Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โดย องอาจ เดชา


 


 


 


 


"แคน ดู"


 experitainment บาร์แรกในประเทศไทย


… บาร์ยุติธรรม งานยุติธรรม…


พนักงานบริการทำเองได้เพื่อตัวเราเอง


จากชุมชนของเราเอง


 



ขอเชิญเพื่อนๆพี่ๆน้องๆมาร่วมฉลองกันในวันเปิดบาร์ของเรา


          322 เชียงใหม่แลนด์ ถ.ช้างคล้าน อ.เมือง จ. เชียงใหม่ 50000


 


โปสเตอร์ แผ่นพับ ใบปลิว ผ่านอินเตอร์เนต ออนไลน์ เชื้อเชิญด้วยถ้อยคำ ภาพวาดด้วยศิลปะ สีสันเตะตา ชวนฉงนสงสัย นั่นทำให้ผมต้องเดินทางไปสัมผัสให้รู้แจ้งแน่ชัดว่า แคนดู experitainment บาร์แรกในประเทศไทย นั้นเป็นอย่างไร และมันเชื่อมโยงส่งผลต่อนโยบายของรัฐได้อย่างไร


 


2 ทุ่มเศษผมเดินทางไปเยือนศูนย์รวมความบันเทิงยามค่ำคืนของเมืองเชียงใหม่ "ย่านเชียงใหม่แลนด์" ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลนักจากเชียงใหม่ไนท์บาซาร์ ว่ากันว่า เชียงใหม่แลนด์ แต่เดิมนั้น เป็นเพียงหมู่บ้านจัดสรรธรรมดาหมู่บ้านหนึ่ง ทว่ามาถึง พ.ศ.นี้ เชียงใหม่แลนด์ ได้กลายเป็นดินแดนของนักท่องเที่ยวราตรี และดูเหมือนว่า ที่นี่ คือโซนนิ่งของสถานบันเทิงของเชียงใหม่ไปแล้ว


 


เมื่อเราเลี้ยวรถเข้าไปภายใน จะมองเห็นแสงไฟสีแดง สีเหลืองนวลสาดส่องไปทั่วสองฟากฝั่งถนนทางเข้า ผับ บาร์ คาราโอเกะ มีมากหลายรูปแบบ หญิงสาวสวมใส่ชุดทำงานกลางคืนนั่งบนเก้าอี้อยู่เต็มลานตรงประตูทางเข้าในแต่ละร้าน บ้างกวักมือเรียกเชื้อเชิญเข้าไปข้างใน


 


แต่เรายังมุ่งหน้าต่อไป สอดส่ายมองหาร้านในเป้าหมาย ไม่นาน ก็มองเห็น "แคนดู" บาร์


ผู้คนทยอยกันเข้ามาจนแน่นขนัดเต็มร้าน ท่ามกลางเสียงเพลง เสียงหัวเราะ เสียงพูดคุยหยอกล้อกันไปมาอย่างเป็นกันเอง


 



 



 



 


เมื่อมองดูไปรอบๆ ชั้นล่างของบาร์แห่งนี้ ดูแล้วก็เหมือนกับบาร์ทั่วๆ ไป แต่เมื่อเดินเข้าไปดูข้างใน รวมถึงบริเวณชั้นบนของบาร์ จะพบว่ามีความแตกต่างกับบาร์อื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด


 


จุดเด่นที่น่าสนใจของบาร์แคนดู แห่งนี้ ก็คือ เป็นบาร์แห่งแรกของประเทศไทย ที่ตั้งขึ้นมาโดยทุกคนเป็นเจ้าของเอง เป็นผู้จัดการ เป็นพนักงานเสิร์ฟ เป็นพนักงานทำความสะอาด พนักงานบริการ บาร์เทนเดอร์ ไม่มีนายทุน ไม่มีเจ้านาย ไม่มีลูกน้อง ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันหมด


 


นอกจากนั้น บาร์แห่งนี้ ได้เน้นถึงความเป็นมาตรฐานและความปลอดภัย มีห้องน้ำสำหรับลูกค้า มีเครื่องดับเพลิง มีแสงสว่าง มีห้องแต่งตัว มีนโยบายให้ทุกคนได้ทำงาน 8 ชม. พักผ่อน 8 ชม. และมีเวลาสังสรรค์ สำหรับใฝ่หาความรู้


 


พัชนี คำแปง อาสาสมัครมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) บอกว่า ได้เข้ามาช่วยเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครของมูลนิธิโครงการเอ็มพาวเวอร์ ช่วยสอนภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ และก็การศึกษาในหลักสูตร กศน.ให้กับกลุ่มผู้หญิงบริการในบาร์แห่งนี้ด้วย


 


"รู้สึกเป็นไงบ้างกับการมีส่วนเริ่มต้นบาร์แห่งแรกของประเทศไทยเช่นนี้"


 


"รู้สึกภูมิใจ หวังว่าสักวันหนึ่ง ทุกๆที่จะเป็นแบบนี้ ก็คือ ใช้ที่นี่เป็นต้นแบบ ที่เราใฝ่ฝันว่าบาร์จะต้องเป็นของทุกคน ทุกคนมีส่วนร่วม และเป็นสถานที่ทำงานที่มีความยุติธรรมและปลอดภัย"


 


ผมขออนุญาตเดินดูภายในบาร์แคนดู พบเห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่สะดุดตาและน่าค้นหา...


 



สถานที่ทำงานชั้นบน มีตู้จดหมายที่เก็บถ้อยคำเรื่องเล่าเหตุการณ์ของพนักงานบริการในอดีต


 



จักรเย็บผ้า สัญลักษณ์ของหญิงผู้ใช้แรงงานในอดีต


 



จดหมาย รูปภาพหญิงบริการในช่วงยุคจีไอ


 



ป้ายเรียกร้องถึงสิทธิด้านแรงงาน


 


แสงไฟสาดกระจายไปทั่วทุกมุมของบาร์แคนดู เสียงเพลงยังคงเร้าเร่งชักชวนนักท่องเที่ยวยามราตรีลุกขึ้นขยับเต้นกันไปมา อย่างสนุกสนาน พนักงานเสิร์ฟ บาร์เทนเดอร์ ต่างขมีขมันกันทำงานกันอย่างขันแข็ง ทุกคนต่างมีสีหน้าเปี่ยมสุข


 


ผมเลี่ยงออกมาทางด้านหน้าบาร์ เพื่อขอร่วมสนทนากับหญิงแกร่งคนหนึ่ง...ผู้ซึ่งมีส่วนร่วมที่ทำให้บาร์แคนดูแห่งนี้เกิดขึ้นได้สำเร็จ


 


จันทวิภา อภิสุข ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์


 


 


และนี่คือถ้อยคำสนทนาระหว่างผม กับ คุณจันทวิภา อภิสุข ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์


 


ช่วยเล่าที่มาที่ไปของการเปิดบาร์แคนดู แห่งนี้?


 


ก็คือว่าการทำงานกลางคืน เป็นงานที่สังคมไม่ยอมรับ แต่ว่ามีคนอีกหลายๆแสนคนทำงานกลางคืนกันอยู่ แล้วเค้าก็อยู่ในสภาพเดียวกับคนที่ทำงานในโรงงาน เข้างานเช่นเดียวกัน แต่เข้าตอนกลางคืนไง โรงงานเข้า 9โมง ออก  5 โมง ที่นี่เข้า 6โมงเย็น ออกตี 2 แต่ที่นี่ทุกๆ สิ่ง ทุกๆ อย่าง มันก็มีหน้าที่ที่ทำประจำ มีการรับผิดชอบ เป็นบาร์เทนเดอร์ เป็นพนักงานเต้น เป็นอะไรเหมือนๆ กัน


 


ทีนี้ถ้าเปรียบเทียบตรงนั้นเนี่ย (เธอชี้ไปที่ผับบาร์ที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง) พนักงานบาร์ไม่มีหลักประกันความมั่นคงในการทำงานเลย ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้มีคนตาย ที่พัทยาเพราะแก๊สระเบิด 7คนตาย ยังไม่ได้รับชดเชยค่าเสียหาย เพราะว่าเค้าไม่มีทางออกฉุกเฉิน แล้วก็มีอีกคนหนึ่งที่ไปทำงานนอกสถานที่ แล้วก็ตายคาขวดเบียร์ เป็นพนักงานที่พัฒน์พงศ์ เค้าก็ไม่ได้รับการชดเชยค่าเสียหาย เหมือนกับคนงานในโรงงาน


 


ทีนี้ เรารู้สึกว่า ถ้าแบบนี้ พนักงานบาร์จะต้องรวมตัวกัน และก็ทำบาร์ของเขาเอง เป็นเจ้าของเอง เป็นผู้จัดการ เป็นพนักงานเสิร์ฟ เป็นพนักงานทำความสะอาด ทุกอย่าง แล้วเค้าก็จะมีประกันสังคมได้ เพราะว่าเค้าเป็นนายจ้างเอง เป็นลูกจ้างเอง แล้วเค้าก็จะเป็น 2 ส่วน  ที่จะไปแชร์ ไปมีส่วนแบ่งกับรัฐบาล อีก 1 ส่วน เพื่อที่จะทำให้ความมั่นคงของเค้าในการทำงานนนี้ดีขึ้น และที่นี่ ที่ตรงนี้เป้นตัวอย่างแห่งแรก ในประเทศไทย


 


ต่างประเทศเคยมีแบบนี้บ้างไหม?


 


ต่างประเทศก็ยังไม่มีอย่างนี้ มีแต่มีคนลงทุนให้ แล้วพนักงานก็ไปทำ แต่ว่าบาร์ของเรา เราทำเอง can do เราทำเองได้ บาร์นี้ยุติธรรม และเราทำเองได้ เราอยากจะให้เป็นแบบนั้น


 


แล้วมีการจัดการ มีการจัดสรรส่วนแบ่งกันอย่างไร?


อันนี้เป็นหุ้นส่วน หุ้นส่วนก็คือว่า เราลงหุ้น 100 % ใครลง 10 % ก็เป็นกรรมการในการที่จะเข้าประชุมมีความคิดเห็นอะไรอย่างนี้ ส่วนคนที่ลงไม่ถึง 10 % อยากจะมามีส่วนก็ได้ แต่ว่าคนที่ไม่ลงหุ้นเลย มาทำงานอิสระ มาเป็น Freelance มาเป็น sideline นั่งดริ๊งค์ เราไม่หัก เขาได้ทิป เขาก็เอาไปเลย เรารู้สึกว่าแบบนี้มันยุติธรรมกว่า


 


มีการประเมินกันไหมว่า ถ้าแคนดูบาร์ ตรงนี้ได้ผล แล้วจะขยายไปพื้นที่อื่นๆ


 


โอ๊ย... อันนี้เป็นความฝันของเรา เราไม่ต้องการรถเข็นที่จะมาบอกว่า ให้ 5,000 บาท หรือมีรถเข็น แล้วคุณไปประกอบอาชีพได้ เราไม่ต้องการ เราอยากจะประกอบอาชีพที่เราทำอยู่ แล้วเราก็รู้สึกว่าอาชีพนี้ ช่วยชีวิตคนอีกหลายคน อยู่ข้างหลังเรา ในครอบครัวเรา พวกเราเป็นผู้นำครอบครัว ถ้าเป็นผู้ชาย เขาจะเรียกว่าผู้นำ ถ้าใครหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว แต่เราเป็นผู้หญิง เราไม่เรียกผู้นำ แต่เราเข้าใจว่าเราเป็นผู้นำ


เพราะฉะนั้นไอ้การที่เราเป็นผู้นำครอบครัวเนี่ย เราก็รู้สึกว่าเราต้องพัฒนาอาชีพเราให้ก้าวหน้ามีความมั่นคง


 


เพราะฉะนั้นอาชีพนี้มีคนหลายคนทำอยู่ จะต้องเป็นอาชีพที่ต้องมีมาตรฐาน ต้องอยู่ในความดูแลของกระทรวงแรงงาน แล้วก็เป็นงานที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีในสังคม


 


คิดว่าจะเอาแนวคิดตรงนี้ ไปเสนอข้างบนให้เป็นนโยบายของรัฐได้ไหม?


เป็นหน้าที่ของกระทรวงพัฒนาฯ อยู่แล้ว ที่เขาจะต้องพัฒนาทุกอาชีพที่ทำรายได้ให้กับประเทศชาติ แต่น่าเสียใจ ถ้าเขาไม่เข้าใจ แล้วเราจะไปบอกว่ายังไง เพราะว่าเราเป็นแค่คนงาน เป็นแค่ลูกจ้าง ใช่ไหม?


 


จริงๆ แล้ว เขาจะต้องมีหน้าที่มาเข้าใจเรา แล้วก็เขาจะต้องเห็นความสำคัญของแรงงานภาคบริการให้เท่าเทียมกับอาชีพอื่น ขณะนี้ เศรษฐกิจตกต่ำ หลายปีมาแล้วไม่น้อยกว่า  5 ปี  แต่ว่างานภาคบริการไม่เคยตกต่ำเลย เป็นงานที่ทำรายได้ ให้กับประเทศชาติ เป็นรายได้สูงสุด เหนือกว่าการขายข้าวด้วยซ้ำไป


 


เพราะฉะนั้น ลองไปถามดูว่าการท่องเที่ยว ถ้าขาดแรงงานภาคบริการจะอยู่ได้รึเปล่า? เขาอยู่ไม่ได้ เขาอยู่ไม่ได้แน่นอน เพราะว่างานของเราเนี่ย พยุงรายได้จากเงินตราต่างประเทศ เป็นรายได้สูงสุด ตลอดเวลามา


 


นี่เป็นบางส่วนของการสนทนากับเธอ "จันทวิภา อภิสุข" ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ในคืนแห่งความชื่นมื่นและมุ่งมั่น กับการเปิด แคนดูบาร์ บาร์แห่งแรกของประเทศไทย ที่ประกาศก้องว่า พนักงานบริการทำเองได้ เพื่อตัวเราเอง จากชุมชนของเราเอง


 


เป็นที่รับรู้กันว่า ปัจจุบัน ศูนย์พิทักษ์สิทธิหญิงบริการ มูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง(EMPOWER) หรือที่ทุกคนรู้จักกันดีในนาม เอ็มพาวเวอร์ มีศูนย์บริการสมาชิกอยู่ทั้งหมด 7 แห่ง ในกรุงเทพฯ เชียงราย ภูเก็ต และ เชียงใหม่ โดยเน้นการทำงานเพื่อช่วยเหลือแก่หญิงผู้ทำงานในภาคบริการ ทั้งในด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิในการทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และการเข้าถึงสวัสดิการสังคม ซึ่งเป็นสวัสดิการพื้นฐานในการเข้าถึงสวัสดิการด้านอื่นๆ เช่น การรักษาพยาบาล ยารักษาโรค เป็น


ต้น
       
โดยเฉพาะในพื้นที่เชียงใหม่ มีศูนย์ย่อยออกเป็น 4 ศูนย์ ได้แก่ศูนย์ กศน. ศูนย์ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อและผู้หญิง ศูนย์ช่วยผู้หญิงที่มีลูก และก็ศูนย์นี้ can do บาร์ เป็นบาร์พนักงานบริการทำเองแห่งแรกของประเทศไทย


 


ว่ากันว่า การเรียกร้องในด้านสวัสดิการเพื่อคุ้มครองแรงงานพนักงานบริการ ทางเอ็มพาวเวอร์ประเทศไทย พยายามต่อสู้มากว่า 20 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2528  แต่รัฐบาลทุกรัฐบาลก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจ หรือตอบรับ  ซึ่งทางเอ็มพาวเวอร์ ยังเดินหน้าและมุ่งหวังว่า ในที่สุดแล้ว งานบริการจะต้องเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย และคนที่ทำงานภาคบริการเหล่านี้จะต้องมีสิทธิส่วนบุคคลที่พึงมีพึงได้เท่าเทียมกับคนอาชีพอื่นๆ


 


ซึ่งเราคงต้องดูกันต่อไปว่า รัฐบาลใหม่โดยการนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จะหันมามองสิทธิของหญิงที่ทำงานในภาคบริการนี้หรือไม่


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net