Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจากเมื่อบ่ายของวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา มีแรงงานซับคอนแทรคฯ รวมตัวประท้วงหน้าโรงกลั่นไทยออยล์ เนื่องจากยังไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งบางรายค้างจ่ายมานานถึง 5 เดือน จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน

‘เซีย’ ปีกแรงงานก้าวไกล ลงพื้นที่ช่วยประสานงาน อัพเดทการประชุมแก้ปัญหายังตกลงกันไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าได้จ่ายเงินไปแล้ว ทำให้แรงงานปักหลักชุมนุมต่อ แม้ต้องเผชิญฝน

 

27 ก.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานวานนี้ (26 ก.ค.) เมื่อเวลา 19.23 น. เซีย จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล ปีกแรงงาน ให้สัมภาษณ์หลังจากลงพื้นที่ชุมนุมของแรงงานจ้างเหมาวัน จากบริษัทซับคอนแทรคเตอร์ต่างๆ ที่มารวมตัวประท้วงหน้าโรงกลั่นน้ำมัน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP)  ริมถนนสุขุมวิท อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. 2567 เพื่อเรียกร้องค่าจ้างค้างจ่ายจากบริษัทไทยออยล์ บริษัทซับคอนแทรคฯ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด โดยมีหลายกรณีที่การค้างจ่ายแตกต่างกัน

ลูกจ้างเหมาช่วงรวมตัวประท้วงหน้าโรงกลั่นไทยออยล์ เมื่อ 25 ก.ค. 2567 (ที่มา: เฟซบุ๊ก เซีย จำปาทอง)

เซีย จำปาทอง กล่าวว่า แต่ละเคสมีความแตกต่าง ยกตัวอย่าง แรงงานชาวเวียดนามถูกค้างค่าแรงมา 5 เดือน บางรายถูกค้างมา 3 เดือน หรือบางรายถูกค้างค่าจ้าง 2 เดือน บางแห่งใช้มาตรา 75 ระงับกิจการชั่วคราว หรือบางแห่งใช้วิธีการกู้เงินจากที่อื่นๆ มาจ่ายให้แรงงานแทน ซึ่งอาจมีผู้เสียหายสูงถึงหนึ่งพันคน เนื่องจากมีบริษัทซับคอนแทรคฯ จ้างแรงงานแบบเหมาช่วงหลายแห่ง

บรรยากาศการชุมนุมวานนี้ (26 ก.ค.) แม้ว่าสภาพอากาศจะมีฝนตกสลับกับแดดออก แต่แรงงานยังคงปักหลักชุมนุมหน้าโรงกลั่นน้ำมัน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ที่ถนนสุขุมวิท อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เนื่องจากการประชุมเพื่อการแก้ไขปัญหายังไม่สามารถหาข้อสรุปการจ่ายค่าจ้างคงค้างแรงงานได้

เซีย กล่าวว่า ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าได้จ่ายเงินค่าจ้างไปแล้ว โดยบริษัทไทยออยล์ ระบุว่าได้จ่ายค่าจ้างให้บริษัท Unincorporated Joint Venture of Petrofac (UJV) ซึ่งเป็นบริษัทเหมารับช่วงมาจากไทยออยล์ และเป็นผู้ว่าจ้าง SINOPEC ในการก่อสร้างโครงการพลังงาน sce ne (Clean Fuel Project OFP) ให้กับบริษัทไทยออยล์ อย่างไรก็ตาม UJV ก็อ้างว่า 'ไทยออยล์' ยังไม่มีการจ่ายเงินให้ทาง UJV ทำให้มีการค้างค่าจ้างจำนวนมาก ขณะที่ SINOPEC ก็อ้างเช่นกันว่าไม่ได้รับเงินจาก UJV

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ทางลูกจ้างเสนอว่าให้ไทยออยล์ ในฐานะที่เป็นนายจ้างบริษัทเหมาช่วงหลัก ควรช่วยจ่ายเงินให้ลูกจ้างก่อน และให้บริษัทไทยออยล์ ไปจี้กับบริษัทซับคอนแทรคฯ ตามหลัง แต่ผลก็คือยังไม่ได้

“ประชุมมาตั้งแต่เที่ยง (12.00 น.) บางส่วนกลับไปแล้ว บางส่วนคุยกันก็เดินต่อไปไม่ได้ บริษัท SINOPEC ก็บอกไม่มีเงิน UJV ก็บอกไม่มีเงิน ไทยออยล์ ก็ระบุว่าจ่ายเงินให้ UJV ไปแล้ว อย่างบริษัท SINOPEC เขาจะจ่ายให้ลูกจ้างได้ 20 ส.ค. แต่ลูกจ้างระบุว่าเขาจะอดตายอยู่แล้ว ไม่มีเงินซื้อข้าวทาน ขอให้ไทยออยล์มาช่วยได้ไหม แต่ไทยออยล์ จะช่วยได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งน้อยมาก” เซีย กล่าวว่า ตอนนี้ยังปัดความรับผิดชอบกันไป-มาอยู่ 

อย่างไรก็ตาม เซีย มองด้วยว่า ไทยออยล์ในฐานะบริษัทที่จ้างบริษัทรับเหมาช่วงควรที่รับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

เซีย จำปาทอง (ที่มา: เฟซบุ๊ก เซีย จำปาทอง)

“ลูกจ้างไม่มีทางเลือกมากนัก” สส.ก้าวไกล กล่าว และระบุด้วยว่า เพราะว่าเขาถูกค้างค่าจ้างมาประมาณ 2-3 เดือนแล้ว ตอนนี้ไม่มีเงินประทังชีวิตซื้อข้าว หรืออะไรทาน ทำให้พวกเขาต้องมาชุมนุม

แม้ว่าจะมีช่องทางตามกฎหมาย คือการเขียนคำร้อง คร.7 ยื่นต่อผู้ตรวจแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือฟ้องศาลแรงงาน ให้สั่งให้นายจ้างจ่ายเงิน แต่ สส.พรรคก้าวไกล มองว่าปัญหาคือกระบวนการไปร้อง คร.7 หรือว่าไปฟ้องศาลแรงงาน มันใช้ระยะเวลานานมาก ซึ่งลูกจ้างที่เดือดร้อนจากการค้างค่าจ้าง เขาเดือดร้อนตอนนี้ เพราะว่ามันส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เมื่อใช้ระยะเวลานานเขาจะเอาเงินที่ไหนไปใช้จ่าย หรือไปต่อสู้ทางศาล

ปัญหาดังกล่าวยังสะท้อนผ่านกรณีของอดีตลูกจ้างโรงงานบอดี้แฟชั่น เอเอ็มซีสปินนิ่ง และแอลฟ่าสปินนิ่ง ถูกทยอยเลิกจ้างต่อเนื่องมาตั้งแต่ 2562 เป็นต้นมา แต่ปัจจุบัน พวกเขายังไม่ได้รับการชดเชยการเลิกจ้าง ค่าจ้างค้างจ่าย เงินดอกเบี้ย หรือการชดเชยอื่นๆ จากนายจ้าง ซึ่งรวมมูลค่าประมาณ 279 ล้านบาท

สส.เซีย กล่าวว่า ต่อไปเขาประสานตัวนายจ้างไทยออยล์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้มีเวทีมาคุยกันเพื่อดูแลช่วยเหลือลูกจ้างอย่างไรได้บ้าง และในฐานะรองกรรมาธิการการแรงงาน คนที่ 3 กรรมาธิการการแรงงานนำประเด็นนี้ไปสู่การพิจารณาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งนายจ้าง กรมสวัสดิการฯ และผู้เกี่ยวข้อง มาหารือร่วมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันได้อย่างไร

อนึ่ง ข้อมูลจาก Epicgram ระบุว่า ลูกจ้างเหมาช่วง หรือซับคอนแทรคฯ คือการที่บริษัทแห่งหนึ่ง หรือบริษัท (A) จ้างอีกบริษัท หรือบริษัท (B) ให้เป็นผู้จัดหาแรงงานให้แก่บริษัท (A) ในลักษณะการเข้ามาตกลงค่าจ้างก้อนใหญ่ ก่อนที่บริษัทจ้างเหมาแรงงานจะดำเนินการจัดหาแรงงานในทุกขั้นตอนภายใต้งบประมาณที่มีอยู่ต่อไป ซึ่งข้อดีต่อผู้ประกอบการคือ การไม่มีข้อผูกมัดเรื่องสัญญาจ้าง และต้องปฎิบัติตามกฎหมายแรงงานที่มีอยู่ แต่นั่นหมายความว่า ข้อเสียต่อผู้ถูกจ้างงานคือ อาจไม่ได้รับสวัสดิการ หรือประโยชน์ภายใต้กฎหมายแรงงาน เช่น ประกันสังคม และไม่มีความมั่นคงทางอาชีพ เพราะการจ้างงานเป็นลักษณะแบบเหมางานเป็นครั้งๆ นอกจากนี้ การร้องเรียนเรื่องปัญหาไม่สามารถร้องเรียนบริษัท (A) ได้โดยตรง

ทั้งนี้ รายงานล่าสุดจากเพจเฟซบุ๊ก นิวส์ชลบุรี-ระยอง ออนไลน์ รายงานระบุว่า ยังมีการประชุมหารือแก้ไขปัญหาค้างจ่ายค่าจ้างต่อจากวานนี้ (26 ก.ค.) 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net