล่นดนตรี ก็คงเป็นนักดนตรีที่ดี นี่แหละ คือการสร้างสันติภาพและสังคมที่สงบสุข"


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net