ไลลา ตาเฮ ช่างภาพประชาชน กลางดงกระสุนยางและแก๊สน้ำตา

“ช่องทางเดียวที่เราจะสื่อสารได้ก็คือการถ่ายรูป ถ้าไม่ถ่ายรูปเราก็ไม่รู้จะใช้ช่องทางอะไรแล้ว” ไลลา ตาเฮ ช่างภาพอิสระบอกถึงเหตุผลที่เธอไปถ่ายภาพในที่ชุมนุมและเมื่อวานนี้เธอก็ถูกตำรวจชุดคุมฝูงชนตีจนกล้องเสียหายระหว่างทำหน้าที่ช่างภาพอิสระของเธอ ประชาไทจึงขอสัมภาษณ์ไลลาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและมุมมองของเธอต่อการเป็นเข้าไปถ่ายภาพในพื้นที่ชุมนุมที่สถานการณ์ตอนนี้เริ่มร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ 

เมื่อ 11 ส.ค.2564 เวลา 21.30 น. ประชาไทสัมภาษณ์ ไลลา ตาเฮ อายุ 25 ปี ช่างภาพอิสระที่ส่งภาพให้กับสำนักข่าวเบนาร์นิวส์ (Benarnews) และ Rice Media Thailand ที่เพิ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบหมาดๆ จากการสลายการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิช่วงเย็นวานนี้ จากเหตุตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเข้าทำร้ายด้วยการใช้ไม้ตีมาที่เธอแต่โดนกล้องจนฟิลเตอร์เลนส์กล้องแตกและขอบเลนส์บุบเสียหายและเฉี่ยวแขนเธอไป

"ทะลุฟ้า" รวมตัวมุ่งหน้าบ้านประยุทธ์

ไลลาบอกว่าหลังจากที่เธอไปถ่ายภาพผู้ชุมนุมนำหุ่นฟางและศาลพระภูมิมาเผาก็เห็นว่ามีตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเดินมาจากทางด้านถนนราชวิถีก็เลยเข้าไปถ่ายภาพตำรวจที่กำลังเดินเข้ามาในบริเวณที่มีผู้ชุมนุมแล้วล้อมเข้ามาเป็นวง

ภาพก่อน(ภาพบน) และหลัง(ภาพล่าง) จากที่ไลลาถูกตำรวจชุดคุมฝูงชนตีเข้าที่กล้อง

“เราก็ยังอยู่ในวง คฝ.ถ่ายรูปอยู่ สักพักตอนนั้นเราก็เห็นเขายิงกระสุนยางแล้วแหละ ไม่นานเขาก็เริ่มแตกไปจับคนจับผู้ชุมนุม เราก็วิ่งไปทางเกาะพญาไท ยืนอยู่ตรงตอม่อใกล้คิวรถไปธรรมศาสตร์รังสิต” ไลลาเล่าเหตุการณ์ก่อนที่เธอจะถูกตีว่าตอนนั้นกำลังถ่ายเหตุการณ์ที่กำลังชุลมุนอยู่ผู้ชุมนุมทั้งกำลังวิ่ง ขับรถหนีตำรวจอยู่

“ตำรวจก็เริ่มเดินเข้ามาผ่านหน้าที่เรายืนอยู่เพื่อที่จะไปจับคนที่เข้าไปในซอยเล็กๆ ตรงนั้น แล้วช็อตที่ คฝ.ตีก็คือตอนที่เราถ่ายเค้า เราไม่ได้เดินออกไปจ่อ เราก็ยืนของเรายกกล้องถ่ายเขา แล้วพยายามแพนกล้องถ่ายตามที่เขาเดินไปทางขวาของเราจนสุด แล้วเขาก็ตีกระบองมาที่เรา ก็โดนกล้องเยอะสุดโดนฟิลเตอร์แตก แล้วปลายกระบองมันก็โดนไหล่นิดนึง” ทั้งนี้เธอบอกว่าไม่ได้มีบาดแผลอะไรตรงไหล่ขวาข้างที่กระบองมาโดนเพราะเป็นปลายกระบองที่เฉี่ยวมาโดนเล็กน้อยเท่านั้น

“เราเห็นว่าแถวนั้นมีนักข่าวที่ยืนอยู่คนหนึ่งใกล้ๆ กันเราคิดว่าน่าจะเห็นตอน คฝ.ตีแต่พอไปถามเขา เขาก็บอกว่าเขาไม่เห็น”

ไลลาบอกว่าพอโดนแล้วเธอก็ไปถ่ายรูปต่อทั้งที่ฟิลเตอร์แตก เพราะเห็นว่าพอตำรวจชุดที่ตีเธอเดินผ่านไปแล้วก็ยังมีตำรวจอีกชุดมาจับคนที่อยู่ไม่ไกลจากเธอนัก

สภาพฟิลเตอร์กล้องของไลลาหลังถูกตี

“ก็เลยเดินเข้าไปถ่ายกับฟิลเตอร์แตกๆ แล้วก็มีจังหวะที่เข้าไปใกล้เกิน เขา(ตำรวจ) ก็ห้ามถ่าย ตอนนั้นก็สตันท์อยู่เหมือนกัน แต่มีพี่นักข่าวที่อุปกรณ์ครบมีปลอกแขนไปถ่ายเขาก็โดนห้ามเหมือนกันพี่นักข่าวเขาก็เลยไม่ได้ถ่ายแล้วถอยออกมาด้วย” ไลลาบอกว่าจากนั้นเธอถึงได้ไปเจอเพื่อนนักข่าวแล้วเล่าถึงเหตุการณ์ที่ถูกตำรวจตีให้เพื่อนฟัง

“จริงๆ ก็ชอบเอฟเฟคต์ของฟิลเตอร์แตกเหมือนกัน แล้วสถานการณ์ข้างหน้า คฝ.ก็รุมจับคนอยู่ ก็เลยรู้สึกว่ายังไงมันก็ต้องถ่าย ก็เลยถ่ายต่อ กล้องมันแตกก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคขนาดนั้น แล้วเอฟเฟคต์มันก็นิดเดียว” เป็นคำตอบของไลลาเมื่อถูกถามว่าทำไมหลังจากโดนตีแล้วยังเลือกที่อยู่ถ่ายรูปต่ออีกทั้งที่ฟิลเตอร์กล้องก็เสียแล้วไม่กลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรืออย่างไร และหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ไลลาก็จะยังไปถ่ายรูปในที่ชุมนุมอีก

ผลงานภาพถ่ายการชุมนุมครั้งอื่นของ ไลลา ตาเฮ

ไลลาบอกเหตุผลที่เธอเลือกเข้าไปถ่ายภาพในที่ชุมนุมว่า ตอนแรกการมาชุมนุมเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับเธอเพราะมันอาจจะถูกตำรวจจับได้ ก็เลยมาเป็นผู้ชุมนุมที่มีกล้องมาแล้วก็มาอยู่เหมือนเป็นสื่อ ทำให้เหมือนขาข้างหนึ่งก็เป็นผู้ชุมนุมขาอีกข้างก็เป็นช่างภาพไปด้วย

“ช่องทางเดียวที่เราจะสื่อสารได้ก็คือการถ่ายรูป ถ้าไม่ถ่ายรูปเราก็ไม่รู้จะใช้ช่องทางอะไรแล้ว”

ไลลาเห็นว่าการชุมนุมก็คือพื้นที่ที่ทำให้ประเด็นที่เรียกร้องถูกพูดถึงและเป็นที่สนใจขึ้นมา การถ่ายภาพจึงเป็นการสื่อสารถึงประเด็นที่มีการเรียกร้องกันอยู่ แต่เธอมองว่าตอนนี้การชุมนุมได้กลายเป็นพื้นที่ที่ตำรวจจะมาใช้ความรุนแรงและอำนาจที่ตัวเจ้าหน้าที่เองมีอยู่และรู้สึกภูมิใจกับมันและมาระบายอารมณ์ใส่ในพื้นที่การชุมนุม ทำให้ประเด็นในการชุมนุมหายไป เธอคิดว่าการมีช่างภาพแบบเธอยังเป็นเรื่องจำเป็น

“ถ้าเป็นสื่อหลักเขาก็ไปถ่ายจังหวะกระสุนยาง ตอนคนโดน คฝ.รุม แต่เราก็ถ่ายเก็บสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่คนอื่นเขาไม่ได้โฟกัส ก็เลยคิดว่าเรายังจำเป็นต้องถ่ายเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในม็อบอย่างเช่นการใช้อุปกรณ์ที่มาดับแก๊สน้ำตา ซึ่งคนอื่นเขาก็อาจจะโฟกัสไปข้างหน้าที่มีการยิงกระสุนยางมาแต่ไม่ได้มีเวลามาถ่ายมุมอื่น”

ผลงานภาพถ่ายการชุมนุมครั้งอื่นของ ไลลา ตาเฮ

ไลลาตอบคำถามเรื่องเส้นแบ่งระหว่างสื่อมวลชนอาชีพกับสื่อประชาชนในมุมมองของเธอคืออะไร

“เราทุกคนคือสื่อทุกคนมีแพลตฟอร์มของตัวเองที่จะสื่อออกไปในสังคมของตัวเอง แต่พอมันมาเป็นสื่อที่จะกล้าเข้าไปข้างในพื้นที่การชุมนุม เราก็ไม่รู้ว่าคนในสายงานของสื่อมวลชนเขาจะยอมรับสื่อประชาชนแบบเราขนาดไหนเพราะว่าสื่อที่มีสังกัดเขาอาจจะได้รับการอบรมอะไรพวกนี้มาแต่พอเราไม่มีแล้วเราเข้าไปเขาจะมองว่าเราไม่พร้อมมากพอจะไปปะทะเท่ากับเขาหรือเปล่า ถ้ามันจะมีเส้นที่แยกได้ก็คงเป็นเรื่องการเตรียมพร้อมแต่ว่ามันไม่ควรมีความรุนแรงแบบนี้เกิดขึ้น”

เมื่อถามไลลาว่า เธอมองเรื่องเสรีภาพสื่อกับเสรีภาพของประชาชนอย่างไร เธอบอกว่า “เป็นสิ่งเดียวกัน”

ไลลาบอกว่าตอนนี้ยังไม่ได้ปรึกษากับใครว่าหลังจากนี้จะมีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตีเธอหรือไม่ แล้วก็กลัวด้วยว่าตัวเธอเองก็ไม่ได้เป็นสื่อที่มีปลอกแขนหรือสังกัดที่ไหน แล้วก็ไม่รู้ว่าการเป็นสื่อประชาชนแบบนี้กฎหมายจะคุ้มครองมาถึงหรือไม่

ผลงานภาพถ่ายการชุมนุมครั้งอื่นของ ไลลา ตาเฮ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท