เมือง 2 บุคลิก เชียงใหม่ : ลำพูน เตรียมฟื้นแผนเชื่อมเมืองแฝด

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สกู๊ปพิเศษ

เมือง 2 บุคลิก เชียงใหม่ : ลำพูน
เตรียมฟื้นแผนเชื่อมเมืองแฝด

ความเป็นเมือง 2 บุคลิกของเชียงใหม่และลำพูน มีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ด้านหนึ่งของเชียงใหม่ กำลังกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญในทุก ๆ ด้าน มีวิสัยทัศน์ที่วางไว้คือ นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง "City of Life and Prosperity" : เป็นเมืองที่ให้ความสุขและชีวิตที่มีคุณค่าแก่ผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือน ในฐานะเมืองที่น่าอยู่และน่าท่องเที่ยวในระดับเอเชีย พร้อมกับเป็นประตูการค้าการลงทุนสู่สากล ส่วนอีกด้านของลำพูน ที่ชูวิสัยทัศน์เป็นเมืองประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (City of Historical and Cultural) ที่ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงเร่งของการพัฒนาไปสู่เมืองมรดกโลก

แม้ว่า "ลำพูน" จัดว่าเป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดในภาคเหนือ มีพื้นที่เมืองทั้งหมด 4,505.882 ตร.กม. อาณาเขตเชื่อมโยงติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ด้วยระยะทางเพียง 25 กโลเมตร จึงนับเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นศูนย์กลางความเจริญของภาคร่วมกัน และแน่นอนว่าเมื่อมีการพัฒนาโครงการสำคัญ ๆ แทบทุกโครงการจะเป็นการพัฒนาที่มักเกิดประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองจังหวัด

แต่ในความต่างในบุคลิกของทั้งสองเมือง กำลังถูกเชื่อมโยงเข้าหากัน ตามโครงการพัฒนาเมืองแฝดเชียงใหม่ - ลำพูน ที่ได้ศึกษาเสร็จสมบูรณ์แล้วมานานกว่า 10 ปี หลังจากที่จังหวัดลำพูนได้นำเสนอแผนฟื้นเมืองแฝดเชียงใหม่ - ลำพูน เมื่อคราวที่คณะรัฐมนตรได้สัญจรมาประชุมกันเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา โดยมติที่ประชุมเห็นชอบให้ปัดฝุ่นโครงการนี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศึกษาในรายละเอียดความเหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน

ปัญหาที่ต้องเร่งแก้
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุถึงปัญหาของจังหวัดเชียงใหม่ - ลำพูน ว่า 1.มีการละเมิดข้อกำหนดการใช้ที่ดินตามผังเมือง 2.ขาดการบูรณาการทางผังเมืองตลอดจนพื้นที่เชื่อมโยงเชียงใหม่ - ลำพูน (โครงการตลาดกลางเกษตร เทศบาลอุโมงค์ และอ.บ้านธิ และชุมชนเมืองรอบนิคมอุตฯลำพูน) 3.มีปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการขยายตัวของเมือง (ฝุ่นและอากาศเสีย น้ำเสีย ขยะ ระบบขนส่งสาธารณะ) 4.การศึกษา และข้อมูลแหล่งประวัติศาสตร์มีอยู่อย่างจำกัด มีการรุกล้ำ 5.ขาดเครือข่ายเชื่อมโยง ถนนสายหลักและสายรอง

โดยได้เสนอยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาเชียงใหม่ - ลำพูนไว้ว่า 1.ควรกำกับการขยายตัวเมืองตามผังเมือง/เน้นการขยายตัวอย่างสมดุล โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกชี้นำการพัฒนาเมือง 2.ควรเร่งพัฒนาบริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการในพื้นที่ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองไปยังพื้นที่ด้านตะวันออกของแม่ปิง (เมืองสันทราย สันกำแพง สารภี) 3.กำกับ/ควบคุมไม่ให้มีการขยายตัวของเมืองแบบเข้มข้นในแนวเหนือ-ใต้สองฝั่งแม่ปิง ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาจราจร 4.กำหนดให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นใหม่อย่างเป็นระบบในนิคมอุตสาหกรรม 5.เตรียมพื้นที่รอยต่อ(เทศบาลอุโมงค์ อ.บ้านธิ ) รองรับการพัฒนาธุรกรรมทางเศรษฐกิจ 6.เร่งรัดโครงการจัดสร้างโรงกำจัดขยะ และบำบัดน้ำเสีย โดยกำหนดให้ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ควบคู่กับการเร่งแก้ไขปัญหาฝุ่นและอากาศเสียศึกษาแนวทางอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์ควบคู่การปรับปรุงภูมิทัศน์ของเมือง

นายประยูร วงศ์พานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูฯ กล่าวว่า แผนการพัฒนาของเชียงใหม่และลำพูนในหลายด้าน มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาร่วมกัน ทั้งในด้านการพัฒนาเส้นทางคมนาคม การท่องเที่ยว การขนส่งสินค้าทางรถไฟ การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม แม้ที่ผ่านมาโครงการพัฒนาเมืองแฝดเชียงใหม่ - ลำพูน จะต้องพับแผนไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากที่ผ่านมายังขาดการประสานงาน แต่ปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะทั้งสองจังหวัดอยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์เดียวกัน

นายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้มีการจัดวางผังเมืองในส่วนของการใช้พื้นที่ร่วมกันใหม่ ซึ่งเชื่อว่าการพัฒนาร่วมกันในครั้งนี้ จะทำให้เกิดรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น

ครม.ไฟเขียวงบ 43 ล้านบาท
ศึกษาพัฒนาเชื่อมเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้มีการศึกษาเพื่อพัฒนาเมืองศูนย์กลางความเจริญภาคเหนือตอนบนเชียงใหม่-ลำพูน และจัดทำแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นฐานการรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่และการเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างเมือง โดยมอบให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับไปดำเนินการ และอนุมัติหลักการค่าใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2548 จำนวน 43 ล้านบาท โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน ดังนี้
1.เร่งรัดการจัดทำผังเมืองให้มีผลบังคับตามกฎหมายโดยเร็วโดยลดขั้นตอนการดำเนินงานลง
2.ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นกลไกการประสานแผนงานการพัฒนาระหว่าง
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะพื้นที่ส่วนขยายของเมืองกับเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบลโดยใช้ผังเมืองเป็นกรอบ
3.จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนาพื้นที่ระหว่างเมืองร่วมกัน คือ เชียงใหม่-ลำพูน โดยการใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองศูนย์กลางภาคเหนือตอนบนเป็นหลักในการพัฒนา

งัดผังเมืองจัดระเบียบที่ดินเลียบทางรถไฟ
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังได้อนุมัติในหลักการโครงการพัฒนาตามมาตรการผังเมืองในพื้นที่เฉพาะและจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินสองฟากถนนเลียบทางรถไฟเชียงใหม่-ลำพูน (ระยะที่ 2) ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอโดยให้กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายและปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 เป็นค่าก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟเชียงใหม่-ลำพูน (ระยะที่ 2) โดยดำเนินการปรับปรุงถนนเดิมบางสายทาง ปรับปรุงทางร่วมทางแยกพร้อมระบบสาธารณูปโภค และการจัดภูมิทัศน์ จำนวนเงิน 100,000,000 บาท และขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายงบกลางฯ ปี 2547 เพิ่มเติม จำนวนเงิน 149,367,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ประกอบด้วย เครื่องกั้นรถยนต์อัตโนมัติจุดตัดข้ามทางรถไฟ ระบบระบายน้ำตามแนวสายทาง โครงการพัฒนาตามมาตรการผังเมืองถนนสายดอยติ -ลำพูน - แยกเมืองง่า (ฝั่งตะวันตก) และศึกษาความเหมาะสมระบบป้องกันน้ำท่วมบริเวณชุมชนสองฟากถนนเพื่อสำรวจออกแบบรายละเอียดให้ระบบระบายน้ำสอดคล้องกับการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินต่อไป

ล้อมกรอบ
โครงการพัฒนาเมืองแฝดเชียงใหม่ - ลำพูน 3,065.25 ล้านบาท

จังหวัดเชียงใหม่ 5 โครงการ งบประมาณ 1,842.45 ล้านบาท
1) โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตเมือง (ปี 2548) 1,210 ล้านบาท
- ขยายทางหลวง 121 ระหว่างจุดตัดทางหลวง 108 กับ 11 เป็น 4 ช่องจราจรระยะทาง 10.071 ก.ม. 380 ล้านบาท
- ก่อสร้างอุโมงค์ลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 11 กับ 1006 (แยกหนองประทีป) 380 ล้านบาท
- ก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 11 กับ 121 (ทางเข้างานพืชสวนโลก) 150 ล้านบาท
- ก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 121 กับ 118 วงเงิน 150 ล้านบาท

2) โครงการศึกษาออกแบบระบบรถไฟฟ้า 145 ล้านบาท
3) โครงการแก้ปัญหาอากาศเสีย ประกอบด้วยโครงการย่อย 4 โครงการ รวมวงเงิน 8.95 ล้านบาท
- โครงการตรวจวัดความเป็นพิษของอนุภาคฝุ่นในเมืองเชียงใหม่ ภายใต้โครงการแก้ปัญหาอากาศเสียในเมือง 3.71 ล้านบาท
- ศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจากคุณภาพอากาศเชียงใหม่ : ตลาดวโรรส 1.91 ล้านบาท
- โครงการรณรงค์และผลิตสื่อให้ความรู้ เพื่อลดการก่อมลพิษทางอากาศเชียงใหม่ 1.73 ล้านบาท
- โครงการฝึกอบรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อมาตรการทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ 1.6 ล้านบาท
4) โครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียงตะวันออกแม่น้ำปิง 430 ล้านบาท
5) โครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำปิงย่านใจกลางเมือง 48.5 ล้านบาท

จังหวัดลำพูน 5 โครงการ งบประมาณ 1,223 ล้านบาท
1) โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตเมืองลำพูน - ก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 11 กับ 1147 แยกสันป่าฝ้าย นิคมอุตสาหกรรมลำพูน 150 ล้านบาท
2) โครงการขยายผิวจราจร 8 ช่องจราจรทางหลวงสาย 11 25 กม.(แยกดอยติ จ.ลำพูน - แยกสันกำแพง จ.เชียงใหม่) ระยะทาง 25 กิโลเมตร 1,000 ล้านบาท
3) โครงการสำรวจศึกษาออกแบบถนนเลี่ยงเมือง สาย ค1 ค3 และระบบถนนเชื่อมต่อ สาย ข 2 ค2 และ ก1 วงเงิน 20 ล้านบาท
4) โครงการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางจักรยาน 50 ล้านบาท
5) โครงการศึกษาเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเมืองลำพูนสู่มรดกโลก 3 ล้านบาท

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค พลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท