Skip to main content
sharethis

ศาลแพ่งมีคำสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะจำเลยระมัดระวังในการควบคุมและสลายการชุมนุมโดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อ ส่วนสื่อต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อด้วย ทั้งนี้การคุ้มครองชั่วคราวนี้ไม่รวมผู้ชุมนุมเนื่องจากผู้ฟ้องเป็นสื่อจึงฟ้องแทนผู้ชุมนุมไม่ได้

ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ สื่อมวลชนที่ถูกกระสุนยางยิงเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2564

10 ส.ค.2564 ศาลแพ่งมีคำสั่งต่อกรณีที่เมื่อวานนี้(9 ส.ค.2564) ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ กับพวกรวม 6 คน ในฐานะสื่อมวลชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเป็นโจทก์ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) และพวกรวม 4 คน และขอให้ศาลคุ้มครองฉุกเฉินอีกครั้ง เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยการชุมนุมต่อจากนี้ที่มีแนวโน้มอันสามารถคาดหมายได้ว่าจะได้รับความเสียหายจากการใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐต่อไป

ศาลรับคำร้อง 'สื่อ' ขอคุ้มครองชั่วคราวจากการใช้ความรุนแรงสลายชุมนุม นัดฟังคำสั่ง 10 ส.ค.นี้

คําสั่งของศาลแพ่งสรุปได้ว่าที่โจทก์ทั้งสองยื่นคําร้องขอให้ศาลมีคําสั่งให้ สตช.ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 มีคําสั่งห้ามเจ้าพนักงานตํารวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนใช้อาวุธปืนยิงกระสุนยางใส่โจทก์ทั้งสอง สื่อมวลชนอื่น และประชาชนที่ไม่ได้เป็นผู้กระทําการหรือมีท่าที่คุกคาม ต่อชีวิตบุคคลอื่น และขอให้ศาลมีคําสั่งห้ามจําเลยที่ 1 และเจ้าพนักงานตํารวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนสลายการชุมนุม โดยขัดต่อหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กําลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่กฎหมาย และหลักการดูแลการชุมนุมสาธารณะตาม พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 นั้น

ศาลระบุว่าตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 3 (6) กําหนดไม่ให้ใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ซึ่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548(พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) มีเจตนารมณ์ให้อํานาจฝ่ายบริหารมีอํานาจพิเศษบางประการสําหรับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งรวมถึงการออกประกาศและ ข้อกําหนดเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงโดยเร็ว

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2563 นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกําหนดตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 ห้ามชุมนุม ทํากิจกรรมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทําการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบ เรียบร้อย

ศาลแพ่งระบุอีกว่า แต่การใช้อํานาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดังกล่าวไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการหากการใช้อํานาจ ของรัฐเป็นไปโดยไม่สุจริต เลือกปฏิบัติ เกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีจําเป็นตามมาตรา 19 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หากมีผู้จัดการชุมนุม หรือผู้ชุมนุมกระทําการอันฝ่าฝืนข้อกําหนดดังกล่าว จําเลยที่ 1 และเจ้าพนักงานตํารวจย่อมมีอํานาจในการสลายการชุมนุมด้วยวิธีการที่เหมาะสมตามสถานการณ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง ดังนั้น กรณีใดมีความจําเป็นในการใช้อาวุธปืนยิงกระสุนยางขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความรุนแรงของผู้ชุมนุมและเหตุการณ์อันอาจ เกิดขึ้นในแต่ละครั้งไป

ศาลแพ่งระบุว่าอีกทั้งข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตํารวจจงใจหรือมุ่งกระทําต่อบุคคลที่ทําหน้าที่ สื่อมวลชนเป็นการเฉพาะ และหากโจทก์ทั้งสอง สื่อมวลชนและประชาชนไม่ได้กระทําการฝ่าฝืนต่อกฎหมายถูกตํารวจยิงด้วยกระสุนยางย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญาโดยศาลไม่จําต้องสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อน พิพากษาตามคําขอดังกล่าวอีก และประกอบกับตามที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลมีคําสั่งห้ามจําเลยที่ 1 และเจ้าพนักงานตํารวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนสลายการชุมนุมโดยขัดต่อหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กําลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่กฎหมาย และหลักการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ นั้นเป็นคําขอให้คุ้มครองผู้เข้าร่วมชุมนุม เมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีในฐานะสื่อมวลชนซึ่งมิได้เป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมจึงไม่สามารถร้องขอคุ้มครองชั่วคราวแทนผู้ร่วมชุมนุมได้

ศาลระบุต่อไปว่า ในส่วนคําขอที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลมีคําสั่งให้ สตช.มีคําสั่งห้ามตํารวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนคุกคามข่มขู่ จํากัดพื้นที่การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนอื่นนั้น สตช.ต้องปฏิบัติการรักษาความปลอดภัย จึงต้องจัดพื้นที่ให้แก่โจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนอื่นเพื่อให้ได้รับความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งพยานโจทก์ทั้งสองในชั้นนี้ก็มิได้เบิกความว่าถูกเจ้าพนักงานตํารวจจํากัดพื้นที่ในการปฏิบัติหน้าที่ จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานตํารวจ จํากัดพื้นที่ในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนอื่น ทั้งโจทก์ทั้งสองก็มิได้มีคําขอท้ายฟ้องขอให้ศาลห้ามจําเลย ที่ ๑ จํากัดพื้นที่การปฏิบัติงานของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชน โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจขอให้ศาลมีคําสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อน พิพากษาในกรณีดังกล่าวได้

อย่างไรก็ดี ได้ความตามทางไต่สวนว่า สตช.โดยเจ้าพนักงานตํารวจใช้อาวุธปืนยิงกระสุน ยางในการควบคุมฝูงชนและสลายการชุมนุม เป็นเหตุให้สื่อมวลชนหลายรายซึ่งมิใช่ผู้ร่วมชุมนุมถูกยิงด้วยกระสุนยาง ก่อให้เกิดความหวาดกลัวและไม่ปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สตช.และเจ้าพนักงานตํารวจ ยังต้องปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมฝูงชนและสลายการชุมนุมซึ่งโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนอื่นอาจได้รับอันตรายแก่กายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตํารวจ ศาลจึงมีเหตุที่จะคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามคําขอนี้ แต่อย่างไรก็ตามโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนที่จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนด้วย

ศาลแพ่งระบุว่ามีคําสั่งให้ สตช.ซึ่งเป็นจําเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุม โดย คํานึงถึงความปลอดภัยของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชน ภายใต้หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net